๒. อักฐสตปริยายสูตร ว่าด้วยพระพุทธองค์ทรงแสดงประแห่งเวทนา
โดย บ้านธัมมะ  22 ก.ย. 2564
หัวข้อหมายเลข 37409

[เล่มที่ 29] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 52

๒. อัฏฐสตปริยายสูตร

ว่าด้วยพระพุทธองค์ทรงแสดงประเภทแห่งเวทนา


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 29]



ความคิดเห็น 1    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 23 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 52

๒. อัฏฐสตปริยายสูตร

ว่าด้วยพระพุทธองค์ทรงแสดงประเภทแห่งเวทนา

[๔๓๐] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมปริยายอันมีปริยายต่างๆ ๑๐๘ แก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟังธรรมปริยายนั้น ก็ธรรมปริยายอันมีปริยาย ๑๐๘ เป็นไฉน. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โดยปริยายหนึ่ง เรากล่าวเวทนา ๒ ก็มี โดยปริยายหนึ่ง เรากล่าวเวทนา ๓ ก็มี โดยปริยายหนึ่ง เรากล่าวเวทนา ๑๘ ก็มี โดยปริยายหนึ่ง เรากล่าวเวทนา ๓๖ ก็มี โดยปริยายหนึ่ง เรากล่าวเวทนา ๑๐๘ ก็มี.

[๔๓๑] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็เวทนา ๒ เป็นไฉน. เวทนา ๒ คือ เวทนาทางกาย ๑ เวทนาทางใจ ๑ เหล่านี้เราเรียกว่า เวทนา ๒.

[๔๓๒] ก็เวทนา ๓ เป็นไฉน. เวทนา ๓ คือ สุขเวทนา ๑ ทุกขเวทนา ๑ อทุกขมสุขเวทนา ๑ เหล่านี้เราเรียกว่า เวทนา ๓.

[๔๓๓] ก็เวทนา ๕ เป็นไฉน. เวทนา ๕ คือ สุขินทรีย์ ๑ ทุกขินทรีย์ ๑ โสมนัสสินทรีย์ ๑ โทมนัสสินทรีย์ ๑ อุเบกขินทรีย์ ๑ เหล่านี้เราเรียกว่า เวทนา ๕.

[๔๓๔] ก็เวทนา ๖ เป็นไฉน. เวทนา ๖ คือ จักขุสัมผัสสชาเวทนา ๑ โสตสัมผัสสชาเวทนา ๑ ฆานสัมผัสสชาเวทนา ๑ ชิวหาสัมผัสสชาเวทนา ๑ กายสัมผัสสชาเวทนา ๑ มโนสัมผัสสชาเวทนา ๑ เหล่านี้เราเรียกว่า เวทนา ๖.


ความคิดเห็น 2    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 23 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 53

[๔๓๕] ก็เวทนา ๑๘ เป็นไฉน. เวทนา ๑๘ คือ เวทนาที่สหรคตด้วยโสมนัส ๖ เวทนาที่สหรคตด้วยโทมนัส ๖ เวทนาที่สหรคตด้วยอุเบกขา ๖ เหล่านี้ เราเรียกว่าเวทนา ๑๘.

[๔๓๖] ก็เวทนา ๓๖ เป็นไฉน. เวทนา ๓๖ คือ เคหสิตโสมนัส ๖ เนกขัมมสิตโสมนัส ๖ เคหสิตโทมนัส ๖ เนกขัมมสิตโทมนัส ๖ เคหสิตอุเบกขา ๖ เนกขัมมสิตอุเบกขา ๖ เหล่านี้เราเรียกว่าเวทนา ๓๖.

[๔๓๗] เวทนา ๑๐๘ เป็นไฉน. เวทนา ๑๐๘ คือ เวทนาที่เป็นอดีต ๓๖ ที่เป็นอนาคต ๓๖ ที่เป็นปัจจุบัน ๓๖ เหล่านี้เราเรียกว่า เวทนา ๑๐๘ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมปริยายอันมีปริยาย ๑๐๘ แม้นี้แล.

จบ อัฏฐสตปริยายสูตรที่ ๒

อรรถกถาอัฏฐสตปริยายสูตรที่ ๒

พึงทราบวินิจฉัยในอัฏฐสตปริยายสูตรที่ ๒ ดังต่อไปนี้.

บทว่า อฏฺสตปริยายํ คือเป็นเหตุ ๑๐๘. บทว่า ธมฺมปริยายํ คือเหตุแห่งธรรม. ในบทว่า กายิกา จ เจตสิกา จ นี้ เวทนาทางกายย่อมได้ในกามาวจรเท่านั้น. เวทนาทางใจ ก็เป็นไปในภูมิ ๔. สุขเวทนาในบทเป็นอาทิว่า สุขา ย่อมไม่มีในอรูปาวจร แต่ย่อมได้ในภูมิ ๓ ที่เหลือ. ทุกขเวทนา จัดเป็นกามาวจร. เวทนานอกนี้ก็เป็นไปในภูมิ ๔. ในหมวด ๕ สุขินทรีย์ ทุกขินทรีย์ โทมนัสสินทรีย์ จัดเป็นกามาวจร. โสมนัสสินทรีย์ เป็นไปในภูมิ ๓. อุเบกขินทรีย์ เป็นไปในภูมิ ๔.


ความคิดเห็น 3    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 23 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 54

ในหมวด ๖ เวทนาในทวาร ๕ จัดเป็นกามาวจร. เวทนาในมโนทวาร เป็นไปในภูมิ ๔. ในหมวด ๑๘ ในอารมณ์อันน่าปรารถนา ๖ ชื่อว่า โสมนัสสุปวิจาร เพราะอรรถว่า ย่อมเข้าไปไตร่ตรองกับด้วยโสมนัส. แม้ในสองบทที่เหลือ ก็มีนัยนี้เหมือนกัน. เทศนานี้มาแล้วด้วยสามารถแห่งวิจารด้วยประการดังนี้. แต่พึงทราบเวทนา ๑๘ ในที่นี้ ด้วยสามารถแห่งโสมนัสเป็นต้น อันสัมปยุตด้วยวิจารนั้น.

พึงทราบในบทเป็นอาทิว่า ฉ เคหสิตานิ โสมนสฺสานิ ความว่า โสมนัสอาศัยกามคุณ อันท่านกล่าวแล้วในทวาร ๖ อย่างนี้ว่า เมื่อระลึกถึงการได้ โดยการได้แห่งรูปอันพึงรู้ด้วยจักษุ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารื่นรมย์แห่งใจ อันประกอบด้วยโลกามิส หรือเมื่อระลึกถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว ดับไปแล้ว เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ซึ่งตนเคยได้แล้วในอดีต โสมนัสก็ย่อมเกิดขึ้น. โสมนัสเห็นปานนี้ ท่านเรียกว่า เคหสิตโสมนัส โสมนัสอาศัยเรือน ชื่อว่าโสมนัสอาศัยเรือน ๖.

เมื่อสามารถเพื่อให้ขวนขวายเริ่มวิปัสสนาด้วยสามารถความไม่เที่ยงเป็นต้น เกิดโสมนัสว่า วิปัสสนาอันเราขวนขวายแล้วดังนี้ โสมนัสเกิดขึ้นแล้ว เมื่ออารมณ์อันน่าปรารถนาไปปรากฏในทวาร ๖ อย่างนี้ว่า ก็แล เมื่อรู้แจ้งว่ารูปทั้งหลายไม่เที่ยง ก็พิจารณาเห็นอยู่ซึ่งความแปรปรวน คลายกำหนัดและดับเสียได้ ด้วยปัญญาอันเห็นชอบตามเป็นจริงนั้น อย่างนี้ว่า รูปทั้งหลายในอดีตก็ดี ในปัจจุบันก็ดี รูปเหล่านั้นทั้งปวง ก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดาดังนี้ โสมนัสก็ย่อมเกิดขึ้น. โสมนัสเห็นปานนี้. ท่านเรียกว่า เนกขัมมสิตโสมนัส โสมนัสอาศัยการออกจากกาม ชื่อว่า โสมนัสอาศัยการออกจากกาม ๖.


ความคิดเห็น 4    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 23 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 55

โทมนัสอาศัยกามคุณ อันเกิดขึ้นแล้วแก่ผู้ตรึกอยู่ว่า เราจักไม่เสวย จะไม่เสวยอารมณ์อันน่าปรารถนาดังนี้ ในทวาร ๖ อย่างนี้ว่า เมื่อพิจารณาเห็นอยู่ซึ่งการไม่ได้ โดยการไม่ได้แห่งรูปทั้งหลาย พึงรู้ด้วยจักษุ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารื่นรมย์แห่งใจ อันประกอบด้วยโลกามิส หรือเมื่อพิจารณาเห็นอยู่ซึ่งสิ่งที่ล่วงไปแล้ว ดับไปแล้ว เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ซึ่งอันตนยังไม่เคยได้แล้วในอดีต โทมนัสก็ย่อมเกิดขึ้น โทมนัสเห็นปานนี้ ท่านเรียกว่า เคหสิตโทมนัส โทมนัสอาศัยการอยู่ครองเรือนดังนี้ ชื่อว่า โทมนัสอาศัยการอยู่ครองเรือน ๖.

ส่วน ภิกษุผู้รู้แจ้งว่ารูปทั้งหลายไม่เที่ยง เห็นซึ่งความแปรปรวน คลายกำหนัด และดับเสียได้ด้วยปัญญา อันชอบตามเป็นจริงนั้น อย่างนี้ว่า. รูปทั้งหลายในอดีตก็ดี ในปัจจุบันก็ดี รูปเหล่านั้นทั้งปวงก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดาดังนี้ ย่อมยังความพยายามให้เข้าไปตั้งอยู่ในวิโมกข์อันยอดเยี่ยมว่า เมื่อไรเราจักเข้าตทายตนะ (เหตุให้จิตหลุดพ้นอยู่). พระอริยะทั้งหลายย่อมเข้าอายตนะอยู่ดังนี้. ด้วยอาการอย่างนี้ เมื่อเธอยังความพยายามให้เข้าไปตั้งอยู่ในวิโมกข์อันยอดเยี่ยม โทมนัสก็ย่อมเกิดขึ้น เพราะความพยายามเป็นปัจจัย. โทมนัสเห็นปานนี้ ท่านเรียกว่า เนกขัมมโทมนัส โทมนัสอาศัยการออกจากกาม

เมื่ออารมณ์ อันน่าปรารถนาไปปรากฏในทวาร ๖ อย่างนี้ โทมนัสอันเกิดขึ้นแล้วแก่เธอผู้ยังความพยายามให้เข้าไปตั้งไว้ในธรรมคืออริยผล กล่าวคืออนุตตรวิโมกข์ แต่ไม่สามารถเพื่อให้ขวนขวายเริ่มวิปัสสนาด้วยอำนาจแห่งความไม่เที่ยงเป็นต้น เพื่อบรรลุอริยผลธรรมนั้นได้ จึงเสียดายอยู่ว่า เราไม่สามารถเพื่อจะขวนขวายถึงวิปัสสนาแล้ว บรรลุอริยภูมิได้


ความคิดเห็น 5    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 23 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 56

ทั้งปักษ์นี้ ทั้งเดือนนี้ ทั้งปีนี้ ชื่อว่า เนกขัมมสิตโทมนัส โทมนัส อาศัยการออกจากกาม ๖.

เมื่ออารมณ์อันน่าปรารถนาไปปรากฏในทวาร ๖ อย่างนี้ว่า พาลปุถุชนคนลุ่มหลง คือคนหนาอันยังไม่เกิดวิบาก ไม่เห็นโทษ ไม่ได้สดับ เห็นรูปด้วยจักษุแล้ว อุเบกขาก็ย่อมเกิดขึ้น อุเบกขาเห็นปานนี้อันใด อุเบกขานั้น ย่อมล่วงรูปไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นอุเบกขานั้น ท่านเรียกว่า เคหสิตอุเบกขา อุเบกขาอาศัยเรือนดังนี้. อุเบกขาอาศัยกามคุณเกิดขึ้นแล้ว เมื่อล่วงรูปเป็นต้นไปไม่ได้ เหมือนแมลงวันหัวเขียวล่วงเลยน้ำอ้อยไปไม่ได้ ฉะนั้นก็ต้องข้องอยู่ในรูปนั้นนั่งเอง. ชื่อว่า เคหสิตอุเบกขา อุเบกขาอาศัยเรือน.

อุเบกขาสัมปยุตด้วยญาณ อันเป็นวิปัสสนาเกิดขึ้นแล้วแก่ผู้ไม่กำหนัดในอารมณ์อันน่าปรารถนา ไม่ขัดเคืองในอารมณ์อันไม่น่าปรารถนา ไม่หลงในการเพ่งดูอารมณ์อันไม่สม่ำเสมอ. เมื่ออารมณ์อันน่าปรารถนาไปปรากฏในทวาร ๖ อย่างนี้ว่า ก็แล เมื่อรู้แจ้งว่า รูปทั้งหลายไม่เที่ยง พิจารณาเห็นอยู่ซึ่งความแปรปรวน คลายกำหนัดและดับเสียได้ ด้วยปัญญาอันชอบตามความจริงนั้นอย่างนี้ว่า รูปทั้งหลายในอดีตก็ดี ในปัจจุบันก็ดี รูปเหล่านั้นทั้งปวง ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดาดังนี้. อุเบกขาก็ย่อมเกิดขึ้น. อุเบกขาเห็นปานนี้ใด อุเบกขานั้นย่อมล่วงรูปไปได้ เพราะฉะนั้น อุเบกขานั้น ท่านเรียกว่า เนกขัมมสิตอุเบกขา อุเบกขาอาศัยการออกจากกาม ๖ ดังนี้ ชื่อว่า อุเบกขาอาศัยการออกจากกาม ๖. ในพระสูตรนี้ พระองค์ตรัสการกำหนดธรรม อันเป็นไปในภูมิ ๔ อันรวบรวมธรรมไว้ทั้งหมด. สูตรที่ ๓ เป็นต้นไปมีเนื้อความง่ายทั้งนั้น.

จบ อรรถกถาอัฏฐสตปริยายสูตรที่ ๒