ผู้ประเสริฐสุด [ขัตติยสูตร]
โดย พุทธรักษา  15 ต.ค. 2552
หัวข้อหมายเลข 13972

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ หน้าที่ 83-85

ขัตติยสูตร ว่าด้วยผู้ประเสริฐสุด

[๓๐] เทวดานั้น ครั้นยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้วแลได้กล่าวคาถานี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า กษัตริย์ ประเสริฐสุดกว่าสัตว์ ๒ เท้าโคมีกำลัง ประเสริฐสุดกว่าสัตว์ ๔ เท้าภรรยาที่เป็นนางกุมารีประเสริฐสุด กว่าภรรยาทั้งหลาย บุตรใด เป็นผู้เกิดก่อนบุตรนั้นประเสริฐสุดกว่าบุตรทั้งหลาย

[๓๑] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า พระสัมพุทธเจ้า ประเสริฐสุดกว่าสัตว์ ๒ เท้า สัตว์อาชาไนยประเสริฐสุดกว่าสัตว์ ๔ เท้า ภรรยาที่ปรนนิบัติดี ประเสริฐสุดกว่าภรรยาทั้งหลาย บุตรใด เป็นผู้เชื่อฟังบุตรนั้น ประเสริฐสุดกว่าบุตรทั้งหลาย

อรรถกถาขัตติยสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในขัตติยสูตรที่ ๔ ต่อไป :-

บทว่า ขตฺติโย ทิปทํ แปลว่าพระราชาประเสริฐสุดกว่าสัตว์ ๒ เท้า

บทว่า โกมารี ความว่า เทวดากล่าวว่า ภรรยาที่เป็นกุมารี ประเสริฐสุดกว่าภรรยาทั้งหลายเพราะถือเอาในเวลาที่เธอเป็นกุมารี (หญิงสาว) .

บทว่า ปุพฺพโช ความว่า บุตรคนใดเกิดก่อน เป็นคนบอดข้างเดียวก็ตามหรือบุตรที่เป็นง่อยเป็นต้นก็ตามคนใดเกิดก่อน คนนี้แหละ ชื่อว่าประเสริฐสุดในวาทะของเทวดานี้ ก็เพราะสัตว์ ๒ เท้าทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้าเป็นต้นนี้พระพุทธเจ้าเป็นผู้ประเสริฐสุดกว่าสัตว์ ๒ เท้าทั้งหมด ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงตรัสพระคาถาตอบ.

พึงทราบวินิจฉัยในคาถาที่ ๒ ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า ประเสริฐสุดกว่าสัตว์ทั้งหมดทั้งสัตว์มีเท้าและไม่มีเท้า แม้ก็จริงถึงอย่างนั้น พระองค์เมื่อจะทรงอุบัติย่อมทรงอุบัติในสัตว์ ๒ เท้าเท่านั้น

เพราะฉะนั้น จึงตรัสว่า สมฺมาสมฺพุทฺโธ ทิปทํ เสฏฺโฐ แปลว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประเสริฐกว่าสัตว์ ๒ เท้า ดังนี้.ความที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นเป็นผู้ประเสริฐสุดกว่าสัตว์ ๒ เท้าทั้งหมดนั้นไม่คลาดเคลื่อนแล้ว.

บทว่า อาชานีโย อธิบายว่าช้างหรือสัตว์ทั้งหลาย มีม้าเป็นต้นก็ตามที สัตว์ตัวใดตัวหนึ่งย่อมรู้ซึ่งเหตุสัตว์อาชาไนยนี้จัดเป็นสัตว์ประเสริฐสุดกว่าสัตว์ ๔ เท้า เหมือนม้าชื่อว่า คุฬวรรณ ของพระราชาพระนามว่า กูฎกรรม. ได้ยินว่า พระราชาเสด็จออกทางทวารด้านปราจีน ทรงดำริว่า เราจักไปเจติยบรรพต พอเสด็จมาถึงฝั่งแม่น้ำกลัมพะม้าหยุดอยู่ที่ฝัง ไม่ปรารถนาเพื่อจะข้ามน้ำไป พระราชาตรัสเรียกนายอัสสาจารย์มา แล้วตรัสว่าโอหนอ ม้าอันท่านฝึกดีแล้ว ไม่ปรารถนาจะข้ามน้ำ ดังนี้.

นายอัสสาจารย์กราบทูลว่าข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ ม้าอันข้าพระองค์ฝึกดีแล้วก็เพราะม้านั้น คิดว่า ถ้าเราจักข้ามน้ำไป ขนหางจักเปียกเมื่อขนหางเปียกแล้ว ก็พึงทำน้ำให้ตกไปที่พระราชา ดังนี้ จึงไม่ข้ามไป เพราะกลัวน้ำจะตกไปที่สรีระของพระองค์ด้วยอาการอย่างนี้ ขอพระองค์จงให้ราชบุรุษถือขนหางม้าเถิด พระราชา ได้ให้กระทำแล้ว อย่างนั้น ม้าจึงข้ามไปโดยเร็ว จนถึงฝั่งแล้วแล

บทว่า สุสฺสูสา ความว่า เชื่อฟังด้วยดี

อธิบายว่า ภรรยาที่ถือเอา แม้ในเวลาที่เป็นกุมารี หรือภายหลังมีรูปงาม หรือไม่งาม จงยกไว้ ภรรยาใด เชื่อฟังสามี ย่อมบำเรอ (รับใช้) ย่อมให้สามีชอบใจ ภรรยานั้น ประเสริฐสุดกว่าภรรยาทั้งหลาย.

บทว่า อสฺสโว แปลว่า เชื่อฟัง อธิบายว่า บุตรคนใด พี่ก็ตาม น้องก็ตาม คนใดย่อมฟัง ย่อมรับคำของมารดาบิดา เป็นผู้สนองตามโอวาท บุตรนี้ประเสริฐกว่าบุตรทั้งหลาย ดูก่อนเทวดา ประโยชน์อะไรเล่าด้วยบุตรอื่น ที่เป็นโจรมีการกระทำตัดช่องเบาเป็นต้น ดังนี้แล

จบอรรถกถาขัตติสูตร ที่ ๔

ขออนุโมทนา

ขออุทิศกุศลแด่คุณพ่อ คุณแม่และ สรรพสัตว์



ความคิดเห็น 1    โดย ups  วันที่ 16 ต.ค. 2552

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 2    โดย pornpaon  วันที่ 16 ต.ค. 2552

ขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 3    โดย pinphaphatson  วันที่ 16 ต.ค. 2552

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 4    โดย suwit02  วันที่ 19 ต.ค. 2552

สาธุ

ขอนอบน้อมพระสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงสละนิพพานสุข อันมีในที่ใกล้พระหัตถ์ เมื่อครั้งยังเป็นพระสุเมธโพธิสัตว์ ทรงบำเพ็ญบารมีอันกระทำได้ยาก ทรงยอมเวียนว่ายในสังสารวัฎฎ์ ตลอดกาลนาน แสนนาน เพียงเพื่อช่วยให้สัตว์ทั้งหลายได้บรรลุธรรมพ้นจากทุกข์


ความคิดเห็น 5    โดย chatchai.k  วันที่ 18 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ