ข้อความเตือนสติเรื่องปฐมสัปปุริสสูตร
โดย wittawat  20 มี.ค. 2555
หัวข้อหมายเลข 20825

ขอเชิญคลิกอ่านพระสูตร ...

สัปปุริสทานสูตร, อสัปปุริสทานสูตร, ปฐมสัปปุริสสูตร ... เสาร์ที่ ๙ ม.ค. ๒๕๕๓

ข้อความเตือนสติจากชั่วโมง สนทนาพระสูตร

ข้อความเตือนสติที่มาจากส่วน สนทนาที่เกี่ยวข้องกับพระสูตร

๐๑. ฟังธรรมแล้ว เข้าใจเรื่องทานว่าอย่างไร

ถ้าฟังธรรม เพื่อเข้าใจธรรมจริงๆ เมื่อฟังเรื่องทานแล้ว ก็คือ ต้องเข้าใจว่าเป็นธรรมไม่ใช่การอยากให้ทานแบบสัปปุรุษ เช่น การเลือกที่จะให้ของสะอาด ประณีตโดยที่ยังเป็นตัวเรา เป็นเรา ที่ได้ให้ทานที่ประณีตกว่าบุคคลอื่น หรือเพื่อหวังผลของทาน แต่ไม่ได้เข้าใจธรรมซึ่ง คือ จิตขณะที่ให้ ซึ่งทานที่มีหลากหลาย ก็เพราะจิตที่หลากหลายต่างขณะ ต่างประเภท และที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงพระสูตรเกี่ยวกับทานที่หลากหลาย ก็เพื่อส่องถึงสภาพจิตที่หลากหลายในขณะที่ให้ หรืออีกนัยก็คือ ทรงแสดงการให้หลายประการตามสภาพจิตที่หลากหลายเช่นกัน ซึ่งการให้ และไม่ให้ ก็แตกต่างกัน ซึ่งสามารถเข้าใจยิ่งขึ้นได้ และ ทั้งหมด ก็คือ ความเข้าใจเรื่องของสภาพจิตที่ละเอียดยิ่งขึ้น

๐๒. อะไรคือ ยังมี “เรา” ที่ศึกษาธรรม

ถ้าศึกษาโดยไม่มีความเข้าใจความจริงในขณะนี้ ศึกษาเรื่องทานแล้วคิดว่า ไม่ค่อยได้ใส่บาตรบ้าง ไม่ได้ให้สมณะผู้ไม่หุงอาหารบ้าง เป็นต้น เพราะได้รู้ถึงอานิสงส์ของการทำอย่างนั้น ก็อยากมีอานิสงส์เช่นนั้น อยากไปสวรรค์ชั้นนั้นๆ โดยที่ไม่รู้เลยว่า สมณะคืออะไร ที่พึ่งที่แท้คืออะไร แล้วขณะนั้นจิตเป็นอะไร ก็คือการนึกถึงตัวเรา รักตนเอง แต่ไม่ใช่การเข้าใจธรรม ซึ่งไม่ใช่คำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า เพราะ ถ้าเป็นคำสอนของพระองค์ ต้องเป็นไปเพื่อความเข้าใจธรรม เข้าใจว่าเป็นธรรม ซึ่งเป็นเรื่องละเอียด ไม่ใช่การเข้าใจตามเรื่อง

๐๓. ถ้าเป็นผู้ไม่ละเอียดในการศึกษาธรรม ก็เพิ่มขยะที่ฝังอยู่ในจิต

ไม่มีใครอยากแตะต้อง เข้าใกล้ขยะ หรือของสกปรกควรทิ้ง แต่ขยะที่ฝังอยู่ในจิตซึ่งก็เต็มไปด้วยขยะ คือ อกุศล ได้แก่ โลภะ โทสะ โมหะ อิสสา มานะ สารพัดประการ ปรกติ ทุกคนคงเคยเติมขยะที่บ้านกันเป็นประจำ มากมายจนเต็มล้นภาชนะ แต่ก็ไม่ได้มีเพียงแต่ในบ้าน

ขยะที่ลุกลามไปทั่วประเทศ ทั้งป่า ในน้ำ บนบก ก็ยังมี แต่รวมทั้งหมดแล้วก็ยังไม่เท่าขยะที่สะสมในจิต ใส่ขยะทุกวาระที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส กระทบสัมผัส คิดนึก ทุกวาระที่อกุศลเกิด ก็คือ สะสมขยะ แล้ววันหนึ่งๆ ที่มีโอกาสได้ฟังธรรม ถ้าหากไม่ฟังด้วยความเข้าใจจริงๆ เช่น ฟังเรื่องทานแล้ว หวังจะให้เป็นทานอย่างนั้นอย่างนี้ เพื่อหวังผล เป็นต้น จะเพิ่มขยะหรือไม่

เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรมที่ถูกต้อง ก็คือ ไม่ติดที่ชื่อ แต่ค่อยๆ เข้าใจความจริงยิ่งขึ้น ซึ่งก็มาจากการฟังเรื่องสิ่งที่มีอยู่จริง เช่น ทาน ศีล เป็นต้น ซึ่งก็สอดคล้องกับ ความเข้าใจ ที่มี ๓ ขั้น ซึ่งขั้นฟังก็ไม่ใช่ ขณะที่เข้าใจสิ่งที่ปรากฏตามที่ฟังแล้ว คือ เข้าใจทันทีแม้มีสิ่งนั้นอยู่ จากเด็กๆ บ้า ใบ้ พิการ บอด หนวก จะให้เป็นผู้ใหญ่รู้ความทันทีก็เป็นไปไม่ได้ แต่นี่คือทั้งสังสารวัฏฏ์ที่สะสมความไม่รู้ มหาศาลเพียงใด ซึ่งจะนำออกได้ก็ไม่ใช่ทั้งหมดทันที กว่าที่จะถึงที่ปลอดภัยได้ ก็ต้องมีความอดทน

๐๔. การศึกษาที่ยังมีกฏเกณฑ์ ต้องการแยกแยะ

การศึกษาธรรม ไม่ใช่ให้ศึกษาเพื่อเป็นเรา คิดแยกแยะให้ออก เช่น การอยากแยกแยะความต่าง ระหว่างการให้ด้วยความหวัง และการให้เพราะทราบผลของกรรม เป็นต้น ถ้าเมื่อฟังแล้วยังอยากจะแยกแยะ ก็คือต้องการกฎเกณฑ์ ซึ่งก็เพราะเป็นเราที่หวังผลของทาน ไม่ใช่เพื่อรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง แต่การศึกษาที่ถูกต้อง คือ การพิจารณาสภาพจิตโดยละเอียด เช่น การมีของอยู่แต่ไม่ให้โดยทันที ใกล้เสียแล้ว หรือว่าเก็บไปคิดไปคิดมา หรือ บางครั้งก็ให้เหมือนประสงค์จะทิ้ง ซึ่งไม่ได้ทิ้งที่อื่น แต่ทิ้งที่คนรับ ธรรมทั้งหมดที่ทรงแสดงเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ที่จะเป็นอกุศล หรือ กุศล จะประกอบด้วยปัญญา หรือไม่ ก็ไม่ใช่เพื่อการแยกแยะ คาดเดา กำหนดกฎเกณฑ์ แต่ประโยชน์ซึ่งสำคัญที่สุดก็คือ เพื่อการเข้าใจความจริง จนกว่าจะเป็นธรรม ไม่ใช่เรา

๐๕. ศัตรูที่อยู่ข้างๆ แต่ไม่รู้จัก

คำว่า กิเลส รู้จักแต่ชื่อ แต่เวลาเกิดจริงๆ ไม่รู้จัก หน้าตาศัตรูเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ยืนอยู่ข้างๆ ยังไม่รู้ อยู่ในใจด้วย ไม่ไกล แล้วจะนำออกไปได้อย่างไร อาวุธคมพอที่จะนำออกจากใจได้หรือไม่ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เรื่องหลอกตัวเองว่ารู้ธรรมแล้ว แต่ฟังธรรมที่มีจริงในขณะนี้ให้ค่อยๆ เข้าใจยิ่งขึ้น ซึ่งความเข้าใจก็ต้องเพิ่มขึ้นทีละเล็กทีละน้อย

๐๖. การให้ของสะอาด

ทำไมต้องสะอาด ธรรมเป็นเครื่องส่องสภาพจิตว่าขณะนี้เป็นกุศลระดับไหน ให้ก็ให้ได้ แม้ของใช้แล้ว สกปรกก็ให้ได้ แล้วสภาพจิตขณะนั้นคิดถึงผู้รับหรือไม่ว่าใครอยากได้ของไม่สะอาด หรือขยะบ้าง เพราะฉะนั้นเป็นความละเอียดของจิตที่จะเป็นผู้ให้ของที่เหมาะควรแก่ผู้รับ ไม่ใช่ว่าจะให้ของสะอาด เพื่อจะได้รับของสะอาด นั้นไม่ใช่ความเข้าใจธรรม และแม้คำว่าสะอาดในขณะที่ให้ ก็ไม่ได้พูดถึงวัตถุเท่านั้น สภาพจิตก็สะอาดขึ้นด้วยตามลำดับ ซึ่งก็ประณีตตามสภาพจิต พระมหากรุณาคุณที่ทรงแสดงธรรม ก็เพื่อให้รู้ความจริงว่าไม่มี “เรา” แต่เป็น “ธรรม” ที่เกิดแล้วดับ เพราะมีเหตุปัจจัย

๐๗. การให้ของที่เป็นเดน

ผู้ที่มีความละเอียดในการให้ เคารพในทาน ก็เลือกให้ของที่ประณีต ไม่ใช่เดนหรือของเหลือ เช่น พระเจ้าทุฏฐคามนีอภัย แม้ในกาลหนีภัยสงคราม ท่านก็มีปรกติให้ทานก่อนบริโภค เป็นต้น แต่ก็ต้องพิจารณาว่าเดน หรือของเหลือ มีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์ ถ้ากลัวว่าเดี๋ยวกลายเป็นเดน แล้วก็จะไม่ให้ ก็เป็นเรื่องของความรักตน ตัณหาทาโส คือ ทาสของตัณหา ที่ต้องการผล กลัวว่าภายหน้าจะได้รับสิ่งที่ไม่ดี ได้รับของเดน แต่ผู้ที่เห็นถูก ถ้าเป็นกุศลก็ไม่มีความหวั่นไหว ถ้าของเหลือนั้นเป็นประโยชน์ ก็ควรให้ สิ่งใดเหมาะสิ่งใดควร ก็ควรให้แก่คนนั้นๆ และเมื่อให้ด้วยพิจารณาประโยชน์ จิตที่เป็นกุศลผ่องใสก็เป็นโสมนัสได้ แม้ว่าจะเป็นของเดน และทั้งหมดก็อยู่ที่สภาพจิตขณะนั้น

๐๘. การให้ด้วยความยำเกรง

คำว่า ยำเกรง ก็ไม่ใช่อาการที่ยำเกรง เช่น เกรงใจผู้ใหญ่ กลัว หรือว่าต้องกราบไหว้อะไร แต่หมายถึง การให้โดยความเคารพผู้รับ เพราะฉะนั้นทานนั้นต้องเป็นทานที่สมควรจะให้ ไม่ใช่สิ่งที่ไม่สมควร หรือสกปรก เน่าเสียใช้ไม่ได้ จะเห็นได้เมื่อเราให้สิ่งนี้กับใคร ถ้าเป็นสิ่งที่เน่าเสีย เป็นการยำเกรงผู้รับหรือไม่ เพราะให้เขาได้ถึงอย่างนั้น

๐๙. การเลือกให้ด้วยความเข้าใจ

ไม่ใช่เลือกที่จะให้ด้วยโลภะ หวังผลที่จะได้รับเยอะๆ เช่น การเลือกจะให้แต่ของที่ประณีต เพื่อจะเป็นการให้แบบเดียวกับสัปปุรุษ เพราะหวังผล หวังจะเป็นเราให้ทานที่ประเสริฐ เป็นต้น แต่เป็นการให้ด้วยปัญญาที่เข้าใจถูกว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์ เช่น การเผยแพร่ธรรมที่ถูกต้อง หรือ การรู้กาลใดควรให้ไม่ควรให้ เช่น การให้เด็กยากไร้ แต่ถ้าให้แล้วแย่งกันจนตาย ขณะนั้นก็ให้ไม่ได้ต้องเป็นความเข้าใจที่แยกแยะว่าเมื่อไรควรให้ ไม่ควรให้

๑๐. ความละเอียดขึ้นของการให้

การให้ที่ละเอียดขึ้น ก็เป็นไปตามปัญญาที่ละเอียดขึ้น ตามลำดับ และการที่จะให้ หรือสละด้วยกุศลที่ปรุงแต่งเป็นบารมีที่ทำให้ถึงฝั่ง คือ การดับกิเลสได้ ก็ยิ่งเป็นเรื่องยาก เพราะถ้าเกิดมีอกุศลสลับอยู่เรื่อย การให้ก็เป็นการให้แบบอสัปปุรุษ เช่น การให้โดยขาดความยำเกรงในผู้รับ ขาดความละเอียด หรือให้ของเสียแล้ว เป็นต้น ซึ่งก็แตกต่างจากการให้ของสัปปุรุษผู้ประกอบด้วยปัญญา ซึ่งก็เป็นการให้ตามระดับของปัญญานั้นๆ เช่น ให้เพราะมีความเข้าใจเรื่องทานและผลของทาน ซึ่งถ้าเป็นผู้ที่เข้าใจผลของทานจริงๆ ผลสูงที่สุดของทาน ก็คือ การนำออกจากสังสารวัฏฏ์ ซึ่งการให้นั้น ก็เป็นไปเพื่อการอบรมกุศลให้เจริญยิ่งขึ้น เพื่อปรุงแต่งจิต เพื่อสละความตระหนี่ เห็นแก่ตัว เป็นต้น

๑๑. อภัยทาน

อภัยทาน คือ การให้สิ่งที่ไม่เป็นโทษ (ให้อภัย) เวลาที่โกรธ ขณะนั้นไม่รู้ว่ากำลังคิดเรื่องไม่ดีของคนอื่น แต่จิตที่คิดเรื่องไม่ดีเป็นจิตอะไร และถ้าเกิดอกุศลบ่อยๆ ใครกันที่เป็นโทษ กระทั่งคิดร้ายต่อผู้อื่นก็เป็นได้ แม้ไม่เห็นหน้ากันยังทำร้ายกันได้ ก็เหมือนโจรกับโจรที่ทำร้ายกัน ได้มากมาย

เพราะฉะนั้นการให้อภัย ก็ไม่มีทางที่คนที่เราโกรธจะได้รับโทษ จากความโกรธของเราได้ ถ้าอภัยในสิ่งที่เขาทำ ก็ไม่ยาก คือ ถ้าเห็นใครทำไม่ดี ก็เป็นเรื่องไม่ดีของเขา ถ้าเห็นความไม่ดีของบุคคลอื่นเดือดร้อนอะไร ของคนอื่นแท้ๆ ไม่ใช่ของเรา กระทั่งโกรธ และไม่ลืม ยังคิดประทุษร้าย เบียดเบียน ทำร้ายให้คนอื่น ถ้าสะสมมากก็ไม่มีทางคิดดีต่อกันเลย ถ้าให้อภัยได้ ก็คือ กุศลจิต ที่ให้ความไม่เป็นภัยกับบุคคลอื่น

๑๒. การให้ที่ไม่กระทบตนและผู้อื่น

“ครั้นเป็นผู้มีจิตอนุเคราะห์ให้ทานแล้ว ย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มากโภคะมาก และเป็นผู้มีจิตน้อมไปเพื่อบริโภคกามคุณ ๕ ที่สูงยิ่งขึ้น ในที่ที่ทานเผล็ดผล ครั้นให้ทาน ไม่กระทบตน และผู้อื่นแล้ว ย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก ไม่มีภยันตรายจากที่ไหนๆ คือ จากไฟ จากน้ำ จากพระราชา ...” ของที่ได้มาใช้สอยเป็นประโยชน์ส่วนตน และก็ยังสามารถแจกจ่ายให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น ก็ยิ่งเป็นประโยชน์ ไม่ใช่ว่าเก็บไว้เฉยๆ และการให้ที่ไม่กระทบตนและผู้อื่นนั้น ก็คือ ไม่มีเรา ไม่มีเขาที่ต่ำสูงกว่า หรือเสมอกัน แม้การให้ก็เช่นเดียวกัน มีเรา มีเขา เมื่อให้แล้วก็ยังคิดถึงเขา ว่าการให้ของเราต่างจากคนอื่นหรือไม่ ดีกว่าหรือต่ำกว่า หรือเสมอกัน นั้นก็ไม่ใช่การอนุโมทนากุศลของบุคคลอื่น และถ้ามีเรา มีเขาเมื่อไร ก็คือมีการกระทบเมื่อนั้น

๑๓. ศีลที่เกิดขึ้นขณะให้ทาน

ทุกคนมีทรัพย์สมบัติ ข้าวของพอสมควร ที่เหลือใช้ ขณะใดที่คิดสละเพื่อประโยชน์แก่บุคคลอื่น ขณะนั้นก็เป็นทาน แต่หากคิดว่าเขา ยากไร้ พิการ เป็นต้น ก็คือ มีตนไม่เสมอกับบุคคลนั้น ไม่เห็นใจ ไม่เข้าใจ ไม่อ่อนน้อม แต่ถ้าในขณะที่ให้ จิตขณะนั้น อ่อนน้อมหรือเคารพในผู้รับ จิตที่อ่อนโยน เห็นใจ รู้ว่าแต่ละบุคคลก็เหมือนกันไม่ว่าจะเป็น เศรษฐี ยาจก ก็เสมอกันโดยธรรม คือ เห็นเหมือนกัน รักสุข เกลียดทุกข์ เช่นเดียวกัน และวันก่อนๆ หรือวันข้างหน้า เราก็อาจเป็นอย่างเขาก็ได้ แต่ถ้ากุศลเกิด ก็อ่อนน้อมขณะที่ให้ แม้ขณะที่ให้ทานก็เป็นศีลได้

๑๔. มีมือมีเท้าไว้ทำอะไร

ความหมายของ “ไม่ใช้มือของบุคคลอื่นให้ตามคำสั่ง ให้ด้วยมือตนเองเท่านั้น ด้วยคิดว่าชื่อว่าเวลาที่เราท่องเที่ยวไปในสังสารอันไม่มีเบื้องต้นเบื้องปลายแล้ว ได้ใช้มือและเท้านั้นไม่มีประมาณเลย เราจะทำความหลุดพ้นไปจากวัฏฏะ ความออกจากภพ”

ถ้าเป็นการวานผู้อื่นให้ เมื่อวานเสร็จ อกุศลก็เกิดต่อได้ แต่ถ้าเป็นการให้ด้วยตนเอง ก็มีโอกาสที่กุศลจะเกิดขึ้นขณะที่ให้ด้วย แต่ถ้าคิดว่าต่อไปนี้ จะไม่มีการฝากให้ อันนี้ ก็คือการหวังผลประโยชน์ ซึ่งทั้งหมดก็คือ สภาพจิต และโวหารเทศนาที่ว่า มีมือมีเท้าไว้ วันนี้ทำอะไรบ้าง ตั้งแต่ตื่นมา มือเท้าทำอะไร มือเท้ารับประทานอาหาร หรือทำสิ่งต่างๆ ซึ่งทั้งหมดเป็นเรื่องของสังสาร แต่ถ้ามีโอกาสได้ฟังพระธรรม ซึ่งก็เป็นบุญอย่างมหาศาลที่มีโอกาส และถ้ามือและเท้าเป็นไปเพื่อกุศล เป็นไปเพื่อการให้ ด้วยมือเท้านั้นก็เป็นประโยชน์ เพราะสภาพจิตที่เป็นกุศลย่อมเกิดบ่อยขึ้น ซึ่งเวลาที่กุศลจิตเกิดก็ผ่องใส เห็นความเบิกบานใจของผู้รับ เพราะการให้เป็นที่ยินดี เป็นสภาพจิตที่อ่อนโยนทั้งผู้ให้และผู้รับผู้ให้มีจิตที่อ่อนโยน และผู้รับสามารถเห็นความอ่อนโยนน้ำใจ ซาบซึ้งไมตรีของผู้ให้ด้วย

๑๕. อนุปุพพิกถา

คือ การแสดงถ้อยคำ หรือแสดงธรรมที่เป็นไปโดยลำดับ เพื่อประโยชน์แก่ผู้ฟังจะได้มีจิตอ่อนควรแก่การงาน โดยลำดับ เพื่อที่จะรองรับพระธรรมที่ละเอียดยิ่งขึ้นต่อไปอีก คือ อริยสัจจ์ ๔ ซึ่งอนุปุพพิกถามีอยู่ ๕ ประการ ได้แก่

ทานกถา เป็นการแสดงเรื่องทาน และผลของทาน เช่น กล่าวเรื่องการให้ซึ่งเป็นกุศลจิตที่ดีงาม ผลที่เกิดก็ต้องดีงาม ถ้าไม่มีจิต ทานก็มีไม่ได้ แม้ไม่ต้องกล่าวเป็น ชื่อว่า ทานกถา การมีข้าวของสมบัติพอควรเหลือใช้ แล้วคิดสละสิ่งที่ตนมี เพื่อเป็นประโยชน์แก่บุคคลอื่น เมื่อพูดอย่างนี้ ก็คือ ทานกถา

สีลกถา เป็นการแสดงถึงความประพฤติเป็นไปทางกาย ทางวาจาที่ดีงาม เรียบร้อย เช่น ถ้าเป็นผู้มีความยำเกรงต่อผู้รับ ไม่แบ่งเขาแบ่งเรา ไม่ว่าเศรษฐี ยาจก คนบ้า ใบ้ พิการ ทั้งหมดก็คือ ธรรม ซึ่งมีสภาพเห็นเช่นเดียวกันเสมอกัน รักสุขเกลียดทุกข์เช่นเดียวกัน ก็มีกริยาอ่อนโยน อ่อนน้อม ตามจิตนั้น ซึ่งความอ่อนน้อมมีได้ ก็เมื่อมีปัญญา ที่เห็นความไม่ดีของความกระด้าง ความดีกว่าเขา ความไม่เสมอ ซึ่งขณะให้ทานก็เป็น ศีลได้ เป็นต้น

สัคคกถา เป็นการแสดงเรื่องของสวรรค์ เหตุของการไปเกิดในสวรรค์ หรือการที่จะได้รับสิ่งที่ดีงามได้แก่ การกล่าวเรื่องเหตุผล ถ้าเป็นอกุศลจิตที่ไม่ดี เกิดอยากได้สิ่งดีมากเท่าไร ก็ไม่มีวันได้สิ่งนั้นมา แต่ขณะที่เป็นกุศลจิต แม้ไม่ได้คิดหวัง สิ่งที่ดีๆ ก็มาจากกุศลทั้งนั้น ถ้าเข้าใจอย่างนี้ ก็คือเข้าใจเรื่องอานิสงส์ของทาน ความมั่งคั่ง กระทั่งสวรรค์ เพราะอกุศลพาไปสวรรค์ไม่ได้ แม้ไม่ต้องกล่าว เรื่องสวรรค์กี่ชั้น เทวดากี่ทิศ ทั้งหมด ก็คือการแสดงเรื่องเหตุและผล

อานิสงส์ของการออกจากกาม เรียกว่า อานิสงค์แห่งเนกขัมมะ เป็นการก้าวออกจากกาม ก้าวออกจากอกุศลทั้งหลายทั้งปวงถ้าไม่มีเรา ได้แก่ ตัณหา มานะ ทิฏฐิแล้ว สุขซึ่งสุขเพราะเป็นเราสุข กับสุขที่พ้นจากเราก็ต้องต่างกันมาก เพราะฉะนั้นก็ยังไม่สามารถรู้รสของสุขซึ่งพ้นจากความเป็นเรา แต่ความอิสระที่พ้นจากความติดข้องจากตัวตนด้วยปัญญา ตามลำดับ ก็ต้องแตกต่างกัน

แม้ไม่ต้องกล่าวเป็นชื่อ เป็นกถาใดๆ คนที่สามารถเข้าใจ ก็จะทราบว่าทั้งหมดเป็นเรื่องที่ทำให้บุคคลรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ ถ้าอบรมความเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม และทั้งหมดทุกเรื่องก็คือ ฟังธรรมเพื่อเข้าใจธรรม



ความคิดเห็น 1    โดย peeraphon  วันที่ 20 มี.ค. 2555

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 2    โดย nong  วันที่ 21 มี.ค. 2555

ขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 3    โดย เซจาน้อย  วันที่ 23 มี.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 4    โดย aurasa  วันที่ 20 เม.ย. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 5    โดย เข้าใจ  วันที่ 22 เม.ย. 2555

ไม่มีตนจะทำ ธรรมไม่มีตัวตน ธรรมคือธัมมะ

ขออนุโมทนา สาธุ


ความคิดเห็น 6    โดย pamali  วันที่ 27 เม.ย. 2555
กราบอนุโมทนาค่ะ

ความคิดเห็น 7    โดย Chalee  วันที่ 30 เม.ย. 2555

ขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 8    โดย isme404  วันที่ 24 พ.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 9    โดย ใหญ่ราชบุรี  วันที่ 11 พ.ย. 2556

สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ


ความคิดเห็น 10    โดย papon  วันที่ 24 ก.พ. 2557

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 11    โดย peem  วันที่ 6 ธ.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 12    โดย Patchanon  วันที่ 6 พ.ย. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 13    โดย สิริพรรณ  วันที่ 27 เม.ย. 2559

ขออนุโมทนาในมหากุศลจิตค่ะ


ความคิดเห็น 14    โดย Nataya  วันที่ 19 ส.ค. 2563

กราบอนุโมทนาค่ะ