พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 263[เล่มที่ 12]
ข้อความบางตอนจาก
เตวิชชสูตร
วาเสฏฐะ ดีละ พวกพราหมณ์ผู้จบไตรเพท ไม่รู้จักพรหม ไม่เห็นพรหม แต่แสดงหนทางเพื่อความอยู่ร่วมกับพรหมว่า หนทางนี้แหละเป็นทางตรง เป็นสายทางเดิน เป็นทางนำออก นำผู้ดำเนินไปตามทางนั้น เพื่อความอยู่ร่วมกับพรหมได้ ข้อนี้ไม่ใช่ฐานะที่จะมีได้
วาเสฏฐะ เหมือนแถวคนตาบอดเกาะหลังกันและกัน คนต้นก็ไม่เห็น คนกลางก็ไม่เห็น แม้คนหลังก็ไม่เห็น
[เล่มที่ 12] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 278
บทว่า อนฺธเวณี แปลว่า แถวคนตาบอด อธิบายว่า คนตาบอดหนึ่งจับปลายไม้เท้าที่คนตาดีถือ คนอื่นๆ ก็จับคนตาบอดกันต่อๆ ไป ด้วยประการฉะนี้ คนตาบอด ๕๐-๖๐ คน จักต่อกันไป โดยลำดับ เรียกว่า แถวคนตาบอด. บทว่า เกาะกันและกัน คือ เกาะหลังกันและกัน. อธิบายว่า ถูกคนตาดีถือไม้เท้าหนีไป มีเรื่องว่า นักเลงคนหนึ่ง เห็นหมู่คนตาบอด จึงให้พวกคนตาบอดเกิดความอุตสาหะ โดยพูดว่า ที่บ้านโน้น ของเคี้ยวของกินหาได้ง่าย เมื่อหมู่คนตาบอดพูดว่า นายจ๋า ถ้ากระนั้นขอท่านจงนำพวกเราไปที่ บ้านนั้น พวกเราจะให้สิ่งนี้แก่ท่าน นักเลงรับสินจ้างแล้วจึงเลี่ยงลงจากทางในระหว่างทาง เดินวนรอบกอไม้ใหญ่ จึงให้พวกคนตาบอดจับผ้าเคียนพุงกันไว้ ตามลำดับก่อนหลัง แล้วบอกว่า มีธุระ พวกท่านจงไปก่อน แล้วหนีไป พวกคนตาบอดแม้ไปตลอดวัน ก็ไม่พบทาง ต่างคร่ำครวญว่า คนตาดีไปไหนหนทางอยู่ทางไหน เมื่อไม่พบหนทางต่างก็ตายกันในที่นั้นเอง. ท่านกล่าวว่า เกาะหลังกันและกัน หมายถึงพวกขอทานเหล่านั้น.
บทว่า แม้คนต้น ก็ไม่เห็น คือ บรรดาพราหมณ์ ๑๐ คน แม้คนหนึ่งก็ไม่เห็น
บทว่า แม้คนกลาง ก็ไม่เห็น หมายความว่า บรรดาอาจารย์และปาจารย์ในท่ามกลาง แม้คนหนึ่งก็ไม่เห็น
บทว่า แม้คนหลัง ก็ไม่เห็น หมายความว่า บรรดาพราหมณ์ผู้จบไตรเพทในบัดนี้ แม้คนหนึ่งก็ไม่เห็น
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น