ข้อปฏิบัติสำหรับผู้ที่บรรลุมรรคผลไว้ ๔ ประการ
โดย chatchai.k  6 ก.ย. 2565
หัวข้อหมายเลข 43701

ใน อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต ปฏิปทาวรรคที่ ๒ กล่าวถึงข้อปฏิบัติสำหรับผู้ที่บรรลุมรรคผลไว้ ๔ ประการ คือ

ทุกฺขา ปฏิปทา ทนฺธาภิญญา ปฏิบัติลำบาก ทั้งรู้ได้ช้า ๑

ทุกฺขา ปฏิปทา ขิปฺปาภิญญา ปฏิบัติลำบาก แต่รู้ได้เร็ว ๑

สุขา ปฏิปทา ทนฺธาภิญญา ปฏิบัติสะดวก แต่รู้ได้ช้า ๑

สุขา ปฏิปทา ขิปฺปาภิญญา ปฏิบัติสะดวก ทั้งรู้ได้เร็ว ๑

นี่ก็เป็นเรื่องของแต่ละชีวิต แต่ละบุคคลในชีวิตประจำวัน ท่านแสดงไว้ว่า

ที่ชื่อว่า ทุกฺขาปฏิปทานั้น ก็คือ โดยปกติเป็นคนมีราคะกล้า ย่อมได้เสวยทุกขโทมนัสอันเกิดแต่ราคะเนืองๆ บ้าง หรือว่าโดยปกติเป็นคนมีโทสะกล้า ย่อมได้เสวยทุกขโทมนัสอันเกิดจากโทสะเนืองๆ บ้าง โดยปกติเป็นคนมีโมหะกล้า ย่อมได้เสวยทุกขโทมนัสอันเกิดแต่โมหะเนืองๆ บ้าง ทุกท่านรู้จักตัวดีกว่าคนอื่น ใช่ไหมคะว่า มีราคะกล้า หรือว่ามีโทสะกล้าหรือว่ามีโมหะกล้า จะต้องให้คนอื่นบอกไหมคะ

สำหรับปฏิปทาข้อที่ ๑ คือ ทุกฺขาปฏิปทา ทนฺธาภิญญา นั้นก็คือว่า ทุกฺขา ปฏิปทา โดยปกติเป็นคนมีราคะกล้า โทสะกล้า โมหะกล้า ก็ย่อมได้เสวยทุกข- โทมนัส อันเกิดแต่ราคะ โทสะ โมหะ เนืองๆ บ่อยๆ และส่วนที่เป็น ทันธาภิญญา นั้นคือว่า อินทรีย์อ่อน จึงสิ้นกิเลสช้า อินทรีย์ ๕ ได้แก่ สัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา เราสิ้นกิเลสเร็วหรือช้าคะ แล้วก็มีราคะกล้า โทสะกล้า โมหะกล้า ไหม เพลินไปเนืองๆ บ่อยๆ หรือว่ามีความโกรธทำให้เกิดทุกขโทมนัสวันหนึ่งๆ ไม่รู้เท่าไร ทางตาก็ไม่พอใจ ทางหูกระทบอะไรก็ไม่พอใจ ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจเป็นไปในเรื่องราคะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง ที่กล้าขึ้นมาได้อย่างนี้ก็เพราะเหตุว่าสะสมเนืองๆ บ่อยๆ เพราะฉะนั้น เมื่อนิสัยเดิมปกติเป็นคนมีราคะกล้า โทสะกล้า โมหะกล้า ก็จะต้องเจริญนิสัยมีสติรู้ลักษณะของนามและรูป แล้วอินทรีย์จะได้กล้าขึ้น

สำหรับ สุขาปฏิปทา ทันธาภิญญา ก็คือผู้ที่ปฏิบัติสะดวก แต่รู้ได้ช้า สุขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา ก็เป็นผู้ที่ปฏิบัติสะดวก ทั้งรู้ได้เร็ว สุขาปฏิปทาก็คือ โดยปกติไม่เป็นคนมีราคะกล้า ย่อมไม่ได้เสวยทุกขโทมนัสอันเกิดแต่ราคะเนืองๆ บ้าง โดยปกติไม่เป็นคนมีโทสะกล้า ย่อมไม่ได้เสวยทุกขโทมนัสอันเกิดแต่โทสะเนืองๆ บ้าง โดยปกติไม่เป็นคนมีโมหะกล้า ย่อมไม่ได้เสวยทุกขโทมนัสอันเกิดแต่โมหะเนืองๆ บ้าง

ใครจะห้ามไม่ให้เห็น ได้ยินสิ่งต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นเพราะกรรมที่ได้ทำมาแล้ว แต่ไม่ใช่เป็นเรื่องของกรรมเท่านั้น เรื่องของกิเลสสะสมมามากหรือน้อย เพราะว่าบางทีสิ่งที่เห็นอาจจะไม่ใช่สิ่งที่ดีน่าเพลิดเพลินที่น่าพอใจ แต่โลภะไม่เกิด โทสะไม่เกิด โมหะไม่เกิดก็ได้ หรือว่าอาจจะแวดล้อมไปด้วยสิ่งที่น่าเพลิดเพลินยินดีพอใจทั้งนั้น ก็มีราคะกล้าพอใจมากเพลิดเพลินก็ได้ หรือว่าเป็นคนที่ถึงแม้ว่าอารมณ์จะประณีต สักเท่าไร แต่ก็เป็นผู้ที่มีโทสะกล้าก็ได้ มีโมหะกล้าก็ได้ สุขาปฏิปทาก็ดี ทุกขาปฏิปทาก็ดีนั้น เป็นเรื่องของความเป็นผู้ที่มีกิเลสคือ มีราคะกล้า มีโทสะกล้า มีโมหะกล้า หรือเป็นผู้ที่ไม่มีราคะกล้า ไม่เป็นคนมีโทสะกล้า ไม่เป็นคนมีโมหะกล้า

ส่วนเรื่องของการบรรลุ ถึงแม้ว่าจะเป็นสุขาปฏิปทา บรรลุช้าก็ได้ เป็น เพราะเหตุใด? เพราะเรื่องของการบรรลุมรรคผลนั้นเป็นเรื่องของอินทรีย์ ถ้าอินทรีย์อ่อนถึงแม้จะเป็นสุขาปฏิปทาก็บรรลุช้า แต่ถ้าเป็นสุขาปฏิปทาขิปปาภิญญา เป็นผู้ที่ปกติไม่เป็นผู้มีราคะ โทสะ โมหะกล้า แล้วก็อินทรีย์กล้าด้วย ได้เจริญสัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญามามาก เพราะฉะนั้น ก็เป็นผู้ที่บรรลุได้เร็วเพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้นะคะว่า การเจริญสติปัฏฐานไม่ว่าในครั้งพุทธกาลหรือว่าในปัจจุบันนี้ ก็เป็นการเจริญสติปัฏฐานตามปกติในชีวิตประจำวัน ถ้าไม่ใช่ชีวิตประจำวันแล้ว จะมีเรื่องราคะกล้าไหม จะมีเรื่องโทสะกล้าไหม จะมีเรื่องโมหะกล้าไหม แต่เพราะเหตุว่า เป็นเรื่องต้องรู้ชีวิตจริงๆ ตามปกติในชีวิตประจำวัน ฉะนั้น ปฏิปทาของผู้ที่บรรลุมรรคผลสิ้นกิเลส จึงมี ๔ ประการคือ

ทุกฺขาปฏิปทา ทันธาภิญญา ปฏิบัติลำบากทั้งรู้ได้ช้า ๑

ทุกฺขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา ปฏิบัติลำบากแต่รู้ได้เร็ว ๑

ทั้งๆ ที่มีราคะกล้า โทสะกล้า โมหะกล้า แต่อินทรีย์ คือ สัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ก็ได้เจริญมามาก เพราะฉะนั้น ท่านก็เป็นผู้ที่บรรลุได้เร็ว และข้อความในพระสูตรก็ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ท่านพระสารีบุตรได้เข้าไปหาท่านพระมหาโมคคัลลานะถึงที่อยู่ เมื่อได้ปราศัยแล้ว ท่านพระสารีบุตรก็ได้ถามท่านพระมหาโมคคัลลานะว่า ปฏิปทา ๔ นี้ ท่าน พระมหาโมคคัลลานะพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะอาศัยปฏิปทาข้อไหน ซึ่งท่านพระมหาโมคคัลลานะก็ได้กล่าวตอบว่า ท่านพ้นด้วยทุกขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา

เป็นผู้ที่มีราคะกล้า โทสะกล้า โมหะกล้า แต่บรรลุเร็ว เพราะว่าอดีตชาตินั้นท่านก็สะสมเรื่องของ ราคะ โทสะ โมหะ แล้วท่านก็ได้เจริญอินทรีย์ สัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญามามาก เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าท่านจะมีราคะ โทสะ โมหะกล้า ท่านก็บรรลุเร็ว และข้อความต่อไปก็มีว่า ท่านพระมหาโมคคัลลานะก็ได้เข้าไปหาท่านพระสารีบุตร เมื่อได้ปราศรัยทักทายกันแล้ว ท่านก็ถามว่า ปฏิปทา ๔ นี้ ท่านพระสารีบุตรพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะอาศัยปฏิปทาข้อไหน ท่านพระสารีบุตรก็กล่าวตอบว่าเพราะ สุขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา นี่คือความต่างกันของท่านอัครสาวกทั้งสอง

ใน ขุททกนิกาย เถรคาถา อภัยเถรคาถา มีข้อความว่า เราได้ฟังพระวาจาอันเป็นสุภาษิตของพระพุทธเจ้าผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระอาทิตย์ จึงได้รู้แจ้งแทงตลอดซึ่งธรรมอันละเอียด เหมือนบุคคลยิงปลายขนทรายด้วยลูกศร ฉะนั้น ผู้เป็นพระอริยะท่านกล่าวไว้อย่างนี้ เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะเป็นพระอริยะก็จะต้องรู้ธรรมละเอียด ชัดเจน ถูกต้อง ไม่ใช่ไม่รู้ ถ้ายังคงไม่รู้แล้วก็แยกโลกทั้ง ๖ ทางนี้ไม่ออก ไม่รู้ชัดตามความเป็นจริง ที่จะให้ปัญญาสมบูรณ์ขึ้นเป็นขั้นๆ นั้น ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีชีวิตอยู่วันหนึ่งๆ ก็เพราะเหตุว่า ยังมีกรรมที่ทำให้วิบากดำรงสืบต่อจากขณะหนึ่งไปสู่อีกขณะหนึ่ง เช้ามาถึงเย็น เย็นไปถึงพรุ่งนี้ หมุนเวียนไปเรื่อยๆ ก็เป็นเรื่องของกรรมที่แล้วแต่ว่าจะได้รับผลของกรรมอะไร ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็จงเป็นผู้ที่พิจารณารู้ลักษณะของโลกที่ปรากฏตาม ความเป็นจริง

ใน ขุททกนิกาย เถรคาถา อุตติยาภรคาถา มีข้อความว่า เมื่ออาพาธบังเกิดขึ้นแก่เรา สติก็เกิดแก่เราว่า อาพาธเกิดขึ้นแก่เราแล้ว เวลานี้ เป็นเวลาที่เราไม่ควรประมาท การเจ็บไข้ได้ป่วยก็เป็นผลของกรรมเหมือนกัน มีผู้ใดจะบังคับได้ วันนี้แข็งแรงดี พรุ่งนี้ก็เจ็บป่วยได้ แต่สำหรับท่านที่เจริญสติ แล้วมีปัญญาที่ได้อบรมมาแล้ว ถึงแม้ว่าในขณะที่ท่านได้รับวิบากซึ่งเป็นผลของกรรม คือการอาพาธเกิดขึ้น สติก็เกิดขึ้นแก่ท่านด้วยว่า เมื่ออาพาธเกิดขึ้นแก่ท่านอย่างนั้นแล้ว เวลานั้นเป็นเวลาที่ท่านไม่ควรประมาท และการเจ็บไข้ได้ป่วยไม่สบายจะมีการจำกัดสถานที่ไหมคะ จะเจ็บไข้ได้ป่วยที่ไหนได้ทั้งนั้น ฉะนั้น การเจริญสติปัฏฐานก็ ย่อมเจริญได้ทุกแห่งไม่มีจำกัดสถานที่ แล้วแต่ท่านจะอยู่ที่ใดก็ตาม มีสติเกิดขึ้นท่านก็เป็นผู้ไม่ประมาท


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 22