อ่านไปเจอ
เหตุใกล้ให้สติเกิด ๑๗ ประการ [พระอภิธัมมัตถสังคหะ]
แสดงเหตุใกล้ให้เกิดสติ แต่สงสัยหลายประการครับ ตามเนื้อความดังกล่าว เช่น กล่าวว่า ทรัพย์ เป็นเหตุให้เจ้าของทรัพย์มีสติ คือ เมื่อมีทรัพย์มักจะเก็บรักษาไว้อย่างดี และจะระมัดระวัง จดจำไว้ว่าตนเก็บทรัพย์ไว้ที่ใด แต่ตามที่เข้าใจ เข้าใจว่า สติเป็นกุศล แต่การระลึกถึงทรัพย์ ว่าเก็บไว้ที่ใด ตรงไหนจะหายหรือเปล่า ไม่ทราบว่าเป็นกุศลย่างไรครับ เพราะยังมีหลายข้อที่นัยเดียวกัน เช่น สติเกิดขึ้น เพราะการนับ เช่น การเจริญสติระลึกถึงพระพุทธคุณ ก็ใช้นับลูกประคำเพื่อมิให้ลืม ซึ่งข้อความเหล่านี้อยู่ในพระอภิธัมมัตถสังคหะ เพราะหลายข้อดูเหมือนไปบังคับ จะทำ หรือ ให้ทำ ซึ่งไม่ใช่การเจริญสติเลยครับ
ขอความกรุณาด้วยครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกโดยตลอด เป็นการแสดงถึงสภาพธรรมที่มีจริง เมื่อเป็นธรรมก็ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น ไม่มีใครบังคับบัญชาให้ธรรมเกิดขึ้นได้ ทุกอย่างล้วนเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยทั้งสิ้น รวมทั้งสติด้วย สติเป็นสภาพธรรมฝ่ายดี เกิดร่วมกับจิตที่ดีงามทุกประเภท จะไม่เกิดร่วมกับอกุศลจิตเลย
สติเป็นสภาพธรรมที่ระลึกเป็นไปในกุศลประการต่างๆ เป็นไปในทาน เป็นไปในศีล เป็นไปในการอบรมความสงบของจิต และเป็นไปในการอบรมเจริญปัญญา ขณะใดก็ตามที่ไม่ได้เป็นไปในทาน ไม่ได้เป็นไปในศีล ไม่ได้เป็นไปในการฟังพระธรรม อบรมเจริญปัญญาแล้ว ก็ย่อมเป็นอกุศลทั้งหมด แสดงให้เห็นตามความเป็นจริงว่า อกุศลเกิดขึ้นเป็นไปมากทีเดียวในชีวิตประจำวัน และที่จะเป็นกุศลได้ ก็เพราะสติเกิดขึ้นเป็นไป
ธรรมเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย อาการของสติ ๑๗ ประการ ล้วนแสดงถึงความเป็นจริงของสภาพธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่ว่าจะเกิดขึ้นเองโดยปราศจากเหตุปัจจัย สำหรับประเด็นเรื่องทรัพย์ ก็พอจะเข้าใจได้ว่า เพราะสะสมเหตุที่ดีมา สะสมกุศลมา สะสมอุปนิสัยในการสละในการให้ พอเห็นทรัพย์ สติก็เกิดขึ้นเป็นไปในกุศลที่เป็นไปกับด้วยการสละ ซึ่งจะแตกต่างไปจากผู้ที่ถูกกิเลสครอบงำ แม้จะเห็นทรัพย์สมบัติ แต่ก็เป็นไปกับด้วยอกุศล ตระหนี่หวงแหน ติดข้อง เป็นต้น
แม้แต่ในการระลึกถึงหัวข้อธรรม บทธรรมที่ได้ยินได้ฟัง ว่าอยู่ส่วนใดของพระไตรปิฎก ระลึกถึงการกุศลประการต่างๆ ที่เคยทำแล้ว ล้วนเป็นเรื่องของสติที่เกิดขึ้นเป็นไปทั้งนั้น เพราะสติจะไม่เกิดกับอกุศลจิตเลย ครับ
ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ
อาการของสติ ๑๗ อย่าง
ขอเชิญคลิกคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ได้ที่นี่ครับ
โสภณธรรม ครั้งที่ 009
โสภณธรรม ครั้งที่ 010
..กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
จากข้อความในพระอภิธัมมัตถสังคหะ
โดยความละเอียดแล้ว ท่านมุ่งหมายถึงเหตุให้เกิดสติ คือ ๑๗ ประการนี้ เป็นเหตุให้เกิดสติได้ ซึ่งเราจะต้องเข้าใจคำว่าเหตุใกล้ก่อนครับว่า คือ อะไร
เหตุใกล้ หมายถึง เหตุที่ใกล้ที่สุดที่จะทำให้เกิดสภาพธรรมนั้น แม้จะไม่ใช่เหตุโดยตรง แต่เพราะอาศัยเหตุคือเป็นช่วงเวลาที่ใกล้ที่จะทำให้สภาพธรรมนั้นเกิด จึงเกิด เพราะฉะนั้น แม้แต่เหตุใกล้ให้เกิดสติอีกนัยหนึ่ง เช่น ทรัพย์ เป็นเหตุใกล้ให้เกิดสติ เราก็จะต้องเข้าใจว่า เป็นเหตุให้เกิดสติของใคร ของผู้ที่สะสมสติและปัญญามา แต่ไม่เป็นเหตุใกล้ของผู้ที่ไม่สะสมสติและปัญญามา เพราะเมื่อเห็นทรัพย์ก็หวงแหน คิดด้วยอกุศลที่จะเก็บรักษา รู้ว่าอยู่ที่ไหน แต่รู้ด้วยอกุศล เพราะไม่เป็นไปในทาน ศีล ภาวนา ทรัพย์จึงไม่เป็นเหตุใกล้ให้เกิดสติของผู้ที่ไม่ได้สะสมสติและปัญญามา หรือไม่เกิดสติในขณะนั้น แต่เมื่อใดที่สติเกิด เพราะอาศัยเหตุ คือ ทรัพย์ คือ มีทรัพย์ เป็นอารมณ์ คือ บัญญัติเป็นอารมณ์ โดยที่ชวนจิตเป็นกุศลจิต มีสติเกิดร่วมด้วย อารมณ์นั้นคือบัญญัติอารมณ์ที่สมมติว่าเป็นทรัพย์ จึงเป็นเหตุใกล้ให้เกิดสติได้ในขณะนั้น ครับ
เพราะฉะนั้น จากข้อความที่กล่าวไว้ครับว่า
(๒) ทรัพย์ เป็นเหตุให้เจ้าของทรัพย์มีสติ คือ เมื่อมีทรัพย์มักจะเก็บรักษาไว้อย่างดี และจะระมัดระวังจดจำไว้ว่าตนเก็บทรัพย์ไว้ที่ใด
ในพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงมีหลากหลายนัย แม้แต่คำว่า สติ ก็จะมีอีกนัยหนึ่ง คือ สติ หมายถึง ระลึกถึงคำที่พูดไว้นานได้ หรือสติจำปรารถนาในที่ทั้งปวง แต่เมื่อเป็นสติ จะต้องเกิดกับจิตที่ดีงาม มีกุศลเป็นต้น เพราะฉะนั้นการจำด้วยสัญญาเจตสิกที่เกิดร่วมกับสติ จึงเป็นความหมายในข้อนี้ เช่น การเก็บทรัพย์นี้ไว้เพื่อประโยชน์กับบุคคลอื่น ไม่หลงลืมทรัพย์ว่าตนเก็บไว้ที่ใด เพื่อที่จะให้เป็นประโยชน์กับคนอื่น เป็นต้น เพราะฉะนั้นจึงรักษาไว้เป็นอย่างดี ด้วยเหตุผลที่รักษาไว้เพื่อเจริญกุศล ครับ การจดจำทรัพย์ไว้ได้จึงเป็นไปได้ทั้งจิตที่เป็นกุศล (มีสติ) ด้วยจิตที่เป็นอกุศลและด้วยกิริยาจิต เช่น พระอรหันต์นึกขึ้นจำได้ว่า บาตร สิ่งต่างๆ วางไว้ตรงไหน ก็เป็นกิริยาจิตในขณะนั้นที่จดจำได้ ครับ เพราะฉะนั้น ทรัพย์ ที่เป็นบัญญัติอารมณ์ จึงเป็นที่ตั้งของสติก็ได้ อกุศลก็ได้ กิริยาจิตก็ได้ แต่เมื่อใดทรัพย์นั้นเป็นปัจจัยให้เกิดสติ ก็ชื่อว่าทรัพย์เป็นเหตุใกล้ให้เกิดสติสำหรับผู้ที่เกิดสติในขณะนั้น จึงแล้วแต่ขณะจิตเป็นสำคัญ ว่าขณะจิตนั้นจิตเป็นอย่างไรเมื่อมีบัญญัติ หรือทรัพย์เป็นอารมณ์ ครับ
ขออนุโมทนา
ในข้อ ทาน เข้าใจครับ ในส่วนข้อนับลูกประคำ ขอคำอธิบายกว้างขวางกว่านี้ได้ไหมครับ ขอความกรุณาด้วยครับ
เพราะถ้าขาดการพิจารณา คนที่เจอข้อความลูกประคำนี้ ก็จะไปนับลูกประคำ เพื่อจะให้สติเกิด จึงอยากทราบว่า การนับเป็นปัจจัยให้เกิดสติได้อย่างไร หรือเหมือนกับสมถกรรมฐานหรือไม่ครับ ที่จะต้องมีการบริกรรมเสียก่อนครับ
เรียน ความเห็นที่ 3 ครับ
สำหรับประเด็นในข้อที่ว่า
(๑๒) สติ เกิดขึ้นเพราะการนับ เช่น การเจริญสติระลึกถึงพระพุทธคุณ ก็ใช้นับลูกประคำเพื่อมิให้ลืม
- จากที่กล่าวไปแล้วครับว่า คำว่าเหตุใกล้ หมายถึง เหตุใกล้ในช่วงเวลาที่จะเป็นเหตุให้เกิดสภาพธรรมนั้น จึงเป็นเหตุใกล้ให้สติเกิด เพราะฉะนั้น การระลึกถึงพระพุทธคุณหากไม่มีความเข้าใจพระธรรม ก็ไม่สามารถที่จะระลึกถึงพระคุณได้ คือ ไม่เกิดสติแน่นอน เพราะฉะนั้น จะต้องมีความเข้าใจพระธรรมเป็นพื้นฐาน เพียงแต่ว่า การนับลูกประคำที่จะทำให้เกิดสติ หมายถึง อาศัยการระลึกถึงคำในพระรัตนตรัย ในขณะที่นับลูกประคำทำให้ไม่ลืมคำกล่าวในแต่ละคำในขณะนั้น แต่ขณะนั้นไม่จำเป็นจะต้องเป็นกุศลมีสติ เป็นอกุศลก็ได้ แต่ ผู้ใดที่สะสมอบรมปัญญามา แม้ขณะที่นับลูกประคำก็นึกถึงคำในพระคุณแต่ละคำ ซึ่งจิตเกิดดับรวดเร็วมาก เพียงชั่วเวลาที่ผ่านไปในขณะที่นับลูกประคำ แต่ลูกประคำก็สามารถเกิดจิตต่อไปที่ระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้าได้ จึงกล่าวว่า การนับเป็นเหตุให้เกิดสติได้ แต่ไม่ได้หมายความถึงทุกคน แต่สำหรับผู้ที่มีความเข้าใจพระธรรม การนับเป็นเหตุให้เกิดสติ โดยยกตัวอย่างการนับลูกประคำที่นึกถึงคำแต่ละคำในคำสวดนั้น ครับ จึงไม่ได้หมายความว่าจะต้องไปนับลูกประคำให้เกิดสติ แต่หมายถึงผู้ที่มีความเข้าใจพระธรรมแล้ว แม้แต่ในขณะที่นับลูกประคำก็นึกถึงคำในพระพุทธคุณ ในขณะจิตต่อไปก็สามารถเกิดระลึกถึงคุณพระรัตนตรัยอันมีการนับเป็นเหตุใกล้ได้ ครับ
ขออนุโมทนา
อนุโมทนาครับ
ในโสภณธรรม ไฟล์ที่ 010 ท่านอาจารย์สุจินต์ยกตัวอย่างการนับ คือ การที่องค์ธรรมต่างๆ มีข้อ เช่น ข้อ ๑ ข้อ ๒ ข้อ ๓ เพื่อให้ระลึกได้ เช่น มัจฉริยะธรรม มี ๕ เป็นต้น
ขออนุโมทนา
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาอาจารย์คำปั่นและอาจารย์ผเดิม และทุกท่านครับ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขออนุโมทนาครับ