[เล่มที่ 24] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 473
๕. ทุติยสังคามวัตถุสูตร
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 24]
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 473
๕. ทุติยสังคามวัตถุสูตร
[๓๗๒] ครั้งนั้น พระเจ้าแผ่นดินมคธอชาตศัตรู เวเทหิบุตร ทรงแต่งจตุรงคินีเสนา ยกไปรุกรานพระเจ้าปเสนทิโกศลทางแคว้นกาสี.
พระเจ้าปเสนทิโกศลได้ทรงสดับข่าวว่า พระเจ้าแผ่นดินมคธอชาตศัตรู เวเทหิบุตร ทรงแต่งจตุรงคินีเสนา ยกมารุกรานเราทางแคว้นกาสี.
ลำดับนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงทรงแต่งจตุรงคินีเสนา ยกออกไปต่อสู้พระเจ้าแผ่นดินมคธอชาตศัตรู เวเทหิบุตร ป้องกันแคว้นกาสี.
ครั้งนั้น พระเจ้าแผ่นดินมคธอชาตศัตรู เวเทหิบุตร กับพระเจ้าปเสนทิโกศลทรงทำสงครามต่อกัน แต่ในสงครามครั้งนั้นพระเจ้าปเสนทิโกศลทรงชำนะพระเจ้าแผ่นดินมคธอชาตศัตรู เวเทหิบุตร และได้ทรงจับพระองค์เป็นเชลยศึก.
[๓๗๓] ครั้งนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลได้มีพระดำริว่า ถึงแม้พระเจ้าแผ่นดินมคธอชาตศัตรู เวเทหิบุตรนี้ จะประทุษร้ายเราผู้มิได้ประทุษร้าย แต่เธอก็ยังเป็นพระภาคิไนยของเรา อย่ากระนั้นเลย เราควรยึดพลช้างทั้งหมด ยึดพลม้าทั้งหมด ยึดพลรถทั้งหมด ยึดพลเดินเท้าทั้งหมดของพระเจ้าแผ่นดินมคธอชาตศัตรู เวเทหิบุตร แล้วปล่อยพระองค์ไปทั้งยังมีพระชนม์อยู่เถิด.
ลำดับนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงยึดพลช้างทั้งหมด ทรงยึดพลม้าทั้งหมด ทรงยึดพลรถทั้งหมด ทรงยึดพลเดินเท้าทั้งหมด ของพระเจ้าแผ่นดินมคธอชาตศัตรู เวเทหิบุตร แล้วทรงปล่อยพระองค์ไปทั้งยังมีพระชนม์อยู่.
[๓๗๔] ครั้งนั้น เวลาเช้า ภิกษุเป็นจำนวนมาก นุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวร เข้าไปบิณฑบาตยังกรุงสาวัตถี เที่ยวบิณฑบาตไปในกรุงสาวัตถีแล้ว ในเวลาปัจฉาภัต กลับจากบิณฑบาตแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 474
ประทับ ครั้นแล้วก็ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วนั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.
ภิกษุทั้งหลาย ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระเจ้าแผ่นดินมคธอชาตศัตรู เวเทหิบุตร ทรงแต่งจตุรงคินีเสนา ยกมารุกรานพระเจ้าปเสนทิโกศลทางแคว้นกาสี พระเจ้าปเสนทิโกศลได้ทรงสดับข่าวว่า พระเจ้าแผ่นดินมคธอชาตศัตรู เวเทหิบุตร ทรงแต่งจตุรงคินีเสนา ยกมารุกรานเราถึงแคว้นกาสี ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ลำดับนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงทรงจัดจตุรงคินีเสนา ยกออกไปต่อสู้พระเจ้าแผ่นดินมคธอชาตศัตรู เวเทหิบุตร ป้องกันแคว้นกาสี ครั้งนั้น พระเจ้าแผ่นดินมคธอชาตศัตรู เวเทหิบุตรกับพระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงทำสงครามกันแล้ว ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แต่ในสงครามครั้งนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงชำนะพระเจ้าแผ่นดินมคธอชาตศัตรู เวเทหิบุตร และทรงจับพระองค์เป็นเชลยศึกได้ด้วย ครั้งนั้นพระเจ้าปเสนทิโกศลได้มีพระดำริว่า ถึงแม้พระเจ้าแผ่นดินมคธอชาตศัตรู เวเทหิบุตรนี้ จะประทุษร้ายเราผู้มิได้ประทุษร้าย แต่เธอก็ยังเป็นพระภาคิไนยของเรา อย่ากระนั้นเลย เราควรยึดพลช้างทั้งหมด ยึดพลม้าทั้งหมด ยึดพลรถทั้งหมด ยึดพลเดินเท้าทั้งหมด ของพระเจ้าแผ่นดินมคธอชาตศัตรู เวเทหิบุตร แล้วปล่อยพระองค์ไปทั้งยังมีพระชนม์อยู่เถิด ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ลำดับนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงยึดพลช้างทั้งหมด ทรงยึดพลม้าทั้งหมด ทรงยึดพลรถทั้งหมด ทรงยึดพลเดินเท้าทั้งหมด ของพระเจ้าแผ่นดินมคธอชาตศัตรู เวเทหิบุตร แล้วทรงปล่อยพระองค์ไปทั้งยังมีพระชนม์อยู่.
[๓๗๕] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว จึงได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ในเวลานั้นว่า
บุรุษจะแย่งชิงเขาได้ ก็ชั่วกาลที่การแย่งชิงของเขายังพอสำเร็จได้ แต่เมื่อใด
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 475
คนเหล่าอื่นย่อมแย่งชิง ผู้แย่งชิงนั้น ย่อมกลับถูกเขาแย่งชิงเมื่อนั้น.
เพราะว่า คนพาลย่อมสำคัญว่าเป็นฐานะ ตราบเท่าที่บาปยังไม่ให้ผล แต่บาปให้ผลเมื่อใด คนพาลย่อมประสบทุกข์เมื่อนั้น.
ผู้ฆ่าย่อมได้รับการฆ่าตอบ ผู้ชำนะย่อมได้รับการชนะตอบ ผู้ด่าย่อมได้รับการด่าตอบ และผู้ขึ้งเคียดย่อมได้รับความขึ้งเคียดตอบ ฉะนั้น เพราะความหมุนกลับแห่งกรรม ผู้แย่งชิงนั้น ย่อมถูกเขาแย่งชิง.
อรรถกถาทุติยสังคามวัตถุสูตร
พึงทราบวินิจฉัยในทุติยสังคามวัตถุสูตรที่ ๕ ต่อไป :-
บทว่า อพฺภุยฺยาสิ ความว่า พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงสั่งว่าพวกเจ้าน่าตำหนิในการพ่ายแพ้ จงไปวัดฟังการสนทนาของเหล่าพระภิกษุ ทรงสดับเหตุแห่งชัยชนะที่ภิกษุพุทธรักขิตผู้บวชต่อแก่ พูดแก่ภิกษุธรรมรักขิตผู้บวชต่อแก่ ในเวลากลางคืนว่า ถ้าพระราชาทรงทำอุบายอย่างนี้เสด็จไป ก็จะพึงชนะอีก แล้วจัดทัพไปรุกราน.
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 476
บทว่า ยาวสฺส อุปกปฺปติ ความว่า ตราบเท่าความช่วงชิง จะพอสำเร็จได้.
บทว่า ยทา จญฺเ ความว่า ก็เมื่อใด คนอื่นๆ จะปล้นบุคคลที่ปล้นเขามาแล้วนั้น.
บทว่า วิลุมฺปติ ได้แก่ ย่อมถูกเขาปล้น.
บทว่า านญฺหิ มญฺติ ความว่า ก็ย่อมสำคัญว่ามีเหตุ.
บทว่า ยทา แปลว่า ในกาลใด.
บทว่า เชตารํ ลภเต ชยํ ความว่า บุคคลผู้ชนะ ย่อมได้ผู้ชำนะภายหลัง.
บทว่า โรเสตารํ ได้แก่ ซึ่งผู้โกรธ.
บทว่า โรสโก ได้แก่ ผู้โกรธ.
บทว่า กมฺมวิวฏฺเฏน ได้แก่ ด้วยความแปรปรวนแห่งกรรม คือ ด้วยการให้วิบากแห่งกรรมคือการปล้นนั้น.
บทว่า โส วิลุตฺโต วิลุมฺปติ ได้แก่ ผู้ปล้นนั้น ก็จะถูกเขาปล้น.
จบอรรถกถาทุติยสังคามวัตถุสูตรที่ ๕