ในเกวัฏฏสูตร ได้กล่าวถึงพระภิกษุรูปหนึ่ง ชื่อมหาภูตปริเยสกะ ได้แสวงหามหาภูตรูปเที่ยวไปจนถึงพรหมโลก ไม่ได้ช่องแก้ปัญหา จึงมาทูลถามพระพุทธเจ้าว่า "ปฐวีธาตุอาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ เหล่านี้ ย่อมดับไปไม่มีเหลือในที่ไหน" แต่พระพุทธ-องค์ได้ตรัสว่า "เธอไม่ควรถามอย่างนั้น แต่ควรถามอย่างนี้ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุเตโชธาตุ วาโยธาตุ ย่อมตั้งอยู่ไม่ได้ในที่ไหน..."
เนื่องจากผมเพิ่งเริ่มศึกษาธรรมะ ยังไม่แตกฉานในอรรถ จึงขอความกรุณาช่วยอธิบายและวิเคราะห์ปัญหาต่อไปนี้ด้วยครับ
1. ช่วยแปลประโยคที่พระภิกษุทูลถามพระพุทธเจ้าเป็นภาษาให้เข้าใจง่ายๆ ครับ
2. ทำไมคำถามนี้จึงเป็นคำถามที่พระพุทธเจ้าไม่พยากรณ์ ด้วยบทว่า "เธอไม่ควรถาม อย่างนั้น"
3. ทำไมพระพุทธองค์ทรงแนะนำการตั้งคำถามว่า "แต่ควรถามอย่างนี้ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ ย่อมตั้งอยู่ไม่ได้ในที่ไหน..."
4. ช่วยขยายความในคำตอบของพระพุทธองค์ เพื่อจะได้รับประโยชน์ในการอ่าน และ พิจารณาธรรมให้ยิ่งขึ้นครับ
5. ช่วยแนะนำไฟล์ธรรมะที่ อ.สุจินต์ ได้กล่าวอธิบายพระสูตรนี้ด้วยครับ
ขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูงครับครับ
๑. อรรถกถาเกวัฏฏสูตร ท่านขยายความคำถามของพระภิกษุ ดังนี้ ...
บทว่า ในที่ไหนหนอแล อธิบายว่า บุคคล อาศัยอะไรแล้ว บรรลุอะไร มหาภูต ๔ นั้น จึงดับโดยไม่เหลือด้วยอำนาจเป็นไปไม่ได้ในที่ไหน
๒, ๓. อรรถกถาเกวัฏฏสูตร ท่านขยายความ ดังนี้ ข้อว่า ภิกษุไม่ควรถามปัญหาอย่างนี้ มีอธิบายว่า เพราะภิกษุควรถามปัญหาให้ถูกจุดหมาย ก็ภิกษุนี้ถือสิ่งไม่มีใจครองถามนอกจุดหมาย ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงปฏิเสธ นัยว่าการแสดงโทษคำถามของผู้หลงผิดในคำถามแล้วให้สำเนียกคำถาม จึงตอบในภายหลัง เป็นหลักปฏิบัติของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย เพราะเหตุไร เพราะผู้ไม่รู้เพื่อจะถามจึงถาม ชื่อว่าเป็นคนไม่ฉลาด พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงให้สำเหนียกปัญหาจึงตรัสว่า อาโปธาตุ ย่อมตั้งอยู่ไม่ได้ในที่ไหน ดังนี้เป็นต้น.
บทว่า ตั้งอยู่ไม่ได้ คือ ดำรงอยู่ไม่ได้ มีอธิบายว่า มหาภูตรูป ๔ เหล่านี้ อาศัยอะไรจึงเป็นอันตั้งอยู่ไม่ได้ท่านถามหมายถึงสิ่งมีใจครองเท่านั้น.
บทว่า ยาวและสั้น ท่านกล่าวถึงอุปาทายรูปโดยสัณฐาน.
บทว่า ละเอียด หยาบ หมายถึง เล็ก หรือ ใหญ่ ท่านกล่าวเพียงทรวดทรงในอุปาทายรูปเท่านั้น แม้ด้วยบทนี้
บทว่า งาม และ ไม่งาม คือ อุปาทายรูปที่ดี และ ไม่ดีนั่นเอง ก็ที่ว่า อุปาทายรูปงามไม่งาม มีอยู่ หรือ ไม่มี แต่ท่านกล่าวถึงอิฎฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์อย่างนี้.
บทว่า นาม และ รูป คือ นามและรูปอันต่างกัน มียาว เป็นต้น.
บทว่า อุปรุชฺฌติ แปลว่าย่อมดับไป พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงชี้แจง คำถามว่า ควรจะถามอย่างนี้ว่า นามและรูปนั้นอาศัยอะไรจึงเป็นไป ไม่ได้อย่างไม่มีเหลือ เมื่อจะทรงแก้ปัญหา จึงตรัสว่า ในปัญหานั้นมีพยากรณ์ ดังนี้ แล้วตรัสว่า ธรรมชาติที่รู้แจ้งเป็นต้น.
[เล่มที่ 12] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 242
๔. อรรถกถาเกวัฏฏสูตร
บทว่า ควรรู้แจ้ง คือ ธรรมชาติที่รู้แจ้ง เป็นชื่อของนิพพาน.นิพพานนั้น แสดงไม่ได้ เพราะไม่มีการแสดง นิพพานชื่อว่าไม่มีที่สุด เพราะไม่มีเกิด ไม่มีเสื่อม ไม่มีความเป็นอย่างอื่นของผู้ตั้งอยู่
บทว่า แจ่มใส คือ น้ำสะอาด นัยว่า บทนี้เป็นชื่อของท่าน้ำ เป็นที่น้ำไหล ท่านทำ ป อักษรให้เป็น ภ อักษร ท่าข้ามของนิพพานนั้นมีอยู่ทุกแห่ง เพราะฉะนั้นจึงชื่อมีท่าข้ามทุกแห่ง ชนทั้งหลายประสงค์จะข้ามจากที่ใดๆ ของมหาสมุทร มีท่าเป็นเส้นทางที่จะไม่มีท่าไม่มี ฉันใด ชนทั้งหลายประสงค์จะข้ามให้ถึงพระนิพพานโดยอุบายอันใดในกรรมฐาน ๓๘ กรรมฐานเป็นท่า เป็นเส้นทางกรรมฐานจะไม่ใช่ท่าของนิพพานไม่มี ฉันนั้น. เพราะเหตุนั้นท่านจึงกล่าวว่า มีท่าข้ามทุกแห่ง.
ในบทว่า อาโปธาตุ นี้ ท่านอาศัยนิพพาน จึงกล่าวทั้งหมดนั้นโดยนัยเป็นต้นว่า อาโปธาตุ ธรรมชาติที่มีใจครอง ย่อมดับโดยไม่มีเหลือคือ เป็นไปไม่ได้ พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงแสดงอุบายดับไม่มีเหลือของธรรมชาตินั้น จึงตรัสว่า เพราะวิญญาณดับ นามและรูปนั้นย่อมดับไม่มีเหลือในธรรมชาตินี้ ดังนี้.
บทว่า วิญญาณ คือ วิญญาณเดิมบ้าง วิญญาณที่ปรุงแต่งบ้าง จริงอยู่ เพราะวิญญาณเดิมดับ นามและรูปนั้นย่อมดับไม่มีเหลือ ในธรรมชาตินี้ คือว่า ย่อมถึงความไม่มีบัญญัติเหมือนเปลวประทีปที่ถูกเผาหมดไป ฉะนั้น เพราะไม่เกิดขึ้น และดับไปโดยไม่เหลือแห่งวิญญาณที่ปรุงแต่งนามและรูป จึงดับโดยไม่เกิดขึ้น เหมือนอย่างที่ท่านกล่าวไว้ว่า เพราะดับวิญญาณที่ปรุงแต่งด้วยโสดาปัตติมัคคญาณ นามและรูปที่พึงเกิดในสังสารวัฏฏ์อันไม่มีเบื้องต้น และที่สุด เว้นภพทั้ง ๗ ย่อมดับโดยไม่มีเหลือ ในธรรมชาตินี้ ดังนี้.
๕. ยังไม่พบคำบรรยายดังกล่าว
ขอเชิญคลิกอ่าน ...
ข้อความบางตอนจาก เกวัฏฏสูตร
ขออนุโมทนาครับ