ในพระไตรปิฎกแสดงการให้ไว้หลายลักษณะ ซึ่งจะขอกล่าวถึงเพียงบางพระสูตร
อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต ทานวัตถุสูตร มีข้อความว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ทานวัตถุ ๘ ประการนี้ ๘ ประการเป็นไฉน คือ
บางคนให้ทานเพราะชอบพอกัน ๑
บางคนให้ทานเพราะโกรธ ๑
บางคนให้ทานเพราะหลง ๑
บางคนให้ทานเพราะกลัว ๑
บางคนให้ทานเพราะนึกว่า บิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย เคยให้มา เคยทำมา เราไม่ควรให้เสียวงศ์ตระกูลดั้งเดิม ๑
บางคนให้ทานเพราะนึกว่า เราให้ทานนี้แล้ว เมื่อตายไป จักเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ๑
บางคนให้ทานเพราะนึกว่า เมื่อเราให้ทานนี้ จิตใจย่อมเลื่อมใส ความเบิกบานใจ ความดีใจ ย่อมเกิดตามลำดับ ๑
บางคนให้ทานเพื่อประดับปรุงแต่งจิต ๑
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ทานวัตถุ ๘ ประการ นี้แล
ซึ่งใน มโนรถปูรณี อรรถกถาอังคุตตรนิกาย ได้อธิบายว่า
ประการที่ ๑ บางคนให้ทานเพราะชอบพอกัน
โดยฐานะที่ว่า เป็นมิตรสหาย เป็นหมู่คณะ เป็นพวกเป็นพ้อง จึงได้ให้ ไม่ได้มุ่งประโยชน์ของการให้ แต่เป็นเพราะเหตุว่าชอบพอกัน เป็นมิตรสหายกัน
ประการที่ ๒ บางคนให้ทานเพราะโกรธ
เป็นไปได้ไหม ในอรรถกถากล่าวว่า คนโกรธแล้ว สิ่งใดมีอยู่ ก็รีบจับส่งสิ่งนั้นให้ไปเลย ถ้าเป็นการให้ที่ไม่มีความโกรธ ก็คงจะให้ด้วยความนอบน้อม ด้วยความเคารพ
ประการที่ ๓ บางคนให้เพราะหลง
ความว่า เป็นผู้หลงไปเพราะโมหะ เพราะไม่มีความเข้าใจอย่างถูกต้อง ไม่รู้ว่าสิ่งที่ให้ไปแล้วนั้นจะเป็นประ โยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์ ความเข้าใจผิดในพระธรรมวินัยมี แทนที่จะเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่พระศาสนา ก็อาจจะไปส่งเสริมให้เกิดความเข้าใจผิดยิ่งขึ้นก็เป็นได้
ประการที่ ๔ บางคนให้เพราะกลัว
คือ กลัวครหา กลัวเสื่อมเสียชื่อเสียงว่า ถ้าไม่ให้แล้วจะเป็นโทษ ไม่เป็นที่เคารพนับถือของบุคคลอื่น หรือเป็นที่ตำหนิติเตียนของบุคคลอื่นได้ หรือเพราะกลัวอบายภูมิ
ประการที่ ๕ บางคนให้เพราะนึกว่า ไม่ให้เสียวงศ์ตระกูล
กล่าวคือ เป็นประเพณีของตระกูล จึงให้
ประการที่ ๖ บางคนให้เพราะนึกว่า เราให้ทานนี้แล้ว เมื่อตายไป จักเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์
มุ่งหมายเพียงเท่านั้นเอง ต้องการผล คือ ได้รับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ที่ดีๆ
ประการที่ ๗ บางคนให้ทานเพราะนึกว่า เมื่อเราให้ทานนี้ จิตใจย่อมเลื่อมใส ความเบิกบานใจ ความดีใจ ย่อมเกิดตามลำดับ
ยังมีความเป็นตัวตน ยังอยากให้ตัวตนนี้สบายใจ บางคนพอเกิดไม่สบายใจ กลุ้มใจ ก็ให้ทานเพื่อให้ใจสบาย แต่ไม่ได้รู้ลักษณะของนามธรรมของรูปธรรม
เพราะฉะนั้น จึงกล่าวว่า ผู้ที่ประพฤติธรรมสม่ำเสมอ คือ เป็นผู้ที่สมบูรณ์ด้วยคุณธรรม มีศรัทธา เป็นต้น ถึงแม้ว่าผู้นั้นจะมีของน้อยก็ให้ได้ ซึ่งทานของบุคคลอื่นนั้น ย่อมไม่เทียมเท่า เพราะที่ทานจะมีผลน้อยหรือมีผลมากนั้น ก็เพราะความบังเกิดขึ้นแห่งทาน ถ้าความบังเกิดขึ้นแห่งทานไม่บริสุทธิ์ ผลของทานก็น้อย แต่ถ้าท่านผู้นั้นประพฤติธรรมสม่ำเสมอ ถึงแม้ท่านจะมีของน้อยที่ท่านให้ได้ แต่ความประพฤติธรรมสม่ำเสมอทำให้ทานนั้น มีอานิสงส์มาก มีผลมาก
อย่างท่านที่เจริญสติเป็นปกติ เวลาที่ให้ทาน สติก็ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมของรูปธรรม ผลและอานิสงส์ คือ ดับทุกข์ทั้งปวง ดับภพ ดับชาติ ดับการยึดถือในขณะที่ให้นั้นว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน ซึ่งดีกว่าการที่จะไปหวังสุคติโลกสวรรค์ และผลของทานประการอื่นๆ
ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...
แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 168