ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
[เล่มที่ 45] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตก เล่ม ๑ ภาค ๔ - หน้าที่ 141
ข้อความตอนหนึ่งจาก
๒. ปุญญสูตร
ว่าด้วยเรื่องอย่ากลัวต่อบุญเลย
[๒๐๐] จริงอยู่ พระสูตรนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้ว พระสูตรนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นพระอรหันต์ ตรัสแล้ว เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายอย่าได้กลัวต่อบุญเลย คำว่า บุญนี้เป็นชื่อแห่งความสุข อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่ารัก น่าพอใจ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็เรารู้ด้วยญาณอันวิเศษยิ่ง ซึ่งวิบากอันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่ารัก น่าพอใจ ที่ตนเสวยแล้วสิ้นกาลนาน แห่งบุญทั้งหลายที่ตนได้ทำไว้สิ้นกาลนาน เราเจริญเมตตาจิตตลอด ๗ ปีแล้ว ไม่กลับมาสู่โลกนี้ตลอด ๗ สังวัฏฏวิวัฏฏกัป ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ได้ยินว่า เมื่อกัปฉิบหายอยู่เราเป็นผู้เข้าถึงพรหมโลกชั้นอาภัสสระ เมื่อกัปเจริญอยู่ เราย่อมเข้าถึงวิมานแห่งพรหมที่ว่าง ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ได้ยินว่า เราเป็นพรหม เป็นมหาพรหมเป็นผู้ยิ่งใหญ่ ใครครอบงำไม่ได้ เป็นผู้สามารถเห็นอดีต อนาคตและปัจจุบันโดยแท้ เป็นผู้ยังจิตให้เป็นไปในอำนาจ อยู่ในวิมานพรหมนั้น
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็เราได้เป็นท้าวสักกะผู้เป็นจอมเทพ ๓๖ ครั้ง ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้ประกอบด้วยธรรม เป็นพระธรรมราชามีสมุทรสาครสี่เป็นขอบเขต เป็นผู้ชนะวิเศษแล้ว ถึงความเป็นผู้มั่นคงในชนบท ประกอบด้วยรัตนะ ๗ ประการ หลายร้อยครั้ง จะกล่าวไปไยถึงความเป็นพระเจ้าประเทศราชเล่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรานั้นดำริว่า บัดนี้ เราเป็นผู้มีฤทธิ์มากอย่างนี้ มีอานุภาพมากอย่างนี้ เพราะผลวิบากแห่งกรรมอะไรของเราหนอแล ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรานั้นดำริว่า บัดนี้ เราเป็นผู้มีฤทธิ์มากอย่างนี้ มีอานุภาพมากอย่างนี้ เพราะผลวิบากแห่งกรรม ๓ ประการของเราคือ ทาน ๑ ทมะ ๑ สัญญมะ ๑. พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสเนื้อความนี้แล้ว ในพระสูตรนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสคาถาประพันธ์ดังนี้ว่า กุลบุตรผู้ใคร่ประโยชน์ พึงศึกษาบุญนั่นแล อันสูงสุดต่อไปซึ่งมีสุขเป็นกำไร คือ พึงเจริญทาน ๑ ความประพฤติสงบ ๑ เมตตาจิต ๑ บิณฑิตครั้นเจริญธรรม ๓ ประการ อันเป็นเหตุเกิดแห่งความสุขเหล่านี้แล้ว ย่อมเข้าถึงโลกอันไม่มีความเบียดเบียน เป็นสุข. เนื้อความแม้นี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้ว เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้ว ฉะนี้แล.
จบปุญญสูตรที่ ๒
[เล่มที่ 45] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตก เล่ม ๑ ภาค ๔ - หน้าที่ 144
ข้อความตอนหนึ่งจาก
อรรถกถาปุญญสูตร
ความประพฤติสงบ ๑
ความเกิดขึ้นแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลาย นำมาซึ่งความสุข ความปราศจาความกำหนัด เป็นสุขในโลก
เมตตาจิต ๑
บทว่า เมตฺตจิตฺตํ ความว่า ชื่อว่า เมตตา เพราะอรรถว่า รักใคร่ อธิบายว่า ผูกเยื่อใย. ชื่อว่า เมตตา เพราะความเจริญเป็นไปในมิตร หรือความเจริญนั่นเป็นไปต่อมิตร. พึงทราบวินิจฉัยเมตตาโดยลักษณะเป็นต้นต่อไปนี้ เมตตามีอันเป็นไปในอาการให้ประโยชน์เกื้อกูล เป็นลักษณะ มีการนำสิ่งที่เป็นประโยชน์เกื้อกูล เป็นรส มีการปลดเปลื้องความอาฆาต เป็นเครื่องปรากฏ มีการแสดงความพอใจของสัตว์ทั้งหลาย เป็นปทัฏฐาน ความสงบพยาบาทเป็นสมบัติของเมตตานั่น ความมีเสน่หาเป็นวิบัติของเมตตา ชื่อว่า เมตตาจิต เพราะ จิตมี เมตตา
กุลบุตรผู้ใคร่ประโยชน์ พึงศึกษา พึงดำรงมั่น พึงเสพธรรมเป็นกุศล ๓ อย่าง อันได้ชื่อว่า บุญ เพราะให้เกิดผลน่าบูชา และเพราะชำระสันดานของตน. ความว่า บุญ ชื่อว่า อายตคฺคํ เพราะมีผลไพบูลย์ มีผลยิ่งใหญ่ หรือสูงสุดต่อไป เพราะมีผลน่ารักน่าพอใจ หรือเพราะเลิศด้วยความเจริญ คือ ด้วยความยิ่งใหญ่และสูงสุดด้วยปัจจัยมีโยนิโสมนสิการเป็นต้น
อีกอย่างหนึ่ง บุญ ชื่อ อายตคฺคํ เพราะเลิศ คือ เป็นประธานทางความเจริญ อันเป็นผลน่าพอใจ. อธิบายว่า ต่อจากนั้นก็มีสุข เป็นกำไร คือ มีสุขเป็นวิบาก
ท่านถามว่า ก็บุญนั้นเป็นไฉน และกุลบุตรพึงศึกษาบุญได้อย่างไร
ตอบว่า พึงบำเพ็ญทาน สมจริยา และเมตตาจิต
ในบทเหล่านั้น บทว่า สมจริยํ ได้แก่ ศีลอันบริสุทธิ์มีการประพฤติ ระเบียบทางกาย เป็นต้น เพราะเว้นความประพฤติที่ไม่เป็นระเบียบทางกายเป็นต้น
บทว่า ภาวเย ได้แก่ พึงให้เกิด คือ ให้เจริญในสันดานของตน
บทว่า เอเต ธมฺเม ได้แก่ สุจริตธรรมมีทานเป็นต้นเหล่านี้.
บทว่า สุขสมุทฺรเย ได้แก่ มีสุขเป็นอานิสงส์. อาจารย์บางพวกแสดงว่า แม้อานิสงส์ผลก็เป็นสุข แท้ของธรรมเหล่านั้น.
บทว่า อพฺยาปชฺฌํ สุขํ โลกํ ได้แก่ โลกอัน ไม่มีความเบียดเบียน คือ ไม่มีทุกข์ เพราะเว้นจากพยาบาท อันมีกามฉันทะ เป็นต้น. แต่ไม่มีคำพูดถึงการไม่มีความเบียดเบียนต่อผู้อื่น. พรหมโลกของฌานและบุญ ชื่อว่า เป็นสุข และชื่อว่าเป็นสุขโดยส่วนเดียว เพราะมากด้วยความสุข ด้วยอำนาจฌานและสมาบัติ. แต่บัณฑิตผู้มีปัญญาย่อมเข้าถึงโลกอันเป็นสุข กล่าวคือความเป็นผู้มีสมบัติอื่นจากนั้นของบุญนอกนี้. ด้วยประการดังนี้ ในสูตรนี้และในคาถาทั้งหลายท่านกล่าวถึงวัฏฏสมบัติ อย่างเดียว ฉะนั้นแล.
จบอรรถกถาปุญญสูตรที่ ๒
ขออนุโมทนาครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น