ภิกษุในธรรมวินัยไม่รับและไม่ยินดีในเงินและทอง จึงไม่สามารถลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐได้
โดย มศพ.  8 เม.ย. 2560
หัวข้อหมายเลข 28746

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติวันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๕๙ รับทราบโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี ๒๕๕๙ ซึ่งเป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้ผู้มีรายได้น้อยที่มีคุณสมบัติตรงตามที่กำหนดไว้ สามารถมาลงทะเบียน ณ ธนาคารที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๕๙ ถึงวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๕๙ และต่อมาได้มีโครงการลงทะเบียนเป็นครั้งที่ ๒ ในปี ๒๕๖๐ โดยมีหน่วยรับลงทะเบียนประกอบไปด้วย ๕ หน่วยงาน ได้แก่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) คลังจังหวัดทั่วประเทศ (สังกัดกรมบัญชีกลาง) และสำนักงานเขตกรุงเทพฯ ทุกเขต รวมทั้งสิ้น ๓,๖๖๙ สาขา เพื่อขอรับสวัสดิการจากรัฐบาล

ต่อมา นายวิชัย พฤกษ์วัฒนาชัย ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เปิดเผยว่า “ธ.ก.ส. เตรียมหารือกระทรวงการคลังว่าจะให้กลุ่มนักบวชมาลงทะเบียนได้หรือไม่ หลังจากพบว่ามีพระและแม่ชีมาขอลงทะเบียน...” ปรากฏตามข่าวในหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ คอลัมน์การเงินการคลัง ลงวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๖๐ นั้น
มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา มีหน้าที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา โดยก่อตั้งขึ้นเพื่อศึกษาและการประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัยในพระพุทธศาสนามาตั้งแต่ปี ๒๕๒๗ ได้ตระหนักถึงปัญหาเกี่ยวข้องกับการที่ภิกษุขอลงทะเบียนในโครงการดังกล่าวข้างต้น และเห็นควรชี้แจงแก่หน่วยงานของท่านตามพระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค-ทุติยภาค และอรรถกถา หน้า ๙๓๙ ถึง ๙๔๐ เล่ม ๑ ภาค ๓ ซึ่งพระผู้มีพระภาค ทรงบัญญัติ ว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอ พึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดง อย่างนี้ว่าดังนี้ อนึ่ง ภิกษุใด รับก็ดี ให้รับก็ดี ซึ่งทองเงิน หรือยินดีทองเงินอันเขาเก็บไว้ให้ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์" ทั้งนี้ เพื่อที่จะได้ดำเนินการให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต่อไป
พระพุทธองค์ทรงแสดงว่า พระภิกษุเป็นผู้ที่สละอาคารบ้านเรือน สละวงศาคณาญาติ สละทรัพย์สมบัติมุ่งสู่เพศที่สูงยิ่ง โดยได้รับการอุปสมบทเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา เพื่อศึกษาพระธรรมและอบรมเจริญปัญญาขัดเกลากิเลสของตนเอง ภิกษุสละแล้วซึ่งทรัพย์สินทุกประการ จึงไม่ใช่คฤหัสถ์ และไม่ใช่ผู้มีรายได้น้อยหรือเป็นคนจน ดังนั้น การที่จะพิจารณาให้ภิกษุลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยเพื่อหวังรับเงินหรือสวัสดิการค่าครองชีพในด้านต่างๆ เหมือนคฤหัสถ์จากรัฐบาล ย่อมไม่เป็นไปตามพระธรรมวินัย
หากภิกษุใดประสงค์จะรับเงินหรือสวัสดิการดังกล่าว จะต้องลาสิกขาเป็นคฤหัสถ์เสียก่อนเพื่อขอรับเงินหรือสวัสดิการนั้นๆ จึงจะไม่เป็นการทำลายพระธรรมวินัยของพระพุทธองค์
มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ข้อมูลเกี่ยวกับภิกษุข้างต้นจะเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาปัญหาภิกษุขอลงทะเบียนเพื่อรับสวัสดิการจากรัฐบาลตามโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐข้างต้น ทั้งนี้ มูลนิธิศึกษาแลเผยแพร่พระพุทธศาสนา มีความตั้งใจอย่างแน่วแน่และพร้อมที่จะให้ความร่วมมือในการทำความเข้าใจและให้ข้อมูลแก่หน่วยงานของท่าน โดยได้แต่งตั้งผู้ประสานงานในด้านการให้ความรู้ความเข้าใจพระธรรมวินัยที่ถูกต้องตรงตามคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งประมวลมาในพระไตรปิฎก ทั้งนี้เพื่อดำรงรักษาพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืนต่อไป

...ขอความเจริญมั่นคงในกุศลธรรมจงมีแด่ทุกท่าน...



ความคิดเห็น 1    โดย มานิสาโข่งเขียว  วันที่ 8 เม.ย. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ 


ความคิดเห็น 2    โดย ssuwannasri  วันที่ 9 เม.ย. 2560

สาธุ สาธุ อนุโมทามิ


ความคิดเห็น 3    โดย ํํญาณินทร์  วันที่ 12 เม.ย. 2560

ขออนุโมทนาครับ 


ความคิดเห็น 4    โดย มกร  วันที่ 22 เม.ย. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ 


ความคิดเห็น 5    โดย jitvinyan  วันที่ 23 พ.ค. 2560

" อนุโมทนา สาธุ ครับ "
ทองและเงินควรแก่ผู้ใด
แม้กามคุณทั้งห้าก็ควรแก่ผู้นั้น
กามคุณทั้งห้าควรแก่ผู้ใด
เธอพึงจำผู้นั้นไว้โดยส่วนเดียวว่า
มีปกติมิใช่สมณะ
มีปกติมิใช่เชื้อสายพระศากยบุตร


ความคิดเห็น 6    โดย กมลพร  วันที่ 26 พ.ค. 2560

อนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 9    โดย Somporn.H  วันที่ 11 มิ.ย. 2561

ขออนุโมทนาค่ะ 


ความคิดเห็น 10    โดย thongkhun1937  วันที่ 19 มิ.ย. 2561

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ 


ความคิดเห็น 11    โดย thongkhun1937  วันที่ 19 มิ.ย. 2561

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ 


ความคิดเห็น 12    โดย chatchai.k  วันที่ 27 ต.ค. 2566

ยินดีในกุศลจิตครับ