ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
ข้อความบางตอนจาก แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ ๙๒๓ บรรยายโดย ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์
หนังสือของอาจารย์ต่างๆ มีมาก อย่าเชื่อตามโดยง่าย
ถ้าจะศึกษาจากหนังสือต่างๆ ซึ่งมีอยู่มาก อ่านแล้วพิจารณาค่ะ ถ้าอ่านแล้วไม่ได้พิจารณา จะไม่ได้เหตุผลอะไรเลย อย่าเชื่อตามโดยง่าย
เรื่องอ่านหนังสือธรรมทุกวันนี้นะครับ ถ้าตัวเองไม่มีภูมิความรู้มาก่อนเลย ก็จะพิจารณาไม่ได้เลย ผู้ที่จะพิจารณาได้ ก็ต้องอาศัยตัวเองมีความรู้มาก่อน คือว่าผู้ที่จะศึกษาธรรมทุกวันนี้ กระผมก็มีความคิดจะแนะนำให้ คือ อ่านพระไตรปิฎกเท่านั้นแหละครับ หนังสือของอาจารย์ต่างๆ ทุกวันนี้มีมากเหลือเกิน นับอาจารย์เกือบจะนับไม่ได้ แต่เราจะพิจารณาได้อย่างไรว่า "อาจารย์ไหนที่พูดตามพระไตรปิฎก และ อาจารย์ไหนพูดเอาเอง "
ถ้าเราไม่ได้ศึกษาจากพระไตรปิฎกด้วยตนเองแล้ว เราจะพิจารณาไม่ออกครับว่า " อาจารย์ไหนพูดเอาเอง อาจารย์ไหนพูดตามพระพุทธเจ้าตรัส" เพราะฉะนั้น ถ้าอ่านจากพระไตรปิฎกแล้ว เป็นปลอดภัยที่สุด
พระไตรปิฎกก็ยาก เพราะฉะนั้น ต้องอดทนค่ะ มีวิริยะ มีขันติ มีความตั้งใจมั่น ที่จะพิจารณาจนกระทั่งได้เหตุผล และเป็นความเข้าใจจริงๆ ถ้าไม่เข้าใจ ก็ต้องยอมรับตามความเป็นจริงว่า ยังไม่เข้าใจ ถ้าเข้าใจ ก็ต้องรู้ว่าเข้าใจ ถ้าเข้าใจยังน้อยอยู่ ก็ต้องเข้าใจว่า เป็นความเข้าใจที่น้อยอยู่
มันจะเป็นไปไม่ได้ครับ ถ้าปัญญาตัวเองยังไม่ถึง เช่น สมมติว่า เวลานี้มีสำนักหนึ่งที่ปฏิบัติกัน เช่นคำว่า จิตสั่ง นี้ ไปพูดกับคนที่ศึกษามาแล้วหรือว่ายังไม่เคยศึกษาอะไรทั่วๆ ไปนี้ เขาจะต้องรับรองว่า มีเหตุผลจริงๆ เพราะว่าการที่ผมยืนนี้ ถ้าจิตไม่สั่ง มันไม่ยืน การที่ผมจะยกมือไปหยิบของ ถ้าจิตไม่สั่ง แล้วมือมันไปไม่ได้ ถ้าคนธรรมดาสามัญแล้วต้องยอมรับว่า เป็นเหตุผล ๑๐๐% ครับ อย่างนี้เป็นต้น
เพราะฉะนั้น ถ้าศึกษาตามอาจารย์ต่างๆ จะพิจารณาอย่างไร ถ้าปัญญาไม่ถึง พิจารณาไม่ได้ครับ เพราะฉะนั้น การที่จะไขว้เขว การที่จะผิดพลาดต่างๆ โอกาสมันมี ครับ
เริ่มจาก พระอภิธรรมมัตถสังคหะ ซึ่งประมวลข้อความต่างๆ ในพระอภิธรรม เพราะในทั้ง ๓ ปิฎกนี้ ถ้าจะเริ่มอ่านจากพระไตรปิฎกเล่มหนึ่งเล่มใด ก็จะพบพยัญชนะ และข้อความหลายตอน ซึ่งไม่สามารถจะเข้าใจได้ แต่ถ้าได้ศึกษาพระอภิธรรมมัตถสังคหะเสียก่อน มีความเข้าใจในปรมัตถธรรมแล้ว ก็จะอ่านพระไตรปิฎกแล้ว ก็มีความเข้าใจได้พอสมควร และถ้าศึกษามากขึ้น พิจารณามากขึ้นเจริญสติปัฏฐานมากขึ้น ก็จะทำให้เป็นความเข้าใจที่ถูกต้องชัดเจนขึ้น ตรงตามที่พระองค์ทรงแสดงไว้ว่า จิตสั่ง ไม่มี เพราะข้อความในพระไตรปิฎกหรือในพระอภิธรรมมัตถสังหคะก็แสดงว่า จิต เป็นสภาพที่มีลักษณะรู้อารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นจิตใดเกิดขึ้นขณะไหน จิตเป็นสภาพรู้ อารมณ์เป็นสิ่งที่จิตกำลังรู้ เพราะฉะนั้น จะไม่มีสั่งค่ะ เพราะว่าในขณะนั้นรู้อารมณ์ ไม่ใช่สั่ง
(พุทธคยา)
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า
[๑๕๔] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความลบเลือน เสื่อมสูญแห่งสัทธรรม ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๐ ไม่ฟังธรรมโดยเคารพ ๑
๐ ไม่เล่าเรียนธรรมโดยเคารพ ๑
๐ ไม่ทรงจำธรรมโดยเคารพ ๑
๐ ไม่ใคร่ครวญอรรถแห่งธรรมที่ทรงจำไว้โดยเคารพ ๑
๐ รู้อรรถรู้ธรรมแล้วไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมโดยเคารพ ๑
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้แล
ย่อมเป็นไปเพื่อความลบเลือน เสื่อมสูญแห่งสัทธรรม
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความตั้งมั่น ไม่ลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๐ ย่อมฟังธรรมโดยเคารพ ๑
๐ เล่าเรียนธรรมโดยเคารพ ๑
๐ ทรงจำธรรมโดยเคารพ ๑
๐ ใคร่ครวญอรรถแห่งธรรมที่ทรงจำไว้โดยเคารพ ๑
๐ รู้อรรถรู้ธรรมแล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมโดยเคารพ ๑
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความตั้งมั่น ไม่ลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม
จบปฐมสัทธัมมสัมโมสสูตรที่ ๔
๔. ปฐมสัทธัมมสัมโมสสูตรว่าด้วยเหตุเสื่อมและเหตุเจริญแห่งศาสนา
อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้าที่ ๓๒๓
คลิกเพื่ออ่าน -->
ศาสนาเสื่อมเพราะสนใจในแนวคิดทางโลกมากกว่าพุทธพจน์ [อาณีตสูตร]
ขออุทิศส่วนกุศลแด่สรรพสัตว์
ค่อยๆ สั่งสมความเข้าใจถูก เห็นถูก ด้วยการฟังและการอ่านพระธรรมบ่อยๆ เนืองๆ ที่สำคัญคือไม่ละทิ้งการฟัง การศึกษาพระธรรม เพื่ออบรมเจริญปัญญา เพราะปัญญาเป็นอาวุธ
ขออนุโมทนาค่ะ
ขออนุโมทนาครับ อ่านแล้วน้ำตาไหล
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย และท่านอาจารย์รวมทั้งกัลยาณมิตรแห่งมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
สาธุ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษานั้น แสดงถึงความเป็นจริงของสภาพธรรมทั้งหลายทั้งปวง ที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง เป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น ที่สำคัญคือผู้ฟัง ผู้ศึกษา จะเข้าใจตรงตามความเป็นจริงได้มากน้อยแค่ไหนนั้น ขึ้นอยู่กับผู้ศึกษาเอง ถ้าศึกษาแบบเผินๆ ขาดการพิจารณาไตร่ตรองในเหตุในผลของสภาพธรรม หรือ ไม่มีความอดทนที่จะฟัง ที่จะศึกษาต่อไป ความเข้าใจย่อมจะเจริญขึ้นต่อไปไม่ได้ อาจจะเป็นการเข้าใจเอาเองซึ่งไม่ตรงตามความเป็นจริง หรือเข้าใจผิดไปก็เป็นได้ จึงเป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาเป็นอย่างยิ่ง ธรรมเป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจ จึงต้องอาศัยกาลเวลาในการสั่งสมความเข้าใจขึ้น ทีละเล็กทีละน้อย ด้วยการฟังบ่อยๆ เนืองๆ สั่งสมเป็นจิรกาลภาวนา ไม่มีใครสามารถฟังธรรมวันเดียวเดือนเดียว ปีเดียว (หรือรวมไปถึงชาติเดียวด้วย) แล้วจะเข้าใจในทันทีทันใด เป็นไปไม่ได้เลย ต้องค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป เพราะ ปัญญา เปรียบเสมือนพืช ที่ค่อยๆ โตขึ้นไปตามลำดับ ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ขออนุโมทนาครับ