ถ. สมมติว่า เราเจริญวิปัสสนา การเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานกับสมถกัมมัฏฐานอยู่ที่อารมณ์ สมถกัมมัฏฐานมีบัญญัติอารมณ์ ซึ่งมีกสิณ ๑๐ หรืออสุภ ๑๐ แต่การเจริญสติปัฏฐานมีปรมัตถ์ คือ รูปนามเป็นอารมณ์
เราจะดูอยู่ที่รูป พิจารณาอยู่ที่รูป รูปเป็นปรมัตถ์ ในฐานะที่เราปัญญายังน้อยยังอ่อนอยู่นี้ เราจะปิดทวารเสีย ๕ ทวาร คือ ให้นึกอยู่ในทวารเดียว คือ มโนทวาร เพื่อที่จะจับหรือเพื่อที่จะรู้ว่า อะไรเป็นรูป อะไรเป็นนาม อย่างนี้จะเป็นวิธีที่ถูกหรือผิด
หรือถ้าเราจะเจริญสติไปหมด ได้ยิน เสียงเกิดขึ้นก็รู้ รู้รส มีกลิ่นเกิดขึ้น สัมผัสเกิดขึ้น ก็รู้ ถูกต้อง เย็น ร้อน อ่อน แข็งตามรู้ไปหมด ในฐานะที่เรายังเป็นปุถุชนและสติยังน้อยอยู่นี้ ถ้าหากเราจะพิจารณาเพียงอย่างเดียว หมายความว่าเจริญกายานุปัสสนา ก็ดูที่กาย เอาสติไปตั้งไว้ที่กายเพียงอย่างเดียว หรือว่าจะเจริญเวทนา ก็พิจารณาเวทนาไปเพียงอย่างเดียว
สุ. ที่ท่านกล่าวว่า การที่จะพิจารณารู้นามรูปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ยาก อย่ากระไรเลย จะรู้แต่เฉพาะรูปทางใจเท่านั้นจะได้ไหม ขอถามว่า รูปอะไรทางใจ
ถ. รูปบัญญัติ รูป ๒๘ รูปบัญญัตินี้พูดง่ายๆ ก็ว่าตัวเรา พิจารณาที่ตัวเราเรียกว่ากาย คงไม่ผิดใช่ไหมครับ คือ กายา
สุ. เวลาที่จะรู้ลักษณะของนามและรูป อย่าลืม ลักษณะไม่ใช่ชื่อ ไม่ใช่ความจำ แต่ต้องมีลักษณะที่กำลังปรากฏทางหนึ่งทางใด ถ้าจะเป็นทางตา สีสัน วรรณะต่างๆ กำลังปรากฏ เป็นสิ่งที่สติจะต้องระลึกรู้ว่า เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น เสียงปรากฏนิดเดียว เป็นสิ่งที่ปรากฏให้รู้ได้ทางหูเท่านั้น กลิ่นปรากฏนิดเดียว เป็นสิ่งที่มีลักษณะจริงๆ
ในขณะที่กลิ่นกำลังปรากฏ ไม่ต้องสร้าง ไม่ต้องนึกอะไรขึ้นมาเลย เพราะฉะนั้น ถ้าปิด การไม่เจริญปัญญารู้รูปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย จะรู้รูปอะไรทางใจ มีลักษณะอะไรปรากฏเป็นรูปทางใจ
ถ. เราอาศัยรูปบัญญัติ คือ รูปร่างสัณฐาน คือ รูปทางกายของเรา ในขณะที่เรานั่งอยู่ เราก็พิจารณาว่า เป็นรูปนั่ง ไม่ใช่ตัวเรานั่ง
สุ. ขอประทานโทษ ถ้าพิจารณาว่า เป็นรูปนั่ง พิจารณาอย่างไร
ถ. ก็พิจารณารูปที่นั่ง ในใจก็กำหนดรู้ว่า รูปนั่ง เพื่อจะถอนอัตตะ
สุ. เวลานี้ที่มีความเห็นผิด เห็นผิดในอะไร เห็นผิดในนามรูปที่ประชุมรวมกัน เพราะว่าไม่ได้รู้ลักษณะที่ต่างกันของนามแต่ละนาม พอถึงรูปที่เราหลงผิดยึดถือว่าเป็นตัวตน ก็เพราะยึดถือรูปที่มาประชุมรวมกัน ไม่ใช่รู้รูปแต่ละทาง
ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...
แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 56