[เล่มที่ 74] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้า 117
๗. จันทกุมารจริยา
ว่าด้วยจริยาวัตรของพระจันทกุมาร
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 74]
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้า 117
๗. จันทกุมารจริยา
ว่าด้วยจริยาวัตรของพระจันทกุมาร
[๗] อีกเรื่องหนึ่ง ในกาลเมื่อเราเป็นโอรสของพระเจ้าเอกราชมีนามว่าจันทกุมาร อยู่ในพระนครปุบผวดี ในกาลนั้น เราพ้นจากการบูชายัญแล้ว ออกไปจากที่บวงสรวงนั้น ยังความสังเวชให้เกิดขึ้น แล้วยังมหาทานให้เป็นไป เราไม่ให้ทานแก่ทักขิไณยบุคคลแล้วย่อมไม่ดื่มน้ำ ไม่เคี้ยวของเคี้ยว และไม่บริโภคโภชนะ ๕ - ๖ ราตรีบ้าง เปรียบเหมือนพ่อค้ารวบรวมสินค้าไว้แล้ว ในที่ใดจะมีลาภมาก คือได้กำไรมาก ก็นำสินค้าไปในที่นั้น ฉันใด แม้อาหารของตนที่เราให้แล้วแก่คนอื่น มีกำลังมาก (มากมาย) ฉันนั้น (สิ่งของที่เราให้ผู้อื่นมีกำลังมากกว่าสิ่งของที่ตนใช้เอง ฉันนั้น) เพราะฉะนั้น ทานที่เราให้ผู้อื่นจักเป็นส่วนร้อย เรารู้อำนาจประโยชน์นี้ จึงให้ทานในภพน้อย
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้า 118
ภพใหญ่ เราไม่ถอยกลับ คือไม่ท้อถอยจากการให้ทานเพื่อบรรลุสัมโพธิญาณ ฉะนี้แล.
จบ จันทกุมารจริยาที่ ๗
อรรถกถาจันทกุมารจริยาที่ ๗
พึงทราบวินิจฉัยในอรรถกถาจันทกุมารจริยาที่ ๗ ดังต่อไปนี้.
บทว่า เอกราชสฺส อตฺรโช คือเป็นพระโอรสของพระเจ้ากาสีพระนามว่า เอกราช.
บทว่า นคเร ปุปฺผวติยา ในพระนครบุปผวดี.
บทว่า จนฺทสวฺหโย คือพึงเรียกชื่อด้วยศัพท์ว่า จนฺท อธิบายว่า ชื่อ จันทะ.
มีเรื่องเล่าว่า ในอดีตกาลกรุงพาราณสีนี้ได้มีชื่อว่าบุปผวดี. ณ เมืองบุปผวดีนั้น โอรสของพระราชาวสวัดดีพระนามว่า เอกราช ครองราชสมบัติ. พระโพธิสัตว์ได้ถือปฏิสนธิในพระครรภ์ของพระอัครมเหสีของพระเจ้าเอกราชนั้น พระนามว่าโคตมี. พระชนกชนนีขนานพระนามว่า จันทกุมาร. เมื่อพระจันทกุมารทรงดำเนินได้ ก็เกิดพระโอรสอื่นอีกพระนามว่า สุริยกุมาร. เมื่อสุริยกุมารทรงดำเนินได้ ก็เกิดพระธิดาองค์หนึ่ง พระนามว่า เสลา. พระโอรสและพระธิดาเหล่านั้นได้มีพระภาดาต่างพระมารดากันอีกสองพระองค์ คือ ภัทเสนะ และ สูร. พระโพธิสัตว์เจริญวัยขึ้นโดยลำดับ ได้สำเร็จศิลปศาสตร์และวิชาปกครอง. พระราชบิดาได้อภิเษกสมรสพระราชธิดาจันทาแก่พระโพธิสัตว์ แล้วทรงตั้งให้เป็นอุปราช. พระโพธิสัตว์มีพระโอรสองค์หนึ่ง พระนามว่า วาสุละ. พระราชามีปุโรหิต
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้า 119
คนหนึ่ง ชื่อว่า ขัณฑหาละ. ทรงแต่งตั้งขัณฑหาละให้เป็นผู้ตัดสินคดี. ขัณฑหาละเป็นคนเห็นแก่สินบน ได้สินบนแล้วก็ตัดสินผู้ที่ไม่เป็นเจ้าขอ ให้เป็นเจ้าของ ผู้เป็นเจ้าของให้ไม่เป็นเจ้าของ. อยู่มาวันหนึ่ง บุรุษผู้หนึ่งถูกตัดสินให้แพ้ จึงร้องด่าว่าปุโรหิตในโรงวินิจฉัยคดี ครั้นเดินออกมาเห็นพระโพธิสัตว์กำลังเสด็จมาเฝ้าพระราชบิดา ก็หมอบลงแทบพระบาทของพระโพธิสัตว์ แล้วสะอื้นไห้ทูลว่า ข้าแต่พระองค์ ขัณฑหาลปุโรหิตกินสินบนในโรงศาล แม้ข้าพระองค์ก็ถูกเขารับสินบน ยังตัดสินให้แพ้อีก. พระโพธิสัตว์ทรงปลอบบุรุษนั้นว่า อย่ากลัวไปเลย แล้วทรงนำไปยังโรงวินิจฉัย ได้ทรงตัดสินผู้ที่เป็นเจ้าของให้เป็นเจ้าของ. มหาชนก็พากันส่งเสียงซ้องสาธุการ.
พระราชาทรงสดับข่าวว่าพระโพธิสัตว์วินิจฉัยคดียุติธรรม จึงตรัส เรียกพระโพธิสัตว์มาแล้วพระราชทานการวินิจฉัยแก่พระโพธิสัตว์ว่า ตั้งแต่นี้ไป เจ้าผู้เดียวจงวินิฉัยคดีทั่วไป. ผลประโยชน์ของขัณฑหาละก็ขาดลง ตั้งแต่นั้นมาขัณฑหาละก็ผูกอาฆาตในพระโพธิสัตว์คอยหาโอกาสจับผิดเรื่อยมา. ส่วนพระเจ้าเอกราชมีพระสติปัญญาอ่อนเชื่อคนง่าย. วันหนึ่งทรงสุบินไปว่า ได้เห็นเทวโลก ประสงค์จะเสด็จไป ณ เทวโลกนั้น จึงตรัสกะปุโรหิตว่า ขอท่านจงบอกทางไปพรหมโลก. ปุโรหิตทูลว่า ขอเดชะ พระองค์ทรงให้ทานยิ่ง บูชายัญด้วยสิ่งมีชีวิต อย่างละ ๔ๆ ตรัสถามว่า ทานยิ่งเป็นอย่างไร ทูลว่า การบริจาคสัตว์สองเท้าสี่เท้าเพื่อบูชายัญ ทำให้เป็นอย่างละ ๔ๆ เหล่านี้ คือ พระโอรส พระธิดา พระอัครมเหสี เศรษฐี ช้างมงคล
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้า 120
และม้ามงคล บูชาด้วยเลือดในลำคอของสัตว์เหล่านั้น ชื่อว่าทานยิ่ง พระราชาทรงยินยอม. ด้วยประการฉะนี้ ขัณฑหาละคิดว่าจักบอกทางสวรรค์ แต่บอกทางนรก.
แม้พระราชาก็ทรงสำคัญว่า ขัณฑหาละนั้นเป็นบัณฑิต มีพระประสงค์จะปฏิบัติตามด้วยทรงสำคัญว่า วิธีที่ขัณฑหาละบอกนั้นเป็นทางสวรรค์ จึงรับสั่งให้ขุดหลุมบูชายัญหลุมใหญ่ แล้วมีพระบัญชาว่า พวกท่านจงนำสัตว์สองเท้าสี่เท้าทั้งหมดตามที่ขัณฑหาละสั่ง ตั้งแต่พระราชกุมารทั้ง ๔ มีพระโพธิสัตว์เป็นต้น ไปในที่ที่ประกอบพิธีบูชายัญ. สิ่งของเครื่องใช้ในการบูชายัญทั้งหมดเตรียมไว้พร้อมแล้ว. มหาชนได้ฟังดังนั้นก็ระเบ็งเซ็งแซ่วุ่นวายกันยกใหญ่. พระราชาทรงร้อนพระทัย แต่ถูกขัณฑหาละชักจูงก็ทรงบัญชาเหมือนอย่างนั้นอีก. พระโพธิสัตว์ทรงทราบว่า ขัณฑหาละไม่ได้ทำหน้าที่ตัดสินคดีจึงผูกอาฆาตเรา ปรารถนาจะให้เราตาย จะได้ทำความพินาศล่มจมให้เกิดแก่มหาชนอีก แม้พยายามเพื่อให้พระราชาทรงสำนึกผิดด้วยอุบายหลายอย่างจากการเข้าพระทัยผิดนั้น ก็ไม่สามารถทำให้กลับพระทัยได้. มหาชนร่ำร้องอยู่เซ็งแซ่. พระโพธิสัตว์ทรงสงสารมาก. เมื่อมหาชนร่ำร้องเซ็งแซ่อยู่นั้น พิธีกรรมทั้งหมดในหลุมบูชายัญก็สำเร็จลง. พวกราชบุรุษนำพระราชโอรสเข้าไปแล้วให้นั่งก้มคอลง. ขัณฑหาละนำถาดทองคำเข้าไป ถือดาบยืนอยู่ด้วยคิดว่า จักตัดพระศอของพระโพธิสัตว์. พระนางจันทาเทวี มเหสีของพระโอรสเห็นดังนั้นคิดว่า บัดนี้เราไม่มีที่พึ่งอื่นแล้ว เราจักทำ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้า 121
ความสวัสดีแก่พระสวามีด้วยกำลังความสัจของตน จึงประคองอัญชลีดำเนินไปในระหว่างชุมชน กระทำสัตยาธิษฐานว่า ทางสวรรค์ที่ขัณฑหาละบอกนี้เป็นกรรมชั่วโดยส่วนเดียว. ด้วยคำสัตย์ของข้าพเจ้านี้ขอความสวัสดีจงมีแก่พระสวามีของข้าพเจ้าเถิด. พระนางจันทาเทวีได้ตั้งสัตยาธิษฐานต่อไปอีกว่า :-
ขอทวยเทพทั้งหลายทั้งมวลบรรดามีอยู่ในโลกนี้ จงมาเป็นที่พึ่ง ขอจงปกป้องข้าพเจ้าผู้ไร้ที่พึ่ง ขอให้ข้าพเจ้าได้อยู่กับสามีด้วยความสวัสดีเถิด.
ท้าวสักกเทวราชได้ทรงสดับเสียงร่ำไห้ของพระนางจันทาเทวีนั้น ทรงทราบเรื่องราวทั้งหมด จึงทรงฉวยค้อนเหล็กมีไฟโพลงให้พระราชาหวาดสะดุ้ง แล้วมีเทวโองการให้ปลดปล่อยผู้ที่จะถูกฆ่าเพื่อบูชายัญทั้งหมด. ท้าวสักกะก็ได้ทรงแสดงรูปทิพย์ของพระองค์ในครั้งนั้น ทรงกวัดแกว่งพระขรรค์เพชรรุ่งโรจน์สว่างไสว ประทับยืนอยู่บนอากาศมีเทวดำรัสว่า ดูก่อนพระราชาผู้ลามกใจร้าย กาฬกัณณี การไปสวรรค์ด้วยการทำปาณาติบาต ท่านเคยเห็นเมื่อไร. ท่านจงปล่อยพระจันทกุมารและชนทั้งหมดเหล่านี้จากเครื่องผูกมัด. หากท่านไม่ปล่อย เราจักผ่าศีรษะของท่านและของพราหมณ์ชั่วนี้เดี๋ยวนี้ตรงนี้ทีเดียว. พระราชาและพราหมณ์เห็นความอัศจรรย์ดังนั้น ก็รีบให้ปล่อยสัตว์ทั้งหมดจากเครื่องผูกมัด.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้า 122
ครั้งนั้นมหาชนต่างเอิกเกริกโกลาหลรีบถมหลุมบูชายัญ แล้วถือก้อนดินคนละก้อนปาขัณฑหาละจนถึงแก่ความตาย ณ ที่นั้นเอง แล้วเตรียมจะฆ่าพระราชาด้วย. พระโพธิสัตว์ตรงเข้าสวมกอดพระบิดาไว้ก่อนไม่ให้ถูกฆ่าได้. มหาชนพากันกล่าวด้วยความแค้นว่า เราจะไว้ชีวิตพระราชาลามกนั้น แต่จะไม่ให้เศวตฉัตร ไม่ให้อยู่ในพระนคร จะให้ไปอยู่นอกพระนคร แล้วช่วยกันปลดเปลื้องเครื่องยศของพระราชาออก ให้นุ่งผ้ากาสาวะ เอาผ้าเก่าย้อมขมิ้นโพกศีรษะทำเช่นคนจัณฑาล แล้วส่งไปอยู่บ้านคนจัณฑาล. อนึ่ง ชนเหล่าใดบูชายัญด้วยการฆ่าสัตว์เองก็ดี ให้ผู้อื่นบูชายัญก็ดี พลอยยินดีก็ดี ชนเหล่านั้นทั้งหมดจะต้องตกนรก. ด้วยเหตุนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า :-
คนทั้งปวงตกนรก เพราะทำความชั่ว คนได้ไปสวรรค์ เพราะไม่ทำความชั่ว.
ลำดับนั้น ราชบริษัท ชาวนคร ชาวชนบท แม้ทั้งหมดประชุมกัน อภิเษกพระโพธิสัตว์ไว้ในราชสมบัติ. พระโพธิสัตว์ทรงเสวยราชสมบัติโดยธรรม ทรงระลึกถึงความพินาศอันเกิดขึ้นแก่พระองค์และแก่มหาชน โดยเหตุอันไม่สมควร ทรงเกิดความสังเวช มีพระอุตสาหะในการบำเพ็ญบุญให้ยิ่งขึ้นไป ทรงบริจาคมหาทาน. ทรงรักษาศีล. ทรงสมาทานอุโบสถกรรม. ด้วยเหตุนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสพระดำรัสมีอาทิว่า :-
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้า 123
ในกาลนั้น เราพ้นจากการบูชายัญแล้ว ออกไปจากที่บวงสรวงนั้น ยังความสังเวชให้เกิดขึ้น แล้วบริจาคมหาทาน.
ในบทเหล่านั้น บทว่า ยชนา มุตฺโต พ้นจากการบูชายัญ คือพ้น จากการถูกฆ่าโดยนัยดังกล่าวแล้วจากยัญพิธีที่ขัณฑหาละเตรียมไว้.
บทว่า นิกฺขนฺโต ยญฺวาฏโต ออกจากที่บวงสรวง คือออกจากที่บูชายัญนั้น พร้อมกับมหาชนผู้เกิดความอุตสาหะเพื่อจะทำการอภิเษก.
บทว่า สํเวคํ ชนยิตฺวาน ยังความสังเวชให้เกิดคือให้เกิดความสังเวชเป็นอย่างยิ่งว่า การอาศัยอยู่ในโลกมีอันตรายมาก.
บทว่า มหาทานํ ปวตฺตยึ บริจาคมหาทาน คือสร้างโรงทาน ๖ แห่ง แล้วบริจาคมหาทาน เช่นกับทานของพระเวสสันดร ด้วยการบริจาคทรัพย์มาก. ด้วยบทนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงความที่มหาทานนั้นเป็นไปแล้วตั้งแต่ได้รับอภิเษก.
บทว่า ทกฺขิเณยฺเย อทตฺวาน คือเราไม่บริจาคไทยธรรมในทักขิไณยบุคคลแล้ว.
บทว่า อปิ ฉปฺปญฺจ รตฺติโย พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่า ทุกครั้งเราไม่บริโภคของดื่มของเคี้ยวและของบริโภค ๖ ราตรีบ้าง ๕ ราตรีบ้าง.
ได้ยินว่า ในครั้งนั้นพระโพธิสัตว์ทรงกระทำชมพูทวีปทั้งสิ้นให้ เจริญงอกงาม ทรงบริจาคมหาทานดุจฝนตกห่าใหญ่. พระโพธิสัตว์ทรงบริจาคทานมากมาย และประณีตทั้งนั้น มีข้าวและน้ำเป็นต้นในโรงทานแก่
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้า 124
ผู้ขอทั้งหลายตามความพอพระทัยทุกๆ วันก็จริง ถึงดังนั้นหากพระองค์ยังไม่ทรงบริจาคทานแก่ผู้ขอทั้งหลาย ก็จะไม่เสวยพระกระยาหารที่เตรียมไว้สำหรับพระองค์ แม้พระกระยาหารนั้นจะสมควรแก่พระราชา. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสหมายถึงความนั้นว่า นาหํ ปิวามิ เราจะยังไม่บริโภค.
บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงแสดงถึงเหตุในการบริจาคแก่ผู้ขอทั้งหลายอย่างนั้น จึงทรงนำข้อเปรียบเทียบด้วยนัยมีอาทิว่า ยถาปิ วาณิโช นาม เปรียบเหมือนพ่อค้า ดังนี้.
อธิบายเนื้อความนั้นดังนี้ เปรียบเหมือนพ่อค้าไปทำการค้า มีสินค้าน้อย แต่ขายได้มาก จึงสะสมสินค้าให้มากไว้เมื่อรู้เทศกาล ในเทศกาลใดจะได้กำไรมาก ก็นำสินค้านั้นไปขายในเทศกาลนั้น.
บทว่า สกภุตฺตาปิ คืออาหารของตนก็ดี อาหารที่ตนบริโภคก็ดี. ปาฐะว่า สกปริภุตฺตา บ้าง.
บทว่า ปเร คือบุคคลผู้รับอื่น.
บทว่า สตภาโค ส่วนร้อย คือ ส่วนหลายร้อยจักมีต่อไป. ท่านอธิบายไว้ว่า เหมือนสินค้าที่พ่อค้าซื้อจะไม่ขายในที่นั้นทันที จะรอไว้ขายในเทศกาล จะได้มีกำไรมาก มีผลไพบูลย์ ฉันใด ของของตนก็ฉันนั้นตนเองยังไม่บริโภค ให้บุคคลผู้รับอื่นก่อน จักมีผลมาก จักมีส่วนหลายร้อย. เพราะฉะนั้นตนเองไม่ควรบริโภค ควรให้ผู้อื่นก่อน ด้วยประการฉะนี้. สมดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ให้ทานในสัตว์เดียรัจฉาน พึงหวังทักษิณาร้อยเท่า ให้ท่านในปุถุชนผู้เป็นทุศีล หวังได้พันเท่า. พึงทราบความพิสดารต่อไป. พระผู้มี
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้า 125
พระภาคเจ้าตรัสแม้อย่างอื่นไว้อีกมีอาทิว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลายหากว่าสัตว์ทั้งหลายพึงรู้ผลของการบริจาคทาน เหมือนอย่างที่เรารู้ คือไม่ให้ก่อนแล้วไม่พึงบริโภค. อนึ่ง จิตมีความตระหนี่เป็นมลทินของสัตว์เหล่านั้น ย่อมไม่ควบคุมตั้งไว้. ก้อนข้าวก้อนหลัง คำข้าวคำหลัง พึงมีแก่สัตว์เหล่านั้น เมื่อยังไม่แบ่งจากก้อนข้าวคำข้าวนั้น ไม่ควรบริโภค.
บทว่า เอตมตฺถวสํ ตฺวา เรารู้อำนาจประโยชน์นี้ คือรู้อำนาจ ประโยชน์ รู้เหตุ กล่าวคือความที่ทานมีผลมาก และความที่ทานเป็นปัจจัยแห่งสัมมาสัมโพธิญาณ.
บทว่า น ปฏิกฺกมามิ ทานโต เราไม่ท้อถอยจากการให้ คือไม่ถอยกลับ ไม่หลีกเลี่ยงจากทานบารมีแม้แต่น้อย. เพื่ออะไร. เพื่อบรรลุสัมโพธิญาณ อธิบายว่า เพื่อบรรลุสัมโพธิญาณ คือ พระสัพพัญญุตญาณ.
ในกาลนั้นพระโพธิสัตว์ เมื่อถูกมหาชนขับไล่พระบิดาไปอยู่บ้านคนจัณฑาล ได้ทรงประทานเสบียงอันควรให้ผ้านุ่งและผ้าห่ม. แม้พระบิดานั้นก็ไม่ได้เข้าพระนคร เมื่อพระโพธิสัตว์เสด็จไปนอกพระนครเพื่อทอดพระเนตรพระอุทยาน. พระบิดาไม่ไหว้. ไม่ทำอัญชลีกรรมด้วยเห็นว่าเป็นบุตร แต่กล่าวว่า ขอให้ลูกจงมีอายุยืนนานเถิด. แม้พระโพธิสัตว์ในวันที่เห็นพระบิดา ก็ทรงกระทำสัมมานะเป็นอย่างยิ่ง. พระโพธิสัตว์ทรงครองราชสมบัติโดยธรรมอย่างนี้ เมื่อสวรรคตก็เสด็จสู่เทวโลกพร้อมด้วยบริษัท.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้า 126
ขัณฑหาละในครั้งนั้นได้เป็นเทวทัตในครั้งนี้. พระนางโคตมีเทวี คือพระนางมหามายา. พระนางจันทาราชธิดา คือพระมารดาพระราหุล. พระวาสุละ คือพระราหุล. พระนางเสลา คือพระนางอุบลวรรณา. พระสูระ คือพระมหากัสสป. พระภัททเสนะ คือพระมหาโมคคัลลานะ. พระสุริยกุมาร คือพระสารีบุตร. พระเจ้าจันทราช คือพระโลกนาถ.
แม้ในที่นี้ก็ควรเจาะจงกล่าวถึงบารมีที่เหลือของพระโพธิสัตว์นั้นตามสมควรโดยนัยดังกล่าวแล้วในก่อนนั้นแล. พึงเจาะจงกล่าวถึงคุณานุภาพมีอาทิว่า ในครั้งนั้นพระโพธิสัตว์แม้ทรงรู้ว่า ขัณฑหาละเป็นคนหยาบคายก็ทรงใช้ดุลยพินิจวินิจฉัยคดีโดยธรรมโดยเสมอ แม้ทรงทราบวิธีบูชายัญอย่างนั้นของขัณฑหาละ เพื่อประสงค์จะปลงพระชนม์พระองค์ ก็มิได้มีจิตโกรธเคืองขัณฑหาละนั้น. แม้สามารถจะจับบริษัทของพระองค์ ซึ่งเป็นศัตรูของพระบิดา เมื่อพระบิดาประสงค์จะทำพระองค์ให้เป็นบุรุษสัตว์เลี้ยงแล้ว ปลงพระชนม์เสีย ก็มิได้ใช้ตำแหน่งหน้าที่ในการลงอาชญา ด้วยทรงดำริว่า การพิโรธด้วยกรรมหนักไม่สมควรแก่คนเช่นเรา. เมื่อปุโรหิตถอดดาบออกจากฝักย่างเท้าเข้าไปเพื่อจะตัดศีรษะ เพราะพระองค์มีจิตแผ่เมตตาไปในพระบิดาของพระองค์เสมอกับในพระโอรสและสรรพสัตว์ทั้งหลาย. เมื่อมหาชนฮือกันเข้าไปหมายจะปลงพระชนม์พระบิดา ตนเองเข้าสวมกอดพระบิดาให้ชีวิตพระบิดานั้น. แม้เมื่อทรงบริจาคมหาทานเช่นกับทานของพระเวสสันดรทุกๆ วัน ก็มิได้ทรงอิ่มด้วยทาน. การให้ของที่ควรให้แก่พระ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้า 127
ชนก ผู้ถูกมหาชนขับไล่ให้ไปอยู่ในบ้านคนจัณฑาลแล้วทรงเลี้ยงดู. การให้มหาชนตั้งอยู่ในการทำบุญ.
จบ อรรถกถาจันทกุมารจริยาที่ ๗