[คำที่ ๓๒๕] สวนานุตฺตริย
โดย Sudhipong.U  16 พ.ย. 2560
หัวข้อหมายเลข 32445

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “สวนานุตฺตริย”

คำว่า สวนานุตฺตริย เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านออกเสียงตามภาษาบาลีว่า สะ - วะ - นา - นุด - ตะ - ริ - ยะ] มาจากคำว่า สวน (ฟัง) กับคำว่า อนุตฺตริย (ยอดเยี่ยม,ไม่มีสิ่งอื่นยิ่งกว่า) รวมกันเป็น สวนานุตฺตริย แปลว่า การฟังที่ยอดเยี่ยม เขียนเป็นไทยได้ว่า สวนานุตตริยะ แสดงถึงการฟังที่ประเสริฐ ซึ่งไม่ใช่การฟังอย่างอื่น แต่เป็นการได้ฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ไม่ว่าจะเป็นบุคคลใดกล่าวก็ตาม เพราะทั้งหมดเป็นคำจริง เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกโดยตลอด

ข้อความใน พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต อนุตตริยสูตร แสดงถึงความเป็นจริงของการฟังที่ยอดเยี่ยม ไว้ดังนี้คือ

ก็ สวนานุตตริยะ (การฟังที่ยอดเยี่ยม) เป็นอย่างไร? ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมไปเพื่อฟังเสียงกลองบ้าง เสียงพิณบ้าง เสียงเพลงขับบ้าง หรือเสียงสูงๆ ต่ำๆ บ้าง ย่อมไปเพื่อฟังธรรมของสมณะหรือพราหมณ์ผู้เห็นผิดผู้ปฏิบัติผิด บ้าง ดูกร ภิกษุทั้งหลาย การฟังนี้ มีอยู่ เราไม่กล่าวว่า ไม่มี ก็แต่ว่าการฟังนี้นั้น เป็นกิจเลว เป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน ไม่ประเสริฐ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อสงบ-ระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ส่วน ผู้ใด มีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น มีศรัทธาไม่หวั่นไหว มีความเลื่อมใสยิ่ง ย่อมไปฟังธรรมของพระตถาคตหรือสาวกของพระตถาคต การฟังนี้ยอดเยี่ยมกว่าการฟังทั้งหลาย ย่อมเป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์แห่งสัตว์ทั้งหลาย เพื่อก้าวล่วงความโศกและความร่ำไร เพื่อความดับสูญแห่งทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุญายธรรม (อริยมรรค) เพื่อทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ข้อที่บุคคลผู้มีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น มีศรัทธาไม่หวั่นไหว มีความเลื่อมใสยิ่ง ไปเพื่อฟังธรรมของพระตถาคตหรือสาวกของพระตถาคต นี้ เราเรียกว่า สวนานุตตริยะ (การฟังที่ยอดเยี่ยม) .


การฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงโดยละเอียด โดยประการทั้งปวง ตลอด ๔๕ พรรษานั้น เป็นการฟังการศึกษาที่มีประโยชน์เป็นอย่างยิ่ง เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก เป็นการสะสมทรัพย์อันประเสริฐ เป็นเหตุแห่งความเจริญ เป็นการฟังการศึกษาที่ยอดเยี่ยม จะเห็นได้ว่า สิ่งที่ดีมีประโยชน์ นั้น ยิ่งฟังมาก ศึกษามาก ก็ยิ่งดี ซึ่งจะต้องมีความเข้าใจถูกเห็นถูกด้วย และจะต้องฟังต้องศึกษาไปจนตลอดชีวิตเท่าที่จะสามารถศึกษาได้ และประการที่สำคัญ คือ จุดประสงค์ในการฟังการศึกษาพระธรรมต้องตรงและถูกต้อง ผู้ศึกษาจึงจะได้รับประโยชน์จากการศึกษาพระธรรม เพราะถ้าจุดประสงค์ไม่ตรงแล้วย่อมมีโทษ ไม่ได้เป็นไปเพื่อการขัดเกลากิเลส มีแต่เพิ่มกิเลส เช่น ความสำคัญตนเป็นต้น

ถ้าหากจุดประสงค์ในการฟังการศึกษาถูกต้อง ก็จะรู้ว่า ตราบใดที่ยังไม่ได้ดับกิเลสทั้งหมดอย่างเด็ดขาด ศึกษาเท่าไรก็ยังไม่พอ แต่ก็ไม่ได้เหลือวิสัยสำหรับผู้ตั้งใจศึกษาที่จะสะสมปัญญาไปตามลำดับ เพราะพระธรรมแสดงถึงสิ่งที่มีจริง ไม่พ้นไปจากชีวิตประจำวัน ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ ที่สามารถเข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริงได้ สิ่งที่ไม่ควรลืม คือ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ต้องเป็นไปเพื่อการละ ถ้าหากกิเลสยังมีอยู่ ยังละไม่ได้ ยังดับไม่ได้ แล้วใครมาบอกเราว่า ศึกษาเท่านั้นเท่านี้พอ ก็ไม่ใช่สิ่งที่ตรงกับความจริงเลย เพราะการที่จะรู้ว่าพอจริงๆ ต้องรู้ด้วยปัญญาของผู้ที่ไม่มีกิเลสทุกประการแล้วเท่านั้น แม้จะเป็นพระอรหันต์ห่างไกลแสนไกลจากกิเลสโดยประการทั้งปวงแล้ว เสร็จกิจในการดับกิเลสแล้ว แต่ก็ยังฟังพระธรรม เพื่อรักษาพระธรรมให้มั่นคงสืบทอดต่อไป

ทุกคนที่เกิดมาในโลกนี้ มีเวลาไม่มากที่จะได้ฟังพระธรรม เพราะว่าส่วนใหญ่แล้ว ชีวิตก็เป็นไปในเรื่องอื่น เป็นไปกับด้วยกุศลอย่างมาก ซึ่งเมื่อเทียบกับการได้ฟังพระธรรม ก็จะรู้ได้ว่าในสังสารวัฏฏ์ที่ยาวนานจนถึง ณ บัดนี้และต่อไป เวลาที่จะได้มีโอกาสฟังพระธรรม พิจารณาพระธรรมจริงๆ และเริ่มเข้าใจพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง นั้น ก็ไม่มากเลย เพราะฉะนั้น จึงเป็นโอกาสสำหรับพุทธบริษัทที่จะได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมเพื่อความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องยิ่งขึ้น เพราะว่าในครั้งพุทธกาล ตอนที่มารทูลเชิญให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพาน พระองค์ได้ตรัสว่า ตราบใดที่พุทธบริษัท ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ยังไม่มีความรู้ความเข้าใจอย่างแตกฉานในพระธรรม ก็ยังไม่ปรินิพพาน และถึงแม้พระองค์จะเสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว ก็ยังเป็นหน้าที่ของพุทธบริษัททั้ง ๔ ซึ่งบัดนี้เหลือแต่เพียง ๓ บริษัท (ไม่มีพระภิกษุณี) ที่จะได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูก และ เพื่อดำรงรักษาพระธรรมไว้ ด้วยความเข้าใจที่ถูกต้องของแต่ละคน

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง นั้น เกิดจากการที่พระองค์ทรงบำเพ็ญพระบารมี (คุณความดีที่จะทำให้ถึงฝั่งของการดับกิเลส) มาถึง ๔ อสงไขยแสนกัปป์ ซึ่งเป็นระยะเวลาที่นานมาก เพราะฉะนั้น การที่จะได้มีโอกาสได้ยิน ได้ฟังพระธรรมแต่ละคำที่ทรงแสดงในครั้งนั้นและได้จารึกสืบทอดมาจนถึงยุคนี้ สมัยนี้ จึงเป็นสิ่งที่มีค่าสูงสุดในชีวิต ขณะใดที่ได้ฟังพระธรรมและเข้าใจ ขณะนั้นก็เป็นการบูชาพระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ได้ทรงบำเพ็ญพระบารมีมา โดยไม่ใช่เพื่อรู้แจ้งสภาพธรรมเพียงพระองค์เดียว แต่เพื่อที่จะทรงอนุเคราะห์เกื้อกูลให้บุคคลอื่นมีโอกาสได้เข้าใจพระธรรม ด้วย

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษานั้น เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ผู้ที่ได้ฟังและน้อมที่จะประพฤติปฏิบัติตามอย่างแท้จริง เป็นประโยชน์เกื้อกูลทั้งในปัจจุบันชาติ คือ ชาตินี้ และ ในชาติต่อๆ ไป พร้อมทั้งยังเป็นเหตุปัจจัยให้บรรลุถึงประโยชน์อย่างยิ่ง คือ การรู้แจ้งสภาพธรรม ดับกิเลสตามลำดับขั้นได้ ด้วย ที่สำคัญที่สุด ต้องเริ่มสะสมปัญญา จากการฟัง การศึกษาพระธรรม เป็นปกติในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นการฟังที่ยอดเยี่ยม เป็นช่วงเวลาที่มีค่าที่สุดสำหรับชีวิต เพราะจะเป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นแห่งปัญญาอย่างแท้จริง อันเนื่องมาจากอาศัยคำแต่ละคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ที่ได้ฟังได้ศึกษาพิจารณาไตร่ตรองจนเป็นความเข้าใจถูกเห็นถูกของตนเอง.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ



ความคิดเห็น 1    โดย chatchai.k  วันที่ 12 มี.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ 


ความคิดเห็น 2    โดย สิริพรรณ  วันที่ 8 ต.ค. 2564

กราบอนุโมทนาขอบพระคุณค่ะ