ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขออนุญาตแบ่งปันข้อความธรรม (ปันธรรม) ที่ได้จากการฟังพระธรรมจากท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในแต่ละครั้ง รวบรวมเป็นธรรมเตือนใจเพื่อศึกษาและพิจารณาร่วมกัน เพื่อความเข้าใจธรรม (ปัญญ์ธรรม) ตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นข้อความที่สั้นบ้าง ยาวบ้าง แต่ก็มีอรรถที่สมบูรณ์ พอที่จะเข้าใจได้ควรค่าแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง ดังนี้
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๓๐๖
~ ความเป็นภิกษุ ต้องหมายความถึงสภาพของจิตที่สามารถจะสละความเกี่ยวข้องในเรื่องของบ้านเรือน ในเพศของคฤหัสถ์ ไม่มีการดูโทรทัศน์หรือว่าเรื่องรื่นเริงบันเทิงต่างๆ ต้องเป็นผู้สามารถตัดความผูกพันนั้นได้จริงๆ เพราะเหตุว่าความเป็นภิกษุ ก็เป็นสภาพจิตที่สูงกว่าคฤหัสถ์
~ บวชเพื่ออะไร? ทำไมจึงบวช จริงใจหรือตรงต่อความจริงหรือเปล่าว่าต้องเป็นผู้ที่ได้ฟังพระธรรมและเห็นประโยชน์อย่างยิ่งที่จะสละเพศคฤหัสถ์สู่เพศบรรพชิต
~ ไม่ศึกษาพระธรรมวินัย ไม่บวชเพราะสละชีวิตเพื่อการที่จะได้เข้าใจธรรม
โดยการฟัง ศึกษาพระธรรมโดยละเอียดเพื่อที่จะได้อบรมเจริญปัญญาเพื่อที่จะได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม ก็ไม่ใช่ภิกษุ
~ เรื่องเงินทองไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย เป็นเรื่องที่ทำลายชีวิตของบรรพชิตของพระภิกษุ เพราะนำมาซึ่งความต้องการติดข้องในรูปเสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ (สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย) อันแสดงความเป็นเพศคฤหัสถ์
~ บรรพชิต แปลว่า สละ เว้น ถ้าพระภิกษุรับเงิน สละหรือเปล่า? แค่นี้ก็ตรงกันข้ามแล้ว ไม่จริงใจ ไม่ตรง
~ พระภิกษุ ยินดีในอะไร? ยินดีในการเข้าใจธรรม ในการสละชีวิตเพื่อศึกษาธรรม และขัดเกลากิเลสต่างจากเพศคฤหัสถ์โดยต้องประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัยทุกข้อ จึงจะเป็นการเคารพและจริงใจต่อการที่สละเพศคฤหัสถ์สู่เพศบรรพชิต
~ อกุศล (ความชั่ว) ก็เป็นธรรม กุศล (ความดี) ก็เป็นธรรม ตราบใดที่ยังมีปัจจัย ที่จะให้อกุศลซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ดี เกิดก็ต้องเกิด จนกว่าจะมีปัจจัยทำให้กุศลและปัญญาเจริญขึ้นเห็นตามความเป็นจริง ก็ค่อยๆ ละอกุศล ไม่ใช่เราละ หรือไปกั้น หรือไปทำอะไร แต่ความเห็นถูกต่างหากที่รู้ว่า ทางนั้นผิด ทางนั้นไม่มีประโยชน์ ทางนั้นเป็นโทษ เพราะฉะนั้น ปัญญาก็นำไปสู่ทางที่เป็นประโยชน์
~ พระพุทธศาสนาเป็นพระธรรมคำสอน ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งผู้ที่เป็นสาวก คือ ผู้ฟังพระธรรมของพระองค์ จะต้องพิจารณาให้เกิดปัญญาของตัวเอง เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใด โดยไม่ใช่ปัญญา ไม่ใช่ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง อย่างนี้ ก็ไม่ใช่การประพฤติปฏิบัติ ตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย
~ เมื่อไหร่จะหวนกลับมาเห็นค่าของพระธรรม ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และศึกษาให้เข้าใจว่า อะไรถูก อะไรผิดซึ่งถูก เป็นถูกไปตลอด ไม่มีทางที่จะกลับมาเป็นผิดและผิด ก็ต้องเป็นผิด จะกลับมาเป็นถูกได้อย่างไร, เกิดแล้วเป็นกุศล ก็เป็นกุศล เกิดแล้วเป็นอกุศล ก็เป็นอกุศล จะเอาอกุศลมาเป็นกุศลได้อย่างไร แต่ทั้งหมด เพราะความไม่รู้ เพราะฉะนั้น ตราบใดที่ยังไม่รู้ก็คือ หายนะ (เสื่อมจากคุณความดี)
~ ตราบใดที่ยังมีอกุศล ก็ยังต้องมีทุจริต
~ ถ้าพระธรรมไม่ทรงแสดงไว้โดยละเอียด จะมีใครรู้ตัวบ้างว่า ไม่ดีเลยไม่ดีอย่างมากมายทีเดียว คนอื่นที่กล่าวว่าท่านไม่ดี ยังไม่รู้ความจริงแท้ของใจของท่านซึ่งไม่ดีมากยิ่งกว่าที่คนอื่นเห็นหรือคนอื่นรู้ คนอื่นอาจจะเห็นเพียงบางครั้ง บางโอกาส บางเหตุการณ์ แต่ว่าใจของท่านเอง ท่านสามารถรู้ได้จริงๆ ว่า สะสมความไม่ดีไว้มากกว่าที่คนอื่นจะเห็น และผู้ใดยอมรับความจริงที่รู้ว่าตนเองไม่ดี ผู้นั้นก็เริ่มที่จะอบรมเจริญกุศล ที่จะขัดเกลาอกุศลทั้งหลายให้เบาบาง แต่ตราบใดถ้ายังคิดว่าดีแล้ว อกุศลก็จะเพิ่มมากขึ้น เพราะเหตุว่า ไม่คิดที่จะละอกุศลเพราะเข้าใจว่าดีแล้ว
~ เพียงอกุศลธรรมอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ก็เป็นเครื่องเตือนให้ระลึกได้ว่า แม้อกุศลธรรมอื่นๆ ก็ยังมีอยู่มากด้วย จึงเป็นผู้ที่จะเห็นความน่ารังเกียจของอกุศลธรรมซึ่งมีอยู่ในตนได้ เพราะเหตุว่ามักจะรังเกียจอกุศลธรรมที่มีอยู่ในบุคคลอื่น แต่ว่าผู้ที่ฉลาดจะต้องเป็นผู้ที่รังเกียจอกุศลธรรมที่มีอยู่ในตน
~ ถ้าเกิดหิริ ความรังเกียจในอกุศลกรรม แล้วก็เกิดโอตตัปปะ การเห็นภัย เห็นโทษของอกุศลกรรม ก็จะเป็นปัจจัยให้เจริญกุศลยิ่งขึ้น
~ การอบรมเจริญปัญญาจะทำให้กิเลสอ่อนกำลังในการที่จะก่อตัวขึ้น คือ ไม่มีใครชนะกิเลสได้จริงๆ แต่ว่าการสะสมปัญญาไปเรื่อยๆ ทีละเล็กทีละน้อย ก็เป็นปัจจัยที่จะทำให้กิเลสอ่อนกำลังได้ในการที่จะก่อตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว ก็จะทำให้ช้าลง หรือแทนที่จะก่อตัวขึ้นอย่างรุนแรง ก็ทำให้การก่อตัวนั้นลดกำลังลงได้
~ พระธรรมทั้งหมดเพื่อไม่ประมาท เพื่อเข้าใจถูกว่า กิเลสมีมาก และการค่อยๆ เข้าใจธรรม เป็นหนทางดีที่ทำให้สามารถละกิเลสได้ ถ้าใครคิดว่า ละได้โดยไม่เข้าใจธรรม ผู้นั้นเข้าใจผิด
~ ธรรมเป็นเรื่องตรง และเป็นเรื่องอุปการะทุกชีวิตที่สามารถเจริญขึ้นในกุศลธรรม ด้วยปัญญา ความเห็นที่ถูกต้อง แต่ถ้าเข้าใจไม่ถูกต้องเพราะไม่รู้ ก็ทำทุกอย่างด้วยความไม่รู้ เพราะด้วยความไม่รู้จึงเป็นโลภะบ้าง เป็นโทสะบ้าง เป็นอกุศลประเภทต่างๆ บ้าง
~ ฟังธรรม เพื่อเข้าใจธรรม จนกว่าจะเข้าใจอย่างมั่นคงว่า ธรรม เป็นธรรม ไม่ใช่เรา
~ ทุกคนมีทั้งกุศลและอกุศล ถ้ายังไม่เป็นพระอริยบุคคลก็มีความเป็นปุถุชน หนาด้วยกิเลสเหมือนกัน เพราะเหตุว่ายังไม่ได้ดับกิเลสใดๆ เป็นสมุจเฉท (ถอนขึ้นได้อย่างเด็ดขาด) เพราะฉะนั้น ก็ควรที่จะมีความเข้าใจและก็เห็นใจ และอภัยให้คนที่ขณะนั้นมีปัจจัยที่จะให้อกุศลจิตเกิด และตัวเองก็ไม่เดือดร้อน เพราะเหตุว่าอภัยให้ได้
~ กุศลเป็นสภาพของจิตที่ไม่มีโลภะ โทสะ โมหะ ไม่มีมานะ (ความสำคัญตน) ไม่มีทิฏฐิ (ความเห็นผิด)
~ ในเรื่องการเจริญกุศลแล้วขาดวิริยะ (ความเพียร) ไม่ได้เลย เพราะเหตุว่าจะต้องฝืนกระแสของอกุศล ฝืนความพอใจ ความสะดวกสบายทุกประการ เพื่อที่จะให้กุศลนั้นๆ สำเร็จ
~ การเจริญกุศลทุกประการด้วยความเคารพ คือ เมื่อเคารพความดีงามของสภาพธรรมที่เป็นกุศล ก็ยอมสละอกุศล ถ้าเป็นผู้ที่เคารพในกุศลธรรมจริงๆ ก็จะยอมสละอกุศลธรรมได้
~ ในขณะที่กุศลก็ค่อยๆ สะสมเพิ่มพูนขึ้นทีละน้อย อกุศลที่ยังไม่ได้ดับ ก็ยังมีปัจจัยที่จะเกิด เพราะฉะนั้นผู้ที่กำลังขัดเกลากิเลสจึงเห็นกิเลส แล้วก็ขัดเกลากิเลส แล้วก็เห็นกิเลส แล้วก็ขัดเกลากิเลส ก็จะต้องเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ
~ สำหรับผู้มีปัญญา จะพิจารณาชีวิตของตนเองในชาติหนึ่งๆ ได้ว่า ทุกสถานการณ์ต้องมีความอดทนอย่างมาก อดทนที่จะไม่เศร้าโศก อดทนที่จะไม่ขุ่นเคืองใจ เสียใจ น้อยใจในการกระทำในคำพูดของบุคคลอื่นในทุกสถานการณ์
~ ถ้าจะไม่ให้ความโกรธเกิดอีกเลย ต้องเป็นพระอนาคามีบุคคล ถ้ายังไม่เป็นพระอนาคามีบุคคล มีเหตุปัจจัยที่ความขุ่นเคืองหรือความโกรธจะเกิด ก็เกิด แต่ความโกรธหรือความขุ่นเคืองที่เกิดขึ้นนั้น ดับ เพราะฉะนั้นจึงไม่ควรที่จะผูกโกรธถ้ามีเมตตาเกิดขึ้นในขณะนั้น ก็คือรู้ว่า เป็นสิ่งที่ทุกคนเหมือนกัน มีความผิดพลาด ไม่ใช่ว่าเราเท่านั้นที่จะเป็นคนที่ไม่ผิด แต่ว่าเราก็ต้องผิดเหมือนกัน และเวลาที่เราผิด คนอื่นอภัยให้ได้ เพราะฉะนั้นเมื่อคนอื่นผิด เราก็อภัยให้เขาได้เหมือนกัน
~ ถ้าสามารถที่จะอดทนได้ในขณะนั้น โทสะก็ไม่เกิด วาจาที่ไม่ดีก็ไม่มี แม้เพียงเล็กๆ น้อยๆ ก็ไม่มี ไม่ต้องกล่าวถึงวาจาที่รุนแรง แม้แต่เพียงคำเล็กน้อยที่เกิดจากใจที่โกรธ ก็ไม่มี
~ ค่อยๆ อดทนไปทีละเล็กทีละน้อย ทีหลังก็จะเป็นผู้ที่มีความอดทนเพิ่มขึ้น แล้วอดทนดีไหม แต่ถ้าอดทนได้ดีไหม? ต้องคิดถึงประโยชน์ก่อนที่จะทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด เราต้องพิจารณาประโยชน์ของสิ่งนั้น เมื่อเห็นว่าเป็นประโยชน์ ก็จะทำให้เราค่อยๆ เพิ่มความอดทนขึ้น
~ เป็นความละเอียดของจิต ซึ่งจะต้องระวังว่า สำหรับผู้ฟัง ถ้าฟังแล้วก็เกิดอกุศลไปใหญ่โต เพราะฉะนั้นผู้พูดก็หยุดเสีย เพื่อจะไม่ให้ผู้ฟังเกิดอกุศลมากไปอีก
~ ขณะใดก็ตามที่กุศลจิตเกิดขึ้น ขณะนั้นไม่นำทุกข์โทษภัยมาให้ใครทั้งหมด แม้แต่ตนเองและผู้อื่น
~ จะชำระเครื่องเศร้าหมอง (เครื่องเศร้าหมองในที่นี้ คือ กิเลสอกุศลทั้งหลาย) ได้ ก็ต้องเป็นผู้ที่ตรง จริงใจ และเป็นไปเพื่อละ ไม่ใช่เป็นไปเพื่ออย่างอื่น
~ ความเข้าใจถูกเห็นถูกต่างหากที่ละคลายความไม่รู้และความเข้าใจผิด
~ อกุศล เป็นสิ่งที่ไม่ดี แม้เพียงเล็กน้อย ก็อย่าเห็นว่า ไม่เป็นไร แต่เป็นสิ่งที่ควรรังเกียจ
~ ประโยชน์ที่ดีที่สุดที่เกิดมาเป็นคนนี้ คือ ได้เข้าใจธรรม
ขอเชิญคลิกอ่านย้อนหลังครั้งที่ผ่านมาได้ที่นี่ครับ
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๓๐๕
...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
และอนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ขอบคุณและอนุโมทนาในกุศลวิริยะค่ะอ.คำปั่น
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
มีประโยชน์อย่างยิ่งค่ะ กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขออนุโมทนาครับ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขออนุโมทนาครับ