กรรมนิยาม [ความแน่นอนของกรรม]
โดย pornpaon  29 เม.ย. 2552
หัวข้อหมายเลข 12104

[เล่มที่ 76] พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 82

กรรมนิยาม (ความแน่นอนของกรรม) ความที่กรรมนั้นๆ ให้ผลเช่นเดียวกันกับกรรมนั้นๆ อย่างนี้คือ กรรมที่ประกอบด้วยกุศลเหตุ ๓ ย่อมให้วิบากเป็นติเหตุกะ ทุเหตุกะ และอเหตุกะ กรรมที่ประกอบด้วยกุศลเหตุ ๒ ย่อมให้วิบากเป็นทุเหตุกะ และอเหตุกะ ไม่ให้วิบากเป็นติเหตุกะชื่อว่า กรรมนิยาม.
อีกอย่างหนึ่ง เป็นกรรมนิยามด้วยอำนาจแห่งวิบากเหมือนกับกรรมนั่นแหละ เพื่อแสดงกรรมนิยามนั้น ท่านอาจารย์ทั้งหลายกล่าวเรื่องไว้ดังนี้ ในสมัยแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บ้านใกล้ประตูพระนครสาวัตถีถูกไฟไหม้ กระจุกหญ้า ๒ ติดไฟโพลงแต่บ้านไฟไหม้นั้น ขึ้นไปสวมคอกาตัวบินทางอากาศ กานั้นร้องตกตายในแผ่นดิน.
เรือลำหนึ่งได้หยุดนิ่งลอยอยู่แม้ในมหาสมุทร เมื่อพวกเขาไม่เห็นทางที่ใครๆ จะปลอดภัยจากอันตรายในภายใต้ จึงใคร่ครวญจับสลากคนกาลกรรณีสลากนั้นได้ตกไปในมือหญิงภรรยาใกล้ชิดของนายเรือนั้นเท่านั้น ทีนั้น ชนทั้งหลายจึงพูดว่า ขอคนทั้งหมดอย่าพากันฉิบหายเพราะเหตุแห่งหญิงคนเดียว พวกเราจักโยนเขาไปในน้ำ นายเรือพูดว่า เราไม่อาจเห็นหญิงนี้ลอยอยู่ในน้ำได้ จึงให้เอาหม้อบรรจุทรายผูกติดคอโยนลงไป ในขณะนั้นนั่นเอง เรือก็แล่นไปดุจลูกศรที่ยิงไป ฉะนั้น. ..ฯลฯ
พวกภิกษุกราบทูลเรื่องทั้ง ๓ นี้ แด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ประทับนั่งแสดงธรรมในพระเชตวัน คราวเดียวกันทั้งหมด พระศาสดาตรัสว่า นั่นมิใช่ผู้อื่นกระทำ นั่นเป็นกรรมอันเขานั่นแหละทำแล้ว ดังนี้ เมื่อจะทรงนำเรื่องอดีตมาแสดงธรรม จึงตรัสว่า กาเป็นมนุษย์ในอัตภาพก่อน ไม่อาจเพื่อฝึกโคโกงตัวหนึ่ง จึงได้ผูกเขน็ดฟางสวมคอโคจุดไฟ โคนั้นตายด้วยเหตุนั้นแหละ บัดนี้ กรรมนั้นจึงไม่ปล่อยกานั้นแม้บินอยู่ทางอากาศ. แม้หญิงนี้ก็เป็นหญิงคนหนึ่งนั่นแหละในอัตภาพก่อน สุนัขตัวหนึ่งคุ้นเคยกัน เมื่อเธอไปป่าก็ไปด้วยเมื่อมาก็มาด้วย พวกมนุษย์ทั้งหลายผู้ออกไปย่อมเยาะเย้ยเธอว่า บัดนี้ พรานสุนัขออกแล้ว ดังนี้ นางอึดอัดอยู่ด้วยสุนัขนั้น เมื่อไม่อาจห้ามสุนัขได้ จึงเอาหม้อใส่ทรายผูกคอแล้วเหวี่ยงไปในน้ำ กรรมนั้นจึงไม่ปล่อยเธอในท่ามกลางสมุทร.
เมื่อทรงประชุมเรื่องทั้ง ๓ เหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้แล้ว จึงตรัสพระคาถานี้ว่า น อนฺตลิกฺเข น สมุทฺทมชฺเฌ น ปพฺพตานํ วิวรํ ปวิสฺส น วิชฺชเต โส ชคติปฺปเทโส ยตฺรฏฺฐิโต มุจฺเจยฺย ปาปกมฺมา ไม่ว่าในที่ใดๆ ในอากาศ ในกลาง ทะเลหรือในซอกเขา ส่วนภูมิประเทศที่สัตว์สถิตอยู่แล้ว จะพึงพ้นไปจากบาปกรรมได้ ไม่มี ดังนี้.นี้ ก็ชื่อว่า กรรมนิยาม เหมือนกัน. เรื่องอื่นๆ แม้เช่นนี้ก็ควรแสดง.