ความฟุ้งซ่าน กับ ความคิด ต่างกันอย่างไร
โดย ค่อยๆศึกษา  5 ธ.ค. 2564
หัวข้อหมายเลข 41648

สองคำนี้ดูคล้ายกันครับ เหมือน คิด และ คิดฟุ้งซ่าน หรือแม้แต่อีกคำ คือ คิดไตร่ตรอง ล้วนขึ้นด้วยคำว่า คิด ไม่ทราบว่า โดยสภาพธรรมมีความแตกต่างกันอย่างไรครับ



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 6 ธ.ค. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ประโยชน์จากการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ก็เพื่อเข้าใจสภาพธรรมที่มีจริง ที่กำลังมี กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ซึ่งสิ่งที่ศึกษานั้นไม่พ้นจากขณะนี้เลย ไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ ถึงแม้จะมีสภาพธรรมที่มีจริงๆ ในขณะนี้ แต่เพราะไม่รู้ จึงต้องศึกษาด้วยความละเอียดรอบคอบจริงๆ ก่อนอื่น เมื่อกล่าวถึงคำอะไร ก็ต้องเข้าใจให้ชัดเจนในคำที่กล่าวถึงด้วย จึงจะเป็นประโยชน์ในการศึกษาอย่างแท้จริง แม้กระทั่งคำว่า ความคิดนึก

ขณะที่คิด เป็นธรรมที่มีจริงเป็น จิต ที่คิด คิดถึงเรื่องราวต่างๆ จากการได้เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง ได้กลิ่นบ้าง รวมไปถึงในขณะที่ฝันด้วย ดังนั้น ขณะที่คิด อะไรที่มีจริง ก็ต้องเป็น จิต เป็นสภาพธรรมที่มีจริง (และเมื่อจิตเกิดขึ้น ก็ต้องมีสภาพธรรมที่เกิดร่วมกับจิต คือ เจตสิก ด้วย) ส่วนเรื่องราวที่ จิต คิดนั้น ไม่ใช่สิ่งที่มีจริง ไม่ใช่รูปธรรมและนามธรรม แต่เป็นบัญญัติเรื่องราวต่างๆ เรื่องราวต่างๆ นั้น เป็นสิ่งที่จิตรู้ เรื่องราวจึงเป็นอารมณ์ของจิต ที่กำลังคิดในขณะนั้น ซึ่งก็จะเข้าใจไปถึงคำว่า อารมณ์ ด้วย เพราะสิ่งใดก็ตามที่จิตรู้ สิ่งนั้นเป็น อารมณ์ ของจิต เพราะฉะนั้น ตัวที่คิด คือ สภาพธรรมที่มีจริง คือ จิต เจตสิก ไม่ใช่สมมติบัญญัติ เป็นปรมัตถธรรม เรื่องราวที่คิดเป็นชื่อ เป็นสมมติบัญญัติ ชื่อ กับ สมมติบัญญัติ จึงเหมือนกัน

ความคิด คิดด้วยจิตที่ดี ก็ไ้ด เพราะมีเจตสิกที่ดีเกิดร่วมด้วย และคิดด้วยจิตที่ไมด่ีก้ได้ เพราะมีอกุศลเจตสิกเิกดร่วมด้วย ซึ่งความฟุ้งซ่าน คือ เจตสิกที่ไม่ดี คือ อุทธัจจะเจตสิก เป็น ความฟุ้งซ่าน เกิดกับอกุศลจิตทุกๆ ประเภท ดังนั้น ขณะใดที่อกุศลจิตเกิด ขณะนั้นฟุ้งซ่านแล้ว แม้เพียงเล็กน้อย ซึ่ง ในพระไตรปิฎกก็อธิบายอุทธัจจะว่า คือ ความไม่สงบแห่งจิต อกุศลเพียงเล็กน้อย แม้เป็นโมหมูลจิตที่ประกอบด้วยอุทธัจจะ ขณะนั้น จิตไม่สงบด้วยอำนาจอกุศล เพราะฉะนั้น คำว่าอุทธัจจะ จึงมีความหมายหลากหลายนัย ทั้ง ความฟุ้งซ่าน และ ความไม่สงบแห่งจิต ความซัดซ่ายแห่งจิตในขณะนั้น แม้เพียงเล็กน้อย ที่เป็นอกุศล ก็ชื่อว่าไม่สงบ เพราะอกุศล ไม่ทำให้สงบจากนิวรณ์ กิเลส และฟุ้งไปด้วยอำนาจกิเลสที่เกิดขึ้น ดังนั้น จึงไม่ได้หมายความว่า ความฟุ้งซ่านที่เป็นอุทธัจจะ จะต้องเป็นการคิดเป็นเรื่องราวหลายๆ เรื่อง จะเป็นความฟุ้งซ่านที่หมายถึงอุทธัจจะ แต่แม้อกุศลจิตที่เกิดขึ้นเพียงเล็กน้อย ยังไม่ได้คิดเป็นเรื่องราวมากมาย หลายๆ เรื่องก็เป็นอุทธัจจะด้วยความหมายความไม่สงบแห่งจิตนั่นเองครับ ซึ่งพระอรหันต์เท่านั้นที่จะละอุทธัจจเจตสิก ได้

ดังนั้นคิดดี จิตดี ไม่มีความฟุ้งซ่าน เพราะไม่มี อกุศลเจตสิก คือ อุทธัจจะเจตสิก เกิดกับจิตนั้นครับ ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 2    โดย khampan.a  วันที่ 6 ธ.ค. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตามความเป็นจริงแล้ว ขณะที่เป็นอกุศลจะไม่ปราศจากความฟุ้งซ่าน (อุทธัจจะ) เลย เพราะอุทธัจจะเป็นอกุศลสาธารณเจตสิกที่เกิดร่วมกับอกุศลจิตทุกประเภท จะไม่เกิดร่วมกับกุศลจิตเลย เพราะเหตุว่าขณะที่กุศลจิตเกิดขึ้นนั้น สงบจากอกุศล นี้คือ ความเป็นจริงของธรรมที่ใครๆ ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลง ดังนั้น ก็พอที่จะพิจารณาได้ว่า ในชีวิตประจำวัน เมื่ออกุศลจิต เกิดขึ้นเป็นไปมาก ความไม่สงบ ความฟุ้งซ่านจะมากเพียงใด และเมื่อเข้าใจแล้วว่า ความฟุ้งซ่านจะไม่เกิดกับกุศล ก็พิจารณาต่อไปได้ว่า เมื่อ คิด มีทั้งคิดดี และ คิดไม่ดี ซึ่งแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ขณะที่คิดไม่ดี เท่านั้น ที่มีความฟุ้งซ่าน แต่ถ้าคิดดี เช่น ไม่โกรธ มีความเป็นมิตรเป็นเพื่อนกับผู้อื่น หรือแม้แต่การไตร่ตรองถึงพระธรรมที่ได้ยินได้ฟัง ขณะนั้น ไม่ฟุ้งซ่าน
ธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริง นั้น ก็มีจริงทุกขณะ ไม่ต้องไปแสวงหาที่ไหนเลย สามารถเข้าใจถูกเห็นถูกตรงตามความเป็นจริงได้ ซึ่งจะต้องได้ฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ไม่ประมาทในแต่ละคำที่พระองค์ทรงแสดง ครับ
...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 3    โดย chatchai.k  วันที่ 6 ธ.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 4    โดย Sea  วันที่ 6 ธ.ค. 2564

กราบขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 5    โดย ค่อยๆศึกษา  วันที่ 7 ธ.ค. 2564

ขอบพระคุณครับ ขออนุโมทนาทุกท่านครับ


ความคิดเห็น 6    โดย ทรงศักดิ์  วันที่ 8 ธ.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ