[คำที่ ๓๒๖] กสลธมฺม
โดย Sudhipong.U  23 พ.ย. 2560
หัวข้อหมายเลข 32446

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์
กุสลธมฺม ----- ธรรมที่เป็นกุศล,กุศลธรรม


คำว่า กุสลธมฺม เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านออกเสียงตามภาษาบาลี ว่า กุ - สะ - ละ - ดำ – มะ] มาจากคำว่า กุสล (ดีงาม,ตัดบาปธรรม) กับคำว่า ธมฺม (สิ่งที่มีจริง) รวมกันเป็น กุสลธมฺม เขียนเป็นไทยได้ว่า กุศลธรรม มีความหมายที่หลากหลายมาก แต่เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว หมายถึง สภาพธรรมที่ดีงาม (ความดี) เป็นสภาพธรรมที่ไม่มีโรคคือไม่มีกิเลส เป็นสภาพธรรมที่ยังบาปธรรมให้สิ้นไป เป็นสภาพธรรมที่ทำลายกุศล สำหรับธรรมที่เป็นกุศล นั้น ได้แก่ กุศลจิต และ เจตสิกที่เกิดร่วมด้วยกับจิตในขณะนั้น นั่นเอง เป็นธรรม ไม่ใช่สัตว์บุคคล ตัวตน ข้อความในอัฏฐสาลินี อรรถกถาพระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณีปกรณ์ แสดงถึงความเป็นจริงของธรรมที่เป็นกุศล หรือ กุศลธรรม ไว้ดังนี้ คือ

สภาวะที่ชื่อว่า กุศล เพราะอรรถว่า ยังบาปธรรมอันบัณฑิตเกลียด ให้ไหว ให้เคลื่อนไป ให้หวั่นไหว คือ ให้พินาศ, ชื่อว่า กุศล เพราะอรรถว่า ธรรมแม้เหล่านี้ ย่อมตัดส่วนสังกิเลส (เครื่องเศร้าหมองของจิต) ที่ถึงส่วนทั้งสอง คือ ที่เกิดขึ้นแล้วและยังไม่เกิด เหมือนหญ้าคาย่อมบาดส่วนแห่งมือที่ลูบคมหญ้าทั้งสอง เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า กุศล เพราะอรรถว่า ย่อมตัด คือ ย่อมทำลายกุศล เหมือนหญ้าคา ฉะนั้น.


ชีวิตของแต่ละบุคคลในแต่ละชาตินั้นแสนสั้นมาก ชีวิตในชาติหนึ่งเริ่มต้นที่ปฏิสนธิจิต แล้วสิ้นสุดความเป็นบุคคลนี้ เมื่อจุติจิตเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ทำให้เคลื่อนพ้นจากความเป็นบุคคลนี้ในชาตินี้ ที่เรียกว่า ตาย ไม่สามารถย้อนกลับมาเป็นบุคคลนี้ได้อีก เกิดมาแล้วในที่สุดก็จะต้องตาย แต่ก็ไม่สามารถที่จะทราบได้ว่า จะเป็นวันใด เวลาใด และตามความเป็นจริงแล้ว แต่ละขณะของชีวิตเป็นธรรมทั้งหมด ธรรมเกิดขึ้นและดับไปอย่างรวดเร็ว ไม่หวนกลับมาได้อีก มีแต่เกิดแล้วก็เป็นไป แล้วก็ไม่กลับมาอีกเลย

ที่ควรที่จะได้พิจารณาอยู่เสมอ คือ การได้เกิดมาเป็นมนุษย์ พร้อมทั้งมีโอกาสได้พบพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ได้พบกัลยาณมิตรที่มีเมตตาคอยเกื้อกูลให้ความเข้าใจพระธรรมที่ถูกต้องตรงตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง นั้น เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยาก เป็นสิ่งที่ไม่ใช่ว่าใครๆ ก็จะได้พบ เพราะต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัยจริงๆ ถ้าไม่ได้สะสมความดีมา ก็จะไม่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ และถ้าไม่เคยเห็นประโยชน์ของพระธรรม ไม่เคยฟังพระธรรมในชาติก่อนๆ มาเลย ก็จะไม่มีเหตุปัจจัยที่จะทำให้ได้ใส่ใจสนใจที่จะฟังพระธรรม เพราะฉะนั้น การได้ในสิ่งที่ประเสริฐเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ได้โดยยากแสนยากในสังสารวัฏฏ์ เมื่อเทียบกับการได้รูป เสียง กลิ่น รส และสิ่งที่กระทบสัมผัสกาย ซึ่งมีเป็นปกติในชีวิตประจำวัน

ธรรมดาปุถุชนผู้หนาแน่นไปด้วยกิเลส ย่อมสะสมกุศลเป็นส่วนมาก แต่เมื่อมีโอกาสได้ฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง มีความเข้าใจไปตามลำดับ ขณะที่ปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูก เกิดขึ้น ขณะนั้นกุศลจิตเกิด ก็สะสมความเห็นถูก สะสมกุศลธรรม สะสมอุปนิสัยฝ่ายดีมากขึ้น หมายความว่าค่อยๆ เปลี่ยนไปในทางที่ดีมากยิ่งขึ้นด้วยความเข้าใจพระธรรม ซึ่งจะเห็นได้ว่า พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงนั้น เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลสำหรับผู้ที่ได้ฟัง สามารถเปลี่ยนจากบุคคลที่เป็นปุถุชนผู้หนาแน่นไปด้วยกิเลส ค่อยๆ เป็นปุถุชนผู้ดีงามด้วยกุศลธรรม จนไปสู่ความเป็นพระอริยบุคคล ตามลำดับขั้นได้ ขึ้นอยู่กับการสะสมปัญญา (ความเข้าใจถูก) ซึ่งเป็นธรรมฝ่ายดี

ความเข้าใจถูกอันเกิดจากการฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ย่อมสามารถทำให้จากที่เคยมีความเห็นผิด ความติดข้อง และความไม่รู้ เป็นต้น ที่สะสมมาอย่างเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์ เป็นผู้มีความเข้าใจที่ถูกต้อง ขัดเกลากิเลสเหล่านั้นได้ ดังนั้น การอาศัยสัตบุรุษผู้มีปัญญา การได้ฟังพระธรรม และความเป็นผู้ว่าง่ายน้อมรับฟังด้วยความเคารพ อีกทั้งพิจารณาพระธรรม เห็นประโยชน์ของพระธรรมยิ่งขึ้น จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่สามารถเปลี่ยนจากความเป็นผู้มากไปด้วยอกุศลให้เป็นกุศลยิ่งขึ้นได้ ซึ่งไม่มีตัวตนที่เปลี่ยน แต่เป็นความเกิดขึ้นเป็นไปของสภาพธรรม คือ จิต และเจตสิก (สภาพธรรมที่เกิดร่วมกับจิต) น้อมไปในทางฝ่ายกุศลมากยิ่งขึ้น ตามระดับของความเข้าใจถูก เห็นถูก

กุศลธรรมทั้งหลายทั้งปวงนั้น เป็นสภาพธรรมที่ดีงาม ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นกุศลในขณะนั้นเป็นสภาพที่ไม่มีโรค คือ ไม่มีกิเลส ไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ เป็นต้น เมื่อไม่มีกิเลส ก็ย่อมไม่มีโทษ ไม่เป็นโทษทั้งกับตนเองและกับบุคคลอื่น, ขณะที่กุศลธรรมเกิดขึ้น กิเลสทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นประเภทใดๆ ก็ตาม ย่อมเกิดไม่ได้ เป็นคนละส่วนเป็นคนละขณะกัน เพราะกุศลธรรม เป็นสภาพธรรมที่ตัดซึ่งบาปธรรมทั้งหลาย แต่ขณะใดที่กิเลสเกิดขึ้น ขณะนั้นเป็นโรคทางใจ จิตของแต่ละบุคคลจึงมีโรคหลายอย่าง แล้วแต่ว่าจะเป็นโรคโลภะ โรคโทสะ โรคโมหะ โรคอิสสา (ความริษยา) โรคมัจฉริยะ (ความตระหนี่) เป็นต้น ก็มีประเภทของโรคต่างๆ มากมายเกิดขึ้นเป็นไปตามการสะสมของแต่ละบุคคล แต่สำหรับกุศลธรรม แล้ว ไม่มีโรค คือ ไม่มีกิเลส จึงไม่มีโทษ และ กุศลธรรม มีสุขเป็นผล ไม่นำความทุกข์ความเดือดร้อนใดๆ มาให้เลยแม้แต่น้อย

การขัดเกลากิเลส ที่แต่ละบุคคลได้สะสมมาอย่างเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์ ต้องอาศัยการเจริญกุศล สะสมความดี ทีละเล็กทีละน้อย บ่อยๆ เนืองๆ สำหรับบุคคลผู้ที่ยังไม่มีปัญญาคมกล้าจนถึงขั้นที่จะสามารถบรรลุถึงความเป็นพระอริยบุคคลในวันนี้หรือวันพรุ่งนี้ ได้นั้น โอกาสใดที่จะสะสมกุศลได้ ไม่ว่าจะเป็นในด้านใดๆ ก็ตาม หรือ เล็กน้อยเพียงใดก็ตาม ก็ไม่ควรที่จะละเลยโอกาสนั้นไป เพราะโอกาสของการที่ได้ทำความดี ในชีวิตประจำวันนั้น เป็นโอกาสที่หายาก เทียบส่วนกันไม่ได้เลยกับขณะที่เป็นอกุศล ซึ่งในวันหนึ่งๆ อกุศลจิตเกิดบ่อยมากเป็นปกติอยู่แล้ว ถ้าไม่มีโอกาสของกุศลธรรม ได้เกิดขึ้นบ้างเลย นับวันอกุศลธรรมก็จะสะสมพอกพูนหนาแน่นขึ้นเรื่อยๆ ทำให้สังสารวัฏฏ์ยืดยาวต่อไปอีก ไม่มีวันจบสิ้น เพราะฉะนั้นแล้ว จึงไม่ควรปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปโดยเปล่าประโยชน์ แต่ควรอย่างยิ่งที่จะฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ และไม่ประมาทในการเจริญกุศลทุกประการ ซึ่งเป็นการตัดโอกาสของการเกิดขึ้นของอกุศลธรรม ได้ ในขณะที่กุศลธรรมเกิดขึ้นเป็นไป เป็นขณะที่มีค่าอย่างยิ่งในชีวิตประจำวัน.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ



ความคิดเห็น 1    โดย chatchai.k  วันที่ 12 มี.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ 


ความคิดเห็น 2    โดย Sea  วันที่ 17 มี.ค. 2565

กราบอนุโมทนาค่ะ