สูตรที่ ๓ ว่าด้วยไม่ควรทําทุจริต ๓ ควรทําสุจริต ๓
โดย บ้านธัมมะ  19 ต.ค. 2564
หัวข้อหมายเลข 38471

[เล่มที่ 33] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 360

สูตรที่ ๓

ว่าด้วยไม่ควรทําทุจริต ๓ ควรทําสุจริต ๓


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 33]



ความคิดเห็น 1    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 360

สูตรที่ ๓

ว่าด้วยไม่ควรทำทุจริต ๓ ควรทำสุจริต ๓

[๒๗๙] ๓๓. ครั้งนั้นแล พราหมณ์คนหนึ่งเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ท่านพระโคดมมีวาทะว่าอย่างไร กล่าวว่าอย่างไร พระผู้มีพระภาคเจ้าตอบว่า ดูก่อนพราหมณ์ เรามีวาทะว่า ควรทำ และมีวาทะว่า ไม่ควรทำ.

พ. ท่านพระโคดม มีวาทะว่าควรทำ และมีวาทะว่าไม่ควรทำ อย่างไร.

ภ. ดูก่อนพราหมณ์ เรากล่าวว่า ไม่ควรทำกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต เรากล่าวว่า ไม่ควรทำอกุศลธรรนอันลามกหลายอย่าง และเรากล่าวว่า ควรทำกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต เรากล่าวว่า ควรทำกุศลธรรมหลายอย่าง ดูก่อนพราหมณ์ เรากล่าวว่าควรทำและกล่าวว่าไม่ควรทำอย่างนี้แล.

พ. ข้าแต่ท่านพระโคดม ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ... ขอท่านพระโคดมจงทรงจำข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป.

จบสูตรที่ ๓


ความคิดเห็น 2    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 361

อรรถกถาสูตรที่ ๓

ในสูตรที่ ๓ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

บทว่า เตนุปสงฺกมิ ความว่า พราหมณ์นั้นทราบมาว่า พระสมณโคดมตรัสตอบคำที่คนถาม พระองค์ไม่ทรงเบื่อหน่ายคำถาม จำเราจักแต่งปัญหาชนิดมีเงื่อนงำ จึงบริโภคโภชนะอันประณีตแล้วปิดประตูห้อง นั่ง เริ่มคิด (แต่งปัญหา). ลำดับนั้น พราหมณ์ได้มีความคิดอย่างนี้ว่า ในที่นี้มีเสียงอึกทึกกึกก้อง จิตไม่สงบ เราจักให้ทำเรือนติดพื้นดิน ให้ทำเรือนติดพื้นดินแล้วเข้าไปในเรือนนั้น คิดว่า เราถูกถามอย่างนี้แล้ว จักตอบอย่างนี้ เขาผูกปัญหาข้อหนึ่ง เมื่อจะวิสัชนาปัญหาข้อหนึ่ง ไม่สามารถจะเห็นคำตอบอะไรๆ สิ้นทั้งวัน. เขาคิดอยู่โดยทำนองนี้ ล่วงไป ๔ เดือน. พอล่วงไป ๔ เดือน เขาจึงได้พบปัญหา ๒ เงื่อน เล่ากันมาว่า พราหมณ์นั้นได้มีความคิดอย่างนี้ว่า เราจักเข้าไปเฝ้าพระสมณโคดม ทูลถามว่า พระโคดมผู้เจริญเป็นวาทีอะไร ถ้าพระสมณโคดมกล่าวว่า เราเป็นกิริยวาที เราจักข่มพระสมณโคดมว่า พระองค์สอนให้คนทำชั่วทุกอย่าง ถ้าพระสมณโคดมกล่าวว่า เราเป็นอกิริยวาที เราจักข่มพระสมณโคดมว่า พระองค์สอนไม่ให้คนทำดี พระสมณโคดมถูกถามปัญหา ๒ เงื่อนแล้ว จักกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เราก็จักชนะ พระสมณโคดมก็จักแพ้ ด้วยอาการอย่างนี้ เขาลุกขึ้นปรบมือออกจากเรือนติดพื้นดิน คิดว่า ผู้ถามปัญหาขนาดนี้ ไม่ควรไปคนเดียว จึงให้โฆษณาทั่วเมือง แวดล้อมไปด้วยชาวเมืองทั้งสิ้น เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ. บทว่า กึวาที แปลว่า มีลัทธิอะไร. ด้วยบทว่า กิมกฺขายติ พราหมณ์


ความคิดเห็น 3    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 362

ทูลถามว่า พระองค์สอนปฏิปทาแก่สาวกอย่างไร.

ครั้นนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบว่า พราหมณ์แต่งปัญหาอยู่ ๔ เดือน มาด้วยถือตัวว่า เราเห็นปัญหาที่ทำให้พระสมณโคดมแพ้แล้ว เมื่อจะทรงทำลายปัญหานั้นด้วยบทเดียวเท่านั้น จึงตรัสว่า กิริยวาที จาหํ พฺราหฺมณ อกิริยวาที จ ดังนี้. ลำดับนั้น พราหมณ์ถอนมานะของตนได้แล้ว เมื่ออาราธนาพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงกล่าวเป็นคำต้นว่า ยถากถํ ปน ดังนี้. คำที่เหลือในที่นี้ ง่ายทั้งนั้นแล.

จบอรรถกถาสูตรที่ ๓