นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ
••• ... ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย ... ..•••
... สนทนาธรรมที่ ...
มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา (มศพ.)
พระสูตร ที่จะนำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ วันเสาร์ที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๖๐ คือ
อัจจายิกสูตร
จาก
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๓๔ - หน้าที่ ๔๗๔
๑. อัจจายิกสูตร
(ว่าด้วยกิจรีบด่วนของชาวนาและภิกษุ)
[๕๓๒] ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อัจจายิกกรณียะ (กิจที่ต้องรีบทำ) ของคฤหบดีชาวนา ๓ นี้ อัจจายิกกรณียะ ๓ คือ อะไรบ้าง? คือคฤหบดีชาวนารีบๆ ไถคราดพื้นที่นาให้ดี ครั้นแล้วรีบๆ ปลูกพืช ครั้นแล้วรีบๆ ไขน้ำเข้าบ้าง ไขน้ำออกบ้างนี้แล อัจจายิกกรณียะของคฤหบดีชาวนา ๓ อย่าง แต่ว่าคฤหบดีชาวนานั้น ไม่มีฤทธิ์หรืออานุภาพที่จะบันดาลให้ข้าวงอกในวันนี้ ตั้งท้องพรุ่งนี้ สุกมะรืนนี้ ที่ถูกย่อมมีสมัยที่ข้าวนั้นเปลี่ยนสภาพไปตามฤดู ย่อมจะงอกบ้าง ตั้งท้องบ้าง สุกบ้าง
ฉันเดียวกันนั่นแล ภิกษุทั้งหลาย อัจจายิกกรณียะของภิกษุ ๓ นี้คืออะไรบ้าง? คือ การบำเพ็ญอธิสีลสิกขา การบำเพ็ญอธิจิตตสิกขา การบำเพ็ญอธิปัญญาสิกขา นี้แล อัจจายิกกรณียะ ของภิกษุ ๓ อย่าง แต่ภิกษุนั้น ไม่มีฤทธิ์หรืออานุภาพที่จะบันดาลให้จิตของตน เลิกยึดถือ หลุดพ้นจากอาสวะ ในวันนี้ หรือพรุ่งนี้ หรือ มะรืนนี้ได้ ที่ถูกย่อมมีสมัยที่เมื่อภิกษุนั้นศึกษาอธิศีลไปศึกษาอธิจิตไป ศึกษาอธิปัญญาไป จิตย่อมจะเลิกยึดถือ หลุดพ้นจากอาสวะได้
เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลาย พึงสำเหนียกในข้อนี้ว่า ฉันทะ ของเราในการบำเพ็ญอธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา และอธิปัญญาสิกขา ต้องกล้าแข็ง ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย พึงสำเหนียก อย่างนี้แล.
จบอัจจายิกสูตรที่ ๑.
อรรถกถาอัจจายิกสูตร
พึงทราบวินิจฉัยในอัจจายิกสูตรที่ ๑ ดังต่อไปนี้ :-บทว่า อจฺจายิกานิ แปลว่า รีบด่วน.บทว่า กรณียานิ แปลว่ากิจทั้งหลายที่ต้องทำอย่างแน่แท้ ก็สิ่งใดไม่ต้องทำเป็นการแน่แท้ สิ่งนั้นเรียกว่า กิจ สิ่งใดที่ต้องทำเป็นการแน่แท้ สิ่งนั้น ชื่อว่า กรณียะ. บทว่า สีฆสีฆํ แปลว่า โดยเร็วๆ . บทว่า นตฺถิ สา อิทฺธิ วา อานุภาโว วา ความว่า ฤทธิ์นั้น หรือ อานุภาพนั้นไม่มี.
บทว่า อุตฺตรเสฺว ได้แก่ ในวันที่ ๓ (วันมะรืน) . บทว่า อุตุปริณามีนิ ได้แก่ ธัญชาติทั้งหลาย ได้ความเปลี่ยนแปลงฤดู.บทว่า ชายนฺติปิ ได้แก่ มีหน่อสีขาวงอกออกในวันที่ ๓ เมื่อครบ ๗ วัน หน่อก็กลับเป็นสีเขียว. บทว่า คพฺภินีปิ โหนฺติ ความว่า ถึงเวลาเดือนครึ่ง ก็ตั้งท้อง. บทว่า ปจนฺติปิ ความว่า ถึงเวลา ๓ เดือนก็สุก.
บัดนี้ เพราะเหตุที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่มีความต้องการด้วยคฤหบดีหรือด้วยข้าวกล้า แต่ที่ทรงนำอุปมานั้นๆ มา ก็เพื่อจะทรงแสดงบุคคลหรืออรรถ ที่เหมาะสมกับเทศนานั้นในศาสนาฉะนั้น เมื่อจะทรงแสดงความหมายที่พระองค์ทรงประสงค์จะแสดงนำอุปมานั้นมา จึงตรัสคำว่า เอวเมว โข เป็นต้น. สูตรนั้น เมื่อว่าโดยอรรถง่ายทั้งนั้นแล. ก็ สิกขา พระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ตรัสไว้คละกันแม้ในสูตรนี้.
จบอรรถกถาอัจจายิกสูตรที่ ๑
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
© ข้อความโดยสรุป ©
อัจจายิกสูตร
(ว่าด้วยกิจรีบด่วนของชาวนาและภิกษุ)
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงกิจที่จะต้องรีบทำของภิกษุ ๓ อย่าง คือ บำเพ็ญ อธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขา มีฉันทะอย่างแรงกล้าในการบำเพ็ญสิกขาทั้ง ๓ เช่นเดียวกันกับชาวนาที่จะต้องรีบทำกิจ คือ รีบไถนา รีบปลูกพืช รีบไขน้ำเข้าบ้าง ไขน้ำออกบ้าง (ตามข้อความที่ปรากฏในพระสูตร)
ขอเชิญคลิกศึกษาเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ
พระภิกษุ ต้องงดงามตามพระธรรมวินัย
คันถธุระ
การจับด้ามมีด
ศีล สมาธิ ปัญญา
อาสวะ ๔
อธิศีลสิกขา
อธิจิตตสิกขา
อธิปัญญาสิกขา
ศีล สมาธิ ปัญญา
ไตรสิกขา
ไตรสรณะ - ไตรสิกขา - ไตรลักษณะ
... อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ ...
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ