พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้าที่ 63 ข้อความบางตอนจาก...
สีวิราชชาดก
ในอดีตกาลเมื่อพระเจ้าสีวิมหาราช เสวยราชสมบัติในอริฎฐปุร-
นคร แคว้นสีวีรัฐ พระมหาสัตว์เจ้าบังเกิดเป็นพระราชโอรส ของท้าวเธอ.
พระประยูรญาติทั้งหลายขนานพระนามของพระกุมารนั้นว่า สีวิราชกุมาร.
พระราชกุมารเจริญวัยแล้วไปยังพระนครตักกศิลา ศึกษาศิลปศาสตร์จบแล้ว
กลับมาแสดงศิลปศาสตร์ถวายพระชนกทอดพระเนตร จนได้รับพระราชทาน
ยศเป็นมหาอุปราช ในเวลาต่อมา เมื่อพระราชบิดาเสด็จสวรรคตแล้วก็ได้เป็น
พระราชา ละการลุอำนาจแก่อคติเสีย ไม่ยังทศพิธราชธรรมให้กำเริบ เสวย
ราชสมบัติโดยธรรม ให้สร้างศาลาโรงทานไว้ ๖ แห่งคือ ที่ประตูพระนคร ๔
แห่ง ท่ามกลางพระนคร ๑ แห่ง และที่ประตูพระราชนิเวศน์อีก ๑ แห่ง
แล้วทรงยังมหาทานให้เป็นไป ด้วยทรงบริจาคทรัพย์วันละ ๖ แสนทุกๆ วัน
และในวันอัฏฐมี จาตุททสี และปัณณรสี คือวัน ๘ ค่ำ ๑๔ ค่ำ และ ๑๕ ค่ำ
ท้าวเธอเสด็จลงสู่โรงทาน ตรวจตราการให้ทานเป็นราชกรณีกิจประจำ.
คราวหนึ่งเป็นวันปูรณมี ดิถีที่ ๑๕ ค่ำ เวลาเช้าพระเจ้าสีวิราช
ประทับเหนือราชบัลลังก์ ภายใต้สมุสสิตเศวตฉัตร ทรงรำพึงถึงทานที่พระองค์
ทรงบริจาค มิได้ทอดพระเนตรเห็นพาหิรวัตถุสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ชื่อว่าพระองค์ยัง
ไม่เคยบริจาค จึงทรงพระดำริว่า พาหิรวัตถุที่ชื่อว่า เรายังไม่เคยบริจาค
ไม่มีเลย พาหิรกทานหาได้ยังเราให้ยินดีไม่ เราประสงค์จะให้อัชฌัตติกทาน
โอหนอ เวลาที่เราไปในโรงทานวันนี้ ยาจกคนใดอย่าได้ขอพาหิรวัตถุเลย
พึงเอ่ยออกชื่อขอแต่อัชฌัตติกทานเถิด ก็ถ้าหากว่าใครๆ จะเอ่ยปากขอดวง-
หทัยของเราไซร้ เราจะเอาหอกแหวะอุรประเทศนำดวงหทัย ซึ่งมีหยาดโลหิต
ไหลอยู่ออกให้ ดุจถอนปทุมชาติทั้งก้านขึ้นจากน้ำอันใสฉะนั้น ถ้าหากว่าใคร
เอ่ยปากขอเนื้อในสรีรกายของเรา เราจะเถือเนื้อในสรีระให้ ดุจคนขูดจันทน์
แดงด้วยศาสตราสำหรับขูดฉะนั้น ถ้าหากว่าใครเอ่ยปากขอโลหิต เราจะวิ่ง
เข้าไปในปากแห่งยนต์ ให้คนนำภาชนะเข้าไปรองรับจนเต็มแล้วจึงจักให้โลหิต
หรือว่าถ้าใครจะพึงพูดกะเราว่า การงานในเรือนของเราไม่เรียบร้อย ท่านจง
เป็นทาสทำการงานในเรือนของเราดังนี้ เราจักละเพศกษัตริย์เสีย กระทำตน
ให้อยู่นอกตำแหน่ง แล้วประกาศตนทำการงานของทาส ถ้าใครเอ่ยปากขอ
ดวงตาของเรา เราจักควักดวงตาทั้งคู่ออกให้เหมือนดังควักจาวตาลฉะนั้น.
ท้าวเธอทรงดำริต่อไปว่า
วัตถุทานซึ่งเป็นของมนุษย์อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่
เรายังไม่ได้บริจาคไม่มีเลย แม้ยาจกคนใดจะพึงขอ
ดวงตากะเรา เราจะไม่หวั่นไหวให้ดวงตาแก่ยาจกนั้น
ทีเดียว
ดังนี้แล้ว ทรงสรงสนานด้วยหม้อน้ำหอม ๑๖ หม้อทรงประดับตกแต่ง
องค์ด้วยเครื่องสรรพอลังการ เสวยพระกระยาหารที่มีรสอันเลิศต่างๆ แล้ว
เสด็จประทับเหนือคอมงคลหัตถีอันประดับตกแต่งแล้ว ได้เสด็จไปสู่โรงทาน.
ท้าวสักกะทรงทราบอัธยาศัยของพระองค์ จึงทรงดำริว่า วันนี้พระเจ้า
สีวิราชทรงพระดำริว่า จักควักดวงพระเนตรออกพระราชทานแก่ยาจกผู้มาถึง
ท้าวเธอจักอาจเพื่อพระราชทานหรือหาไม่หนอ เมื่อจะทดลองพระเจ้าสีวิราช
จึงทรงแปลงเป็นพราหมณ์ แก่ชรา ตาบอด ในเวลาที่พระราชาเสด็จไปสู่
โรงทาน ได้ไปยืนอยู่ที่เนินแห่งหนึ่ง ยื่นพระหัตถ์ออกถวายชัยมงคล. พระราชา
ทรงไสช้างพระที่นั่งมุ่งเข้าไปหาพราหมณ์นั้น แล้วตรัสถามว่า ดูก่อนพราหมณ์
ท่านพูดว่ากระไร? ลำดับนั้น ท้าวสักกเทวราชจึงตรัสกะท้าวเธอว่า ข้าแต่
มหาราชเจ้า โลกสันนิวาลทั้งสิ้น กึกก้องด้วยเสียงแซ่ซ้องสาธุการ อาศัยพระอัธ-
ยาศัยอันน้อมไปในทานของพระองค์ ฟุ้งขจรอยู่เป็นนิตย์ ส่วนข้าพระองค์เป็น
คนตาบอด พระองค์มีพระเนตรสองข้าง ดังนี้แล้ว เมื่อจะทูลขอดวงพระเนตร
จึงตรัส พระคาถาที่ ๑ ความว่า
ข้าพระพุทธเจ้าเป็นคนชรา ไม่แลเห็นในที่ไกล
มาเพื่อจะทูลขอพระเนตร ข้าพระพุทธเจ้ามีนัยน์ตา
ข้างเดียว ข้าพระพุทธเจ้าทูลขอแล้ว ขอพระองค์ได้
โปรดพระราชทานพระเนตรข้างหนึ่ง แก่ข้าพระพุทธ-
เจ้าเถิด.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทูเร ความว่า อยู่ไกลจากที่นี่. บทว่า
เถโร ความว่า เป็นดุจผู้เฒ่าผู้เข้าถึงความคร่ำคร่าเพราะชรา. บทว่า เอกเนตฺตา
ความว่า ขอพระองค์จงทรงพระราชทานพระเนตรข้างหนึ่งแก่ข้าพระพุทธเจ้า
ด้วยเถิด ข้าพระพุทธเจ้าผู้มีนัยน์ตาข้างเดียว จักมีสองข้างได้ด้วยวิธีนี้.
พระมหาสัตว์เจ้าทรงสดับถ้อยคำนั้นแล้ว ทรงดำริว่า เรานั่งนึกอยู่ใน
ปราสาท มาเดี๋ยวนี้ทีเดียว เป็นลาภใหญ่ของเรา มโนรถของเราจักถึงที่สุด
ในวันนี้ทีเดียว เราจักบริจาคทานที่ยังไม่เคยบริจาค