อิสสา
โดย Unclemax  22 พ.ย. 2554
หัวข้อหมายเลข 20070

อิสสา คืออะไร มีลักษณะอย่างไร



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 22 พ.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ความอิจฉาริษยา ในภาษาธรรมเรียกว่า อิสสา เป็นสภาพธรรมที่มีจริง แต่เป็นสภาพ ธรรมฝ่ายไม่ดีครับ เป็นสภาพธรรมที่เป็นฝักฝ่ายของโทสะ เพราะขณะที่เกิดความริษยา ในสมบัติของผู้อื่น สมบัติในที่นี้ไม่ได้หมายถึง เพียง ทรัพย์สินเงินทองเท่านั้นครับ รวม ถึงสิ่งที่ดีๆ ที่บุคคลอื่นๆ ได้ เช่น การเคารพ สักการะ หรือการได้รับสิ่งที่ดีๆ เมื่อริษยาเกิด ก็เกิดความขุ่นใจ ไม่พอใจในสิ่งที่บุคคลอื่นได้ จึงเป็นธรรมที่เป็นฝักฝ่ายโทสะ คือ ความไม่พอใจ ขุ่นใจในขณะนั้นด้วยครับ

ลักษณะของความอิจฉาริษยา หรือ อิสสานั้น คือ ขณะนั้นย่อมไม่ชอบใจ ไม่พอใจ ขุ่นใจ ในเมื่อบุคคลอื่นได้ลาภ ได้สักการะ ได้ความเคารพ ได้ความนับถือ ได้รับการ ไหว้และบูชา กล่าวได้ว่าเห็นบุคคลอื่นได้ดีแล้ว ทนไม่ได้ ไม่ต้องการให้ผู้อื่นได้ดี นี้เป็นลักษณะของความริษยา (ธรรมที่ตรงกันข้ามกับความริษยา คือ มุทิตา ความ พลอยยินดี เมื่อผู้อื่นได้ดี เมื่อผู้อื่นได้รับในสิ่งที่ดี) ความริษยา จึงมีความไม่พอใจ ไม่อยากให้ผ็อื่นได้ในสิ่งที่ดี เป็นลักษณะของความริษยาครับ

เหตุให้เกิดความริษยา

ซึ่งพระพุทธเจ้าแสดง เหตุให้เกิดความริษยา ว่า เกิดจากอารมณ์ที่น่าพอใจและไม่น่า พอใจเป็นเหตุ หากไม่มีอารมณ์ที่ดีและไม่ดีแล้ว ก็จะไม่มีการติดข้องเกิดขึ้น เพราะไม่มี อารมณ์ให้ติดข้องนั่นเอง แต่เมื่อมีอารมณ์ คือ สิ่งที่รับรู้ที่ดี มี สี เสียงที่น่าปรารถนา เช่น คำสรรเสริญ เป็นต้น และอารมณ์ที่ไม่ดี คือ สิ่งที่รับรู้ที่ไม่ดี ก็ทำให้ติดข้องในอารมณ์ ต่างๆ สิ่งที่รับรู้ต่างๆ เมื่อมีการติดข้องในสิ่งที่น่าพอใจมาก ก็เป็นเหตุให้เมื่อตัวเองไม่ได้ คนอื่นได้ ก็เกิดความริษยา ไม่อยากให้คนอื่นได้ เป็นต้นครับ รวมทั้งมีความไม่ชอบ บุคคลนั้นด้วย จึงมีความไม่พอใจในเมื่อบุคคลนั้นได้รับสิ่งที่ดีครับ นี่คือเหตุให้เกิด ความริษยา อิสสานั่นเองส่วนผู้ที่จะดับความริษยาหรืออิสสา ไม่เกิดขึ้นอีกเลยคือ พระโสดาบัน ครับ

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ

อิสสา

อิสสามีลักษณะอย่างไร

อิสสาและมัจฉริยะเป็นไฉน? [ธรรมสังคณี]

เหตุให้เกิดความริษยาและความตระหนี่ [สักกปัญหสูตร]


ความคิดเห็น 2    โดย paderm  วันที่ 22 พ.ย. 2554

ส่วน การ ขัดเกลา อิสสา หรือ ความริษยา ก็ไม่พ้นจาก ธรรมที่เป็นฝ่ายดี คือ ปัญญา ดังนั้น อาศัยการอบรมปัญญา เมื่อปัญญาเจริญขึ้น ก็จะทำให้ มีความคิดที่ถูก อกุศลธรรม ที่เกิดมากก็ค่อยๆ คลายลง รวมทั้ง อิสสา หรือ ความริษยาด้วยครับ ซ่ง เมื่อถึงความเป็น พระโสดาบัน ความอิสสา หรือ ริษยาก็จะไม่เกิดขึ้นอกีเลยครับ ซึ่งก่อนจะถึงตรงนั้น ก็ค่อยๆ ขัดเกลากิเลสในชีวิตประจำวันด้วยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมครับ

ซึ่งขอนำคำอธิบายที่เป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของปัญญา อันเกิดจากการพิจารณาใน ข้อความที่จะกล่าวต่อไปนี้ เมื่อปัญญาเจริญขึ้นก็จะค่อยๆ ปรับเปลี่ยนจากความคิดผิดที่เป็น ความริษยา เปลี่ยนเป็นกุศลธรรมครับ

1. พิจารณาโดยความเป็นมิตรกันในสังสารวัฏฏ์

ในสังสารวัฏฏ์ทุกคนเกิดมาแล้วในฐานะต่างๆ กันทั้งหมด เป็นมารดา บิดา กันมาแล้ว เป็นบึุตร ภรรยากันมาแล้ว ดังนั้น เมื่อนึกถึงความเป็นมิตรกันในสังสารวัฏฏ์ที่เคยพบเจอกัน แทนที่จะไม่ชอบและเิกิดความริษยา ก็ยินดีในสิ่งที่ผู้อื่นได้ และช่วยเหลือดังที่เคยเป็น ญาติของเราองครับ

2. พิจารณาโดยความที่สัตว์มีกรรมเป็นของๆ ตน

ทุกคนที่ได้ทรัพย์ สมบัติ สิ่งที่ดี น่าปรารถนา ก็ล้วนแล้วแต่เป็นกรรมของแต่ละบุคคลที่ ทำมาทั้งนั้น เพราะบุคคลนั้นสะสมเหตุที่ดีมา การริษยาในสมบัติของผู้อื่น ไม่ได้ทำให้ ทรัพย์สมบัติของผู้อื่นหายไป แต่ใจที่เป็นกุศลธรรมของเราหายไป ไม่มีประโยชน์ ที่มี ประโยชน์คือ พิจารณาถึงเหตุที่บุคคลนั้นได้ คือ การกระทำกุศลกรรม จึงเป็นผู้ขวนขวาย ในการกระทำกุศลของตน เพราะเห็นเหตุที่ผู้อื่นได้สิ่งต่างๆ ด้วยกุศลธรรม ครับ

3. พิจารณาความดีของบุคคลนั้น

ความริษยา อิสสา ย่อมเกิดกับคนที่เราไม่ชอบ ดังนั้น หากเปลี่ยนจากการมองที่ความดี ของเขาบ้างที่มีอยู่ ก็ย่อมเป็นมิตรในขณะนั้น ขณะที่เป็น มิตร เป็นกุศลธรรม ชื่นชมใน ความดี ก็ไม่เป็นศัตรู เมื่อผู้นั้นได้สิ่งใดมา ก็ชื่นชม ยินดี เพราะเป็นมิตรกับบุคคลนั้นได้ครับ


ความคิดเห็น 3    โดย paderm  วันที่ 22 พ.ย. 2554

4. พิจารณาโดยความเป็นธาตุ หรือ ธรรมเท่านั้นที่เกิดขึ้น

ในความ เป็นจริงมีแต่เพียงสภาพธรรมทีเ่กิดขึ้นและดับไป ขณทะะที่เห็นสมบัติของ ผู้อื่น ก็เป็นเพียงการเห็น และคิดนึกเป็นเรื่องราวจากสิ่งทีเ่ห็น ก็เป็นเพียงจิตที่คิดนึกที่ เ่กิดขึ้นกับเราเองเท่านั้น ไม่มีใครได้สมบัติ ไม่มีเราที่ริษยาและเขาที่ถูกริษยา เพราะมี แต่ธรรมไม่ใช่เราครับ เป็นเพียงสภาพธรรมที่เ่กิดขึ้นทำหน้าที่ของจิตและเจตสิกแต่ละ ขณะเท่านั้นครับ

5. เป็นผู้อบรมเจริญสติปัฏฐาน

จาก ที่กล่าวมาใน 4 ข้อข้างต้น เป็นการพิจาณณาเพื่อ ละ อกุศล คือ ความอิสสา หรือ ริษยาเพียงชั่วคราวในขณะนั้น ไม่ใช่หนทางที่จะนำไปสู่การละ อิสสา หรือ ริษยาได้อย่าง แท้จริง แต่หนทางดับกิเลส ดับความริษยาได้จนหมดสิ้น คือ การเจริญสติปัฏฐาน ระลึกรู้ ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ปุถุชนย่อมสำคัญผิดว่ามี เรา มีสัตว์ บุคคล แต่ในความเป็นจริงมีแต่ธรรมเท่านั้น ขณะที่ความริษยาเกิดขึ้น ยึดถือว่า มีเราที่ริษยา มีคนอื่นที่ถูกริษยา แต่การเจริญสติปัฏฐาน คือ รู้ตรงลักษณะของสภาพธรรม ในขณะนั้นว่าเป็นเพียงอกุศลจิตที่เป็นริษยาทีเ่กิดขึ้น ไม่ใช่เราที่ริษยา การเข้าใจถูกว่า ไม่มีเรา ไม่มีเขา ย่อมละความเห็นผิดได้ อันเป็นกิเลสที่ต้องละเป็นอันดับแรก และเมื่อ เจริญสติปัฏฐานไปเรื่อยๆ ก็จะค่อยๆ ละกิเลส จนถึงความเป็นพระโสดาบัน ความริษยาก็ จะไม่เกิดขึ้นอีกเลยครับ

ดังนั้นหนทางที่ถูก คือ เริ่มจากากรฟังพระธรรมหให้เข้าใจในเบื้องต้น ในเรื่องของ สภาพธรรมว่าไม่มีเรา ให้ข้าใจขั้นการฟัง การเริ่มต้นที่ถูกก็จะสามารถละกิเลสได้ในที่สุด ครับ อิสสา เกิดขึ้นได้ เมื่อยังไม่ใช่พระโสดาบัน แต่ค่อยๆ ละได้ด้วยปัญญา เริ่มจากการ ฟังพระธรรให้เข้าใจครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ

ผู้ร่วมงานอายุน้อยกว่าชอบอิจฉา ริษยา ใช้ธรรมะใดข่มดีคะ

..ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์


ความคิดเห็น 4    โดย นายเรืองศิลป์  วันที่ 22 พ.ย. 2554

ขณะที่จิตเป็นกุศล ด้วยการทำทาน ศีล และเจริญภาวนา ขณะนั้นอกุศล ย่อมไม่เกิด ขึ้น ย่อมไม่มีอิสสา และสภาพธรรมในหมวดอกุศลใดๆ เกิดขึ้น สภาพธรรมของกุศล ย่อมประกอบพร้อม สะสมเป็นปัจจัยให้เกิดกุศลต่อไป เพราะฉะนั้นจึงไม่มีเรา ไม่มีใคร ที่จะไปละอกุศลได้ มีแต่สภาพธรรมที่เป็นกุศลเกิดขึ้น อกุศลก็ไม่เกิดขึ้น

อนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 5    โดย JANYAPINPARD  วันที่ 22 พ.ย. 2554

อิสสาเป็นธรรมที่ทำให้เหมือนตกอยู่ในนรก.. ตามข้อความในอิสสาสูตร

เชิญคลิกอ่าน...

ธรรมที่ทำให้เหมือนตกนรกและขึ้นสวรรค์ [อิสสาสูตร]

ในพระไตรปิฏกกล่าวว่า

เมื่อตายไปจะเข้าถึงอบายทุคติ วินิบาต นรก เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อม สมาทานไว้อย่างนี้หากตายไป ไม่เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ถ้ามาเป็นมนุษย์ เกิด ณ.ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนมีศักดาน้อย. ดูก่อนมาณพ ปฏิปทาเป็นไป เพื่อมีศักดาน้อยนี้ คือ มีใจริษยา ย่อมริษยา มุ่งร้าย ผูกใจอิจฉาในลาภ สักการะ ความเคารพ ความนับถือ การไหว้ และการบูชาของคนอื่น

เชิญคลิกอ่าน...

ผู้ไม่มักโกรธ [จูฬกัมมวิภังคสูตร]

ขออนุโมทนาคะ


ความคิดเห็น 6    โดย khampan.a  วันที่ 22 พ.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

อิสสา เป็นคำภาษาบาลี แปลเป็นไทยได้ว่า "ความริษยา" เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นอกุศลธรรม ประการหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ ก็อาจจะมีได้เหมือนกันทั้งนั้น ถ้าผู้นั้นไม่ใช่พระอริยบุคคล ก็ดับความริษยาอย่างเด็ดขาดไม่ได้

แต่ละบุคคลย่อมมีตามการสะสม บางคนอาจจะมีมาก บางคนอาจจะมีน้อย จึงควรที่จะพิจารณาตนเองว่ามีความริษยาบ้างไหมในชีวิตประจำวัน? บางคนอาจจะไม่ริษยาในเมื่อผู้อื่นได้วัตถุสิ่งของต่างๆ แต่อาจจะมีความริษยาในยศ ในสรรเสริญ ในสักการะ ของบุคคลอื่นก็ได้ นี้เป็นความจริงของกิเลสที่สะสมมา ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นเป็นไปได้ทั้งนั้น ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง พระอริยบุคคลตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไปดับความริษยาได้อย่างเด็ดขาด ไม่มีความริษยาอีกเลย

ควรอย่างยิ่งที่จะเข้าใจตามความเป็นจริงว่า ทุกอย่างเป็นแต่เพียงนามธรรม และรูปธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยเท่านั้น ไม่ควรที่จะไปริษยาบุคคลหนึ่งบุคคลใดเลย เพราะถึงแม้ว่าจิตของเราจะเร่าร้อนเพราะความริษยาสักเท่าไร บุคคลที่สมบูรณ์ด้วยลาภ ยศ สักการะ สรรเสริญ สุข เพราะกรรมดีที่ได้กระทำมาแล้ว ก็มีเหตุที่จะทำให้ลาภ ยศ สรรเสริญ สุขนั้นอุดมสมบูรณ์ เพราะฉะนั้น จึงไม่สมควรที่จะให้จิตเป็นอกุศลที่ริษยาในบุคคลอื่น ถึงแม้ว่าจะเป็นเพียงเล็กน้อย ก็ควรทราบว่าขณะนั้นเป็นอกุศล ควรจะละให้หมดสิ้นไป และการที่จะขัดเกลาได้ ละคลายได้นั้น ต้องอาศัยการอบรมเจริญปัญญา สะสมปัญญาไปตามลำดับ ด้วยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม พิจารณาสภาพธรรมในชีวิตประจำวัน ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 7    โดย ผู้ร่วมเดินทาง  วันที่ 22 พ.ย. 2554
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

ความคิดเห็น 8    โดย chatchai.k  วันที่ 6 เม.ย. 2564

ขออนุโมทนาครับ