ข้อความใน อรรถกถาปปัญจสูทนี มีว่า
ภิกษุรูปนี้ คือ ท่านพระอริฏฐภิกขุนี้เป็นพหูสูตร เป็นธรรมกถึก รู้อันตรายิกธรรมที่เหลือ แต่เพราะไม่ฉลาดในวินัย จึงไม่รู้อันตรายิกธรรม คือ การก้าวล่วงพระบัญญัติ ดังนั้นเธอไปในที่ลับ จึงคิดอย่างนี้ว่า
บุคคลผู้ครองเรือนเหล่านี้ บริโภคกามคุณ ๕ อยู่ เป็นโสดาบันก็มี เป็น สกทาคามีก็มี เป็นอนาคามีก็มี ถึงพวกภิกษุเห็นรูปที่จักษุจะพึงเห็นได้อันน่าชอบใจ ถูกต้องโผฏฐัพพะที่จะพึงรู้ได้ด้วยกาย ใช้สอยเครื่องปูลาด นุ่งห่มอันอ่อนนุ่มทั้งหมดนั้น ก็ย่อมควร เหตุไรเล่า รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ของพวกหญิงเท่านั้นจะไม่ควร แม้รูปเป็นต้นนั้น ก็ย่อมควร เธอ (คือ ท่านอริฏฐภิกขุ) ครั้นเทียบเคียงรส ด้วยรสอย่างนี้แล้ว จึงทำการบริโภคอันมีฉันทราคะ และการบริโภคอันปราศจากฉันทราคะ ให้เป็นอันเดียวกัน
คือ ท่านคิดว่า เมื่อคฤหัสถ์ประพฤติปฏิบัติแล้วบรรลุเป็นพระโสดาบันได้ เป็นพระสกทาคามีได้ เป็นพระอนาคามีได้ เพราะฉะนั้น แม้บรรพชิตก็ย่อมจะเสพได้ ความคิดผิดของท่าน ความดำริผิดของท่านที่ไม่ทราบฐานะความเป็นจริงของความต่างกันระหว่างบรรพชิตกับฆราวาส ซึ่งเป็นเพศที่ต่างกันมากในการที่สละละอาคารบ้านเรือนด้วยศรัทธาที่มั่นคง ที่จะประพฤติมรรคพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์สิ้นเชิง
ความดำริของท่านที่ผิดไปเช่นนี้ เหมือนกันกับเอาเส้นด้ายอันละเอียดไป เปรียบกับเปลือกปออันหยาบ เธอมาทำ คือ เปรียบให้เป็นอันเดียวกัน เหมือนกับเอาเขาสิเนรุเข้าไปเปรียบกับเมล็ดพันธุ์ผักกาด อันทิฏฐิอันชั่วช้าให้เกิดขึ้นว่า ปฐมปาราชิกที่พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติแล้วด้วยความอุตสาหะอันใหญ่ ราวกะว่ากั้นมหาสมุทรไว้ ยังจะมีอยู่หรือ โทษในข้อนี้ไม่มี ซึ่งความดำริเช่นนี้ขัดแย้งกับ พระสัพพัญญุตญาณ ปฏิเสธเวสารัชญาณ ใส่เสี้ยนหนามเป็นต้นเข้าไปในอริยมรรค ให้การประทุษร้ายในอาณาจักรของพระผู้มีพระภาคว่า โทษในความประพฤติอย่างฆราวาส คือ การประพฤติของคนคู่ในเมถุนธรรมนั้นไม่มี ด้วยเหตุนั้น ภิกษุนั้น คือ อริฏฐภิกขุ จึงกล่าวคำเป็นต้นว่า
เรารู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว และเห็นว่าธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสแล้วว่าเป็นธรรมกระทำซึ่งอันตราย ธรรมเหล่านั้นไม่สามารถทำอันตรายแก่ผู้ส้องเสพได้จริง
นี่เป็นความละเอียดของสราคจิต หรือโลภมูลจิต ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การที่ ปุถุชนไม่ว่าจะเป็นฆราวาสหรือบรรพชิตจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้นั้น จะต้องเป็นผู้ที่รู้จักตัวเองตามความเป็นจริง แล้วประพฤติตามเพศตามความเป็นจริงที่ถูกต้องด้วย ถ้าบรรพชิตที่สละอาคารบ้านเรือนไปแล้วจะประพฤติอย่างฆราวาส จะไม่มีโอกาสที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้เลย เพราะเหตุว่าไม่ใช่ตัวจริงๆ เป็นการหลอกลวง ไม่ได้ตรงต่อความคิดที่จะสละละอาคารบ้านเรือน ซึ่งเป็นเพศที่ขัดเกลาอย่างยิ่ง แต่จะมาเปรียบเทียบกับเพศฆราวาส ซึ่งเทียบกับบรรพชิตไม่ได้เลย เหมือนกับการเอาด้ายที่ละเอียดมาเปรียบกับเปลือกปอ เอาเขาสิเนรุมาเปรียบกับเมล็ดพันธุ์ผักกาด
เพราะฉะนั้น ผู้ที่ยังเป็นฆราวาสอยู่ เจริญสติปัฏฐาน อริยมรรคมีองค์ ๘ ในเพศของฆราวาสก็จะต้องตรงต่อสภาพธรรมที่เกิดขึ้นกับท่านตามความเป็นจริง ไม่ว่าจะมีโลภะเท่าไร โทสะเท่าไร ทางกาย ทางวาจาเป็นอย่างไร ก็เป็นปกติที่ได้สะสมมา
การที่จะละการยึดถือนามรูปว่าเป็นตัวตนได้ มีทางเดียวเท่านั้น คือ สติระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังเกิดปรากฏ เป็นนามธรรมและรูปธรรมในขณะนั้นตามความเป็นจริงของท่าน
ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...
แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 141
แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 142