ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
อรรถของจิตประการที่ ๔ คือ อนึ่ง จิตแม้ทุกดวงชื่อว่า จิต เพราะเป็นธรรมชาติวิจิตรตามสมควร โดยอำนาจแห่งสัมปยุตตธรรม (เจตสิกที่เกิดร่วมด้วย) ทำให้จำแนกจิตออกเป็นประเภทต่างๆ ได้หลายนัย เช่น โดยชาติ ๔ ได้แก่ เป็นกุศล ๑ อกุศล ๑ วิบาก ๑ กิริยา ๑ โดยภูมิ ๔ คือ กามาวจรจิต รูปาวจรจิต อรูปาวจรจิต โลกุตตรจิต
กามาวจรจิต มีทั้ง ๔ ชาติ คือ เป็นอกุศลก็มี เป็นกุศลก็มี เป็นวิบากก็มี เป็นกิริยาก็มี นอกจากกามาวจรจิตแล้ว จิตระดับที่สูงกว่านั้นไม่เป็นอกุศล คือ รูปาวจรจิตที่เป็นอกุศลไม่มี อรูปาวจรจิตที่เป็นอกุศลไม่มี โลกุตตรจิตที่เป็นอกุศลไม่มี (และที่เป็นกิริยาไม่มี)
ฉะนั้น รูปาวจรจิตจึงมี ๓ ชาติ คือ กุศล วิบาก กิริยา รูปาวจรกุศลจิตเป็นเหตุให้รูปาวจรวิบากจิต ทำกิจปฏิสนธิเป็นพรหมบุคคลในพรหมโลกภูมิหนึ่งภูมิใดในรูปพรหม ๑๕ ภูมิ และรูปาวจรปัญจมฌานเป็นปัจจัยให้รูปปฏิสนธิเป็นอสัญญสัตตาพรหมบุคคลในอสัญญสัตตาพรหมภูมิ ๑ ภูมิ รูปาวจรกิริยาเป็นกิริยาจิตของพระอรหันต์ขณะที่เป็นรูปฌานจิตขั้นต่างๆ
อรูปาวจรจิตก็มี ๓ ชาติ คือ กุศล วิบาก กิริยา โดยนัยเดียวกัน
รูปาวจรจิตและอรูปาวจรจิตเป็นมหัคคตจิต ข้อความในอัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ อธิบายความหมายของ "มหัคคตะ" ว่า ชื่อว่า มหคฺคต เพราะถึงความเป็นสภาวะอันใหญ่ เพราะสามารถข่มกิเลสได้ เพราะมีผลไพบูลย์
กิเลสเป็นสิ่งที่ข่มไม่ได้ง่าย เพราะพอเห็นก็เกิดพอใจหรือไม่พอใจ แต่ในขณะที่จิตเป็นอัปปนาสมาธิเป็นฌานจิตนั้น จิตสงบแนบแน่นในอารมณ์ทางมโนทวาร ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่รู้รส ไม่รู้โผฏฐัพพะ ขณะที่เป็นฌานจิต ไม่ว่าจะเป็นระยะเวลานานเท่าไรก็ตาม ภวังคจิตจะไม่เกิดคั่นแทรกเลย ไม่เหมือนกับเวลาที่เป็นกามาวจรจิต ซึ่งเป็นขณะที่เล็กน้อยและสั้นมากเป็นปริตตธรรม เพราะเห็นชั่ววาระสั้นๆ ได้ยินชั่ววาระสั้นๆ คิดนึกชั่ววาระสั้นๆ ขณะที่เป็นกามาวจรจิตนั้นรู้อารมณ์หนึ่งๆ ชั่ววาระที่สั้นจริงๆ เมื่อจักขุทวารวิถีจิตเกิดขึ้นรู้รูปารมณ์ คือ สิ่งที่ปรากฏทางตาดับไป ภวังคจิตก็ต้องเกิดต่อทันทีก่อนที่มโนทวารวิถีจิตจะรับรู้สิ่งที่ปรากฏทางตาต่อจากจักขุทวารวิถีจิต กามาวจรธรรม คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และจิตที่รู้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะจึงเป็นปริตตธรรม แต่มหัคคตจิตซึ่งได้แก่ รูปาวจรจิต และอรูปาวจรจิตนั้น ถึงความเป็นสภาวะอันใหญ่ เพราะสามารถข่มกิเลสได้ จึงเป็นมหัคคตจิต
ขณะที่เป็นอัปปนาสมาธิ คือฌานจิตเกิดดับสืบต่อกันนั้น ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้โผฏฐัพพะ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และไม่คิดนึกเรื่องรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะใดๆ เลย จึงชื่อว่าสามารถข่มกิเลส แต่เมื่อฌานจิตดับหมดแล้วกามาวจรจิตก็เกิดต่อ เมื่อวิถีจิตเกิดขึ้นทางทวารต่างๆ อกุศลชวนวิถีก็เกิดได้ถ้าไม่ใช่กุศล เพราะเมื่อยังไม่ได้ดับกิเลสเป็นสมุจเฉท เมื่อเห็นแล้วอกุศลจิตก็เกิดขึ้น เมื่อได้ยินแล้วอกุศลจิตก็เกิด เมื่อกายกระทบสัมผัสแล้วอกุศลจิตก็เกิด มีใครรู้บ้างว่าอกุศลจิตเกิดอยู่เรื่อยๆ เมื่อไม่รู้ ก็ไม่ได้ข่ม และไม่ได้อบรมเจริญหนทางที่จะดับกิเลส
ก่อนการตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ที่เห็นโทษของอกุศลจิตซึ่งเกิดสืบต่อจากเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้โผฏฐัพพะ ก็ได้พยายามหาทางที่จะข่มกิเลส และรู้ว่าทางเดียวที่จะข่มกิเลสได้ คือ ต้องไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่รู้รส และไม่รู้โผฏฐัพพะ เพราะถ้าเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น รู้รสและรู้โผฏฐัพพะ ก็กั้นกิเลสไม่ได้ เมื่อรู้อย่างนี้จึงอบรมเจริญกุศลจิตที่ทำให้สงบจากโลภะ โทสะ โมหะ จนถึงอัปปนาสมาธิ ซึ่งไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่รู้รส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสใดๆ นอกจากอารมณ์ที่ทำให้จิตเป็นกุศล สงบมั่นคงแนบแน่นทางใจเพียงอารมณ์เดียวเท่านั้น อัปปนาสมาธิซึ่งเป็นฌานจิตนั้นไม่ใช่หนทางที่จะดับกิเลส เพราะเมื่อฌานจิตไม่เกิด กิเลสก็เกิด ชั่วขณะที่เป็นรูปาวจรจิตและอรูปาวจรจิตนั้นเป็นสภาวะอันใหญ่เป็นมหัคคตะ เพราะข่มกิเลสได้โดยไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่รู้รส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่เหมือนพระอนาคามีบุคคล ซึ่งเห็นแต่ดับความยินดีพอใจในรูป ได้ยินแต่ดับความยินดีพอใจในเสียง ได้กลิ่นแต่ดับความยินดีพอใจในกลิ่น ลิ้มรสแต่ดับความยินดีพอใจในรส กระทบสัมผัสแต่ดับความยินดีพอใจในเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึงไหวที่ปรากฏ ฉะนั้น จิตจึงต่างกันเป็น ๔ ภูมิ คือ ๔ ระดับขั้น
รูปาวจรจิตและอรูปาวจรจิตมี ๓ ชาติ คือ กุศล ๑ วิบาก ๑ กิริยา ๑
โลกุตตรจิตมี ๒ ชาติ คือ เป็นโลกุตตรกุศลประเภท ๑ เป็นโลกุตตรวิบากประเภท ๑ ไม่มีโลกุตตรกิริยาจิต โลกุตตรจิตมี ๘ ดวง คือ
โสตาปัตติมัคคจิตเป็นโลกุตตรกุศล
โสตาปัตติผลจิตเป็นโลกุตตรวิบาก
สกทาคามิมัคคจิตเป็นโลกุตตรกุศล
สกทาคามิผลจิตเป็นโลกุตตรวิบาก
อนาคามิมัคคจิตเป็นโลกุตตรกุศล
อนาคามิผลจิตเป็นโลกุตตรวิบาก
อรหัตตมัคคจิตเป็นโลกุตตรกุศล
อรหัตตผลจิตเป็นโลกุตตรวิบาก
โดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ จัดพิมพ์เผยแพร่ โดย คณะกรรมการ ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนม์พรรษา ครบ ๗๕ พรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๕
ขอเชิญอ่านหรือดาวน์โหลดหนังสือ ...
ปรมัตถธรรมสังเขป
ขอเชิญอ่านตอนต่อไป ...
ความจริงแห่งชีวิต
ขออนุโมทนา
ขออุทิศกุศล แด่ คุณพ่อ คุณแม่ และสรรพสัตว์
ขออนุโมทนาค่ะ
ขออนุโมทนาครับ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ