[เล่มที่ 31] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 475
๗. ปฐมฉิคคฬสูตร
ว่าด้วยความเป็นมนุษย์แสนยาก
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 31]
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 475
๗. ปฐมฉิคคฬสูตร
ว่าด้วยความเป็นมนุษย์แสนยาก
[๑๗๔๓] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษโยนแอกซึ่งมีช่องเดียวลงไปในมหาสมุทร เต่าตาบอดมีอยู่ในมหาสมุทรนั้น ต่อล่วงร้อยปีๆ มันจะโผล่ขึ้นคราวหนึ่งๆ เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เต่าตาบอดนั้น ต่อล่วงร้อยปีๆ มันจะโผล่ขึ้นคราวหนึ่งๆ จะสอดคอให้เข้าไปในแอกซึ่งมีช่องเดียวโน้นได้บ้างหรือหนอ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าล่วงกาลนานไปบางครั้งบางคราว เต่าจะสอดคอให้เข้าไปในแอกนั้นได้บ้าง.
พ. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เต่าตาบอด ต่อล่วงร้อยปีๆ มันจะโผล่ขึ้นคราวหนึ่งๆ สอดคอให้เข้าไปในแอกซึ่งมีช่องเดียวโน้น ยังจะเร็วกว่า เราย่อมกล่าวความเป็นมนุษย์เพราะคนพาลผู้ไปสู่วินิบาตแล้วคราวเดียวก็หามิได้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่าในวินิบาตนี้ ไม่มีการประพฤติธรรม การประพฤติชอบ การกระทำกุศล การกระทำบุญ มีแต่การเคี้ยวกินกันและกัน การเคี้ยวกินผู้มีกำลังน้อยกว่า ย่อมเป็นไปในวินิบาตนี้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะไม่เห็นอริยสัจ ๔ อริยสัจ ๔ เป็นไฉน คือ ทุกขอริยสัจ ฯลฯ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงกระทำความเพียรเพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา.
จบปฐมฉิคคฬสูตรที่ ๗
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 476
อรรถกถาปฐมฉิคคฬสูตร
พึงทราบอธิบายในปฐมฉิคคฬสูตรที่ ๗.
คำว่า มีแต่การเคี้ยวกินกันและกัน ได้แก่ การเคี้ยวกินซึ่งกันและกัน.
คำว่า การเคี้ยวกินผู้มีกำลังน้อย ได้แก่ ปลาเป็นต้นที่มีกำลัง เคี้ยวกินปลาเป็นต้น ตัวที่น้อยกำลังกว่า.
จบอรรถกถาปฐมฉิคคฬสูตรที่ ๗