กิเลส ตัณหา อาสวะ อวิชชา อนุสัย อุปธิ สังโยชน์ กาม โยคะ เหล่านี้ต่างกันอย่างไรครับ?
โดย ผู้ยังไม่พ้น  13 ก.พ. 2556
หัวข้อหมายเลข 22488

กิเลส ตัณหา อาสวะ อวิชชา อนุสัย อุปธิ สังโยชน์ กาม โยคะ อุปาทาน1 เหล่านี้ต่างกันอย่างไรบ้าง และเหมือนกันในจุดไหนบ้าง?2 มีอะไรเป็น subset ของอะไรหรือไม่ครับ?3 มีอะไรเป็นสาเหตุของอะไรหรือไม่4 นอกจากนี้ยังมีคำใกล้เคียงในกลุ่มนี้ ที่ทำให้หลายคนสับสนอยู่อีกหรือไม่?
(ถ้ามีขอท่านผู้รู้โปรดแสดง จำแนก เพื่อความเข้าใจยิ่งๆ ขึ้นด้วยครับ) 5 ขอพระสูตร (พุทธวจนะ) อ้างอิงด้วยครับขอบคุณครับ



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 13 ก.พ. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กิเลส เป็นสภาพธรรมที่เป็นเครื่องเศร้าหมองของจิต เมื่อกิเลสเกิดขึ้นย่อมทำให้จิตเศร้าหมอง กิเลสเป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นเจตสิก

กิเลส มี ๑๐ ประการ คือ

๑.ทิฏฐิกิเลส อันได้แก่ ทิฏฐิเจตสิก คือ ความเห็นผิด ที่เป็นเครื่องเศร้าหมองจิต

๒.วิจิกิจฉากิเลส อันได้แก่ ความสงสัย ที่เป็นเครื่องเศร้าหมองจิต
๓.โทสะกิเลส อันได้แก่ ความโกรธความขุ่นมัวใจ ที่เป็นเครื่องเศร้าหมองจิต
๔.โลภะกิเลส อันได้แก่ ความติดข้อง ต้องการ ที่ทำให้ใจเศร้าหมอง
๕.โมหะกิเลส อันได้แก่ ความหลงลืมไม่รู้ความจริง เป็นเครื่องเศร้าหมองจิต
๖.ถีนะกิเลส อันได้แก่ ความหดหู่ ท้อถอย ซึมเซา เป็นเครื่องเศร้าหมองจิต
๗.อุทธัจจะกิเลส อันได้แก่ ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ เป็นเครื่องเศร้าหมองจิต

๘.อหิริกะกิเลส อันได้แก่ ความไม่ละอายต่อบาป เป็นเครื่องเศร้าหมองจิต
๙.มานะกิเลส อันได้แก่ ความสำคัญตน การเปรียบเทียบ ทำให้ใจเศร้าหมอง
๑๐.อโนตตัปปะกิเลส อันได้แก่ ความไม่เกรงกลัวต่อบาป ทำให้ใจเศร้าหมอง

ตัณหา คือ สภาพธรรมที่ยินดี พอใจ ติดข้อง ดังนั้นความเป็นจริง ตัณหา ก็คือโลภะนั่นเองครับ ดังนั้นโลภะ จึงมีชื่อหลายอย่าง เช่น กามฉันทะ ตัณหา ราคะ เป็นต้น นั่นก็คือ ลักษณะของกิเลสที่เป็นโลภะทั้งสิ้นครับ เพราะฉะนั้นเมื่อตัณหาก็คือโลภะ ตัวตัณหาเองก็จึงเป็นสภาพธรรมที่เป็นกิเลสด้วยครับ เพราะในกิเลส 10 ประการมีโลภะ เป็นประการแรก และในเมื่อตัณหาก็คือโลภะนั่นเอง ตัณหาจึงเป็นกิเลส ประเภทหนึ่งครับ ดังนั้นถ้าพูดถึงกิเลส ไม่ได้มุ่งหมายเฉพาะ ตัณหาหรือโลภะเท่านั้นครับ เพราะกิเลสมีหลายประการ และบางนัย กิเลสก็หมายถึงสภาพธรรมที่เป็นอกุศลธรรมทั้ง หมดเลย เพราะอกุศลทำให้จิตเศร้าหมอง ดังนั้น ตัณหาจึงเป็นส่วนหนึ่งของกิเลสครับ แต่กิเลส ไม่ใช่ตัณหา เพราะกิเลสมีมากครับ ถ้ากล่าวว่าตัณหาคำเดียว ก็แสดงว่ามุ่งหมายถึง โลภะ ความติดข้องเท่านั้น แต่ถ้าใช้คำว่ากิเลสคำเดียว หมายถึง อกุศลทั้งหลาย ไม่ใช่เฉพาะ โลภะ หรือ ตัณหาเท่านั้นครับ

อาสวะกิเลส หมายถึง อกุศลธรรมชนิดหนึ่งที่มีสภาพหมักหมมไว้ในขันธสันดาน เหมือนกับสุราซึ่งเป็นเครื่องหมักดองที่เก็บไว้นานๆ มีอำนาจทำให้เมาและหลงใหลได้ อาสวะยังเป็นสภาพที่ไหลไป ไหลไปสู่ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ สามารถไหลไปได้จนถึงภวัคคพรหม เมื่อว่าโดยภูมิ แต่เมื่อว่าโดยธรรม ก็ไหลไปได้จนถึงโคตรภู ทำให้สังสารวัฏฏ์เจริญสืบต่อไป

อาสวะมี ๔ อย่าง คือ ...

๑. กามาสวะ เครื่องหมักดองคือความยินดีในกาม ได้แก่ โลภเจตสิกที่เกิดกับโลภมูลจิต ๘ ดวง

๒. ภวาสวะ เครื่องหมักดองคือความยินดีในภพ ได้แก่ โลภเจตสิกที่เกิดกับโลภทิฏฐิคตวิปปยุตต์ ๔ ดวง

๓. ทิฏฐาสวะ เครื่องหมักดองคือความเห็นผิด ได้แก่ ทิฏฐิเจตสิกที่เกิดโลภทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ๔ ดวง

๔. อวิชชาสวะ เครื่องหมักดองคือความไม่รู้ ได้แก่ โมหเจตสิกที่เกิดกับอกุศลจิตทั้ง ๑๒ ดวง

อาสวะกิเลส จึงเป็นส่วนหนึ่งของกิเลส ในกิเลส 10 ประการ เพราะ อาสวะ คือ โลภะ และ ทิฏฐิ ที่เป็นความเห็นผิด

อวิชชา คือ ความไม่รู้ เรียกว่า โมหะ เป็นเจตสิก คือ โมหเจตสิก เป็นนามธรรมครับ ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งของกิเลส ด้วย ครับ

อนุสัยกิเลส หมายถึง กิเลสอย่างละเอียดที่ตามนอนเนื่องอยู่ในจิตไม่ปรากฏตัวออกมา หรือเป็นกิเลสที่มีกำลังที่ยังละไม่ได้ จะละได้ด้วยปัญญระดับมรรคจิตครับ

อนุสัย มี 7 ประการคือ

๑. กามราคานุสัย หมายถึง โลภะ ความติดข้องในกาม

๒. ปฏิฆานุสัย หมายถึง โทสะ ความโกรธ

๓. ทิฏฐานุสัย หมายถึง ความเห็นผิด

๔. วิจิกิจฉานุสัย หมายถึง ความสงสัย

๕. มานานุสัย หมายถึง ความถือตัว ความสำคัญตัว

๖. ภวราคานุสัย หมายถึง โลภะ ความติดข้องในภพ

๗. อวิชชานุสัย หมายถึง โมหะ ความไม่รู้

แม้อนุสัย ก็เป็นการแสดงลักษณะของกิเลสที่สะสมไว้นอนเนื่องยังไม่ได้ดับ แต่ก็ไม่พ้นจากสภาพธรรมที่เป็นกิเลส ใน 10 ประการ ครับ


ความคิดเห็น 2    โดย paderm  วันที่ 13 ก.พ. 2556

อุปธิ แปลว่า สภาพซึ่งทรงไว้ซึ่งทุกข์ คือ ทุกอย่างที่เกิดแล้วดับ เป็นสภาพทรงไว้ซึ่งทุกข์ เป็นอุปธิ ได้แก่

กามูปธิ กามเป็นอุปธิ เพราะเมื่อพอใจในกาม จึงแสวงหา ก็นำมาซึ่งทุกข์

ขันธูปธิ ขันธ์เป็นอุปธิ เพราะจิต เจตสิก รูป เป็นที่ตั้งแห่งทุกข์ เช่น เจ็บ ป่วยแก่ ตาย เป็นต้น

กิเลสูปธิ กิเลสเป็นอุปธิ เพราะมีกิเลส จึงทำอกุศลกรรมได้ เมื่อผลเกิดก็นำมาซึ่งทุกข์ คือ ภพภูมิไม่ดี และ ความเดือดร้อน

อภิสังขารูปธิ อภิสังขารเป็นอุปธิ หมายถึง เจตนาที่เกิดร่วมกับกุศลและอกุศลจิตทั้งหลายที่นำไปสู่ทุกข์ คือ วัฏฏทุกข์.

สำหรับอุปธิจะกินความกว้างขวาง ไม่ได้หมายเฉพาะกิเลสสภาพธรรมที่ไม่ดีเท่านั้นที่เป็นอุปธิ แม้แต่ สภาพธรรมที่เกิดขึ้นและดับไปทั้งหมด ทั้งรูป ทั้งกุศลจิต ทั้งเจตสิกที่ดี ที่เกิดขึ้นและดับไป เป็นทุกข์ทั้งหมด เป็นอุปธิ จึงกินความกว้างขวางกว่ากิเลส และ อื่นๆ ครับ

สังโยชน์ คือ สภาพธรรมที่ผูก ผูกสัตว์ไว้ในวัฏฏะ คือ ไม่ให้ออกไปจากวัฏฏะ คือ การเกิดไปได้ เพราะฉะนั้น สภาพธรรมที่เป็นสังโยชน์ จึงเป็นเครื่องกั้นที่จะทำให้ออกไปจากสังสารวัฏฏ์

สังโยชน์ มี ๑๐ อย่าง คือ

๑. กามราคสังโยชน์ ได้แก่ โลภเจตสิกที่เกิดกับโลภมูลจิต ๘ ดวง เช่น ขณะที่ยินดีพอใจในอาห ารที่ทาน ขณะนั้นก็เป็นกามราคะสังโยชน์ สรุปได้ว่า เป็นความยินดีพอใจ ในรูป เสียง กลิ่น รสสิ่งที่กระทบสัมผัส ครับ

๒. รูปราคสังโยชน์ ได้แก่ โลภเจตสิกที่เกิดกับทิฏฐิคตวิปปยุตจิต ๔ ดวง คือ ความยินดีพอใจ ในการกิดในรูปพรหม ครับ

๓. อรูปราคสังโยชน์ ได้แก่ โลภเจตสิกที่เกิดกับทิฏฐิคตวิปปยุตจิต ๔ ดวง คือ ความยินดีพอใจในการเกิดในอรูปพหรม

๔. ปฏิฆสังโยชน์ ได้แก่ โทสเจตสิกที่เกิดกับโทสมูลจิต ๒ ดวง คือ ความโกรธที่เกิดขึ้นในชีวิตประ จำวัน ครับ

๕. มานสังโยชน์ ได้แก่ มานเจตสิกที่เกิดกับทิฏฐิคตวิปปยุตจิต ๔ ดวง คือ ขณะที่เปรียบเทียบว่า เราเก่งกว่า ด้อยกว่า เป็นมานะในขณะนั้น ครับ เป็นมานะสังโยชน์

๖. ทิฎฐิสังโยชน์ ได้แก่ ทิฏฐฺเจตสิกที่เกิดกับทิฏฐิคตสัมปยุตจิต ๔ ดวง คือ ขณะที่เห็นผิด เช่นเกิดควาเมห็นผิดว่า ตายแล้วไม่เกิด ตายแล้วไปอยู่ในสถานที่ที่เที่ยง กรรมไม่มี ผลของกรรมไม่มี เป็น ความเห็นผิดในขณะนั้นเป็นทิฏฐิสังโยชน์ ครับ

๗. สีลัพพตปรามาสสังโยชน์ ได้แก่ ทิฎฐิเจตสิกที่เกิดกับทิฏฐิคตสัมปยุตจิต ๔ ดวง คือ ความเห็นผิดเช่นกัน ครับ แต่ เป็นความเห็นผิดในข้อวัตรปฏิบัติ เช่น เข้าใจว่าการทรมานตนเองจะทำให้หลุดพ้น เป็นต้น

๘. วิจิกิจฉาสังโยชน์ ได้แก่ วิจิกิจฉาเจตสิกที่เกิดกับโมหวิจิกิฉา สัมปยุตจิต ๑ ดวง คือ ความลังเลสงสัย เช่น ขณะที่คิดว่า พระพุทธเจ้ามีจริงหรือ สงสัยในพระรัตนตรัยนั่นเอง สงสัยว่าข้อปฏิบัติที่จะถึงการดับทุกข์มีจริงหรือ เป็นต้น ครับ

๙. อุทธัจจสังโยชน์ ได้แก่ อุทธัจจเจตสิกที่เกิดกับอกุศลจิตทั้ง ๑๒ ดวง คือ ความฟุ้งซ่าน ขณะที่คิดด้วยอกุศล ขณะนั้น ก็ฟุ้งซ่านไป มีการคิดเรื่องการงาน เป็นต้น ครับ

๑๐. อวิชชาสังโยชน์ ได้แก่ โมหเจตสิกที่เกิดกับอกุศลจิตทั้ง ๑๒ ดวง คือ ความไม่รู้ เช่น ขณะที่คิดไม่ออก หลงลืมสติ ขณะนั้น ก็เป็นโมหะ

สำหรับสังโยชน์ ก็รวมในกิเลส เพียงแต่แสดงลักษณะของกิเลสโดยการเป็นเครื่องผูกสัตว์ไว้ ไม่ให้ออกไปจากวัฏฏะ ที่เป็นลักษณะของกิเลสประการหนึ่ง ครับ

กาม ความหมาย คือ อันสัตว์ใคร่ กามมี ๒ อย่างคือ กิเลสกาม ๑ วัตถุกาม ๑

กิเลสกาม ได้แก่ ฉันทราคะ คือ โลภเจตสิก ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ยินดี พอใจติดข้องในอารมณ์

วัตถุกาม คือ สภาพธรรมซึ่งเป็นที่ตั้งของความยินดี ความพอใจความปรารถนา

ฉะนั้น วัตถุกาม ได้แก่ วัฏฏะ ซึ่งเป็นไปในภูมิทั้ง ๓ คือ ทั้งกามภูมิ รูปภูมิ และ อรูปภูมิ เพราะไม่พ้นจากการเป็นวัตถุที่ยินดีพอใจของกิเลสกามตราบใดที่ยังดับโลภะไม่ได้ ก็ยังมีวัตถุกาม คือ สภาพธรร มซึ่งเป็นที่ยินดี พอใจของกิเลสกาม

ดังนั้นเมื่อเปรียบเทียบกับสภาพธรรมอื่นๆ กามกินความหมายกว้าง เพราะกิเลสกาม คือ โลภะ ส่วน วัตถุกามที่เป็นที่ตั้งให้โลภะ รวมถึงรูปและนามทั้งหมดเลย เว้นแต่พระนิพพานเท่านั้น ครับ


ความคิดเห็น 3    โดย paderm  วันที่ 13 ก.พ. 2556

โยคะ ในที่นี้ หมายถึง กิเลสเครื่องประกอบสัตว์ไว้ในวัฏฏะ หรือ ผูกตรึงไว้ประกอบสัตว์ไว้ไม่ให้ผละไปหรือไม่ให้หลุดไปจากวัฏฏะได้.มีด้วยกัน ๔ ประเภท คือ

๑. กามโยคะ คือ โลภะที่มีความยินดีพอใจ ติดข้อง ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันเป็นกิเลสที่ผูกตรึงไว้ ไม่ให้พ้นจากสังสารวัฏฏ์

๒. ภวโยคะ คือ โลภะที่มีความยินดีพอใจในภพในขันธ์

๓. ทิฏฐิโยคะ (ทิฎฐิ) คือ ความเห็นผิด อันเป็นกิเลสที่ตรึงไว้ ไม่ให้พ้นจากสังสารวัฏฏ์

๔. อวิชชาโยคะ (อวิชชา) คือ ความไม่รู้ อันเป็นกิเลสที่ตรึงไว้ ไม่ให้พ้นจากสังสารวัฏฏ์

อุปาทาน คือ ความยึดมั่น มี ๔ ได้แก่ กามุปาทาน ๑ ทิฏฐุปาทาน ๑ สีลัพพตุปาทาน ๑ อัตตวาทุปาทาน ๑
โดยสภาพธรรม ได้แก่ โลภเจตสิกอย่างเดียวก็ได้ โดยไม่มีความเห็นผิด เช่น ติดข้องมากๆ ในรูป เสียง กลิ่น รส สิ่งที่กระทบสัมผัส เป็นกามุปาทาน ส่วน ทิฏฐุปาทาน๑ สีลัพพตุปาทาน ๑ อัตตวาทุปาทาน ๑ เป็นทิฏฐิเจตสิก คือ มีความเห็นผิดด้วย ครับ

เพราะฉะนั้น อุปาทานมีความหมายกว้างกว่า โลภะเจตเสิก แต่ อุปทานทั้ง 4 เป็นจิตที่เป็นประเภทโลภะ คือ เป็นโลภะทั้งหมด คือ เป็นโลภมูลจิต ครับ แล้วแต่ว่า จะมีความเห็นผิด หรือ ไม่มีความเห็นผิด ครับ เพียงแต่ว่า โลภะที่มีกำลังอ่อน ไม่ได้ติดข้องมาก ก็ไม่ได้เป็นถึงอุปาทาน ที่มีความยึดมั่นที่มีกำลัง ครับ

ดังนั้น อุปาทาน มีความหมายแคบกว่ากิเลส เพราะ อุปาทานเป็น โลภะ กับ ทิฏฐิที่เป็นความเห็นผิด ครับ

เชิญคลิกอ่านข้อความในพระไตรปิฎกที่นี่ ครับ

ตัณหา

ชื่อว่าอาสวะ

ชื่อว่าอนุสัยด้วยอรรถว่าอะไร

อุปธิ ๔อวิชชาเป็นสมุทัยกิเลสต่างๆ จึงมีกาม และ กิเลส เป็นเครื่องผูก [คาถาธรรมบท]

สังโยชน์ ๑๐ ประการ [สังโยชนสูตร]

โยคสูตร .. โยคะ ๔ อย่าง

พระพุทธพจน์ ..กามโยคะเป็นดังนี้

พระพุทธพจน์ ..ภวโยคะเป็นดังนี้

พระพุทธพจน์ ..ทิฏฐิโยคะเป็นอย่างนี้

พระพุทธพจน์ ..อวิชชาโยคะเป็นดังนี้

อุปาทาน ๔ เป็นไฉน [วิภังค์]

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 4    โดย khampan.a  วันที่ 13 ก.พ. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กิเลส เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นเครื่องเศร้าหมองของจิต ทำให้จิตใจเศร้าหมอง ไม่ผ่องใส เป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ตราบใดที่ยังไม่สามารถดับกิเลส มี โลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น ก็ยังมีเหตุที่ทำให้กิเลสเกิดขึ้นเป็นไปตามการสะสมของแต่ละบุคคล

ตัณหา ก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นความอยาก ความติดข้องต้องการ เป็นอีกชื่อหนึ่งของโลภะ

อาสวะ เป็นกิเลสที่หมักดอง หมักหมม ไหลไปได้ทุกภพภูมิ ไหลไปทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ ว่าโดยสภาพธรรมแล้ว ได้แก่ โลภะ มิจฉาทิฏฐิและอวิชชา บุคคลผู้สิ้นอาสวะได้อย่างสิ้นเชิง คือ พระอรหันต์

อวิชชา เป็นความหลง ความไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง เกิดร่วมกับอกุศลจิตทุกขณะ ตราบใดที่ยังไม่ใช่พระอรหันต์ก็ยังมีอวิชชาอยู่

อนุสัย เป็นกิเลสอย่างละเอียดที่นอนเนื่องสะสมสืบต่ออยู่ในจิตทุกขณะ ซึ่งจะถูกดับด้วยอริยมรรค

อุปธิ หมายถึงสภาพธรรมที่เข้าไปทรงไว้ซึ่งทุกข์ กล่าวโดยรวมแล้ว ไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่มีจริงในขณะซึ่งเกิดเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป ไม่ว่าจะทรงแสดงโดยนัยใด ก็คือสภาพธรรมที่มีจริงในขณะ ทรงไว้ซึ่งทุกข์จริงๆ เพราะเกิดดับ

สังโยชน์ หมายถึงกิเลสที่ผูกมัดเหล่าสัตว์ไว้ในวัฏฏะ ทำให้อยู่ในวัฏฏะ ไม่พ้นไปจากโลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น

กาม เป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ หมายถึง สิ่งที่น่าใคร่น่าพอใจ มุ่งหมายถึงทั้งตัววัตถุกาม อันเป็นที่ติดข้องของโลภะ และ หมายถึงตัวติดข้อง คือ โลภะ ซึ่งเป็นกิเลสกามด้วย

โยคะ หมายถึง กิเลสที่ประกอบหรือตรึงสัตว์ไว้ในวัฏฏะ ตรึงไว้ไม่ให้เป็นกุศล ไม่พ้นไปจาก โลภะ มิจฉาทิฏฐิ และอวิชชา หนทางแห่งการอบรมเจริญปัญญาย่อมเป็นไปเพื่อความปลอดโปร่งจากโยคะ และกิเลสทั้งปวง

ทั้งหมดนั้นแสดงถึงสภาพธรรมที่มีจริงโดยนัยต่างเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริง ครับ

... ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 5    โดย wannee.s  วันที่ 13 ก.พ. 2556

กิเลส ตัณหา อุปธิ สังโยชน์ เหล่านี้ทั้งหมด เพราะมาจากอวิชชาความไม่รู้ทั้งหมด ค่ะ


ความคิดเห็น 6    โดย นิรมิต  วันที่ 14 ก.พ. 2556

ขออนุโมทนา กราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงครับ


ความคิดเห็น 7    โดย Boonyavee  วันที่ 14 ก.พ. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 8    โดย ตุ้ย  วันที่ 14 ก.พ. 2556

ธรรมใดๆ ล้วนเกิดแต่เหตุ เมื่อดับผลย่อมดับ

ธรรมใดๆ ย่อมเกิดแต่ใจ เมื่อใจดับผลย่อมดับ

ความคิด จิต ใจ วิญญาณ สังขาร ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งเดียวกันแต่เรียกต่างกันไปตามลักษณะ

สรุป ธรรมทั้งหลายเกิดมาจากความคิด เมื่อดับความคิดกิเลสก็ดับ

ธรรมทั้งหลายที่คุณกล่าวถึงมันก็มาจากความคิดทั้งนั้น ทั้งกุศลธรรมและอกุศลธรรม เมื่อความคิดดับ ธรรมอันกุศลและอกุศลก็ดับ เมื่อดับหมดก็จะถึงอัพยากตาธรรม

ผมอธิบายตามธรรมปฏิบัติครับ

เจริญในธรรมครับ


ความคิดเห็น 9    โดย ผู้ร่วมเดินทาง  วันที่ 15 ก.พ. 2556

ขอบพระคุณและขออนุโมทนา อ.เผดิม อ.คำปั่น และทุกๆ ท่านครับ


ความคิดเห็น 10    โดย nong  วันที่ 16 ก.พ. 2556

ขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 11    โดย ผู้ยังไม่พ้น  วันที่ 17 ก.พ. 2556

ขอบพระคุณมากๆ ครับ __/][__ขอโอกาสถามให้ยิ่งๆ ขึ้นไปอีกดังนี้ครับ

1 ฉันทะ ต่างจาก ราคะ / โลภะ อย่างไร?

2 นันทิ ต่างจาก ราคะ / โลภะ / ฉันทะ อย่างไร?

3 คำกล่าวที่ว่าอาศัยกิเลสดับกิเลส อาศัยฉันทะดับฉันทะ อาศัยมานะดับมานะ อาศัยโทสะดับโทสะนั้นมีจริงหรือไม่?ทำได้อย่างไร?

พระพุทธองค์ตรัสสอนไว้หรือไม่?ขอบคุณครับ


ความคิดเห็น 12    โดย เพียงดิน  วันที่ 19 ก.พ. 2556

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 13    โดย khampan.a  วันที่ 20 ก.พ. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เรียนความคิดเห็นที่ ๑๑ ครับ

1 ฉันทะ ต่างจาก ราคะ / โลภะ อย่างไร?

ฉันทะเป็นความพอใจ เป็นปกิณณกเจตสิก เกิดร่วมกับจิตได้ทุกชาติ ตามควรแก่จิตประเภทนั้นๆ ฉันทะไม่ใช่โลภะ แต่เกิดร่วมกับโลภะได้ แต่โลภะเป็นอกุศลอย่างเดียว ส่วนฉันทะเป็นอกุศลก็ได้ เป็นกุศลก็ได้ เป็นวิบากก็ได้ เป็นกิริยาก็ได้ ตามควรแก่จิตที่ตนเองเกิดร่วมด้วย

2 นันทิ ต่างจาก ราคะ / โลภะ / ฉันทะ อย่างไร?

ราคะ (ความใคร่) โลภะ (ความติดข้อง) นันทิ (ความเพลิดเพลิน) เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นอ กุศลธรรม ว่าโดยสภาพธรรมแล้ว ก็ได้แก่โลภเจตสิก ส่วนฉันทะก็โดยนัยที่กล่าวแล้วในคำตอบข้อที่ ๑

3 คำกล่าวที่ว่าอาศัยกิเลสดับกิเลส

ควรที่จะได้เข้าใจว่า กิเลสไม่สามารถดับหรือละกิเลสได้ เพราะเป็นอกุศลเป็นสภาพธรรมที่ไม่ดี สิ่งที่ไม่ดีจะมาดับสิ่งที่ไม่ดีย่อมเป็นไปไม่ได้ แต่สภาพธรรมที่จะดับกิเลสต้องเป็นธรรมฝ่ายดีเท่านั้น จากข้อความที่กล่าวถึงอาศัยกิเลสละกิเลส ก็คือ เพราะยังมีกิเลสอยู่ ยังมากไปด้วยกิเลส จึงเห็นโทษของกิเลส มีการอบรมเจริญปัญญาเพื่่อที่จะดับกิเลสได้ในที่สุด ไม่ใช่ว่าจะต้องมีกิเลสมากๆ ถึงจะดับกิเลสได้ ซึ่งในประเด็นนี้ ท่่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ก็ได้กล่าวไว้ด้วยคำที่เข้าใจง่าย คือ

-มีตัณหา (โลภะ) จึงมีการอบรมเจริญปัญญาเพื่อดับตัณหา ถ้ามีข้อความใดที่แสดงว่าอาศัยตัณหาละตัณหา ให้เข้าใจได้ว่า หมายความว่า อาศัยตัณหา คือ ตัณหามี จึงอบรมเจริญปัญญาเพื่อละตัณ หา ไม่ใช่ใครก็ตามได้ยินอย่างนี้แล้ว ก็เจริญตัณหาให้มากๆ เพื่อที่จะไปละตัณหา ซึ่งไม่มีทางจะเป็นไปได้เลย

อ้างอิงจาก ... ปันธรรม-ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๒๘

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 14    โดย boonpoj  วันที่ 24 เม.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 15    โดย Nattaya40  วันที่ 28 ม.ค. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ