ด้วยหน้าที่การงานในปัจจุบันไม่อื้อต่อการถืออุโบสถศิล โดยการไปอยู่ที่วัดตลอดวันได้เหมือนกับในอดีต ผมขอรบกวนถามอาจารย์เผดิมและอาจารย์ท่านอื่นๆ ดังนี้
1. การถืออุโบสถศิลที่ถูกต้องแล้วต้องถือที่วัดเพียงประการเดียวหรือไม่ อย่างไรครับ
2. ส่วนตัวผมใช้วิธีแต่งชุดทำงานให้เสร็จเรียบร้อยเพื่อออกไปทำงานก่อนอาราธนาอุโบสถศิล เมื่อกลับถึงในเวลาเย็นค่อยเปลี่ยนชุดขาว แล้วอาศัยฟังธรรมะอยู่ที่บ้าน วิธีนี้ถูกต้องหรือไม่ อย่างไรครับ
3. เมื่อวานเป็นวันพระผมใช้วิธีเดียวกับที่ผ่านมา แต่เนื่องจากเมื่อวานมีความจำเป็นต้องผูกไทด์ใส่สูท เป็นเหตุให้ลืมผูกไทด์ขณะอาราธนาศิล และหลังอาราธนาแล้วด้วยความจำเป็นผมต้องกลับมาผูกไทด์ให้เสร็จ แต่เมื่อเข้าไปในสถานที่แล้วผมขออนุญาตไม่ใส่สูท กรณีเช่นนี้ผมปฏิบัติถูกต้องหรือไม่ อย่างไรครับ
อนึ่ง โดยส่วนตัวผมคิดว่าการถืออุโบสถศิลอยู่บ้านได้ครับ ทั้งนี้ มีอุทาหรณ์ เช่นขณะที่พระมหาชนกโพธิสัตว์ตกในห้วงมหาสมุทรอยู่ 7 วันๆ หนึ่งเป็นวันอุโบสถท่านก็ได้อาราธนาอุโบสถถือไว้ในวันนั้นครับ
ขอกราบขอบคุณอาจารย์ทุกท่านครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
1. การถืออุโบสถศิลที่ถูกต้องแล้วต้องถือที่วัดเพียงประการเดียวหรือไม่ อย่างไรครับ
@ การรักษาศีลอุโบสถ ศีล 8 ไม่จำเป็นจะต้องรักษาเฉพาะที่วัด ที่บ้านก็รักษาได้ เพราะ ศีล คือ เจตนางดเว้น เกิดขึ้นที่ใจ ไม่ใช่ เกิดขึ้นที่สถานที่ ซึ่ง ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ผู้เป็นพระโสดาบัน ก็รักษาศีลอุโบสถที่บ้าน ครับ ไม่ใช่ที่วัด แต่ ไปฟังธรรมที่วัด ที่พระพุทธเจ้าทรงประทับอยู่ ครับ
2. ส่วนตัวผมใช้วิธีแต่งชุดทำงานให้เสร็จเรียบร้อยเพื่อออกไปทำงานก่อนอาราธนาอุโบสถศิล เมื่อกลับถึงในเวลาเย็นค่อยเปลี่ยนชุดขาว แล้วอาศัยฟังธรรมะอยู่ที่บ้าน วิธีนี้ถูกต้องหรือไม่ อย่างไรครับ
@ โดยทั่วไปแล้ว การรักษาศีลอุโบสถ ควรรักษาในวันที่ว่าง เว้นจากการงาน แต่หากมีเจตนาจะรักษาจริงๆ ก็สามารถทำได้ ตามสมควร ซึ่ง ชุดที่ใส่ ก็สามารถใส่โดยที่ไม่แต่งเพื่อประดับตกแต่ง แต่เป็นชุดทำงานที่เหมาะสมโดยไม่มีเจตนาที่จะประดับตกแต่งอะไร ก็สามารถทำได้ และ กลับมาก็ใส่ชุดปกติ โดยที่ไม่จำเป็นจะต้องใส่ชุดขาวก็ได้ ครับ
3. เมื่อวานเป็นวันพระผมใช้วิธีเดียวกับที่ผ่านมา แต่เนื่องจากเมื่อวานมีความจำเป็นต้องผูกไทด์ใส่สูท เป็นเหตุให้ลืมผูกไทด์ขณะอาราธนาศิล และหลังอาราธนาแล้วด้วยความจำเป็นผมต้องกลับมาผูกไทด์ให้เสร็จ แต่เมื่อเข้าไปในสถานที่แล้วผมขออนุญาตไม่ใส่สูท กรณีเช่นนี้ผมปฏิบัติถูกต้องหรือไม่ อย่างไรครับ
@ ก็ต้องพิจารณาจิตเป็นสำคัญ หากแต่งเพื่อความเหมาะสม ไม่ใช่เพื่อประดับตกแต่ง ก็ไม่เป็นไร ครับ ที่สำคัญที่สุด ก็ควรรักษาในวันที่ว่าง ก็จะเป็นการสมควร ครับ
ศีล 8 จึงเป็นศีลที่ขัดเกลาเพิ่มขึ้นจากศีล 5 สำหรับผู้ที่มีอัธยาศัย สะสมมาที่จะเห็นประโยชน์ในการรักษาศีล กุศลขั้นศีลเจริญขึ้น จึงรักษา ศีล 8 ในวันพระ เป็นต้น แต่ พระธรรมไม่ใช่เรื่องของการบังคับ แล้วแต่การสะสมของแต่ละคนที่จะเห็นประโยชน์ของการรักษาศีล เพิ่มขึ้นหรือไม่ แต่อย่างไรก็ดี การจะทำอะไรก็ตาม จุดประสงค์จะต้องถูกต้อง แม้แต่การรักษาศีล 8 ก็เพื่อจุดประสงค์ คือ การละ ขัดเกลากิเลสเป็นสำคัญ ไม่ใช่เพื่อการเกิดในสวรรค์ ได้สิ่งที่ดีๆ เลย ครับ การรักษาศีล 8 ที่ถูกต้อง คือ ดำเนินทางถูกตามปัญญา ย่อมจะเจริญขึ้นในกุศลทุกประการ และ เป็นศีลบารมี และ เป็นเสบียงเพื่อดับกิเลสในอนาคต ครับ
เชิญคลิกอ่านที่นี่ ครับ
อุโบสถมีองค์ ๘ [ติกนิบาต]
อุโบสถประกอบด้วยองค์๘ประการ [วิตถตสูตร]
การรักษาอุโบสถเพื่อขัดเกลาและดับกิเลส [ทุติยราชสูตร]
ขออนุโมทนา
กราบขอบคุณในกรุณาของท่านอาจารย์ผเดิมครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
สำคัญที่จุดประสงค์จริงๆ ว่า เพื่ออะไร เป็นเรื่องของการขัดเกลากิเลสจริงๆ สำหรับการรักษาอุโบสถศีล ไม่ได้จำกัดที่รูปแบบหรือวิธีการ แต่อยู่ที่สภาพจิตใจของผู้ที่รักษา และสิ่งที่ควรทำในวันดังกล่าว ก็สำคัญอยู่ที่การมีโอกาสได้ฟังพระธรรม สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูก พร้อมกับความตั้งใจที่จะสมาทานงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ จากการลักทรัพย์ จากการประพฤติในสิ่งที่ไม่ประเสริฐ จากการบริโภคอารหารในเวลาวิกาล จากการฟ้อนรำประโคมดนตรี และ การประดับตกแต่งร่างกาย และ จากการนอนบนที่นอนสูงใหญ่ เพราะผู้ที่ยังมีกิเลสนั้น จะต้องอาศัยการขัดเกลามากมาย ถ้าเป็นวัตถุพระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงอุปมาว่าจะต้องใช้ขี้ตะกรัน ดินเหนียว หรืออาศัยเกลือ น้ำด่าง น้ำ อาศัยน้ำมัน อาศัยขี้เถ้า เป็นต้น ในการขัด แต่ในการขัดเกลากิเลสนั้นต้องอาศัยการเจริญกุศลทีละเล็กละน้อย ผู้ที่ยังไม่ได้เจริญสติปัฏฐาน (ระลึกรู้สภาพธรรม) มากพอที่จะบรรลุเป็นพระอริยบุคคลในวันนี้ พรุ่งนี้ นั้น โอกาสใดที่จะเจริญกุศลขัดเกลากิเลส ก็ไม่ควรละเว้นโอกาสนั้น
จะเห็นได้ว่า การขัดเกลากิเลส และความดีนั้น ไม่จำกัด ยิ่งเจริญมากเท่าไรก็ยิ่งเป็นประโยชน์ อุโบสถก็เช่นเดียวกัน ไม่ควรจะจำกัดเวลาว่าเฉพาะวันอุโบสถเท่านั้น แต่การกุศลทุกประเภทนั้นควรเจริญโดยไม่จำกัดเวลา ถ้าไม่สามารถรักษาศีล ๘ ได้ เพียงศีล ๕ ก็เป็นประโยชน์เช่นเดียวกันถ้ามีความจริงใจ มีความตั้งใจที่จะงดเว้นจากความประพฤติที่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่น ในขณะที่งดเว้นนั้น ก็เป็นความดีสำหรับตนเอง เป็นการขัดเกลากิเลสของตนเอง ครับ.
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
รักษาศีล 8 เพื่อขัดเกลากิเลสเพิ่มขึ้น ทางกาย วาจา ค่ะ
ขอบคุณทุกท่านครับ
ผมเคยได้ยินมาว่าบุญคือความสุข ทั้งนี้ ความสุขในทางพุทธศาสนาที่แท้จริงมีอยู่ 4 ประการด้วยกันได้แก่ ความสงัดเป็นสุขของผู้สันโดษ ผู้มีธรรมปรากฏแล้ว ผู้เห็นชัดอยู่ ความสำรวมระวังคือความไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลายเป็นสุขในโลก ความปราศจากราคะคือการล่วงกามได้เป็นสุขในโลก และความกำจัดอัสมิมานะได้เป็นสุขอย่างยิ่ง สำหรับอานิสงส์ของบุญในประการอื่นๆ เช่นความสุขในการได้เกิดในเทวโลก พรหมโลก การได้เป็นผู้ร่ำรวยเป็นความสุขที่เกิดจากบุญก็ตามแต่ไม่ใช่ความสุขแท้จริงหนึ่งในสี่ประการดังกล่าวแต่อย่างใด ดังนั้นแม้จะบวชเป็นพระภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนา โดยได้ถือศิลพระปาฏิโมกข์ครบถ้วนไม่ด่างพร้อยเพียงใด แต่หากยังละกิเลสไม่ได้ก็ยังถือไม่ได้ว่าได้บุญตรงตามประสงค์ทางพุทธศาสนา
สรุป คำตอบของอาจารย์ทุกท่านเป็นกำลังใจให้แก่ผมในการถือศิลต่อไป ทำให้เห็นว่าสามถึงสี่ปีที่ผ่านมาอุโบสถศิลที่ผมถือมานี้คงเป็นพละปัจจัยหรือที่ท่านอาจารย์ผเดิมเรียกว่าศิลบารมีจักได้นำผมไปสู่เป้าประสงค์ของบุญที่แท้จริงในทางพระพุทธศาสนาได้ครบถ้วนทั้งสี่ประการต่อไปครับ
สุดท้ายนี้ขอให้ธรรมทานที่อาจารย์ทุกท่านซึ่งมีจิตอันเป็นกุศลได้เพียรตอบคำถามในทุกกระทู้ที่ผ่านมาทั้งหมดและที่จะมีต่อไปในภายหน้าจงเป็นบารมีให้อาจารย์ทุกท่านมีความสุขอันเกิดแต่ผลบุญนี้ตลอดกาลนานด้วยครับ สาธุ สาธุ สาธุครับ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขอเป็นอีกหนึ่งกำลังใจในกุศลจิต สาธุ
ขออนุโมทนาค่ะ
ขออนุโมทนาค่ะ สาธุๆ ๆ ในการสะสมกุศลจิต