ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ๒๕ - ๒๗ มีนาคม ๒๕๕๗ [ตอนจบ]
โดย วันชัย๒๕๐๔  4 เม.ย. 2557
หัวข้อหมายเลข 24675

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ในวันที่สอง ของการเดินทางมาสนทนาธรรม ณ โรงแรมเอเชี่ยน หาดใหญ่ สงขลา ของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และ คณะวิทยากร ของมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา โดยการเชิญของคุณพนิดา มิตรปวงชน และ สมาชิกชมรมบ้านธัมมะ หาดใหญ่ มีคุณชลธี และ คุณสุคันธรส ภู่ชลธี เป็นต้น วันพุธ ที่ ๒๖ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ วันที่สอง ของการสนทนาธรรมที่หาดใหญ่ ในวันนี้ จะเป็นการสนทนาธรรมตลอดวัน ทั้งเช้าและบ่าย

อนึ่ง ขอเล่าย้อนหลังไปเมื่อวานสักเล็กน้อย โดยหลังการสนทนาธรรมเสร็จในตอนเย็น ก่อนที่ทุกท่านจะแยกย้ายกันไปรับประทานอาหารเย็น อาจารย์อรรณพแจ้งว่า สหายธรรมที่หาดใหญ่หลายท่าน มีความประสงค์จะขอสนทนาธรรมกลุ่มย่อยในตอนค่ำ จึงได้นัดแนะสถานที่มุมหนึ่งของห้องอาหารของโรงแรมไว้ ข้าพเจ้าและครอบครัว ก็ออกไปทานอาหารเย็นง่ายๆ ใกล้ๆ โรงแรมนั้นเอง เป็นร้านข้าวต้มปลากระพง ที่สด และ อร่อยมาก ราคาไม่แพงเลยครับ เกาเหลาปลา มีเนื้อปลาชิ้นหนาๆ โตๆ เยอะมาก ในน้ำซุบใสๆ หอมกรุ่น ราคาเพียง ๘๐ บาทเท่านั้น ไม่ได้รับค่าโฆษณาเขามาดอกนะครับ ทริปนี้ เราทั้งหมดคณะ มีความเห็นตรงกันว่า ข้าวต้มปลากระพงร้านนี้ แม้จะเป็นร้านรถเข็นริมถนน แต่เป็นความอร่อยประทับใจที่สุด

หลังรับประทานข้าวต้มเสร็จ เราเดินกลับที่พัก ข้าพเจ้าก็แวะไปสังเกตุการณ์ การสนทนาธรรมกลุ่มย่อยที่นัดกันไว้ พบอาจารย์อรรณพ อาจารย์ธีรพันธ์ คุณคำปั่น พี่เดือนฉาย รวมทั้งพี่แดงและพี่สงบ ก็อยู่ร่วมสนทนาเกื้อกูลด้วย ทั้งสองท่านน่ารักมาก ทราบว่าท่านทั้งสองเพิ่งกลับจากการเดินทางไปเที่ยวอังกฤษ มาถึงเมืองไทย ก็เดินทางตามท่านอาจารย์มาที่หาดใหญ่เลย แม้จะเหน็ดเหนื่อยก็ยังกรุณามาร่วมเกื้อกูล แก่สหายธรรมที่มีความสนใจ และไม่ปล่อยโอกาสที่หาได้ยากนี้ให้ผ่านเลยไป ข้าพเจ้านั่งฟังอยู่ครู่หนึ่ง ก็รู้สึกถึงความเพลีย และ ความอ่อนล้าจากการเดินทางไกล จึงกลับขึ้นไปอาบน้ำและนอนพัก หลับสบายจนตลอดคืน

ตื่นขึ้นมาในตอนเช้า ก็ไม่พลาดในการพาคณะทัวร์น้อยๆ ออกไปรับประทานอาหารเช้า ตามลายแทงที่หมายตาไว้เมื่อวานนี้ เพราะเห็นมีคนแน่นร้านในขณะที่เดินผ่าน ไม่เห็นกำลังของความติดข้องที่มีกำลังมากมายนั้นเลยครับ ไม่เห็นเลยจริงๆ เห็นแต่อาหารที่น่ารับประทาน และ ความคิดที่ว่า เมื่อมาทั้งทีก็ควรไปสำรวจที่อยู่ที่กิน ของคนหาดใหญ่ดูด้วย นั่นคงเป็นเหตุผลที่นำมาอ้าง แต่ความจริงที่คิดได้ตอนนี้ คือ ความสะสมของความติดข้องในเรื่องอาหารมีมากน่ะครับ ไม่ใช่เหตุอื่นเลย

เมื่อกลับจากทานอาหารเช้าข้างนอก เดินผ่านห้องอาหารเช้าของโรงแรมที่จัดไว้ให้ สำหรับท่านสมาชิกที่พักห้องพักชนิดรวมอาหารเช้าไว้ จึงถ่ายภาพมาฝากให้ได้ชมด้วย ใกล้เวลา จึงขึ้นไปยังห้องสนทนาธรรมที่จัดไว้ บนชั้น ๔ ของโรงแรม บรรยากาศดีมากครับ โล่ง โปร่ง สบาย มีแสงจากภายนอกเข้ามาพอเหมาะพอดี ทำให้การถ่ายภาพ และ การบันทึกวีดีโอ ได้ภาพและ แสงที่สวยงามพอควรเลยครับ

สหายธรรมเริ่มทยอยเดินทางมาถึง และ ทักทายสอบถามกันด้วยความชื่นชมยินดี บรรยากาศจึงอบอวลไปด้วยไมตรีจิต และ มิตรภาพ ของกลุ่มบุคคลที่พบแล้ว ซึ่งอริยทรัพย์อันประเสริฐที่สุดกว่าทรัพย์ใดๆ ในโลก ที่เคยแสวงหามาตลอดชีวิต แม้จะยังเป็นผู้ที่หาทรัพย์เพื่อเลี้ยงชีพอยู่ ก็เป็นผู้ที่ไม่เสียทีแล้ว ที่ได้เกิดมา และ รู้ด้วยตนว่า ทรัพย์ภายในที่มีค่ายิ่งนี้ ย่อมยังความปีติในใจ ที่อบอุ่น มั่นคง ไม่พลัดพราก สูญหายไปได้เหมือนทรัพย์อื่นๆ จึงเป็นที่พึงอันแท้จริง แก่บุคคลนั้นเอง เช่นนี้แล้ว จึงเป็นผู้ที่ซาบซึ้งในคำกล่าวที่ว่า ผู้ที่ศึกษาและเข้าใจธรรมนั้น เป็นผู้ที่ อาจหาญ ร่าเริง

ด้วยว่า เมื่อเข้าใจขึ้น ว่าทุกสิ่งเป็นแต่ธรรม ย่อมคลายออกจากความเห็นผิดว่ามีเรา มีเขา และ น้อมไปสู่ความมั่นคงขึ้น ในสิ่งที่กำลังปรากฏทั้งหลาย ในขณะนี้ ว่าเป็นแต่ธรรม ที่ เกิดขึ้น และ ดับไป หาความเที่ยงแท้ แน่นอน ใดๆ ไม่ได้เลย ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล เป็นความจริง ดังที่ท่านแสดงไว้ แม้ว่าความเข้าใจ ยังมีไม่มากพอที่จะประจักษ์แจ้งความจริง ตามที่ทรงแสดงไว้ แต่ก็รู้ว่า วันหนึ่ง ความจริงของสิ่งที่มีจริงๆ ในขณะนี้ จะปรากฏจนประจักษ์แจ้ง แก่ปัญญา ที่ได้อบรมแล้ว ตรงตามที่ได้ฟัง

ภาพคุณพวง ที่พี่แดงเล่าไว้ในกระทู้ บ้านธัมมะหลังใหม่ ที่หาดใหญ่ ครับ คุณพวง และ ครอบครัวของคุณพวง โดยเฉพาะคุณแม่ของคุณพวงซึ่งปัจจุบัน มีอายุ ๗๙ ปี ติดตามฟังท่านอาจารย์มากว่า ๒๐ ปีแล้ว เป็นครอบครัวตัวอย่าง ที่ข้าพเจ้ามีความประทับใจในเรื่องราวของการพบและฟังพระธรรมจากท่านอาจารย์ครับ

ดังที่ข้าพเจ้าเรียนทุกท่านทราบแต่ตอนแรก ว่า จะนำความธรรมะของช่วงเช้าวันนี้ มาฝากให้ทุกท่านได้พิจารณา เป็นตอนจบ สำหรับการนำเสนอการเดินทางมาหาดใหญ่ ของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และ คณะวิทยากร ของมูลนิธิฯ ในครั้งนี้ เป็นความที่ท่านอาจารย์ได้กล่าวถึง โคจร ๓ ไว้ อย่างน่าพิจารณายิ่ง ดังต่อไปนี้ครับ

อ.อรรณพ เจ้าของคำถาม คือ คุณชาญชัย เดี๋ยวจำเป็นต้องไปสุราษฎร์ฯตอนบ่ายครับ ก็ขอท่านอาจารย์ช่วย คือ เมื่อคืนนี้คุยกัน มีประเด็นหนึ่ง ก็คือ ปัญญามีขั้นฟัง แล้วก็ขั้นพิจารณา ไตร่ตรอง แล้วก็ ขั้นประจักษ์แจ้ง ที่สนทนากันนี้ ปัญญาในขั้นพิจารณา ไตร่ตรอง จินตามยปัญญา นี้ อาจจะทำให้เข้าให้ เข้าใจผิดว่า จะต้องคิดมากๆ คิดอะไรอย่างนี้ ก็เลยมีการสนทนาว่า การพิจารณา ไตร่ตรองด้วยปัญญา ที่เป็นไปตามคลองของพระธรรม ที่จะต่างกับการคิดธรรมะ แบบเตลิดเปิดเปิง ฟุ้งซ่าน ครับท่านอาจารย์

ท่านอาจารย์ กำลังฟังนี่ ไตร่ตรอง หรือ คิด คะ?

คุณชาญชัย ก็ไตร่ตรองอยู่ตลอด ครับ

ท่านอาจารย์ ค่ะ เพราะฉะนั้น ขณะใด ที่เข้าใจ สภาพธรรมะไตร่ตรอง ไม่ใช่เรา สภาพธรรมะ เกิด ดับ เร็วมาก ไม่ใช่เราจะมาไตร่ตรอง อีกต่างหาก แต่ว่า ขณะที่กำลังฟัง นี้เอง ก็สามารถที่จะเข้าใจ เพราะว่า ขณะนั้น ไม่ใช่เรา แต่มีเจตสิกฝ่ายดี เกิดขึ้น ทำกิจการงานพร้อมจิต ขณะนั้น ที่เข้าใจ ก็แสดงว่า มีปัญญา สภาพธรรมะที่เห็นถูกต้อง ตามความเป็นจริง เกิดร่วมด้วย

เพราะฉะนั้น การใช้สองภาษา จะทำให้เรา ค่อนข้างคิดว่า ขณะไหน เป็นพระธรรมที่แสดงโดยพระพุทธเจ้า หรือ ขณะไหน เป็นความคิดของเรา ซึ่งดูเหมือนว่า จะสอดคล้องกันหรือเปล่า? เช่น ปัญญาขั้นฟัง สุตมยญาน หมายความถึง ความเข้าใจ ที่สำเร็จ จากการฟัง ไม่ใช่ฟัง แล้วก็หลับไป ฟังแล้วก็ไม่สนใจ ฟังแล้วก็คิดเรื่องอื่น ขณะนั้น ไม่มีความเข้าใจ ไม่ใช่ปัญญา ที่สำเร็จ จากการฟัง เพราะฉะนั้น การฟังก็ยาก แม้แต่คำว่าขันธ์ แม้แต่คำว่า กุศลา ธัมมา อกุศลา ธัมมา อัพยากตา ธัมมา ทุกอย่าง ต้องฟัง ด้วยการที่ ขณะนั้น ไม่ใช่เรา แต่เพราะ มีสภาพธรรมะ ที่ไตร่ตรอง จึงสามารถเข้าใจได้

สัญญา เป็นสภาพที่ "จำ" ไม่ต้องใช้ภาษาบาลีว่า สัญญา เลย เดี๋ยวนี้ จำหรือเปล่าคะ?

ท่านผู้ฟัง จำครับ

ท่านอาจารย์ จำ เพราะฉะนั้น ขณะไหนไม่จำ? ความจริง จิตเกิดเมื่อไหร่ ต้องมีสภาพจำสิ่งที่จิตกำลังรู้ เพราะ จิตไม่จำ เห็นไหม? ความละเอียดของ หนึ่งขณะจิต ว่าธาตุรู้เกิดขึ้น รู้สิ่งที่ปรากฏ อย่าง "เห็น" ไม่ทำอะไรเลย นอกจาก "เห็น" "ได้ยิน" ไม่ทำอะไรเลบ นอกจาก "ได้ยิน" เพราะฉะนั้น สภาพของจิต เป็นอย่างนี้เอง จิตไม่ได้ทำอย่างอื่น แต่ "เจตสิก" ที่เกิดกับจิต ที่หลากหลาย ต่างก็ทำหน้าที่ของเจตสิกนั้นๆ ซึ่ง ไม่ใช่เรา

เพราะฉะนั้น ปัญญา ที่สำเร็จ จากการฟัง ถามว่า เข้าใจไม๊คะ? ตอบว่า เข้าใจ นั่นคือ ปัญญา ที่สำเร็จ จากการฟัง ไม่ใช่มีเรา ต่างหาก แต่ว่า จิต และ เจตสิก ซึ่งเกิดดับ สืบต่อ ในขณะที่กำลังฟังนั้นเอง ทำกิจต่างๆ กัน จนกระทั่ง ขณะนั้นก็ "เข้าใจ" เพราะฉะนั้น แม้แต่ "เข้าใจ" ก็เป็นธรรมะ เวลาที่ฟังแล้ว งานเยอะใช่ไหม? ถึงไม่ใช่งาน ก็เป็นเรื่องอื่น ใช่ไหม? เพราะฉะนั้น สัญญา ความจำ จำเรื่องสิ่งที่ได้ฟังไม่มั่นคง เพราะว่าอะไร?พอเราคิดเรื่องไหน สัญญาเรื่องนั้น จำเรื่องนั้น จึงคิดเรื่องนั้น

มีเรื่องตั้งเยอะ แล้วจะคิดเรื่องไหน? เพราะ "จำ" เรื่องนั้นไม่ลืม

แล้วก็ยังมีเจตสิกที่ไม่ใช่เรา แล้วก็ไม่ใช่สัญญา ด้วย แต่เป็นสภาพที่ "ตรึก" หรือ ภาษาธรรมะ ใช้คำว่า วิตักกเจตสิก คนไทย เรียกสั้นๆ อย่างเคย "วิตก" แต่ เข้าใจผิดหมดเลย คิดว่าต้องเป็นเรื่องกังวล เพราะว่า โดยมากเราจะคิดเรื่องที่เรากังวล แต่เวลาที่เราไม่กังวลก็ "คิด" ไม่ใช่จะคิดแต่เฉพาะตอนที่กังวลเรื่องหนึ่งเรื่องใด แม้เรื่องอื่น ก็ "คิด"

ทำอาหาร ทำกับข้าว คิดไหม? ไม่คิด ทำไม่ได้ ใช่ไหม? เขียนหนังสือ "คิด" หรือเปล่า? ก็ต้องคิด เพราะฉะนั้น ทั้งหมด ก็เป็นสภาพธรรมะ ที่เกิดกับจิต แล้วก็ทำงานอยู่เรื่อยๆ เหมือนกับเบื้องหลังโรงละครสักโรง ก็ต้องมีตัวเล่นข้างหน้า ทำโน่น ทำนี่ แต่ผู้จัดการ หรือ ผู้กำกับ อยู่ข้างหลัง คือ จิต และ เจตสิก ทำให้ "เห็น" เกิดขึ้น , "คิด" เกิดขึ้น เรื่องนั้น ทำเรื่องนี้ เป็น "จิต" ทั้งหมด เพราะ "รูป" ไม่รู้อะไร

เพราะฉะนั้น กว่าจะรู้ว่า เป็นธรรมะแต่ละหนึ่ง ขณะที่ฟังเข้าใจ เป็นสุตมยญานแต่ว่า จริงๆ แล้ว บางคนฟังแล้ว เขาไม่คิดเรื่องอื่น บ่อยเหมือนเคย เปลี่ยนเป็นคิดเรื่องธรรมะก่อนนอน ก็มีแต่เรื่องธรรมะที่ได้ฟัง หรือว่า ในขณะที่กำลังจะโกรธใคร ก็เกิดจำ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ใครคนที่ถูกโกรธ สบายมากไม่เดือดร้อนเลย คนโกรธเสียตลอด เพราะเหตุว่า อกุศลจิตเกิดขึ้น ทำร้าย อกุศลเจตสิก ทำร้ายจิต ในขณะนั้นเอง และ ยังจะทำร้ายคนอื่น ต่อไปอีก เพราะเขามีความรุนแรงขึ้น แล้วอกุศลนั้น อยู่ที่ไหน? ก็อยู่ในจิตของคนนั้นแหละ ไม่ไปอยู่ที่จิตของคนอื่นเลย

เพราะฉะนั้น สามารถที่จะตรึกถึงธรรมะได้ เมื่อจำการฟัง ถ้าเราฟังเรื่องไหนบ่อยๆ เราก็ไม่ลืมเรื่องนั้น โอกาสที่จะคิดถึงธรรมะ ไม่ใช่เพียงแต่ฟังอย่างเดียวยังจำข้อความที่ได้ฟังแต่ละคำ และ ไตร่ตรอง อย่างเดี๋ยวนี้ อาจจะคิดเรื่องขันธ์ ไม่ใช่เฉพาะที่ได้ฟังอะไรอีก ได้ยินแต่ชื่อ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญานขันธ์ แค่จำชื่อ เหมือนเก่งนะคะ แต่...เข้าใจหรือเปล่า? นี่สำคัญกว่า ไม่ใช่จำเฉยๆ เพราะกล่าวคำว่ารูปขันธ์ เดี๋ยวนี้ อะไร? เกิด ดับ หรือเปล่า? เป็นแต่ละหนึ่งด้วย


"สิ่งที่ปรากฏทางตา" เป็นขันธ์หนึ่ง "เสียง" เป็นขันธ์หนึ่ง เพราะอะไร? "เสียง" ก็เกิด ดับ "สิ่งที่ปรากฏทางตา" ก็เกิด ดับ อะไรที่เกิด ดับ เป็นขันธ์ทั้งนั้น เพราะมีลักษณะที่หลากหลายมาก "ทางตา" ก็อย่างหนึ่ง แล้วก็ ละเอียดมากด้วย "ทางกาย" ที่กระทบสัมผัส แม้แต่เพียงรับประทานอาหารชนิดหนึ่ง รสเป็นอย่างไร? บางอย่างกลมกล่อม ชนิดเดียวกัน บางอย่างรับประทานไม่ได้ อย่างแกงเผ็ด รสหลากหลายไหม? แม่ครัว ๑๐ คน อาหารที่ออกมา เป็นอย่างไร? แล้ว "จิต" ที่กำลังลิ้มรส เป็นอย่างไร?

นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นสิ่งซึ่ง ถ้าเราทำบ่อยๆ จนกระทั่งคุ้นเคย เราจะจำได้


แม่ครัวที่เก่ง เขาจะ คิดเรื่องอื่น มากเท่ากับเรื่องอาหารไหม? เขาก็ต้องคิดเรื่องอาหาร มากกว่าเรื่องอื่น ไม่ว่าเราจะมีความชำนาญทางหนึ่งทางใด ก็เพราะเราคิดถึงเรื่องนั้น บ่อยๆ เพราะฉะนั้น ธรรมะที่ฟังแล้ว เราจะเข้าใจขึ้นอีก ต่อเมื่อเราไม่ลืม มีโอกาส หรือ มีปัจจัยเมื่อไหร่ เกิดคิดธรรมะเรื่องนั้น ก่อนนอน หรือ ตื่นนอน คิด ทันที ขันธ์ ก็ได้ คิดอะไรก็ได้

สิ่งที่ได้ฟังมาทั้งหมด อุบาสกที่ดี มีอะไรบ้าง? อริยทรัพย์ มีอะไรบ้าง? ทุกอย่างที่ผ่าน ที่ได้ยิน ได้ฟัง ถ้าอยู่ในใจ ก็สามารถที่จะทำให้คิดถึงสิ่งนั้น โดยความเป็นอนัตตา ว่า ไม่ใช่เรา

เพราะฉะนั้น ทุกสิ่งทุกอย่าง ปัญญาที่เกิดจากการฟัง สำเร็จแล้วก็ยังมี ปัญญา ที่เกิดจากการไตร่ตรอง เข้าใจเพิ่มขึ้น ละเอียดขึ้นด้วย ก็ได้ เช่น ขณะนี้ ได้ยินว่า "มีสิ่งที่ปรากฏให้เห็น" เมื่อไหร่จะคิดอย่างนี้ อีกสักที??? ถามหน่อย??? เมื่อไหร่คะ?

ต่อให้เห็นอีกนานสักเท่าไหร่ เมื่อไหร่คะ? "เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้" ค่อยๆ ชิน ค่อยๆ ชำนาญ จนในที่สุด ก็สามารถที่จะเข้าใจ สิ่งที่ปรากฏทันที ที่เห็น


เพราะฉะนั้น ปัญญา จึงมีหลายระดับ ตั้งแต่ขั้นฟัง ขั้นฟัง แล้วก็ไม่ลืม แล้วก็คิด ไตร่ตรอง พิจารณา แล้วก็ยังจำตามลำดับด้วยได้ จะตามลำดับ หรือไม่ลำดับ ก็เป็นความเข้าใจ แต่บางครั้ง ความเข้าใจนั้น ก็จัดลำดับด้วยก็ได้ ใช่ไหม? แล้วแต่ ก็เป็นธรรมะทั้งนั้น ซึ่งทำให้ผู้นั้น อยู่กับธรรมะ แทนที่จะอยู่กับอกุศล เพราะฉะนั้น ก็สามารถที่จะไม่ลืมธรรมะได้ เพราะว่า คิดถึงบ่อยๆ จนสามารถที่จะเข้าใจความจริง

เพราะฉะนั้น ที่พูดถึงในระยะนี้บ่อยๆ ที่มูลนิธิฯ ก็จะมี ๓ คำ คือ อุปนิสยโคจร ชื่อฟังดูใหม่มาก แต่ถ้าเราศึกษาธรรมะ เราจะรู้ได้ว่า คำเดียว มีหลายชื่อได้ อย่างสิ่งที่กำลังปรากฏ เมื่อมีธาตุรู้ ก็ต้องมี สิ่งที่ถูกรู้ สิ่งที่ถูกรู้ ภาษาบาลี ใช้คำว่า "อารัมมณะ" หรือ "อารัมภณะ" เราก็ตัดสั้นๆ ว่าเป็น "อารมณ์" คำหนึ่งแล้ว อีกคำหนึ่ง คือ "โคจร" ที่ไปของจิต จิต ไม่ไปไหนเลย นอกจาก ไปสู่สิ่งที่ปรากฏ ทางหนึ่งทางใด เพราะว่า จิต เป็นธาตุรู้สิ่งนั้น

เพราะฉะนั้น ถ้าเราสนใจเรื่องหนึ่งเรื่องใด ฟังธรรมะบ่อยๆ ฟังแล้ว บางท่านก็บอกว่า ท่านฟัง ๖ โมงเช้า คิดว่า มีแต่ ๖ โมงเช้า แต่พอ ๓ ทุ่ม นึกอยากฟังธรรมะ ลองเปิดดู ก็ไปพบรายการ ๓ ทุ่ม ใช่ไหม? นี่ก็เป็นเพราะเหตุว่า ฟังแล้ว ไม่ลืม ที่จะได้ ฟังอีก แล้ว จาก ๖ โมงเช้า ก็ฟังอีก ตอนกลางคืน เป็น อุปนิสยโคจร เริ่มชิน กับสิ่งที่ได้ยิน ได้ฟัง เหมือนเพื่อน แรกๆ พบกัน ก็เพียงแต่รู้จักหน้า พบกันบ่อยๆ นานเข้า เป็นเพื่อนสนิท เพราะฉะนั้น ธรรมะ จะเป็นเพื่อนที่สนิทได้ แทนที่จะเป็นโลภะ เพื่อนเก่าๆ ซึ่งไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย กับ เพื่อนใหม่ ซึ่งเป็นกัลยาณมิตร ที่เป็นประโยชน์

เพราะฉะนั้น การคุ้นเคย กับสิ่งหนึ่งสิ่งใดบ่อยๆ ที่เราใช้คำว่า อุปนิสัย อย่างเวลาไปโรงเรียน ครูก็จะบอกว่า เด็กคนนี้ มีอุปนิสัยอย่างไร? อีกคนหนึ่ง มีอุปนิสัยอย่างไร? ก็แสดงความหลากหลาย ของการสะสมมา ต่างๆ กัน

เพราะฉะนั้น อุปนิสสย , อุปนิสัย ในการฟังธรรมะ ก็จะ "อารักขา" เวลาที่อกุศลจิตจะเกิด ก็คิดถึงธรรมะ เพราะฉะนั้น ขณะนั้น ไม่เป็นอกุศล อย่างคนที่โกรธบ่อยๆ เริ่มเห็นโทษของความโกรธ ทำร้ายตัวเองเท่านั้น ไม่ได้ทำร้ายคนอื่น คิดว่าทำร้ายคนอื่น แต่ความจริง ก่อนจะถึงคนอื่นน่ะ ทำร้ายตัวเองแค่ไหน?

เพราะฉะนั้นถ้าเข้าใจธรรมะขึ้น เกิดมาชาติเดียว จะไม่ชอบคนโน้น ไม่ชอบคนนี้ มีประโยชน์อะไร? กับการที่เป็นเพื่อน พร้อมที่จะช่วยเหลือ มีความหวังดี เพราะว่า แต่ละคน มาจากชาติก่อน แต่ไม่รู้จักเลย ว่าชาติก่อนเป็นใคร? อยู่ที่ไหน? ทำอะไรไว้บ้าง?

แต่กุศล และ อกุศล ในชาติก่อน ก็สืบต่อมาเป็นอุปนิสัย อุปนิสัย ในชาตินี้ ซึ่งเคยทำมาแล้ว ก็ทำให้มีอัธยาศัยต่างๆ กัน จากโลกนี้ไป ก็จะเป็น "คนใหม่"

ดีไหม? พ้นจาก "คนเก่า" หรือว่า คนเก่าก็ดีแล้วนี่นา จะไปเกิดเป็นอะไรอีก ก็ไม่รู้ ใช่ไหม? ก็แล้วแต่ แต่ว่า ความดี ความชั่ว ไม่หายไปไหนเลย แต่ละครั้ง ที่เกิดแล้ว ดับแล้ว ก็สะสมสืบต่อ อยู่ในจิต

เพราะฉะนั้น คิดถึงภาพ "คนใหม่" ดีๆ ไปแน่ๆ มีคนใหม่แน่ๆ มาจากไหน? มาจากชาตินี้!!! ถ้าทำดีไว้ชาตินี้ ชาติหน้า คนใหม่นี้ แสนดีเลย ใช่ไหม? เป็นคนที่น่ารัก ช่วยเหลือคนอื่น มีความเป็นมิตร มีทุกสิ่งทุกอย่าง มีการให้อภัย มีการที่เรารู้ว่า คนนี้เป็นคนดี เพราะ เขาสะสมมาดี นี่คือ จาก อุปนิสยโคจร เสพคุ้นบ่อยๆ จนกระทั่ง สามารถที่จะ "อารักขา" ความชั่วไม่ทำ ทำไม่ได้ บางคน โกหกไม่เป็น พูดแต่ความจริง อารักขาแล้ว ไม่ให้พูดคำที่ไม่จริง


เพราะฉะนั้น ทุกสิ่งทุกอย่าง ก็จะไม่พ้นไปจากธรรมะที่ทรงแสดง แม้ว่าภาษา หรือ คำ อาจจะยาก "อุปนิสยโคจร"

"โคจร" เป็นอีกคำหนึ่งของ อารมณ์ ที่จิตรู้บ่อยๆ ฟังบ่อยๆ คิดบ่อยๆ นึกถีงบ่อยๆ เพราะฉะนั้น ขณะนั้น ก็เป็น อุปนิสัย อย่าง มีอุปนิสัยอะไร ไม่รู้จักธรรมะ หรือ มีอุปนิสัย ที่จะเข้าใจธรรมะ ก็ต้องอาศัยเหตุ คือ ถ้ามีอุปนิสัย ที่จะฟัง เข้าใจได้ ก็คือ ฟังบ่อยๆ ค่อยๆ เข้าใจขึ้น จะมาถามว่า แล้วทำอย่างไร? โน่นถึงจะเจริญ นี่ถึงจะเจริญ ทำอย่างไร? กิเลสถึงจะหมดไป ไม่มีอีก ไม่มีความเข้าใจ เพราะฉะนั้น "เป็นเรา" ยังไม่ได้เข้าใจแม้ธรรมะ ซึ่งไม่ใช่เรา ไม่ใช่ใครเลย ทั้งสิ้น

จนกระทั่งถึง อุปนิพันธโคจร ประโยชน์จริงๆ ของการฟัง ไม่ใช่เพียงเข้าใจ เก็บไว้เท่านั้น หรือ ไม่ใช่เพียง ประพฤติ ปฏิบัติตาม เพราะ อารักขา ให้เป็นกุศล ซึ่งก่อนนี้ อาจจะเป็นอกุศล ไม่เคยช่วยใครเลย หน้าที่ของเขา เราไม่เกี่ยว ใช่ไหม? อย่างนั้นหรือ? หรือว่า เขาเหนื่อย หรือว่า เราทำได้ เราช่วยเขาดีกว่า หรืออะไรๆ อย่างนี้ เริ่มสะสม อุปนิสัย ที่น่ารัก เป็นคนดี เป็นมิตร เป็นเพื่อนดีจริงๆ เกื้อกูลทุกโอกาส เพราะรู้ว่า ขณะใดที่กุศลไม่เกิด ขณะนั้น อกุศลเกิด น่ากลัวไหม? ค่อยๆ สะสมไป ทีละเล็ก ทีละน้อย คิดถึงคนข้างหน้าก็แล้วกัน คนใหม่จากชาตินี้ มาจากชาตินี้ จริงๆ

เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่า ฟังบ่อยๆ เป็น อุปนิสัย "อารักขา" ให้ความเป็นกุศลเกิดขึ้น ยังไม่พอ เพราะว่า พระธรรมที่ทรงแสดง เพื่อ เห็นถูก เข้าใจถูก ในสิ่งที่มีจริงๆ เกิดจริงๆ ดับจริงๆ ไม่ใช่เรา จริงๆ สักขณะเดียว

เพราะฉะนั้น ขณะนั้น เป็น "อุปนิพันธะ" ความเข้าใจอันนี้ จะ "ผูกจิต" ไว้ ที่อารมณ์ ที่กำลังปรากฏ เดี๋ยวนี้ เพื่อเข้าใจ ในขณะที่กำลังฟัง หรือ แม้ในขณะที่ไม่ได้ฟัง แต่ก็รู้ว่า ความจริงอยู่ที่ไหน ความจริง คือ เห็น แต่ยังไม่รู้ แต่ฟังมามาก ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ความจริง อยู่ที่ไหน? ขณะที่ได้ยิน ก็คือ "ได้ยิน" นั่นแหละ จริง "เสียง" ก็จริง เพราะฉะนั้น "การรู้ความจริง" ก็คือว่า "ไม่ใช่ขณะอื่น"

เพราะอะไร? ทุกสิ่งทุกอย่าง ดับแล้ว หมดแล้ว ไม่กลับมาอีกเฉพาะ สิ่งที่กำลังปรากฏ เดี๋ยวนี้ แสนสั้น ถ้าไม่สะสมความเข้าใจ ก็หมดไปอีก

เมื่อกี้นี้ ตลอดเวลา ที่ไม่ได้ฟังธรรมะ ธรรมะ ก็เกิดแล้ว ดับแล้ว กับ อวิชชา ซึ่ง ไม่รู้ แต่ขณะใดที่กำลังเริ่มเข้าใจ ขณะนี้ ธรรมะก็ปรากฏ กับความเข้าใจขึ้น ไม่ต้องใช้คำว่าสติปัฏฐาน ไม่ต้องใช้คำว่า วิปัสสนา เพราะเหตุว่า "เข้าใจ" ในภาษาไทย ความเข้าใจที่เพิ่มขึ้น จนกระทั่ง สามารถรู้ความจริง ของสิ่งที่กำลังปรากฏ เดี๋ยวนี้ นี่คือ ได้รับมรดกจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า


เพราะว่า ให้ตั้งแต่ทรัพย์เล็กๆ น้อยๆ ที่จะทำให้ถึงทรัพย์ใหญ่ สิ่งที่มีค่า เหนือสิ่งอื่นใด ในสากลจักรวาล คือ การรู้ความจริง เพราะถูกลวงมาตลอด โดยไม่รู้ความจริงเลย แต่ความจริงนี้ หาซื้อไม่ได้ มูลค่า ไม่มีใครไปประมูล ไม่มีทางเลยต้องเป็นการสะสมปัญญา ทีละเล็ก ทีละน้อย ซึ่งเป็นอริยทรัพย์ เพราะฉะนั้น สิ่งที่มีค่ามากๆ เดี๋ยวนี้ มีปัญญา พอซื้อไหม?


ถ้าจะกล่าวโดยวัตถุ แพงมาก ประมาณค่าไม่ได้เลย มีเงินพอไหม? ไม่มี

แต่ปัญญา ที่รู้ความจริง ยิ่งกว่านั้นอีก ยิ่งกว่าของ ที่สามารถจะซื้อได้ด้วยเงิน ต้องเป็นการสะสม ความเห็นถูก ความเข้าใจถูก ทีละเล็ก ทีละน้อย แล้วก็จะรู้ว่า ความเข้าใจนี้ ไม่ต้องถามใคร เพราะเข้าใจ หมายถึงความเห็นถูก ตามความเป็นจริง สิ่งที่มีจริงที่ได้ฟัง เปลี่ยนแปลงไม่ได้เลย

เพราะฉะนั้น ก็เหมือนการ "ตั้งต้น" เหมือนเมล็ดพืช ซึ่งรอวันที่จะเติบโต เมื่อมีน้ำ มีปุ๋ย มีอะไร อากาศดีๆ ก็จะทำให้ มีกิ่ง มีก้าน มีใบ มีดอก ข้างหน้าได้ แต่ต้องมีเมล็ดพืช คือ เริ่มมีศรัทธา ที่จะเห็นประโยชน์ จริงๆ ว่า ตลอดชีวิตนี้ ที่พึ่งอันแท้จริง คือ อะไร? มีเงินมากมายมหาศาล เป็นทุกข์ไหม? เอาเงินนั้นมาซื้อทุกข์ให้หมดไป ได้ไหม? ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ก็เห็นได้เลย เมื่อไหร่มีปัญญา เมื่อนั้น ไม่มีทุกข์ ไม่เป็นทุกข์ เพราะปัญญา ไม่ทำให้เกิดความทุกข์ใดๆ เลย

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 266

อุทัยสูตร

[๖๘๐] พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า กสิกรย่อมหว่านพืชบ่อยๆ ฝนย่อมตกบ่อยๆ ชาวนาย่อมไถนาบ่อยๆ แว่นแคว้นย่อมบริบูรณ์ด้วยธัญชาติบ่อยๆ ยาจกย่อมขอบ่อยๆ ทานบดีก็ให้บ่อยๆ ทานบดีให้บ่อยๆ แล้ว ก็เข้าถึงสวรรค์บ่อยๆ ผู้ต้องการน้ำนม ย่อมรีดนมบ่อยๆ ลูกโคย่อมเข้าหาแม่โคบ่อยๆ บุคคล ย่อมลำบากและดิ้นรนบ่อยๆ คนเขลาย่อมเข้าถึงครรภ์บ่อยๆ สัตว์ย่อมเกิดและตายบ่อยๆ บุคคลทั้งหลายย่อมนำซากศพไปป่าช้าบ่อยๆ ส่วนผู้มีปัญญาถึงจะเกิดบ่อยๆ ก็ เพื่อได้มรรคแล้วไม่เกิดอีก ดังนี้.

ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ หาดใหญ่ สงขลา บ้านธัมมะหลังใหม่ ที่ ภาคใต้ ได้นำความชื่นชมยินดี ในความรุ่งเรืองเฟื่องฟูของพระธรรม สู่ดินแดนใต้ ขอยกคำ ที่ท่านอาจารย์กล่าวไว้ ณ โรงแรมเอเชี่ยน หาดใหญ่ เมื่อเช้าของวันที่ ๒๖ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ มาเพื่อยังความระลึกถึง ใน ณ กาลครั้งนั้น อีกครั้งหนึ่ง ดังนี้

"...เพราะฉะนั้น ก็เหมือนการ "ตั้งต้น" เหมือนเมล็ดพืช ซึ่งรอวันที่จะเติบโต เมื่อมีน้ำ มีปุ๋ย มีอะไร อากาศดีๆ ก็จะทำให้ มีกิ่ง มีก้าน มีใบ มีดอก ข้างหน้าได้ แต่ต้องมีเมล็ดพืช คือ เริ่มมีศรัทธา ที่จะเห็นประโยชน์ จริงๆ ว่า ตลอดชีวิตนี้ ที่พึ่งอันแท้จริง คือ อะไร...

กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลศรัทธาของ คุณพนิดา มิตรปวงชน (คุณโก๋) คุณชลธี และ คุณสุคันธรส ภู่ชลธี รวมถึงสมาชิกชมรมบัานธัมมะ ภาคใต้ ทุกๆ ท่าน

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ครับ



ความคิดเห็น 1    โดย khampan.a  วันที่ 4 เม.ย. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลศรัทธาของท่านเจ้าภาพผู้จัดการสนทนาธรรม คุณพนิดา มิตรปวงชน (คุณโก๋) พร้อมด้วยความสนับสนุนอย่างดียิ่งของคุณชลธี และ คุณสุคันธรส ภู่ชลธี ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลวิริยะของพี่วันชัย ภู่งาม เป็นอย่างยิ่ง ถ่ายทอดอย่างยอดเยี่ยม งามทั้งภาพ และ พระธรรม ครับ

และ ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ครับ


ความคิดเห็น 2    โดย ใหญ่ราชบุรี  วันที่ 4 เม.ย. 2557

เป็นลาภอันประเสริฐยิ่ง ที่มีโอกาสได้รับรสพระธรรมอันบริสุทธิ์บริบูรณ์ โดยความอุปการะเกื้อกูลของ ชาว มศพ. ทุกท่าน

สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ และขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งค่ะ


ความคิดเห็น 3    โดย เมตตา  วันที่ 5 เม.ย. 2557

ขณะใดที่ "เข้าใจ" ขณะนั้นสภาพธรรมะ "ไตร่ตรอง" "ไม่ใช่เรา"

กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลศรัทธาของท่านเจ้าภาพผู้จัดการสนทนาธรรม คุณพนิดา มิตรปวงชน (คุณโก๋) พร้อมด้วยความสนับสนุนอย่างดียิ่งของคุณชลธี และ คุณสุคันธรส ภู่ชลธี ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลวิริยะและกุศลศรัทธาของวันชัย ภู่งาม และ ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ค่ะ


ความคิดเห็น 4    โดย nattawan  วันที่ 5 เม.ย. 2557

สิ่งที่กำลังปรากฎ เดี๋ยวนี้ แสนสั้น ถ้าไม่สะสมความเข้าใจ ก็หมดไปอีก ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 5    โดย peem  วันที่ 6 เม.ย. 2557

ขอบคุณและอนุโมทนาคะ


ความคิดเห็น 6    โดย kinder  วันที่ 6 เม.ย. 2557
ขอบคุณและขออนุโมทนาครับ

ความคิดเห็น 7    โดย napachant  วันที่ 7 เม.ย. 2557

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 8    โดย wannee.s  วันที่ 7 เม.ย. 2557

ทุกสิ่งทุกอย่าง ดับแล้ว หมดแล้ว ไม่กลับมาอีก

อนุโมทนาในกุศลจิตทุกๆ ท่านค่ะ


ความคิดเห็น 9    โดย kanchana.c  วันที่ 7 เม.ย. 2557

น้องวันชัยเขีนนได้สนุกและได้สาระมาก เห็นภาพแล้วอยากกินข้าวต้มปลากระพง จังเลย เห็นความติดข้องที่หนาแน่นมาก จนมองไม่เห็นความจริงเลยว่า ภาพที่ ปรากฏทางตานั้นไม่ใช่รสที่ลิ้มได้ แต่น้ำลายก็เต็มปากด้วยความอยากกินแล้ว


ความคิดเห็น 10    โดย ผู้ร่วมเดินทาง  วันที่ 7 เม.ย. 2557

กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลศรัทธาของท่านเจ้าภาพผู้จัดการสนทนาธรรม คุณพนิดา มิตรปวงชน คุณชลธี และ คุณสุคันธรส ภู่ชลธี และท่านผู้เกี่ยวข้องทุกๆ ท่าน ขอบพระคุณและขออนุโมทนาคุณวันชัย มา ณ กาลครั้งนี้ด้วยนะครับ เห็นด้วยกับพี่แดงเป็นอย่างยิ่งครับ อ่านกระทู้คุณวันชัยแล้วได้อรรถรสครบทุกประการ ทั้งอรรถรสทางธรรม และอรรถรสทางโภชนา ครับ


ความคิดเห็น 11    โดย ch.  วันที่ 12 เม.ย. 2557

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 12    โดย Jans  วันที่ 27 เม.ย. 2557

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ