[เล่มที่ 58] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๔ - หน้า 457
๓. ขันติวาทิชาดก
โทษที่ทําร้ายพระสมณะ
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 58]
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๔ - หน้า 457
๓. ขันติวาทิชาดก
โทษที่ทําร้ายพระสมณะ
[๕๕๐] ข้าแต่ท่านผู้มีความเพียรมาก ผู้ใดให้ตัดมือเท้า หูและจมูกของท่าน ท่านจงโกรธผู้นั้นเถิด อย่าได้ทํารัฐนี้ให้พินาศเสียเลย.
[๕๕๑] พระราชาพระองค์ใดรับสั่งให้ตัดมือเท้าหู และจมูกของอาตมภาพ ขอพระราชาพระองค์นั้นจงทรงพระชนม์ยืนนาน บัณฑิตทั้งหลาย เช่นกับอาตมภาพย่อมไม่โกรธเคืองเลย.
[๕๕๒] สมณะผู้สมบูรณ์ด้วยขันติ ได้มีมาในอดีตกาลแล้ว พระเจ้ากาสีรับสั่งให้ตัดมือเท้า หู และจมูกของสมณะผู้ตั้งอยู่ในขันติ.
[๕๕๓] พระเจ้ากาสีหมกไหม้อยู่ในนรกได้เสวยวิบากอันเผ็ดร้อนของกรรมที่หยาบช้านั้น.
จบ ขันติวาทิชาดกที่ ๓
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๔ - หน้า 458
อรรถกถาขันติวาทิชาดกที่ ๓
พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภภิกษุผู้มักโกรธรูปหนึ่ง จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคําเริ่มต้นว่าโย เต หตฺเถ จ ปาเท จ ดังนี้.
เรื่องได้กล่าวไว้แล้วในหนหลังนั่นแล. ก็ในที่นี้ พระศาสดาตรัสกะภิกษุนั้นว่า เธอบวชในพระศาสนาของพระพุทธเจ้าผู้ไม่โกรธ เพราะเหตุไร จึงกระทําความโกรธเล่า โบราณกบัณฑิตทั้งหลาย เมื่อเครื่องประหารตั้งพันตกลงบนร่างกาย เมื่อถูกเขาตัดมือเท้า หู และจมูก ก็ยังไม่กระทําความโกรธแก่คนอื่น แล้วทรงนําเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-
ในอดีตกาล พระเจ้ากาสีพระนามว่ากลาปุทรงครองราชสมบัติอยู่ในนครพาราณสี ในกาลนั้น พระโพธิสัตว์บังเกิดในตระกูลพราหมณ์มีทรัพย์สมบัติ ๘๐ โกฏิ เป็นมาณพชื่อว่ากุณฑลกุมารเจริญวัยแล้ว ได้เล่าเรียนศิลปะทุกอย่างในนครตักกศิลา แล้วรวบรามทรัพย์สมบัติตั้งตัว เมื่อบิดามารดาล่วงลับไป. จึงมองดูกองทรัพย์แล้วคิดว่า ญาติทั้งหลายของเราทําทรัพย์ให้เกิดขึ้นแล้วไม่ถือเอาไปเลยแต่เราควรจะถือเอาทรัพย์นั้นไป จึงจัดแจงทรัพย์ทั้งหมดให้ทรัพย์แก่คนที่ควรให้ ด้วยอํานาจการให้ทาน แล้วเข้าไปยังป่าหิมพานต์ บวชยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยผลาผลไม้ อยู่เป็นเวลาช้านาน เพื่อต้องการ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๔ - หน้า 459
จะเสพรสเค็มและรสเปรี้ยว จึงไปยังถิ่นมนุษย์ ถึงนครพาราณสีโดยลําดับ แล้วอยู่ในพระราชอุทยาน. วันรุ่งขึ้น เที่ยวภิกขาจารไปในนคร ถึงประตูนิเวศน์ของเสนาบดี. เสนาบดีเลื่อมใสในอิริยาบถของพระโพธิสัตว์นั้น จึงให้เข้าไปยังเรือนโดยลําดับ ให้บริโภคโภชนะที่เขาจัดไว้เพื่อตน ให้รับปฏิญญาแล้วให้อยู่ในพระราชอุทยานนั้นนั่นเอง.อยู่มาวันหนึ่ง พระเจ้ากลาปุทรงมึนเมาน้ำจัณฑ์ มีนางนักสนมห้อมล้อมเสด็จไปยังพระราชอุทยานด้วยพระอิสริยยศอันยิ่งใหญ่ ให้ลาดพระที่บรรทมบนแผ่นศิลาอันเป็นมงคล แล้วบรรทมเหนือตักของหญิงที่ทรงโปรดคนหนึ่ง หญิงนักฟ้อนทั้งหลายผู้ฉลาดในการขับร้อง การประโคม และการฟ้อนรํา ก็ประกอบการขับร้องเป็นต้น. พระเจ้ากลาปุได้มีสมบัติดุจของท้าวสักกเทวราช ก็ทรงบรรทมหลับไป. ลําดับนั้น หญิงเหล่านั้น พากันกล่าวว่า พวกเราประกอบการขับร้องเป็นต้น เพื่อประโยชน์แก่พระราชาใด พระราชานั้นก็ทรงบรรทมหลับไปแล้ว ประโยชน์อะไรแก่พวกเรา. ด้วยการขับร้องเป็นต้น จึงทิ้งเครื่องดนตรีมีพิณเป็นต้นไว้ในที่นั้นๆ เองแล้วหลีกไปยังพระราชอุทยาน ถูกดอกไม้ ผลไม้ และใบไม้เป็นต้นล่อใจ จึงอภิรมย์อยู่ในพระราชอุทยาน. ในกาลนั้น พระโพธิสัตว์นั่งอยู่ ดุจช้างซับมันตัวประเสริฐ. ยังเวลาให้ล่วงไปด้วยความสุขในบรรพชาอยู่ ณ โคนต้นสาละมีดอกบานสะพรั่งในพระราชอุทยานนั้น. ลําดับนั้น หญิงเหล่านั้นหลีกไปยังพระราชอุทยานแล้วเที่ยวไปอยู่ ได้เห็นพระโพธิ-
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๔ - หน้า 460
สัตว์นั้น จึงกล่าวกันว่า มาเถิดท่านทั้งหลาย พระผู้เป็นเจ้าของพวกเราเป็นบรรพชิตนั่งอยู่ที่โคนไม้ต้นหนึ่ง พวกเราจักนั่งฟังอะไรๆ ในสํานักของพระผู้เป็นเจ้านั้น ตราบเท่าที่พระราชายังไม่ทรงตื่นบรรทม จึงได้ไปไหว้นั่งล้อมแล้วกล่าวว่า ขอท่านโปรดกล่าวอะไรๆ ที่ควรกล่าวแก่พวกดิฉันเถิด. พระโพธิสัตว์จึงกล่าวธรรมแก่หญิงเหล่านั้น ครั้งนั้น หญิงคนนั้นขยับตัวทําให้พระราชาตื่นบรรทม. พระราชาทรงตื่นบรรทมแล้วไม่เห็นหญิงพวกนั้น จึงตรัสว่า พวกหญิงถ่อยไปไหน.หญิงคนโปรด นั้นกราบทูลว่า ข้าแต่มหาราช หญิงเหล่านั้นไปนั่งล้อมดาบสรูปหนึ่ง. พระราชาทรงกริ้วถือพระขรรค์ได้รีบเสด็จไปด้วยตั้งพระทัยว่า จักตัดหัวของชฎิลโกงนั้น. ลําดับนั้น หญิงเหล่านั้นเห็นพระราชาทรงกริ้วกําลังเสด็จมา ในบรรดาหญิงเหล่านั้น หญิงคนที่โปรดมากไปแย่งเอาพระแสงดาบจากพระหัตถ์ของพระราชาให้พระราชาสงบระงับ. พระราชานั้นเสด็จไปประทับยืนในสํานักของพระโพธิสัตว์แล้วตรัสถามว่า สมณะ แกมีวาทะว่ากระไร? พระโพธิสัตว์ทูลว่า มหาบพิตรอาตมามี ขันติวาทะ กล่าวยกย่องขันติ พระราชาที่ชื่อว่าขันตินั้น คืออะไร? พระโพธิสัตว์ คือความไม่โกรธในเมื่อเขาด่าอยู่ ประหารอยู่ เย้ยหยันอยู่. พระราชาตรัสว่า ประเดี๋ยว เราจักเห็นความมีขันติของแก แล้วรับสั่งให้เรียกเพชฌฆาตผู้ฆ่าโจรมา.เพชฌฆาตนั้นถือขวานและแซ่หนามตามจารีตของตน นุ่งผ้ากาสาวะสวมพวงมาลัยแดง มาถวายบังคมพระราชาแล้วกราบทูลว่า ข้าพระองค์
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๔ - หน้า 461
จะทําอะไร พระเจ้าข้า? พระราชาตรัสว่า เจ้าจงจับดาบสชั่วเยี่ยงโจรนี้ ฉุดให้ล้มลงพื้นแล้วเอาแซ่หนามเฆี่ยนสองพันครั้งในข้างทั้งสี่ คือข้างหน้า ข้างหลัง และด้านข้างๆ ทั้งสองด้าน เพชฌฆาตนั้นได้กระทําเหมือนรับสั่งนั้น. ผิวของพระโพธิสัตว์ขา หนังขาด เนื้อขาดโลหิตไหล. พระราชาตรัสถามอีกว่า เจ้ามีวาทะว่ากระไร . พระโพธิ-สัตว์ทูลว่า มหาบพิตร อาตมามีวาทยกย่องขันติ ก็พระองค์สําคัญว่าขันติมีในระหว่างหนังของอาตมา ขันติไม่ได้มีในระหว่างหนังของอาตมา มหาบพิตร ก็ขันติของอาตมาตั้งอยู่เฉพาะภายในหทัย ซึ่งพระองค์ไม่อาจแลเห็น. เพชฌฆาตทูลถามอีกว่า ข้าพระองค์จะทําอะไร?พระราชาตรัสว่า จงตัดมือทั้งสองข้างของดาบสโกงผู้นี้. เพชฌฆาตนั้น.จับขวานตัดมือทั้งสองข้างแต่ข้อมือ. ทีนั้น พระราชาตรัสกะเพชฌฆาตนั้นว่า จงตัดเท้าทั้งสองข้าง. เพชฌฆาตก็ตัดเท้าทั้งสองข้าง. โลหิตไหลออกจากปลายมือและปลายเท้า เหมือนรดน้ำครั่งไหลออกจากหม้อทะลุฉะนั้น. พระราชาตรัสถามอีกว่า เจ้ามีวาทะว่ากระไร? พระโพธิสัตว์ทูลว่า มหาบพิตรอาตมามีวาทะยกย่องขันติ ก็พระองค์สําคัญว่า ขันติมีอยู่ที่ปลายมือปลายเท้าของอาตมา ขันตินั่นไม่มีอยู่ที่นี้เพราะขันติของอาตมาตั้งอยู่เฉพาะภายในหทัยอันสถานที่ลึกซึ้ง. พระราชานั้นตรัสว่า จงตัดหูและจมูกของดาบสนี้. เพชฌฆาตก็ตัดหูและจมูก. ทั่วทั้งร่างกายมีแต่โลหิต. พระราชาตรัสถามอีกว่า เจ้ามีวาทะกระไร? พระโพธิสัตว์ทูลว่า มหาบพิตร อาตมามีวาทะยกย่อง
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๔ - หน้า 462
ขันติ แต่พระองค์ได้สําคัญว่า ขันติตั้งอยู่เฉพาะที่ปลายหู ปลายจมูกขันติของอาตมาตั้งอยู่เฉพาะภายในหทัยอันลึก. พระราชาตรัสว่า เจ้าชฏิลโกง เจ้าเท่านั้นจงนั่งยกเชิดชูขันติของเจ้าเถิด แล้วเอาพระบาทกระทืบยอดยกแล้วเสด็จหลีกไป. เมื่อพระราชานั้นเสด็จไปแล้วเสนาบดีเช็ดโลหิตจากร่างกายของพระโพธิสัตว์ แล้วเก็บรวบรวมปลายมือปลายเท้า ปลายหู และปลายจมูกไว้ที่ชายผ้าสาฎกค่อยๆ ประคองให้พระโพธิสัตว์นั่งแล้วไหว้ ได้นั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่งแล้วกล่าวว่า ท่านผู้เจริญ ถ้าท่านจะโกรธ ควรโกรธพระราชาผู้ทําผิดในท่านไม่ควรโกรธผู้อื่น เมื่อจะอ้อนวอนจึงกล่าวคาถาที่ ๑ ว่า :-
ข้าแต่ท่านผู้มีความเพียรมาก ผู้ใดให้ตัดมือเท้า หูและจมูกของท่าน ท่านจงโกรธผู้นั้นเถิด อย่าได้ทํารัฐนี้ให้พินาศเสียเลย.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มหาวีร แปลว่า ผู้มีความเพียรใหญ่หลวง. บทว่า มา รฏํ วินสฺส อิทํ ความว่า ท่านอย่าทํากาสิกรัฐอันหาความผิดมิได้นี้ให้พินาศ.
พระโพธิสัตว์ได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวคาถาที่ ๒ ว่า :-
พระราชาพระองค์ใดรับสั่งให้ตัดมือเท้าหู และจมูกของอาตมภาพ ขอพระราชา
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๔ - หน้า 463
พระองค์นั้นจงทรงพระชนม์ยืนนาน บัณฑิตทั้งหลาย เช่นกับอาตมภาพย่อมไม่โกรธเคืองเลย.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มาทิสา ความว่า บัณฑิตทั้งหลายผู้ประกอบด้วยกําลังแห่งขันติเช่นกับอาตมา ย่อมไม่โกรธว่า ผู้นี้ด่าบริภาษ เย้ยหยัน ประหารเรา ตัดอวัยวะทําลายเรา.
ในกาลที่พระราชาเสด็จออกจากพระราชอุทยาน ลับคลองจักษุของพระโพธิสัตว์เท่านั้น มหาปฐพีอันหนาสองแสนสี่หมื่นโยชน์นี้ก็แยกออก ประดุจผ้าสาฎกทั้งกว้างทั้งแข็งแตกออกฉะนั้น. เปลวไฟจากอเวจีนรก แลบออกมาจับพระราชาเหมือนห่มด้วยผ้ากัมพลแดงที่ตระกูลมอบให้. พระราชาเข้าสู่แผ่นดินที่ประตูพระราชอุทยานนั่นเองแล้วตั้งอยู่เฉพาะในอเวจีมหานรก. พระโพธิสัตว์ก็ได้ทํากาละในวันนั้นเอง. ราชบุรุษและชาวนครทั้งหลายถือของหอม ดอกไม้ ประทีปและธูป มากระทําฌาปนกิจสรีระของพระโพธิสัตว์. ส่วนเกจิอาจารย์กล่าวว่า พระโพธิสัตว์กลับไปยังหิมวันตประเทศนั่นเอง. คําของเกจิ-อาจารย์นั้นไม่จริง. มีอภิสัมพุทธคาถาทั้งสองคาถานี้อยู่ว่า :-
สมณะผู้สมบูรณ์ด้วยขันติ ได้มีมาในอดีตกาลนั้นแล้ว พระเจ้ากาสีได้รับสั่งให้ห้ำหั่นสมณะนั้นผู้ดํารงอยู่เฉพาะในขันติธรรม.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๔ - หน้า 464
พระเจ้ากาสีหมกไหม้อยู่ในนรก เสวยวิบากอันเผ็ดร้อนของกรรมที่หยาบช้านั้น.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อตีตมทฺธานํ แปลว่า ในอดีตกาลอันยาวนาน. บทว่า ขนฺติทีปโน ได้แก่ ผู้เพียบพร้อมด้วยอธิวาสนขันติ. บทว่า อเฉทยิ ได้แก่ รับสั่งให้ฆ่า. แต่พระเถระพวกหนึ่งกล่าวว่า มือและเท้าของพระโพธิสัตว์ต่อติดได้อีก. คํานั้นไม่จริงเหมือนกัน. บทว่า สมปฺปิโต ได้แก่ ตั้งอยู่เฉพาะแล้ว.
พระศาสดาครั้นทรงนําพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว จึงทรงประกาศสัจจะแล้วทรงประชุมชาดก. ในเวลาจบสัจจะ ภิกษุผู้ขี้โกรธบรรลุพระอนาคามิผล. พระเจ้ากาสีพระนามว่ากลาปุในครั้งนั้น ได้เป็นพระเทวทัต เสนาบดีในครั้งนั้น ได้เป็นพระสารีบุตร ส่วนดาบสผู้มีวาทะยกย่องขันติในครั้งนั้น ได้เป็นเราตถาคต ฉะนี้แล.
จบ อรรถกถาขันติวาทิชาดกที่ ๓