๓. เรื่องอานนทเศรษฐี [๔๗]
โดย บ้านธัมมะ  25 ก.ค. 2564
หัวข้อหมายเลข 34830

[เล่มที่ 41] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 182

๓. เรื่องอานนทเศรษฐี [๔๗]


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 41]



ความคิดเห็น 1    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 182

๓. เรื่องอานนทเศรษฐี [๔๗]

ข้อความเบื้องต้น

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในกรุงสาวัตถี ทรงปรารภอานนทเศรษฐี ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "ปุตฺตามตฺถิ ธนมตฺถิ" เป็นต้น.

อานนทเศรษฐีสั่งสอนบุตรให้ตระหนี่

ได้ยินว่า ในกรุงสาวัตถี เศรษฐีชื่อ อานนท์ มีสมบัติประมาณ ๘๐ โกฏิ (แต่) เป็นคนตระหนี่มาก อานนท์เศรษฐีนั้น ให้พวกญาติประชุมกันทุกกึ่งเดือนแล้ว กล่าวสอนบุตร (ของตน) ผู้ชื่อว่า มูลสิริ ใน ๓ เวลาอย่างนี้ว่า เจ้าอย่าได้ทำความสำคัญว่า ทรัพย์ ๔๐ โกฏินี้มาก เจ้าไม่ควรให้ทรัพย์ที่มีอยู่ ควรยังทรัพย์ใหม่ให้เกิดขึ้น เพราะเมื่อบุคคลทำกหาปณะแม้หนึ่งๆ ให้เสื่อมไป ทรัพย์ย่อมสิ้นไปด้วยเหมือนกัน เพราะเหตุนั้น.

บุคคลผู้ฉลาด พึงเห็นความสิ้น (ไป) แห่งยาสำหรับหยอด (ตา) ความก่อขึ้นแห่งตัวปลวกทั้งหลาย และการประมวลมาแห่งตัวผึ้งทั้งหลาย พึงอยู่ครองเรือน.

อานนท์เศรษฐีตายไปเกิดในตระกูลคนจัณฑาล

โดยสมัยอื่นอีก อานนท์เศรษฐีนั้นไม่บอกขุมทรัพย์ใหญ่ ๕ แห่งของตนแก่บุตร อาศัยทรัพย์ มีความหม่นหมองเพราะมลทิน คือความตระหนี่


ความคิดเห็น 2    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 183

ทำกาละแล้ว ถือปฏิสนธิในท้องของหญิงจัณฑาลคนหนึ่ง ในจำพวกจัณฑาลพันตระกูล ที่อยู่อาศัยในบ้านใกล้ประตูแห่งหนึ่ง แห่งพระนครนั้นนั่นเอง พระราชาทรงทราบการทำกาละของอานนท์เศรษฐีแล้ว รับสั่งให้เรียกมูลสิริผู้บุตรของเขามา ทรงตั้งไว้ในตำแหน่งเศรษฐี.

ตระกูลแห่งคนจัณฑาลตั้งพันแม้นั้น ทำงานเพื่อค่าจ้าง โดยความเป็นพวกเดียวกันเทียว เป็นอยู่ จำเดิมแต่กาลถือปฏิสนธิของทารกนั้น ย่อมไม่ได้ค่าจ้างเลย ทั้งไม่ได้แม้ก้อนข้าวเกินไปกว่าอาหารพอยังอัตภาพให้เป็นไป พวกเขากล่าวว่า "บัดนี้ เราทั้งหลายแม้ทำการงานอยู่ ย่อมไม่ได้อาหารสักว่าก้อนข้าว หญิงกาลกิณีพึงมีในระหว่างเราทั้งหลาย" ดังนี้แล้ว จึงแยกกันออกเป็น ๒ พวก จนแยกมารดาบิดาของทารกนั้นอยู่แผนกหนึ่งต่างหาก ไล่มารดาของทารกนั้นออก ด้วยคิดว่า หญิงกาลกิณีเกิดในตระกูลนี้ ทารกนั้นยังอยู่ในท้องของหญิงนั้นตราบใด หญิงนั้นได้อาหารแม้สักว่ายังอัตภาพให้เป็นไปโดยฝืดเคืองตราบนั้น คลอดบุตรแล้ว.

ทารกนั้น ได้มีมือและเท้า นัยน์ตา หู จมูก และปากไม่ตั้งอยู่ในที่ตามปกติ ทารกนั้นประกอบด้วยความวิกลแห่งอวัยวะเห็นปานนั้น ได้มีรูปน่าเกลียดเหลือเกิน ดุจปิศาจคลุกฝุ่น แม้เมื่อเป็นเช่นนี้ มารดาก็ไม่ละบุตรนั้น จริงอยู่ มารดาย่อมมีความเยื่อใยเป็นกำลังในบุตรที่อยู่ในท้อง นางเลี้ยงทารกนั้นอยู่โดยฝืดเคือง ในวันที่พาเขาไป ไม่ได้อะไรๆ เลย ในวันที่ให้เขาอยู่บ้าน แล้วไปเองนั่นแล จึงได้ค่าจ้าง.

มารดาปล่อยบุตรไปขอทานเลี้ยงชีพเอง

ต่อมา ในกาลที่ทารกนั้นสามารถเที่ยวไป เพื่อก้อนข้าวเลี้ยงตัวได้


ความคิดเห็น 3    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 184

นางวางกระเบื้องไว้บนมือแล้ว กล่าวกะบุตรนั้นว่า "พ่อ แม่อาศัยเจ้า ถึงความลำบากมาก บัดนี้ แม่ไม่อาจเลี้ยงเจ้าได้ อาหารวัตถุทั้งหลาย มีข้าวเป็นต้นที่เขาจัดไว้เพื่อคนทั้งหลายมีคนกำพร้าและคนเดินทางเป็นต้น มีอยู่ในนครนี้ เจ้าจงเที่ยวไปเพื่อภิกษาในนครนั้นเลี้ยงชีพเถิด" ดังนี้แล้ว ปล่อยบุตรนั้นไป ทารกนั้นเที่ยวไปตามลำดับเรือน ถึงที่แห่งตนเกิดในคราวเป็นอานนท์เศรษฐีแล้ว เป็นผู้ระลึกชาติได้ เข้าไปสู่เรือนของตน ใครๆ ไม่ได้สังเกตเขาในซุ้มประตูทั้งสาม ในซุ้มประตูที่ ๔ พวกบุตรของมูลสิริเศรษฐีเห็น (เขา) แล้วมีใจหวาดเสียวร้องไห้แล้ว ลำดับนั้น พวกบุรุษของเศรษฐีกล่าวกะทารกนั้นว่า "เองจงออกไป คนกาลกิณี" โบยพลางนำออกไปโยนไว้ที่กองหยากเยื่อ.

พระศาสดาแสดงธรรมแก่มูลสิริเศรษฐี

พระศาสดา มีพระอานนทเถระเป็นปัจฉาสมณะ เสด็จบิณฑบาต ถึงที่นั้นแล้ว ทอดพระเนตรดูพระเถระ อันพระเถระนั้นทูลถามแล้ว ตรัสบอกพฤติการณ์นั้น พระเถระให้เชิญมูลสิริเศรษฐีมาแล้ว หมู่มหาชนประชุมกันแล้ว พระศาสดาตรัสเรียกมูลสิริเศรษฐีมาแล้ว ตรัสถามว่า "ท่านรู้จักทารกนั่นไหม" เมื่อมูลสิริเศรษฐีนั้นทูลว่า "ไม่รู้จัก" จึงตรัสว่า "ทารกนั้น คืออานนท์เศรษฐีผู้บิดาของท่าน" แล้วยังทารกนั้นให้บอก (ขุมทรัพย์) ด้วยพระดำรัสว่า "อานนท์เศรษฐี ท่านจงบอกขุมทรัพย์ใหญ่ ๕ แห่งแก่บุตรของท่าน" แล้วทรงยังมูลสิริเศรษฐี ผู้ไม่เชื่ออยู่นั้นให้เชื่อแล้ว มูลสิริเศรษฐีนั้นได้ถึงพระศาสดาเป็นสรณะแล้ว พระศาสดาเมื่อจะทรงแสดงธรรมแก่มูลลิริเศรษฐีนั้น จึงตรัส


ความคิดเห็น 4    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 185

พระคาถานี้ว่า.

๓. ปุตฺตา มตฺถิ ธนมตฺถิ อิติ พาโล วิหญฺติ อตฺตา หิ อตฺตโน นตฺถิ กุโต ปุตฺตา กุโต ธนํ.

"คนพาลย่อมเดือดร้อนว่า บุตรทั้งหลายของเรามีอยู่ ทรัพย์ (ของเรา) มีอยู่ ตนแล (ชื่อว่า) ย่อมไม่มีแก่ตน บุตรทั้งหลายจักมีแต่ที่ไหน ทรัพย์จักมีแต่ที่ไหน".

แก้อรรถ

พึงทราบเนื้อความแห่งคาถานี้ว่า.

"คนพาลย่อมเดือดร้อนด้วยความอยากในบุตร และด้วยความอยากในทรัพย์ว่า "บุตรทั้งหลายของเรามีอยู่ ทรัพย์ของเรามีอยู่" คือย่อมลำบาก ย่อมถึงทุกข์ คือย่อมเดือดร้อนว่า "บุตรทั้งหลายของเรา ฉิบหายแล้ว" ย่อมเดือดร้อนว่า ฉิบหายอยู่ ย่อมเดือดร้อนว่า จักฉิบหาย แม้ในทรัพย์ก็มีนัยนี้เหมือนกัน คนพาลย่อมเดือดร้อนด้วยอาการ ๖ อย่าง ด้วยประการฉะนี้ คนพาลแม้พยายามอยู่ในที่ทั้งหลาย มีทางบกและทางน้ำเป็นต้น ทั้งกลางคืนและกลางวันโดยประการต่างๆ ด้วยคิดว่า เราจักเลี้ยงบุตรทั้งหลาย ชื่อว่าย่อมเดือดร้อน แม้ทำกรรมทั้งหลายมีการทำนาและการค้าขายเป็นต้น ด้วยคิดว่า เราจักยังทรัพย์ให้เกิดขึ้น ชื่อว่าย่อมเดือดร้อนเหมือนกัน ก็เมื่อเขาเดือดร้อนอยู่อย่างนั้น ตนแลชื่อว่าย่อมไม่มีแก่ตน เมื่อเขาไม่อาจทำคนที่ถึงทุกข์ด้วยความคับแค้นนั้น ให้ถึงสุขได้ แม้ในปัจจุบันกาล ตนของเขาแล ชื่อว่าย่อมไม่มีแก่ตน


ความคิดเห็น 5    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 186

เมื่อเขานอนแล้วบนเตียงเป็นที่ตาย ถูกเวทนาทั้งหลายมีความตายเป็นที่สุด เผาอยู่ราวกะว่าถูกเปลวเพลิงเผาอยู่ เมื่อเครื่องต่อและเครื่องผูก (เส้นเอ็น) จะขาดไป เมื่อร่างกระดูกจะแตกไป แม้เมื่อเขาหลับตาเห็นโลกหน้า ลืมตาเห็นโลกนี้อยู่ ตนแลแม้อันเขาให้อาบน้ำวันละ ๒ ครั้ง ให้บริโภควันละ ๓ ครั้ง ประดับด้วยของหอมและระเบียบดอกไม้เป็นต้น เลี้ยงแล้วตลอดชีวิต ก็ชื่อว่าย่อมไม่มีแก่ตน เพราะความที่ตนเป็นผู้ไม่สามารถจะทำเครื่องต้านทานทุกข์โดยความเป็นสหายได้ บุตรจักมีแต่ที่ไหน ทรัพย์จักมีแต่ที่ไหน คือว่าในสมัยนั้น บุตรหรือทรัพย์ จักทำอะไรได้เล่า แม้เมื่ออานนท์เศรษฐีไม่ให้อะไรๆ แก่ใครๆ รวบรวมทรัพย์ไว้เพื่อประโยชน์แก่บุตร นอนบนเตียงเป็นที่ตายในกาลก่อนก็ดี ถึงทุกข์นี้ในบัดนี้ก็ดี บุตรแต่ที่ไหน ทรัพย์แต่ที่ไหน คือว่าบุตรหรือทรัพย์นำทุกข์อะไรไปได้ หรือให้สุขอะไรเกิดขึ้นได้เล่า.

ในกาลจบเทศนา การตรัสรู้ธรรมได้มีแก่สัตว์ ๘๔,๐๐๐ เทศนาได้มีประโยชน์แก่มหาชนแล้ว ดังนี้แล.

เรื่องอานนทเศรษฐี จบ.