๙. ชานุสโสณีสูตร ว่าด้วยวิชชา ๓ ของพราหมณ์และพุทธะ
โดย บ้านธัมมะ  21 ต.ค. 2564
หัวข้อหมายเลข 38685

[เล่มที่ 34] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 249

ทุติยปัณณาสก์

พราหมณวรรคที่ ๑

๙. ชานุสโสณีสูตร

ว่าด้วยวิชชา ๓ ของพราหมณ์และพุทธะ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 34]



ความคิดเห็น 1    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 249

๙. ชานุสโสณีสูตร

ว่าด้วยวิชชา ๓ ของพราหมณ์และพุทธะ

[๔๙๙] ครั้งนั้นแล ชานุสโสณีพราหมณ์ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ฯลฯ ครั้นแล้วได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ผู้ใดมียัญสิ่งที่พึงให้ด้วยศรัทธา อาหารที่จะพึงให้แก่คนอื่น หรือไทยธรรม ผู้นั้นควรให้ทานในพราหมณ์ผู้ได้วิชชา ๓ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่า ดูก่อนพราหมณ์ ก็พราหมณ์ทั้งหลายย่อมบัญญัติพราหมณ์ว่าได้วิชชา ๓ อย่างไร.

ชา. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ พราหมณ์ในโลกนี้ เป็นอุภโตสุชาต ทั้งข้างฝ่ายมารดาและฝ่ายบิดา มีครรภ์เป็นที่ถือปฏิสนธิสะอาดดีตลอด ๗ ชั่วบรรพบุรุษ ไม่มีใครจะคัดค้านติเตียนได้ด้วยอ้างถึงชาติ เป็นผู้เล่าเรียน ทรงจำมนต์ รู้จบไตรเพท พร้อมทั้งคัมภีร์นิฆัณฑุ คัมภีร์เกฏุภะ พร้อมทั้งประเภทอักษร มีคัมภีร์อิติหาสเป็นที่ ๕ เป็นผู้เข้าใจตัวบท เป็นผู้เข้าใจไวยากรณ์ ชำนาญในคัมภีร์โลกายตะและตำราทำนายมหาปุริสลักษณะ ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ก็พราหมณ์ทั้งหลายย่อมบัญญัติพราหมณ์ว่าได้วิชชา ๓ อย่างนี้แล.

พ. ดูก่อนพราหมณ์ พราหมณ์ทั้งหลายย่อมบัญญัติพราหมณ์ว่าได้วิชชา ๓ อย่างหนึ่ง ก็แหละ ผู้ได้วิชชา ๓ ในอริยวินัยเป็นอย่างหนึ่ง.

ชา. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ผู้ได้วิชชา ๓ ในอริยวินัย ย่อมมีอย่างไร ขอประทานพระวโรกาส ขอพระองค์โปรดทรงแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์ตามที่ผู้ได้วิชชา ๓ มีในอริยวินัย.

พ. ดูก่อนพราหมณ์ ถ้ากระนั้นจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ชานุสโสณีพราหมณ์ทูลรับพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้


ความคิดเห็น 2    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 250

ตรัสว่า ดูก่อนพราหมณ์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม ฯลฯ บรรลุจตุตถฌานอยู่ ภิกษุนั้นเมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่นไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อปุพเพนิวาสานุสติญาณ เธอย่อมระลึกถึงชาติก่อนๆ ได้เป็นอันมาก ฯลฯ วิชชาข้อแรกเป็นอันเธอได้บรรลุแล้ว ดังนี้ อวิชชาสูญไป วิชชาเกิดขึ้น ความมืดสูญไป แสงสว่างเกิดขึ้น เช่นเดียวกันกับของภิกษุผู้ไม่ประมาท มีความเพียร ส่งตนไปแล้วอยู่ ฉะนั้น.

ภิกษุนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน มั่นคงไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อรู้จุติและอุปบัติของสัตว์ทั้งหลาย เธอย่อมเห็นหมู่สัตว์ ฯลฯ ด้วยทิพจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ วิชชาข้อที่สองย่อมเป็นอันเธอได้บรรลุแล้ว ดังนี้ อวิชชาสูญไป วิชชาเกิดขึ้น ความมืดสูญไป แสงสว่างเกิดขึ้น เช่นเดียวกันกับของภิกษุผู้ไม่ประมาท มีความเพียร ส่งตนไปแล้วอยู่ ฉะนั้น.

ภิกษุนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่นไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เหล่านี้อาสวะ ฯลฯ นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับอาสวะ เมื่อเธอรู้เห็นอย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้นแม้จากกามาสวะ. แม้จากภวาสวะ แม้จากอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณหยั่งรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี วิชชาข้อที่สามย่อมเป็นอันเธอได้บรรลุแล้ว ดังนี้ อวิชชาสูญไป วิชชาเกิดขึ้น ความมืดสูญไป แสงสว่างเกิดขึ้น เช่นเดียวกันกับของภิกษุผู้ไม่ประมาท มีความเพียร ส่งตนไปแล้วอยู่ ฉะนั้น.


ความคิดเห็น 3    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 251

ผู้ใดสมบูรณ์ด้วยศีลวัตร ส่งตนไปแล้ว มีจิตเป็นสมาธิ ผู้ใดมีจิตมีความชำนาญ เป็นเอกัคคตา ตั้งมั่นดีแล้ว ผู้ใดตรัสรู้ปุพเพนิวาสญาณ เห็นสวรรค์และอบาย บรรลุถึงธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งชาติเป็นมุนี ผู้อยู่จบพรหมจรรย์ เพราะรู้ด้วยปัญญาอันยิ่ง และเป็นพราหมณ์ผู้ได้วิชชา ๓ เราย่อมกล่าวผู้เช่นนั้นว่า ผู้ได้วิชชา ๓ หากล่าวตามคำที่พูดกันอย่างอื่นไม่.

ดูก่อนพราหมณ์ ผู้ได้วิชชา ๓ ในอริยวินัยเป็นอย่างนี้แล.

ชา. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ผู้ได้วิชชา ๓ ของพวกพราหมณ์เป็นอย่างหนึ่ง ก็แหละ ผู้ได้วิชชา ๓ ในอริยวินัยเป็นอย่างหนึ่ง ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ผู้ได้วิชชา ๓ ของพวกพราหมณ์ ไม่ถึงส่วนที่ ๑๖ ซึ่งจำแนกเป็น ๑๖ ครั้งของผู้ได้วิชชา ๓ ในอริยวินัยนี้ ข้าแต่พระโคคมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ฯลฯ ขอท่านพระโคดมโปรดทรงจำข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต จำเดิมแต่วันนี้เป็นต้นไป.

จบชานุสโสณีสูตรที่ ๙


ความคิดเห็น 4    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 252

อรรถกถาชานุสโสณีสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในชานุสโสณีสูตรที่ ๙ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า ยสฺสสฺสุ เท่ากับ ยสฺส ภเวยฺยุํ (ของผู้ใดพึงมี). ในบทว่า ยญฺโ เป็นต้น มีอธิบายว่า ไทยธรรมชื่อว่ายัญ เพราะต้องบูชา. คำว่า ยัญ นี้ เป็นชื่อของไทยธรรม. บทว่า สทฺธํ ได้แก่ ภัตตาหารที่อุทิศเพื่อผู้ตาย. บทว่า ถาลิปาโก ได้แก่ ภัตตาหารที่จะพึงให้แก่บริษัทอื่น. ขึ้นชื่อว่าไทยธรรมทุกอย่าง ที่เหลือจากที่กล่าวแล้ว ชื่อว่า ไทยธรรม.

บทว่า เตวิชฺเชสุ พฺราหฺมเณสุ ทานํ ทเทยฺย ความว่า ทานทั้งหมดนี้ควรให้ในผู้มีวิชชา ๓. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่า พราหมณ์ผู้มีวิชชา ๓ เท่านั้น ควรได้รับ (ทาน). บทที่เหลือในพระสูตรนี้ มีนัยดังกล่าวแล้วในหนหลัง.

จบอรรถกถาชานุสโสณีสูตรที่ ๙