ผมได้ดาวน์โหลด เสียงบรรยายธรรม ของอาจารย์ สุจินต์ ไปฟังแล้ว ไม่เข้าใจหลายเรื่องจะทยอยสอบถามเรื่อยๆ ไป กราบขอความกรุณา ช่วยให้ความกระจ่างด้วยครับ จิตเป็นของที่ เกิด-ตั้งอยู่-ดับ เจตสิก ก็คือ สิ่งที่เกิด-ตั้งอยู่-ดับ พร้อมจิต เช่นกัน
คำถาม
๑. จิตทุกจิต มีเจตสิก เกิดพร้อม ทุกครั้งหรือไม่ เพราะเหตุใด
๒. เพราะเจตสิกต่างๆ กัน ที่เกิดกับจิต จึงทำให้จิตมีชื่อเรียก ต่างๆ กัน (ในคำบรรยาย อาจารย์)
๓. จิต ๑ จิต สามารถมีเจตสิก เกิดซ้อนกันได้มากกว่า ๑ เจตสิก หรือไม่ ถ้าได้มากที่สุดได้กี่เจตสิก
กราบขออภัย หากจะเป็นคำถามที่ไม่น่าถาม เพราะผมเพิ่งเริ่มสนใจ และศึกษาพระอภิธรรมด้วยตนเอง
๑. จิตทุกดวงต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเสมอทุกครั้งตามสมควร อย่างน้อย ๗ ประเภท เพราะจิตและเจตสิกเป็นธรรมที่ต้องอาศัยกันเกิดขึ้น ถ้าไม่มีจิต เจตสิกเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่มีเจตสิก จิตเกิดขึ้นไม่ได้
๒. เพราะอกุศลเจตสิกเกิดร่วมกับจิต จิตประเภทนั้น จึงมีชื่อว่าอกุศลจิต เพราะโสภณ เจตสิกเกิดร่วมกับจิต จิตนั้นจึงมีชื่อว่า โสภณจิต ฉะนั้น จิตจึงต่างกันหลายประเภท เพราะเจตสิกที่เกิดร่วมดัวย (สัมปยุตธรรม)
๓. จิตเกิดขึ้น ๑ ขณะ มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยอย่างน้อย ๗ ประเภท จำนวนเจตสิกที่เกิดมากที่สุดในมหากุศลประมาณ ๓๘ ประเภท (โดยรวม)
ขออนุโมทนา สาธุ
ขอแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมนะคะ ...
๑. จิตและเจตสิกเป็นสัมปยุตธรรม คือ เกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน รู้อารมณ์เดียวกัน สำหรับในภูมิที่มีขันธ์ ๕ จิตและเจตสิกเกิดที่รูปเดียวกัน คือ จักขุปสาท โสตปสาท ชิวหาปสาท ฆานปสาท กายปสาท และหทยวัตถุ
๒. เพราะเจตสิกต่างๆ กันที่เกิดกับจิต จึงทำให้จิตมีชื่อเรียก ต่างๆ กัน เช่น
- โลภมูลจิต โทสมูลจิต โมหมูลจิต
- กามาวจรจิต รูปาวจรจิต อรูปาวจรจิต โลกุตตรจิต
- อกุศลจิต โสภณจิต อเหตุกจิต
๓. สัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗ ดวง เป็นเจตสิกที่ต้องเกิดกับจิตทุกประเภท ได้แก่ ผัสสะ เจตนา สัญญา เวทนา เอกัคคตา มนสิการ และชีวิตินดริยเจตสิก
ขออนุโมทนา ที่ท่านเห็นประโยชน์ของการศึกษาพระอภิธรรม ศึกษาไปเรื่อยๆ อย่าท้อถอยนะคะ ขณะเดียวกัน ก็หมั่นพิจารณาสภาพธรรมที่กำลังปรากฎ
จิตหมายถึงสภาพรู้ เป็นใหญ่ในการรู้อารมณ์ จิตทั้งหมดมี ๘๙ หรือ ๑๒๑ เจตสิกมี ๕๒ ดวง ความโกรธ ความเมตตา ความโลภ ความหลง พวกนี้เป็นเจตสิกที่เกิด กับจิต จิตก็ยังแบ่งออกเป็น ๔ ชาติ ชาติกุศล อกุศล วิบาก กิริยา ที่เราศึกษาอภิธรรมจุดมุ่งหมายเพื่อให้เห็นว่าธรรมะทั้งหลายไม่ใช่สัตว์บุคคล มีปัจจัยหลาย อย่างปรุงแต่งให้จิตและเจตสิกเกิดแล้วก็ดับไปตามเหตุปัจจัย แล้วก็มีธรรมะอื่นเกิด อีกแล้วก็ดับอีก เราก็เรียนรู้ชื่อ แต่ปัญญายังไม่สามารถรู้การเกิดดับจนกว่าเราจะมี สัญญาที่มั่นในสภาพธรรมว่าไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตน
ยินดีในกุศลจิตค่ะ