สีลัพพตปรามาส กับศีลข้อ 5
โดย suntarara  7 พ.ย. 2550
หัวข้อหมายเลข 5429

สำหรับฆราวาสนั้น กับศีล ๕ ควรเลือกพิจารณาปฏิบัติอย่างไรดี ที่จะไม่เป็นสีลัพพตปรามาสอันเกี่ยวเนื่องกับศีลข้อ 5 บางครั้งการเข้าสังคม หรือเครื่องดื่มบางอย่างที่มีส่วนผสมของแอกอฮอล์ และการดื่มอย่างมีสติจะช่วยให้ไม่ผิดศีลข้อ ๕ ได้หรือไม่



ความคิดเห็น 1    โดย study  วันที่ 7 พ.ย. 2550

สีลัพพตปรมาส หมายถึง ความเห็นผิดในข้อวัตรปฏิบัติ อันไม่ใช่อริยมรรค

ศีล ๕ เป็นนิจศีลของคฤหัสถ์ผู้ครองเรือน คฤหัสถ์ควรเป็นผู้รักษาศีล ๕ เนืองนิจการดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมสุราและเมรัยเพียงเล็กน้อย คือ ไม่มีสีและกลิ่นสุราปรากฏไม่ผิดศีล หรือถ้าสำคัญผิดว่าเป็นน้ำหวาน ดื่มเข้าไป ไม่ผิดศีล แต่การดื่มสุราอย่างมีสติ ไม่มี คือถ้ารู้ว่าเป็นสุรา ตั้งใจดื่มเข้าไป จิตเป็นอกุศลแน่นอน และเมื่อล่วงลำคอเข้าไป ชื่อว่าผิดศีล.. เมื่อเข้าสังคมเราอาจรับแก้วสุราแล้วถือไว้ได้ แต่ไม่ควรดื่ม


ความคิดเห็น 2    โดย Atom  วันที่ 7 พ.ย. 2550

แล้วกรณีเราบอกว่าเราถือศีล ๕ แก่ผู้อื่นแต่คนในสังคมมีการสังสรรค์งานเลี้ยงกันเราก็นั่งอยู่ ไม่มีเจตนาที่จะดื่มแต่แรก แต่ถูกยัดเยียดให้ยกแก้วดื่ม เราก็ต้องดื่มเพราะถูกบังคับ เพราะคนที่บังคับเราอาจเป็นนายเรา เป็นเพื่อนที่สนิท เราจะไม่ดื่มก็ไม่ได้คนทั้งหลายก็ยัดเยียด อยากให้เราสนุกในงาน จะไม่ดื่มก็ไม่ได้ เขาก็ไม่ให้ไปไหนจนกว่าเราจะดื่มให้เขา ไม่ว่าจะด้วยให้เราสนุกหรือรู้ว่าเราถือศีล ๕ เลยแกล้งเรา แต่เราก็ดื่มไปแต่ก็เพียงจิบๆ ไม่ได้เมา ไม่อยากที่จะลิ้มรส แต่ถูกบังคับด้วยความไม่เต็มใจ

อย่างงี้เราผิดศีล ๕ หรือไม่ครับ เราไม่มีเจตนา รู้มาว่าศีลอยู่ที่เจตนา


ความคิดเห็น 3    โดย study  วันที่ 7 พ.ย. 2550

ถ้าเพียงจิบๆ ก็ล่วงศีลเช่นกัน เราสนุกด้วยโดยไม่ต้องดื่มก็ได้นี่ครับ ดื่มน้ำอัดลมแทน จริงๆ แล้วถ้าเรามั่นคงในศีล ไม่มีใครบังคับให้เราดื่มได้ ต้องเป็นผู้มั่นคงในกุศลอย่างหนักแน่น ยังไงก็คงไม่ถึงขนาดทุบดี ฆ่าให้ตายกระมังครับ


ความคิดเห็น 4    โดย wannee.s  วันที่ 7 พ.ย. 2550

ถ้าเป็นพระโสดาบัน คนอื่นเอาน้ำผสมกับสุราให้พระโสดาบันดื่ม สุราก็จะไม่เข้าไปในลำคอ เป็นปกติของพระอริยบุคคลที่ไม่มีเจตนาดื่มสุรา แม้ว่าจะถูกบังคับหรือฆ่าให้ตาย ท่านก็ไม่มีทางล่วงศีล ๕ แน่นอนค่ะ


ความคิดเห็น 5    โดย พุทธรักษา  วันที่ 7 พ.ย. 2550

เล่าสู่กันฟังค่ะ เคยรับฟังปัญหาเรื่องเหล้าจากผู้ใหญ่ท่านหนึ่งค่ะ ท่านรับราชการที่ต่างจังหวัดและได้เข้าไปอยู่ในสังคมที่มีคนดื่มเหล้าเป็นจำนวนมาก ดื่มกันทุกเย็นหลังเลิกงานเมื่อถูกชักชวน ท่านปฏิเสธ และให้เหตุผลว่า ท่านแพ้เหล้าและปกติไม่ดื่มเหล้า (ท่านผู้นี้ฟังธรรมะอ.สุจินต์ตั้งแต่อยู่ ม.ศ ๕) วันหนึ่งท่านถูกเพื่อนร่วมงานบังคับ (ช่วยกันจับตัวและกรอกเหล้า) ในที่สุดท่านทำเรื่องขอย้ายไปรับราชการที่อื่นค่ะ


ความคิดเห็น 6    โดย ครูโอ  วันที่ 7 พ.ย. 2550

ตั้งหิริและโอตตัปปะไว้โดยชอบ

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสคาถาประพันธ์ ดังนี้ว่า ถ้าสัตว์เหล่าใดไม่มีหิริและโอตตัปปะในกาลทุกเมื่อไซร้ สัตว์เหล่านั้นมีสุกธรรมเป็นมูลปราศไปแล้วเป็นผู้ถึงชาติและมรณะ ส่วนสัตว์เหล่าใดเข้าไปตั้งหิริและโอตตัปปะไว้โดยชอบในกาลทุกเมื่อ สัตว์เหล่านั้นมีพรหมจรรย์งอกงาม เป็นผู้สงบ มีภพใหม่สิ้นไปแล้ว


ความคิดเห็น 7    โดย ครูโอ  วันที่ 7 พ.ย. 2550

โทษในการเสพน้ำเมา

ดูก่อนคฤหบดีบุตร โทษในการเสพน้ำเมา คือ สุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ๖ ประการ คือ

ความเสื่อมทรัพย์อันผู้เสพพึงเห็นเอง ๑

ก่อการทะเลาะวิวาท ๑

เป็นบ่อเกิดแห่งโรค ๑

เป็นเหตุเสียชื่อเสียง ๑

เป็นเหตุไม่รู้จักอาย ๑

เป็นเหตุทอนกำลังปัญญา ๑


ความคิดเห็น 8    โดย takecare  วันที่ 7 พ.ย. 2550

เจตนาดื่ม ผิดศีลเมื่อดื่ม ไม่ว่ามากหรือน้อย ไม่มีอ้างเหตุผล เพราะขณะนั้นมีเจตนาดื่ม


ความคิดเห็น 9    โดย olive  วันที่ 8 พ.ย. 2550

เป็นเหตุทอนกำลังปัญญา ๑

ทานแอลกอฮอลแล้วทำให้สมองหดตัวค่ะ


ความคิดเห็น 10    โดย chatchai.k  วันที่ 8 พ.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 11    โดย yu_da2554hotmail  วันที่ 5 ต.ค. 2565

ขออนุโมทนาค่ะ