[เล่มที่ 26] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 229
๖. อัญญตรสูตร
ว่าด้วยทําเหตุอย่างใดได้รับผลอย่างนั้น
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 26]
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 229
๖. อัญญตรสูตร
ว่าด้วยทำเหตุอย่างใดได้รับผลอย่างนั้น
[๑๖๙] พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี. ครั้งนั้นแล พราหมณ์ผู้หนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.
[๑๗๐] พราหมณ์นั้น ครั้นนั่งเรียบร้อยแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ คนนั้นทำเหตุ คนนั้นเสวยผลหรือหนอ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนพราหมณ์ โวหารนี้ว่า คนนั้นทำเหตุ คนนั้นเสวยผล เป็นส่วนสุดที่หนึ่ง พราหมณ์นั้นทูลถามว่า พระโคดมผู้เจริญ ก็คนอื่นทำเหตุ คนอื่นเสวยผลหรือ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนพราหมณ์ โวหารนี้ว่า คนอื่นทำเหตุ คนอื่นเสวยผล เป็นส่วนสุดที่สอง ดูก่อนพราหมณ์ ตถาคตแสดงธรรมโดยสายกลางไม่เข้าใกล้ส่วนสุดทั้งสองนั้นดังนี้ว่า เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขาร เพราะสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ ฯลฯ ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ ก็เพราะอวิชชาดับด้วยสำรอกโดยไม่เหลือ สังขารจึงดับ เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ ฯลฯ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้.
[๑๗๑] เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสอย่างนี้แล้ว พราหมณ์นั้นได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ พระธรรม
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 230
เทศนาแจ่มแจ้งยิ่งนัก ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ พระธรรมเทศนาแจ่มแจ้งยิ่งนัก ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางให้แก่คนหลงทาง หรือตามประทีปไว้ในที่มืด ด้วยหวังว่า คนมีจักษุจักเห็นรูปดังนี้ ฉันใด พระองค์ทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย ฉันนั้นเหมือนกัน ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์นี้ ขอถึงท่านพระโคดมกับทั้งพระธรรมและภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอท่านพระโคดมผู้เจริญ จงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป.
จบอัญญตรสูตรที่ ๖
อรรถกถาอัญญตรสูตรที่ ๖
ในอัญญตรสูตรที่ ๖ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
คำว่า อญฺตโร คือ พราหมณ์ผู้หนึ่งไม่ปรากฏชื่อ.
จบอรรถกถาอัญญตรสูตรที่ ๖