อินเดีย ... ที่พักใจ 10 ลุมพินีวัน
โดย kanchana.c  1 ธ.ค. 2554
หัวข้อหมายเลข 20086

ลุมพินีวัน

การเล่าการเดินทางไปนมัสการสังเวชนียสถานครั้งนี้ เล่าจากความทรงจำที่ไม่ได้มี การจดบันทึก ถ้าผู้อ่านไม่ได้ไปด้วย ก็ไม่รู้ว่าเล่าผิดหรือถูก แต่เผอิญคราวนี้มีผู้อ่าน หลายท่านร่วมเดินทางด้วย จึงทราบว่า เล่าผิด และมีการทักท้วงเกิดขึ้น แต่ก็ได้แก้ไข แล้วค่ะ ที่ผิดก็คือเรื่องปลีกย่อยระหว่างทาง ว่าผ่านอะไรบ้าง ก็ขออภัย แต่ก็ทำให้มั่น คงในความเป็นอนัตตาของธรรมทุกอย่างมากขึ้น ความจำก็เป็นอนัตตาด้วยค่ะ ความจำ วันนั้นกับวันนี้ก็ไม่เหมือนกัน ความคิดนึกปรุงแต่งเป็นเรื่องราวของวันนั้นกับวันนี้ก็ไม่ เหมือนเดิมเช่นกัน เป็นอันว่า เรื่องที่เล่านี้เล่าจากความทรงจำ ไม่รับรองความถูกต้องก็ แล้วกันนะคะ

ออกเดินทางจากกุสินารา สถานที่ปรินิพพานแต่เช้า ตรงไปลุมมินเด (Lumminde) เขตจังหวัดรุปันเดหิ (Rupandehi) ประเทศเนปาล ระยะทางห่างจากด่านชายแดน ๒๕ กม. ที่พวกเราเรียกกันว่า ลุมพินีวัน สถานที่ประสูติ

ระหว่างทางก่อนถึงด่านตรวจคนเข้าเมืองประเทศเนปาลต้องผ่านสำนักสงฆ์ ๙๖๐ สาขาของวัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ พวกเราได้แวะไปถวายผ้าป่า และซื้อที่ดินถวาย วัดอีกเช่นเคย สำนักสงฆ์แห่งนี้กำลังก่อสร้างเพิ่มเติม มีที่พักค้างคืนและห้องน้ำสะอาด มากให้ผู้แสวงบุญได้พักผ่อน พร้อมบริการเครื่องดื่มและโรตีทอดกรอบจิ้มนมข้นหวาน อร่อยมาก จนหลายท่านต้องซื้อแป้งโรตีมาทำรับประทานเองที่เมืองไทย ไม่ทราบว่าจะ ออกมาอร่อยเหมือนทานที่อินเดียหรือไม่ (คิดว่าคงไม่เหมือน เพราะอยู่ที่นั่น อาหารอะไร ที่มีรสชาติคล้ายอาหารไทย ก็อร่อยไปหมด แต่เมื่อกลับมาเมืองไทยแล้วได้ลิ้มรสของ จริง ของเลียนแบบต้องสู้ไม่ได้แน่นอน)

เมื่อผ่านด่านในตอนสายๆ ซึ่งไม่จอแจเหมือนครั้งก่อนที่มาตอนหัวค่ำ อีกไม่นานก็ถึง โรงแรม NANSC ที่พัก ซึ่งเป็นโรงแรมสร้างใหม่ อยู่ติดพรมแดนอินเดีย – เนปาล สวน ทางกับคณะของมูลนิธิฯ ที่กำลังจะกลับไปที่กุสินารา

เมื่อรับประทานอาหารกลางวันที่โรงแรมแล้ว ก็ไปที่ลุมพินีวัน ซึ่งอยู่ไม่ไกลนัก แต่ภูมิ ทัศน์ทางเข้าเปลี่ยนไปทั้งหมด เพราะทางการเนปาลได้ปรับปรุง โดยเปลี่ยนทางเข้า ใหม่ ครั้งก่อนพักที่โรงแรม New Crystal ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับลุมพินีวัน ออกจากโรงแรมก็ เดินเข้าไปได้เลย และบริเวณโรงแรมก็จอแจคึกคัก เพราะมีร้านค้ามากมาย แต่ครั้งนี้รถ บัสพาไปจอดทางเข้าใหม่ แล้วมีวินรถสามล้อคอยอยู่มากมาย คิดค่าบริการคนละ ๒๐ รูปี (ทั้งๆ ที่คณะมูลนิธิบอกว่า คนละ ๑๐ รูปี อาจจะเป็นเพราะเวลาต่างกัน เวลาเช้าราคา หนึ่ง ตอนบ่ายแดดร้อนอีกราคาหนึ่งก็ได้ อันนี้คิดเอาเองค่ะ) ระหว่างทางเด็กถีบสามล้อ ก็ต่อรองขอให้จ่ายทิปอีก ๑๐ รูปี ซึ่งความจริงคิดจะให้อยู่แล้ว แต่เมื่อถูกขอ ก็เลยรู้สึกไม่ ค่อยพอใจ อย่างที่ท่านตรัสสอนไว้เลยว่า “ผู้ขอย่อมไม่เป็นที่รักของผู้ที่ถูกขอ แม้กับ มารดา” จึงควรสำรวมพยายามไม่ขออะไรจากใคร แต่หลายครั้งทำบุญแล้วก็อดขอให้ได้ อย่างนั้นอย่างนี้ไม่ได้ ซึ่งจริงๆ แล้วไม่รู้เหมือนกันว่าขอจากใคร และใครจะเป็นผู้ให้ พวกเรานั่งรถสามล้อเป็นขบวน ระยะทางประมาณ ๒ กม. ก็ถึงประตูทางเข้าลุมพินีวัน แล้วต้องเดินเข้าไปอีกเกือบ ๕๐๐ เมตร จึงจะถึงทางเข้าจริงๆ และก็ได้เห็นลุมพินีวัน เสียที

ลุมพินีวันเป็นพุทธสังเวชนียสถานที่สำคัญ ๑ ใน ๔ เป็นสถานที่ประสูติของเจ้าชาย สิทธัตถะ ซึ่งต่อมาตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระบรมศาสดาของพวกเรา ตั้งอยู่ที่อำเภอไภรวา แคว้นอูธ ประเทศเนปาล ปัจจุบันได้รับยกย่องจากองค์การ ยูเนสโกให้เป็นมรดกโลก ประเภทมรดกทางวัฒนธรรม ตั้งแต่ปี ๒๕๔๐

ในสมัยพุทธกาล เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ได้ทรงเสด็จมาโปรดพระพุทธบิดาและ พระญาติ ณ กรุงกบิลพัสดุ์ โดยประทับที่นิโครธารามที่จัดถวาย ไม่ได้เสด็จมาประทับ หรือแสดงธรรมที่ลุมพินีวันอีก เนื่องจากเป็นอุทยานไม่มีผู้คนอาศัย

หลังที่พระพุทธเจ้าทรงปรินิพพานแล้ว กษัตริย์ได้นำพระบรมสารีริกธาตุที่ได้รับส่วน แบ่งมาบรรจุไว้ในสถูปแห่งหนึ่งไม่ไกลจากลุมพินีวันนัก จนถึง พ.ศ. ๒๙๔ พระเจ้าอโศก มหาราชพร้อมด้วยพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ (พระอุปคุต) ได้เสด็จมานมัสการพุทธ สังเวชนียสถานทั่วชมพูทวีป ทรงสร้างอาราม พระเจดีย์ และเสาศิลาจารึกไว้เป็น สัญลักษณ์ว่าสถานที่แต่ละแห่งมีความสำคัญอย่างไร รวมทั้งที่ลุมพินีวัน สถานที่ประสูติ แห่งนี้ด้วย

ต่อมาในปี พ.ศ. ๙๐๐ สมณะฟาเหียนได้เดินทางจากประเทศจีนมาถึงลุมพินีวัน ท่าน บันทึกไว้สั้นๆ ว่า พบบ่อสรงสนาน และระบุที่ตั้งว่า ลุมพินีวันอยู่ทางตะวันออกของกรุง กบิลพัสดุ์ประมาณ ๑๔ – ๑๖ กม.

ต่อมาในปี พ.ศ. ๑๑๘๑ สมณะเฮี้ยนจัง (พระถังซำจั๋ง) ได้เดินทางมาถึงลุมพินีวัน ได้จดบันทึกสถานที่ต่างๆ และกล่าวว่า จากสระทรงสนานไปประมาณ ๒๔ ก้าว มีต้น สาละที่เชื่อกันว่าเป็นที่ประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ จากจุดนี้ไปทางใต้มีเจดีย์องค์หนึ่ง เชื่อกันว่าเป็นจุดที่พระอินทร์เสด็จจากสวรรค์ลงมาต้อนรับพระราชโอรสที่ประสูติใหม่ ใกล้ๆ กันมีเจดีย์อีก ๔ องค์ ที่สร้างไว้เพื่อถวายแก่ท้าวจตุโลกบาลที่ทำหน้าที่ถวาย อภิบาลพระโอรสประสูติใหม่ และใกล้กันนั้นมีเสาอโศกรูปสิงห์ประดิษฐานอยู่บนยอด พ.ศ. ๒๔๓๘ – ๒๔๓๙ เซอร์อเล็กซานเดอร์ คันนิ่งแฮมและคณะ ได้ค้นพบเสาศิลา พระเจ้าอโศกซึ่งถูกฝังดินไว้ และพบจารึกเป็นอักษรพราหมีระบุว่า ที่แห่งนี้เป็นสถานที่ ประสูติเจ้าชายสิทธัตถะ จากนั้นก็เริ่มมีการขุดค้นทางโบราณคดี โดยพบซากปรักหักพัง จำนวนมาก ซากสถูปกว่า ๕๐ องค์ และซากวิหารอาราม มีอายุตั้งแต่ราชวงศ์โมริยะ ราชวงศ์ศุงคะ ราชวงศ์กุษาณะ และสมัยคุปตะ (ประมาณ พ.ศ. ๓๐๐ – ๙๕๐) ปัจจุบันลุมพินีวันได้รับการพัฒนาจากชาวพุทธทั่วโลก โดยเฉพาะจากโครงการ ฟื้นฟูพุทธสถานลุมพินีวันให้เป็น “พุทธอุทยานทางประวัติศาสตร์ของโลก” ซึ่งเป็นดำริ ของ ฯ พณ ฯ อู ถั่น ชาวพุทธพม่า ในสมัยที่ท่านดำรงตำแหน่งเลขาธิการองค์การสห ประชาชาติ โดยตั้งใจให้ลุมพินีวันเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวพุทธบนพื้นที่กว่า ๖,๐๐๐ ไร่ แบ่งพื้นที่เป็นสัดส่วนสำหรับปลูกป่า และสร้างวัดพุทธนานาชาติจากทั่วโลกกว่า ๔๑ ประเทศ

สถานที่ควรนมัสการในลุมพินีวัน คือ

๑. เสาหินพระเจ้าอโศกมหาราช มีลักษณะกลมวัดโดยรอบ ๗ ฟุต ๓ นิ้ว สูงจากพื้น ดิน ๑๓ ฟุต ๖ นิ้ว สร้างประมาณ พ.ศ. ๒๓๔ มีข้อความจารึกด้วยอักษรพราหมีว่า “พระผู้เป็นที่รักของเทวดาชื่อว่า ปิยทัสสี (อโศกมหาราช) เสวยราชย์ได้ ๒๐ ปี ได้ เสด็จมาทรงกระทำสักการะสถานที่ตรงนี้ด้วยพระองค์เอง โปรดให้กระทำรูปวิคฑะ (รูป สัตว์) เป็นเครื่องหมายว่า พระศากยมุนีเสด็จประสูติ ณ ทีนี้ และลุมพินีนี้เองที่ทรงให้งด ภาษี ให้เก็บเพียงพืชผล ๑ ใน ๘ ส่วนเท่านั้น”

๒. มหามายาเทวีวิหาร ประดิษฐานประติมากรรม แสดงการประสูติของพระกุมาร สิทธัตถะ คือ เป็นรูปพระพุทธมารดาอยู่ในอิริยาบถยืน พระหัตถ์ขวาเหนี่ยวกิ่งสาละ มีรูป พระกุมารทางพระปรัศว์ข้างขวา และมีรูปพระนางมหาปชาบดีโคตมีพร้อมข้าราชบริพาร และท้าวมหาพรหมกำลังน้อมรับพระกุมาร พร้อมกับส่งมอบพระกุมารแก่พระนางสิริมหา มายาเทวี

หลังจากมีการบูรณะและขุดค้นมายาเทวีวิหาร ในปี ค.ศ. ๑๙๙๖ ได้พบแผ่นหินแสดง รอยพระบาทเมื่อคราวประสูติ ๑ รอย สันนิษฐานว่า เป็นจารึกรอยพระบาทก้าวที่ ๗ ของ เจ้าชายสิทธัตถะที่ทรงดำเนินได้ ๗ ก้าวในวันประสูติ ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ในตำแหน่ง เดิม ครอบด้วยกระจกกันกระสุน

๓. สระน้ำศักดิ์สิทธิ์ กล่าวว่าพระกุมารและพระมารดาทรงสรงสนานพระวรกายด้วยน้ำ จากสระนี้

๔. วัดพุทธนานาชาติ

พุทธสถานใกล้เคียง ซึ่งถ้ามีเวลาก็สามารถไปกราบนมัสการได้เช่นกัน คือ

๑. กรุงกบิลพัสดุ์ เมืองหลวงของแคว้นสักกะ อยู่ห่างจากลุมพินีไปทางเหนือ ประมาณ ๒๒ กม. เป็นเมืองของพระเจ้าสุทโธทนะพระราชบิดา ที่เจ้าชายสิทธัตถะทรง ใช้ชีวิตครองเรือนจวบจนพระชนมายุได้ ๒๙ พรรษา จึงตัดสินพระทัยเสด็จออกทรง ผนวฃ ซึ่งยังมีซากปรักหักพังของพระราชวังให้เห็นเป็นหลักฐานอยู่เป็นจำนวนมาก วัดนิโครธาราม เป็นวัดที่พระประยูรญาติสร้างถวายในครั้งเสด็จโปรดพระพุทธบิดา อยู่ ห่างจากพระราชวังกบิลพัสดุ์ ๔ กม. ทรงเสด็จจำพรรษาที่วัดนี้ ๑ พรรษา และเป็นสถาน ที่กำเนิดสามเณรรูปแรกในพระพุทธศาสนา คือ ท่านพระราหุล

๓. แม่น้ำโรหินี อยู่ห่างลุมพินีไปทางนครเทวทหะ เลยเมืองพุทวาล (Butwal) ประมาณ ๖ กม. เป็นแม่น้ำที่เป็นตำนานพระพุทธรูปปางห้ามญาติ เมื่อครั้งที่พระประยูร ญาติทั้งสองฝ่ายทำสงครามแย่งน้ำเพื่อทำนา และเมื่อท่านพระอานนท์ปรินิพพาน ก็ อธิษฐานจิตให้อัฐิธาตุของท่านแยกเป็น ๒ ส่วน ตกลง ๒ ฝั่งแม่น้ำโรหินี เพื่อพระญาติ ทั้ง ๒ ฝ่าย

๔. กรุงเทวทหะ เมืองหลวงของแคว้นโกลิยะ ซึ่งเป็นเมืองของพระพุทธมารดา ยังมีคู เมืองและซากเมืองโบราณจมอยู่ใต้ดิน มีเทวลัยที่ชาวบ้านมาบูชาเจ้าแม่สิริมหามายา เทวี และพระนางปชาบดีโคตมี ในวันนักขัตฤกษ์ของชาวเนปาลในท้องถิ่นประจำปี

(ข้อมูลจาก “พุทธสถานรำลึก” ของพระมหาประมวล ฐานทัตโต, ดร.)

พวกเราได้เข้าไปกราบนมัสการและเวียนเทียนประทักษิณรอยพระบาทในมหามายา เทวีวิหาร เพื่อรำลึกว่า ที่แห่งนี้เป็นสถานที่ประสูติเป็นครั้งสุดท้ายของพระองค์ หลังจาก ที่ทรงตั้งพระทัยที่จะเป็นพระพุทธเจ้า ทรงบำเพ็ญเพียร ๔ อสงไขยแสนกัป เพื่อตรัสรู้ พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ เมื่อทรงกระทำประโยชน์ตนให้สำเร็จแล้ว พระองค์ก็ทรง ยังประโยชน์ผู้อื่นด้วยการทรงแสดงธรรมที่ทรงตรัสรู้แล้วให้ผู้อื่นได้รู้ตามกำลังปัญญาที่ สะสมมา ทรงเป็นตัวอย่างอันดีงามของพุทธศาสนิกชนให้ประพฤติปฏิบัติตาม คือ ยัง ประโยชน์ตนด้วยการศึกษาพระธรรมให้เข้าใจแล้วจึงเกื้อกูลผู้อื่นตามกำลังของตน เมื่อนมัสการสถานที่ต่างๆ จนครบแล้ว ก็นั่งรถสามล้อออกมาถึงคิวรถ แล้วต้องเดินไปขึ้น รถบัสต่ออีกที มีบางท่านฉลาด ไม่ต้องเดินตากแดดร้อนจัดในยามบ่าย ให้สามล้อถีบไป ส่งที่รถบัสเลย เราเป็นคนฉลาดน้อย จึงได้เห็นชายแขกเนปาลในชุดจีวรสีสด สวม หมวกกันน็อก รีบร้อนขับมอเตอร์ไซด์ผ่านไป นึกว่าจะไปไหน เมื่อเดินไปถึงรถบัส จึง เห็นชายคนนั้นเอาหมวกกันน็อกออก แล้วยืนถือบาตรเข้าแถวพร้อมคนอื่นๆ รอรับบริจาค เงินอยู่ข้างรถ อาศัยผ้าเหลืองหากินชัดๆ เลย ไม่ทราบมีผู้ให้หรือเปล่า สำหรับเราไม่สนับ สนุนการกระทำแบบนี้ (อีกแล้ว เรื่องจะไม่ให้มีเหตุผลสนับสนุนเสมอ)

จากนั้นก็พากันไปวัดไทยลุมพินี ซึ่งถนนทางเข้าปิดป้ายว่าห้ามเข้า จะเข้าได้ตั้งแต่ ห้าโมงเย็นเป็นต้นไป เห็นรถของคณะชาวพุทธศรีลังกาเข้าไม่ได้กลับออกไป แต่คุณ ขาวหัวหน้าทัวร์ไปจัดการท่าไหนไม่ทราบ ได้เข้าไป ไม่มีคณะแสวงบุญกลุ่มอื่นเลย ดู วัดเงียบเหงากว่าทุกครั้งที่มา รู้สึกเมื่อคณะของเราลงไป ผู้คนที่นั่นจะตื่นเต้น มีการจัด เตรียมการต้อนรับ และเมื่อถวายผ้าป่าและปัจจัยบำรุงวัดเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงได้ทราบ จากพระภิกษุที่นั่นว่า มีข้อขัดแย้งกับทางการเนปาล ที่จำกัดเวลาเข้าออกวัด แม้ถนนที่ สร้างนั้นจะเป็นของรัฐบาลไทยก็ตาม ทำให้ผู้ที่ตั้งใจมาทำบุญไม่ค่อยได้เข้ามา เพราะ เวลาไม่เหมาะสม เมื่อมีผู้ไปเรียนท่านว่า มีคณะคนไทยต่อสู้จนเข้ามาได้ จึงรู้สึกแปลก ใจและดีใจ เมื่อสอบถามหัวหน้าทัวร์ว่า ทำไมถึงเข้ามาได้ เขาบอกกับเจ้าหน้าที่ว่า เจ้า อาวาสให้มาพบ (คงทราบความในในของเจ้าอาวาส)

นึกเอาเองว่า รัฐบาลเนปาลคงต้องการส่งเสริมกิจการรถสามล้อ และกิจการโรงแรม เพราะถ้าเข้าวัดมาตอน ๕ โมงเย็น ก็ต้องนอนในฝั่งเนปาล ก็ดีเหมือนกัน เป็นการ กระจายรายได้

สังขารขันธ์ก็ทำหน้าที่ปรุงแต่งเป็นเรื่องราวทำให้บ่ายหน้าออกจากธรรมสัญญาตาม การสะสมเช่นเคย จริงๆ ไม่มีเรา ไม่มีใคร ไม่มีคนไทย คนเนปาล มีแต่จิต เจตสิกเกิดดับ ทำกิจหน้าที่ตามการสะสม แต่ก็แสดงให้เห็นว่า ปัญญาของตนเองนั้นยังน้อยมาก ยังไม่ เคยระลึกได้สักขณะเดียวว่า ทุกอย่างเป็นธรรมซึ่งเป็นอนัตตา ก็คงต้องเกิดตายอีกนับ ครั้งไม่ถ้วน ยังห่างไกลกับการเกิดเป็นชาติสุดท้ายอีกมาก แต่เมื่อได้มากราบนมัสการ สถานที่ประสูติครั้งสุดท้ายของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทำให้เกิดอนุสติระลึกได้ ว่า ทรงตรัสรู้และทรงแสดงหนทางไว้แล้ว เพียงให้มีศรัทธาศึกษาให้เข้าใจพระธรรมคำ สอนของพระองค์ แล้วความเข้าใจที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้นนั้นก็จะทำกิจให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ เกิด เป็นชาติสุดท้าย ไม่ต้องกลับมาเกิดอีกได้เช่นเดียวกัน



ความคิดเห็น 1    โดย ผู้ร่วมเดินทาง  วันที่ 1 ธ.ค. 2554

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาพี่แดงครับ


ความคิดเห็น 2    โดย เซจาน้อย  วันที่ 2 ธ.ค. 2554

...ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย...

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 4    โดย Boonyavee  วันที่ 5 ธ.ค. 2554

แม้มีเพียงเส้นชายแดนกั้นกลางระหว่างประเทศอินเดียและเนปาล แต่ความพลุกพล่านจอแจกลับต่างกันอย่างเห็นได้ชัด สองข้างทางของเนปาลจึงดูเป็นเมืองสงบอย่างน่าประหลาดใจและแล้วคณะสหายธรรมก็เดินทางมาถึงลุมพินีวันค่ะ

การได้มาเยือนสถานที่ประวัติศาสตร์ครั้งนี้ ขอกราบอนุโมทนาในกุศลจิตของอาจารย์สงบ และคุณแม่แดงอีกเช่นเคยที่กรุณาเล่าพุทธประวัติ และสนทนาธรรมก่อนที่คณะสหายธรรมจะร่วมเวียนเทียนประทักษิณรอยพระบาทในมหามายาเทวีวิหาร จากนั้นจึงร่วมกันถวายผ้าห่มผ้ารอบเสาอโศก ก่อนออกเดินทางเพื่อไปถวายผ้าป่าที่วัดไทยลุมพินีค่ะ

ขออนุโมทนาคุณขาวหัวหน้าทัวร์ และศรัทธาอันแรงกล้าของคณะสหายธรรมทุกท่านที่ร่วมเดินทางในครั้งนี้ ทุกท่านต่างไม่ย่อท้อและรอจนได้เข้าไปถวายผ้าป่าและปัจจัยณ วัดไทยลุมพินีค่ะ ขอกราบอนุโมทนาอีกครั้งค่ะ หลังจากทุกท่านอิ่มบุญแล้วจึงเดินทางกลับยังที่พักเพื่อรับประทานอาหารค่ำค่ะ


ความคิดเห็น 5    โดย ING  วันที่ 8 ธ.ค. 2554

ขออนุโมทนาค่ะ