ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ
เมื่อวันเสาร์ ที่ ๓ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ ที่ผ่านมา ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ประธานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา ได้รับเชิญจาก คุณทักษพล คุณจริยา และ คุณศิริพล เจียมวิจิตร เพื่อไปสนทนาธรรม ณ บ้านริมสนามกอล์ฟเดอะรอยัลเจมส์ ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ระหว่างเวลา ๑๐.๐๐ - ๑๒.๐๐ น.
ข้าพเจ้าได้มีโอกาสเข้าร่วมฟังการสนทนาธรรมที่บ้านหลังนี้ มาแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๕๖ ที่ผ่านมา ท่านที่สนใจสามารถคลิกชมได้ที่กระทู้นี้ครับ ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ บ้านคุณทักษพล คุณจริยา เจียมวิจิตร ๑๔ ธันวาคม ๒๕๕๖
เป็นที่ทราบดีว่า ในวันเสาร์และอาทิตย์ จะมีการสนทนาธรรมที่มูลนิธิฯ นอกจากการสนทนาธรรมภาคภาษาอังกฤษ ที่องค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก ที่ตั้งอยู่ด้านหลังสวนเบญจสิริ ถนนสุขุมวิทแล้ว ในวันเสาร์และวันอาทิตย์ ท่านอาจารย์จะไม่รับเชิญ ไปสนทนาธรรมที่อื่นๆ ในวันดังกล่าว ครั้งนี้ ข้าพเจ้าเข้าใจว่า ท่านเมตตาเกื้อกูลท่านเจ้าภาพทั้งสอง ซึ่งท่านทั้งสอง มีกุศลศรัทธาอย่างยิ่ง ในการฟังและศึกษาพระธรรม และ ได้กราบเรียนเชิญท่านอาจารย์ ไปสนทนาธรรมที่บ้านของท่านเป็นประจำ โดยสม่ำเสมอ ถึงปีละหลายครั้ง โดยในแต่ละครั้ง ทราบว่าเป็นประโยชน์อย่างมาก แก่ผู้ที่ได้รับโอกาสเข้าร่วมฟังด้วยมีท่านผู้ใหม่หลายท่านในทุกครั้ง ที่ให้ความสนใจ สนทนากับท่านอาจารย์ ถึงความเป็นไปของผู้ที่เรียกตนเองว่าชาวพุทธ และ ได้ผ่านประสบการณ์ พิธีกรรมต่างๆ ที่ผู้คนในสมัยปัจจุบันสนใจ และ เข้าใจเอาเอง ว่าเป็นส่วนหนึ่งของพระธรรมคำสอน การสนทนาธรรม จึงได้รับฟังความจริงของพระธรรมที่ทรงแสดง ซึ่งเป็นประโยชน์มาก หลังการสนทนาจบลง มีผู้กล่าวยอมรับบ่อยๆ ว่า ไม่เคยได้ยินความจริงแท้เช่นนี้มาก่อน รู้ว่าเป็นเหตุผล ตรงตามความเป็นจริงที่พิสูจน์ได้ และ รู้ว่าที่ผ่านมา เสียเวลาไปมาก บางท่านก็กล่าวว่า เกือบค่อนชีวิต ที่หลงผิดและทำในสิ่งผิดๆ มาเกือบตลอดชีวิต ความเข้าใจผิด ทำผิด ปฏิบัติผิด เปรียบเหมือนขยะเน่าเหม็น ที่บุคคลบรรทุกไว้เต็มคันรถ เมื่อรู้ว่าเป็นขยะ ประโยชน์อะไรที่ยังเก็บไว้? ไม่แม้เพียงส่วนเดียวที่พึงเหลือไว้ ทั้งยังต้องทำความสะอาดให้สิ้นกลิ่นเน่าเหม็น ซึ่งจะเป็นอันตรายแก่ตนโดยแท้ ความเห็นผิดแม้เพียงน้อยนิด ย่อมนำไปสู่ความเห็นผิดที่มากขึ้นได้อย่างที่คิดไม่ถึงทีเดียว
ท่านเจ้าของบ้าน คุณจริยา (คุณต๋อย) เป็นผู้ที่ชื่นชอบพรรณไม้ต่างๆ เป็นอย่างมาก ดังได้กล่าวถึงท่านไว้ ในตอนที่แล้ว ซึ่งท่านได้กราบเรียนท่านอาจารย์ ปลูกต้นอโศกพวงไว้เป็นที่ระลึก และ ในครั้งนี้ก็เช่นกัน ท่านได้กราบเรียนท่านอาจารย์ เพื่อปลูกต้นมะลิสายพันธุ์ใหม่ ที่มีชื่อว่า "มะลิเฉลิมนรินทร์" ซึ่งเพิ่งถูกค้นพบโดย ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น เพื่อนของท่าน และ ท่านได้รับต้นมะลิดังกล่าว มาเป็นท่านแรก เพื่อปลูกโดยท่านอาจารย์ ในวันนี้
[เล่มที่ 38] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้าที่ 203
ข้อความบางตอนจาก ตัณหาสูตร
แม้ศรัทธา เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของศรัทธา ควรกล่าวว่า การฟังสัทธรรม แม้การฟังสัทธรรม เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของการฟังสัทธรรม ควรกล่าวว่า การคบหาสัปบุรุษ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการดังนี้ การคบสัปบุรุษที่บริบูรณ์ ย่อมยังการฟังสัทธรรมให้บริบูรณ์ การฟังสัทธรรมที่บริบูรณ์ ย่อมยังการทำไว้ในใจโดยแยบคายให้บริบูรณ์ การทำไว้ในใจโดยแยบคายที่บริบูรณ์ ย่อมยังสติสัมปชัญญะให้บริบูรณ์ สติสัมปชัญญะที่บริบูรณ์ ย่อมยังการสำรวมอินทรีย์ให้บริบูรณ์ การสำรวมอินทรีย์ที่บริบูรณ์ ย่อมยังสุจริต ๓ ให้บริบูรณ์ สุจริต ๓ ที่บริบูรณ์ ย่อมยังสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์ สติปัฏฐาน ๔ ที่บริบูรณ์ ย่อมยังโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์ โพชฌงค์ ๗ ที่บริบูรณ์ ย่อมยังวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์
อันดับต่อไป ขออนุญาตนำความการสนทนาธรรมบางตอน ในวันนั้น มาฝากให้ทุกๆ ท่านได้ร่วมพิจารณา ซึ่งความจริงแล้ว การสนทนาทุกๆ หัวข้อ ทุกประเด็น ที่มีผู้ร่วมสอบถาม สนทนาในวันนั้น ดีมากๆ ครับ ท่านอาจารย์เกื้อกูลท่านผู้มีโอกาสได้รับฟัง โดยละเอียดมากในหลายๆ เรื่องครับ
ท่านผู้ฟัง ท่านอาจารย์คะ คือ ก็ได้เคยคุยเรื่องกรรมกันมาเยอะ แล้วก็ค่อนข้างจะเข้าใจว่า ทุกคนก็มีกรรมเป็นของตัวเอง อย่างเราเห็นคนบางคน เขาพิการ ก็เป็นเรื่องของกรรมของเขา ใช่ไหมคะ? ที่เขาอาจจะเกิดจากกรรม ในภพก่อนหรือชาติก่อน แต่เดี๋ยวนี้ตามวัด เขามีพิธีตัดกรรม มันคืออะไรคะ? ท่านอาจารย์
ท่านอาจารย์ ไม่รู้ใช่ไหม? ไม่รู้ ก็ไม่ใช่คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตัดสินได้เลย อะไรที่ทำให้ไม่รู้ ไม่ใช่คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น ทุกคำ ก่อนที่จะได้ฟังธรรมะ พูดคำที่ไม่รู้จัก รับรองได้เลย ทุกคำ ไม่รู้จัก แต่ก็พูด ตั้งแต่เกิดมา พูดคำว่า "โลก" หรือเปล่าคะ? พูด , พูดคำว่า "จิต" หรือเปล่า? , พูดคำว่า "กรรม" หรือเปล่า? พูดทุกคำ แต่ไม่รู้จักสักคำ "โลก" คือ อะไร? เห็นไหม? โล-กะ เป็นอีกคำหนึ่ง ของสภาพธรรมที่เกิดแล้วดับ เป็น "โลก" เพราะฉะนั้น "เหนือโลก" คือ ไม่เกิดไม่ดับ คือ นิพพาน พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ได้รู้เพียงเรื่องโลก อย่างที่คนอื่นรู้ แต่รู้จนถึงธรรมะที่พ้นจากโลก คือ ไม่มีปัจจัยที่จะทำให้เกิด ดับ อีกเลย
เพราะฉะนั้น ก่อนอื่น ต้องเข้าใจว่า โลกจริงๆ คือ อะไร? ใหญ่มากไหม? คะ? โลกนี่ ใหญ่มากไหม? มีทะเล มีมหาสมุทร มีภูเขา มีอะไรๆ ใหญ่มากไหม? ใหญ่เหลือเกินใช่ไหม? แต่ถ้าไม่มี "จิต" เกิดขึ้น "รู้" โลกมีไหม? แล้วอย่างไร? ที่ว่าใหญ่ เยอะแยะ เพราะ "จิต" เกิดขึ้น "รู้" โดย "เห็น" บ้าง โดย "ได้ยิน" บ้าง แล้วก็ "คิด" แล้วก็ "จำ" แล้วก็เข้าใจว่า นั่นคือ โลก แต่ "โลก" โล-กะ จริงๆ หมายความถึงธรรมะ ซึ่งเกิด แล้วดับ ไม่เที่ยง
เพราะฉะนั้น แต่ละคน เป็นแต่ละโลก ปนกันได้ที่ไหน? นี่ก็จิต นั่นก็จิต แล้วจิตนี้ จะไปปนกับจิตนั้นได้อย่างไร? ใช่ไหม? ก็ต่างจิต แต่ว่า จิตนี้แหละ เกิดขึ้นเมื่อไหร่ เป็นธาตุรู้ ต้องรู้ สิ่งหนึ่งสิ่งใด ที่กำลังปรากฏ
เช่น เดี๋ยวนี้ "เห็น" ถ้าไม่มีจิต ไม่เห็น ไม่มีอะไรเลย ต้นไม้ไม่มี คลองไม่มี เก้าอี้ไม่มี ถ้าไม่มีจิตเกิดขึ้นรู้ เพราะฉะนั้น ทุกอย่างที่ว่ามี เพราะ "จิต" เกิดขึ้น รู้สิ่งนั้น สิ่งนั้นจึงมี เพราะฉะนั้น โลก เล็กไหม? แค่จิต เกิดขึ้นรู้อะไร สิ่งนั้นแหละมี แล้วก็ดับไป โลก จึงเป็นสภาพธรรมะที่เกิด ดับ ไม่อย่างนั้น ไม่เห็นพระปัญญาคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แน่นอนเลย ตรัสรู้อะไรก็ไม่รู้ เราเคยได้ยินมา เรื่องกรรม เรื่องอะไร แต่ทรงแสดงความละเอียดยิ่ง ไม่ให้มีความสงสัย ความกังขา ความข้องใจ ความเคลือบแคลงในสิ่งที่พูด แล้วก็ไม่รู้ อย่างพูดเรื่อง "กรรม" รู้สึกจะพูดกันเยอะ ยังไม่ต้องไปแก้ แค่ถามคนแก้กรรมว่า กรรม คือ อะไร? แก้ได้ไหม? ถามคนที่แก้กรรมน่ะ ว่า กรรม คือ อะไร? แล้วก็ แก้ได้ไหม? เท่านั้น จึงจะรู้ว่า คำใด เป็นคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คำใด ไม่ใช่
เพราะฉะนั้น ที่พูดว่า "กรรม" กรรม คือ อะไร? เห็นไหม? ต้องตั้งต้นที่ คือ อะไร? ไม่อย่างนั้น เราถูกหลอก ด้วยความไม่รู้ บอกให้เชื่อ บอกให้ยืน บอกให้เดิน บอกให้นั่ง บอกให้เอามือขวาทับมือซ้าย บอกทำไม? บอกไปอย่างนั้นแหละ แล้วเรารู้อะไร? ก็ไม่รู้อะไรเลย แต่ "ทำ" ทำไม? คะ? เพราะ "ไม่รู้" แต่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่อย่างนั้นเลย ให้ผู้ฟัง เกิดปัญญา ความเข้าใจถูกของตนเอง ลาภที่ประเสริฐสุด เพราะ "ความเข้าใจ" เงินทอง ซื้อไม่ได้ จะเอาเงินเท่าโลกนี้ กี่จักรวาล ก็ซื้อความเห็นถูกไม่ได้
เพราะฉะนั้น แต่ละคน จึงใช้คำว่า แต่ละโลก และ ตนเอง ก็เป็นที่พึ่งของตน ทรงแสดง "หนทาง" ให้คนนั้นเกิดปัญญา เพราะฉะนั้น ทุกคำ อย่าเพิ่งไปตามแก้กรรมกับใคร แต่ว่า ถามได้เลย ถามคนที่จะแก้กรรมว่า กรรม คือ อะไร? แล้วจะรู้ว่า แก้ได้ไหม? เขาจะตอบว่าอย่างไร? กรรม คือ อะไร? ไม่ต้องอาศัยอะไรเลย ตอบอย่างที่คิดนั่นแหละ เขาคิดกันมาเยอะแยะแล้ว ใช่ไหม? กรรมดี กรรมชั่ว คนอื่นไม่ต้องฟังอะไร ไม่ต้องทำอะไร ก็คิดอย่างนี้ แต่ว่า ถ้าไม่มีธรรมะเลย กรรมมีไหม?
เพราะฉะนั้น ทุกคำ ต้องย้อนกลับไปถึงคำแรก กรรม มีไหม? คือ อะไร? ถ้ามี เป็นธรรมะหรือเปล่า? เมื่อเป็นธรรมะ เป็นเราหรือเปล่า? หรือว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทุกอย่างที่เกิดขึ้น แล้วก็ดับไป ช่วยให้เรารอด จากความเห็นผิด จากความไม่รู้ จากการหลงเชื่อผิดๆ เพราะฉะนั้น ก็ มีพระรัตนตรัย เป็นที่พึ่ง คือ ได้ศึกษา ได้เข้าใจพระธรรม ที่พึ่งจริงๆ ไม่ให้หลงผิด ไม่ให้เข้าใจผิด ไม่ให้ไปทำอะไรก็ไม่รู้ ตามคนอื่น ที่เขาบอก เขาเป็นใคร? ถามคำเดียว เขาเป็นใคร? ไม่ใช่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแน่นอน แล้วเชื่อใคร? ยังไม่รู้เลยว่าเขาเป็นใคร แล้วเชื่อเขาหรือ?
ท่านผู้ฟัง อาจารย์คะ มันก็เหมือนกับการสะเดาะเคราะห์ หรือ แก้ชง ค่ะ
ท่านอาจารย์ แล้ว เคราะห์ เป็นอะไร? แล้วใครมาสะเดาะเคราะห์
ท่านผู้ฟัง หนูเพิ่งจะไปแก้ชงมา
ท่านอาจารย์ นั่นแหละค่ะ นั่นแหละค่ะ เพราะไม่รู้ เพราะไม่รู้ไงคะ
ท่านผู้ฟัง เพราะไม่รู้หรือคะ? ท่านอาจารย์
ท่านอาจารย์ เพราะไม่รู้ จากโลก เกิดวนเวียนในสังสารวัฏฏ์ เพราะไม่รู้ เราได้ยิน "อวิชชา" เป็นปัจจัยแก่สังขาร แหม....คำยาว คำยาก ต่อไปจนจบปฏิจจสมุปบาท แต่ ไม่เข้าใจสักคำ ว่า ขณะนั้น ไม่รู้ใช่ไหม? ถ้ารู้ ก็ไม่ทำอย่างนั้นหรอก!!
ท่านผู้ฟัง อีกอย่างหนึ่งนะคะท่านอาจารย์ บางครั้ง เหมือนกับรู้บ้าง แต่ว่าสิ่งแวดล้อม สิ่งแวดล้อมพาไป
ท่านอาจารย์ "บ้าง" อีกแล้ว บ้าง เอา "รู้บ้าง" ว่า รู้อะไร? ที่ว่า รู้บ้าง
ท่านผู้ฟัง คือ ก็รู้ว่า มันเป็นเหมือนประเพณี
ท่านอาจารย์ ประเพณี คือ อะไร?
ท่านผู้ฟัง คือ สิ่งที่กระทำเนื่องกันมา ว่าเมื่อ...
ท่านอาจารย์ แล้วทำน่ะ อะไรทำ?
ท่านผู้ฟัง ทำนั้น คือ อะไรทำ?
ท่านอาจารย์ นี่แหละ คือ การศึกษาธรรมะ คือ ถึงที่สุดของ "ทุกคำ" ที่เป็นคำจริง ไม่ไปค้างๆ ไว้ ไม่รู้อะไร แล้วก็ค้างๆ ไว้ อย่างนี้
ท่านผู้ฟัง เป็นความเชื่อแต่โบราณ ครับ
ท่านอาจารย์ แล้ว "ความเชื่อ" คือ อะไร? อีก เห็นไหม? จะต้องสาวไปจนถึงที่สุด ถึงจะเป็นคำสอนที่แท้จริง ให้เข้าใจจริงๆ ไม่ใช่ครึ่งๆ กลางๆ แล้วคิดว่า เข้าใจบ้าง จริงๆ ไม่ได้เข้าใจอะไร!!
ท่านผู้ฟัง อาจารย์คะ แล้วอย่างที่บอกว่า เมื่อเราศึกษาธรรมะให้เข้าใจ แล้วเราก็ให้ปฏิบัติตาม การปฏิบัตินี้ ออกมาในลักษณะไหนคะ? อย่างการวิปัสสนานี้ เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติหรือเปล่าคะ?
ท่านอาจารย์ ต้องรู้ทุกคำไงคะ ทีละคำ แล้วจะเข้าใจ ตั้งแต่คำแรก คำแรก ว่าอย่างไร?
ท่านผู้ฟัง ปฏิบัติธรรม ค่ะ
ท่านอาจารย์ เริ่มต้นปฏิบัติธรรมะเลย ใช่ไหม? ปฏิปัตติ นี่ไม่ใช่ภาษาไทย แต่คนไทยใช้คำว่า ปฏิบัติ แต่ภาษาบาลี คือ ปฏิ กับ ปัตติ ปฏิ แปลว่า เฉพาะ , ปัตติ แปลว่า ถึง แล้วเราเข้าใจไหม? "ถึงเฉพาะ" ไม่เข้าใจ ใช่ไหม? แต่ว่า คนที่เขาใช้ภาษามคธี ภาษามคธ เขาเข้าใจ
แต่ถึงอย่างนั้น เราใช้ภาษาไทย พูดถึงธรรมะ ภาษาไทย เรายังต้องศึกษาเลย ถึงความละเอียด ถึงความลึกซึ้ง ถึงคำจริง คนที่เป็นชาวมคธ ก็เหมือนคนไทย ถ้าไม่ได้พบพระพุทธเจ้า ไม่ได้ฟัง เขาก็ไม่รู้ว่า คำนั้น มีความลึกซึ้งแค่ไหน? เพราะฉะนั้น ของเรา มาใช้คำว่า "ปฏิบัติ" คือ อะไร? ความรู้ ต้องตั้งต้นที่ คืออะไร? ก่อน เรากำลังพูดอะไร? ถ้าเราไม่รู้ว่าเรากำลังพูดอะไร แล้วเราจะไปพูดทำไม? พูดไปจนจบ ก็ไม่รู้ว่า คือ อะไร? ใช่ไหม? เพราะฉะนั้น เมื่อจะรู้ ก็ต้องตั้งต้นให้ถูกต้อง "ทุกคำ" ด้วย ทุกคำ ไม่เว้น ใช้คำว่า ไม่เว้นเลย เพราะฉะนั้น "ปฏิบัติ" คือ อะไร?
ท่านผู้ฟัง คือ การทำความดี ไม่ทำความชั่ว ทำจิตใจให้ผ่องใส ค่ะ
ท่านอาจารย์ แล้วก็ ทำดี ทำอย่างไร? ยิ่งทำจิตใจให้ผ่องใส ยิ่งงง ใช่ไหม?
ท่านผู้ฟัง คือ ทำทุกอย่าง ที่พระพุทธเจ้าสอน
ท่านอาจารย์ แล้ว พระพุทธเจ้าสอนว่าอย่างไร? อันนี้สำคัญ
ท่านผู้ฟัง สอนให้ปฏิบัติตัว
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ค่ะ สอนให้ "เข้าใจ" พุทธะ คือ ปัญญา เข้าใจอะไร? เข้าใจสิ่งที่มี เดี๋ยวนี้
เพราะฉะนั้น จะไปปฏิบัติอะไร แต่ไม่รู้ สิ่งที่กำลังปรากฏ ขณะนี้ ไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้า และ ถ้าจะใช้คำว่า ปฏิบัติ ก็จะต้องรู้ด้วย ปริยัติ ปฏิปัตติ ปฏิเวธ ไปจับคำไหนก็ไม่รู้ ตรงโน้นบ้าง ตรงนี้บ้าง ครึ่งๆ กลางๆ แล้วก็เอามาทำ เอามาคิด แต่ คำสอน ไม่เป็นอย่างนั้น คำสอน รู้ว่า สัตว์โลก เต็มไปด้วย อวิชชา การไม่รู้ เราถึงได้เกิดมา มีอัธยาศัยต่างๆ กัน อย่างนี้
เมื่อมีความไม่รู้อย่างนี้ มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อให้เราเกิดความรู้ที่ถูกต้อง ใช่ไหม? เพราะฉะนั้น เราพึ่งคำสอน ทุกคำ ที่ได้ยิน เป็นปริยัติ ได้ยินแล้ว ว่าสิ่งที่มีจริงเดี๋ยวนี้ พระพุทธเจ้าสอนหมดเลย "เห็น" เดี๋ยวนี้ก็สอน "ได้ยิน" เดี๋ยวนี้ก็สอน "คิดนึก" ก็สอน "โลภะ" ติดข้อง ก็สอน ไม่ติดข้อง ก็สอน
ทุกอย่าง ไม่เว้น จากพระปัญญา ที่ได้ทรงตรัสรู้แล้ว ในขั้นนี้ ชื่อว่า การฟังพระธรรม ชื่อว่า "ปริยัติ" แต่ยังไม่ "รอบรู้" เพราะฉะนั้น ยังปฏิบัติ ไม่ได้ ยังไม่รอบรู้ แล้วจะไปปฏิบัติอะไรได้ ต้องรอบรู้จริงๆ และ เมื่อรอบรู้ คือ ไม่ใช่เรา ใช่ไหม? นี่คือ รอบรู้ แล้ว ถ้ายังเป็น เราจะปฏิบัติ นี่ก็ไม่รอบรู้แล้ว ใช่ไหม? ฟังยังไง "เป็นเรา" แล้วก็จะปฏิบัติอีกด้วยซ้ำไป ก็คือ ไม่มีพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง ไปฟังอะไรมา?
ท่านผู้ฟัง คือ อ่านตามหนังสือ
ท่านอาจารย์ หนังสืออะไรคะ?
ท่านผู้ฟัง ทั่วไปค่ะ
ท่านอาจารย์ ทั่วๆ ไป หนังสืออะไร?
ท่านผู้ฟัง เขียนเกี่ยวกับสอนธรรมะ
ท่านอาจารย์ นั่นแหละ ธรรมะอะไร? ที่สอน
ท่านผู้ฟัง พวกสวดมนต์
ท่านอาจารย์ สวดมนต์ คือ อะไร? เห็นไหม? เต็มไปด้วย ความไม่รู้ ทั้งนั้นเลย แต่ "ความรู้" นี่ ทั้งหมดที่ไม่รู้ จะกระจ่างขึ้น รู้ขึ้น แม้แต่ว่า สวดมนต์ คือ อะไร เราจะไม่กลายเป็นคนที่ไม่รู้ แล้วทำอะไรก็ไม่รู้ ตามๆ กันไป เหมือนคนตาบอดคลำช้าง พระธรรม ไม่ใช่อย่างนั้นเลย จากไม่รู้เลย เป็นการค่อยๆ เห็นถูก เข้าใจถูก และรู้ว่า อะไรเป็นคำสอน ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อะไรไม่ใช่ และเรา มีใครเป็นที่พึ่ง
และ เราไม่ประมาทเลย แต่ละคำ ต้องตั้งต้น จากที่ไม่รู้เลย มาเป็นค่อยๆ รู้ขึ้น ว่า ธรรมะ คือ อะไร เมื่อกี้ ใช้คำว่า ปฏิบัติธรรมะ ใช่ไหม?
ท่านผู้ฟัง ใช่ค่ะ
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ธรรมะ คือ อะไร?
ท่านผู้ฟัง คือ สิ่งที่เป็นจริง
ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้ อะไร? ยกตัวอย่างได้ไหม?
ท่านผู้ฟัง ก็ สิ่งที่เราสัมผัส
ท่านอาจารย์ เช่น อะไรล่ะคะ?
ท่านผู้ฟัง เช่น ลมพัดถูกตัว
ท่านอาจารย์ เราเรียกว่า "ลม" แต่จริงๆ ไม่เรียก อะไรปรากฏ? เห็นไหม? ไม่ต้องเรียกว่าลม ลักษณะที่ไหว กระทบกาย ไม่ต้องเรียกว่า ลม ลักษณะที่ไหว เป็นอะไร?
ท่านผู้ฟัง เป็นสภาพของธรรม
ท่านอาจารย์ เป็นสิ่งที่มีจริงอย่างหนึ่ง เห็นไหม? ก็คือ ธรรมะ ทุกอย่าง ต้องตรงไปที่ธรรมะ คือ สิ่งที่มีจริง เพราะฉะนั้น สิ่งที่มีจริงขณะนั้น เกิดหรือเปล่า?
ท่านผู้ฟัง เกิดค่ะ
ท่านอาจารย์ แล้วหมดไปหรือเปล่า?
ท่านผู้ฟัง หมดค่ะ
ท่านอาจารย์ ควรยึดถือว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยงหรือเปล่า?
ท่านผู้ฟัง ไม่เที่ยง
ท่านอาจารย์ ไม่เที่ยง เพราะฉะนั้น ปฏิบัติธรรม คือ อะไร? รู้จักธรรมะแล้ว แล้ว ปฏิบัติธรรมะ คือ อะไร?
ท่านผู้ฟัง ศึกษาให้ลึกซึ้งขึ้นไป ว่าทุกอย่างไม่เที่ยง
ท่านอาจารย์ ลึกซึ้ง แล้วก็เป็นปริยัติ ยังไม่ถึงปฏิบัติ ต้องมี ๓ ขั้น ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ต้องศึกษาจริงๆ ถึงความต่าง ของ ๓ ขั้น เพราะฉะนั้น ปฏิบัติ ได้ไหม?
ท่านผู้ฟัง ยังไม่ได้
ท่านอาจารย์ ไม่ได้ จบไปเลย ไม่ต้องไปคิดถึง เรื่องจะปฏิบัติเลย ใช่ไหม? ก็ไม่มีอะไรจะปฏิบัติ ไม่มีความรู้ ที่จะ "เข้าถึง" ธรรมะ นั้น เพราะ "ถึงธรรมะ" นั้น คือ "ปัญญา" ไม่ใช่ "เรา" ขณะนี้ ธรรมะ เกิด ดับ "ปฏิปัตติ" คือ ถึงการที่ธรรมะเฉพาะกำลังปรากฏการเกิดดับ ถ้าไม่ใช่ปัญญา ไม่ถึง จะไปทำอย่างไร ก็ไม่ถึง เพราะ "เป็นเรา"
เพราะฉะนั้น ธรรมะ ก็คือว่า เมื่อเข้าใจแล้ว ก็ละความติดข้อง ที่ยึดถือธรรมะ ว่าเป็นเรา จนกว่าจะไม่มีเหลือเลย ต้องไปที่ไหนหรือเปล่า? ปฏิบัติ
ท่านผู้ฟัง ไม่เคยไปค่ะ
ท่านอาจารย์ สนใจหรือคะ?
ท่านผู้ฟัง ชอบค่ะ
ท่านอาจารย์ ชอบทำไมคะ?
ท่านผู้ฟัง คือ ตั้งแต่เดิกๆ แม่ให้เข้าวัด ให้อะไรอย่างนี้ประจำค่ะ
ท่านอาจารย์ แล้วทำไมชอบปฏิบัติ?
ท่านผู้ฟัง เห็นเขาบอกว่า นั่งสมาธิกัน แล้วเห็นอะไรต่ออะไร อย่างนี้ค่ะ
ท่านอาจารย์ นี่ ก็คือว่า ไม่ได้มีพระรัตนตรัย เป็นที่พึ่ง เพราะ ไม่เข้าใจ เพราะฉะนั้น รู้ได้เลยว่า ไม่เข้าใจเมื่อไหร่ ไม่ใช่ชาวพุทธ เรียกเอง แต่ไม่ใช่ ถ้าเป็นชาวพุทธ ก็ต้องฟังพระธรรม แล้วก็ต้องเข้าใจด้วย ไม่ใช่ แล้วพุทธคืออะไร ก็ไม่รู้ พระพุทธเจ้า รู้อะไร ก็ไม่รู้ แล้วก็บอกว่า เป็นชาวพุทธ เรียกเอง แต่ไม่ใช่ ตอนนี้ ไม่ปฏิบัติแล้ว ยังสนใจปฏิบัติไหม?
ท่านผู้ฟัง ไม่ค่ะ เฉยๆ แล้วค่ะ
ท่านอาจารย์ ถ้าไม่เข้าใจธรรมะ ก็ไม่ต้องไปคิดถึงปฏิบัติเลย
ท่านผู้ฟัง ขออนุญาตค่ะ อาจารย์คะ ฟังดู เหมือนกับว่า ถ้าเราฟังไปเยอะมากๆ แล้วมีความเข้าใจ มันไม่ต้องมาบอกว่า ต่อไปนี้จะปฏิบัติ แต่ว่า มันจะเกิดขึ้นเอง
ท่านอาจารย์ ถูกต้องค่ะ เหมือน "เห็น" นี่ ไม่ต้องบอกว่าเห็น พอเห็นแล้ว ทำไมมาฟังธรรมะแล้วมาบอกว่า เห็นๆ ๆ ๆ ไม่ต้อง ก็เห็นอยู่แล้ว ต้องไปบอกอะไร?
(ข้อความบางตอนจากการบรรยายธรรมโดยท่านอาจารย์ สุจินต์ บริหารวนเขตต์)
การเสพจนคุ้น
การพิจารณานามทางตา จนคุ้น การพิจารณานามทางหู ทางจมูก ทางลี้น ทางกาย ทางใจ จนคุ้น การมีสติระลึกรู้ ลักษณะของรูปที่ปรากฏทางตา จนคุ้น การมีสติระลึกรู้ ลักษณะของรูปที่ปรากฏทางหู ทางจมูก ทางลี้น ทางกาย ทางใจ จนคุ้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า การบรรลุสัจจะ ย่อมมีได้ด้วยข้อปฏิบัติ เพียงเท่านี้ บุคคลย่อมบรรลุสัจจะ ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ และเราย่อมบัญญัติการบรรลุสัจจะ ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้
กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
ขออนุโมทนาในกุศลศรัทธาของ คุณทักษพล คุณจริยา และ คุณศิริพล เจียมวิจิตร
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ครับ
บรรยากาศดูสบายๆ เป็นกันเอง แต่ ประกอบด้วยเนื้อหา
ที่ทำให้สบายด้วยความเข้าใจพระธรรม
ขออนุโมทนาพี่วันชัย ที่ถ่ายทอดภาพ รายละะเอียดสวยงาม
และ ถ่ายทอด นำเสนอ ธรรมงดงามอย่างเหมาะสมด้วย ครับ
กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
ขออนุโมทนาในกุศลศรัทธาของ คุณทักษพล และ คุณจริยา เจียมวิจิตร
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
...กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
ขออนุโมทนาในกุศลศรัทธาของคุณทักษพล และ คุณจริยา เจียมวิจิตร
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลวิริยะของพี่วันชัย ภู่งาม เป็นอย่างยิ่ง
ที่ถ่ายทอดสารธรรม และ ภาพ ที่สวยงาม
และ ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ครับ...
กราบอนุโมทนาขอบพระคุณท่านอาจารย์ด้วยความเคารพอย่างยิ่ง
กราบอนุโมทนาขอบคุณท่านอาจารย์คำปั่น อักษรวิลัยและคุณวันชัย ภู่งาม
เป็นลาภอันประเสริฐยิ่ง
ที่มีโอกาสได้รับรสพระธรรมอันบริสุทธิ์บริบูรณ์
โดยความอุปการะเกื้อกูลของ ชาว มศพ. ทุกท่าน
สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ และขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งค่ะ
ด้วยความเคารพยิ่ง จาก ธิดารัตน์ เดื่อมขันมณี (ใหญ่ราชบุรี)
ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๖ ปีมะเมีย – อังคาร ที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๕๗
กราบเท้าท่านอาจารย์ที่เคารพยิ่ง
และขอขอบพระคุณในความกรุณาของคุณพี่ทั้งสอง และอาจารย์คำปั่น และอาจารย์วันชัย
ขอกราบอนุโมทนาค่ะ
ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ
เป็นภาพที่เห็นแล้ว รู้สึกปลื้มและยินดี
ขออนุโมทนาครับ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ