[เล่มที่ 21] พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 284
๒. เสลสูตร
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 21]
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 284
๒. เสลสูตร
[๖๐๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ :-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเที่ยวจาริกไปในอังคุตราปชนบทพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๑,๒๕๐ รูป เสด็จถึงนิคมของชนชาวอังคุตราปะ อันชื่อว่าอาปณะ ชฎิลชื่อเกณิยะได้สดับข่าวว่า พระสมณโคดมศากยบุตรเสด็จออกผนวชจากศากยสกุล เสด็จจาริกไปในอังคุตราปชนบทพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๑,๒๕๐ รูป เสด็จถึงอาปณนิคมแล้ว ก็กิตติศัพท์อันงามของท่านพระโคดมพระองค์นั้น ขจรไปแล้วอย่างนี้ว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์... เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จําแนกธรรม พระองค์ทรงทําโลกนี้ พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ให้แจ้งชัดด้วยพระปัญญาอันยิ่งของพระองค์เองแล้ว ทรงสอนหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ให้รู้ตาม ทรงแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์ สิ้นเชิง ก็การได้เห็นพระอรหันต์ทั้งหลายเห็นปานนั้น ย่อมเป็นความดีแล.
[๖๐๕] ครั้งนั้นแล เกณิยชฎิลได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงชี้แจงให้เกณิยชฎิลเห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริง ด้วยธรรมีกถา ลําดับนั้นแล เกณิยชฎิลอันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงชี้แจงให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริง ด้วยธรรมีกถา แล้วได้กราบทูลพระผู้มี
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 285
พระภาคเจ้าว่า ขอพระโคดมผู้เจริญพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ โปรดทรงรับภัตตาหารของข้าพระองค์ในวันพรุ่งนี้ พระเจ้าข้า เมื่อเกณิยชฎิลกราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า ดูก่อนเกณิยะ ภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่มีภิกษุประมาณ ๑,๒๕๐ รูป และท่านก็เลื่อมใสในพราหมณ์ทั้งหลาย แม้ครั้งที่ ๒ เกณิยชฎิลก็กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่มีภิกษุประมาณ ๑,๒๕๐ รูป และข้าพระองค์เลื่อมใสในพราหมณ์ทั้งหลาย ก็จริง ถึงกระนั้น ขอพระโคดมผู้เจริญพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ โปรดทรงรับภัตตาหารของข้าพระองค์ในวันพรุ่งนี้ พระเจ้าข้า แม้ครั้งที่ ๒ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนเกณิยะ ภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ มีภิกษุประมาณ ๑,๒๕๐ รูป และท่านก็เลื่อมใสในพราหมณ์ทั้งหลาย แม้ครั้งที่ ๓ เกณิยชฎิลก็ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ มีภิกษุประมาณ ๑,๒๕๐ รูป และข้าพระองค์เลื่อมใสในพราหมณ์ทั้งหลาย ก็จริง ถึงกระนั้น ขอพระโคดมผู้เจริญพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ โปรดทรงรับภัตตาหารของข้าพระองค์ในวันพรุ่งนี้แหละ พระเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับโดยดุษณีภาพ ครั้งนั้นแล เกณิยชฎิลทราบว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับอาราธนาแล้ว จึงลุกจากที่นั่งเข้าไปยังอาศรมของตนแล้วเรียกมิตร อํามาตย์ และญาติสาโลหิตมาบอกว่า ดูก่อนท่านผู้เจริญทั้งหลาย ขอมิตรอํามาตย์และญาติสาโลหิตทั้งหลายจงฟังข้าพเจ้า ข้าพเจ้านิมนต์พระสมณโคดมพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์มาฉันภัตตาหารในวันพรุ่งนี้ ขอท่านทั้งหลายพึงกระทําความขวนขวายด้วยกําลังกายเพื่อข้าพเจ้าด้วยเถิด มิตร อํามาตย์ และญาติสาโลหิตทั้งหลาย รับคําเกณิยชฎิลแล้ว บางพวกขุดเตา บางพวกฝ่าฟืน บางพวกล้างภาชนะ บางพวกตั้งหม้อน้ำ บางพวกปูลาดอาสนะ ส่วนเกณิยชฎิลจัดแจงโรงปะรําด้วยตนเอง.
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 286
[๖๐๖] ก็สมัยนั้นแล พราหมณ์ชื่อว่าเสละ. อาศัยอยู่ในอาปณนิคม เป็นผู้รู้จบไตรเพท พร้อมทั้งคัมภีร์นิฆัณฑุและคัมภีร์เกฏภะ พร้อมทั้งประเภทอักษร มีคัมภีร์อิติหาสะเป็นที่ ๕ เข้าใจตัวบท เข้าใจไวยากรณ์ ชํานาญในคัมภีร์โลกายตะและตําราทํานายมหาปุริสลักษณะ สอนมนต์ให้มาณพ ๓๐๐ คน ก็สมัยนั้น เกณิยชฎิลเลื่อมใสในเสลพราหมณ์ ครั้งนั้น เสลพราหมณ์แวดล้อมด้วยมาณพ ๓๐๐ คน เดินเที่ยวไปมาเป็นการพักผ่อน ได้เข้าไปทางอาศรมของเกณิยชฎิล ได้เห็นชนทั้งหลายกําลังช่วยเกณิยชฎิลทํางานอยู่ บางพวกขุดเตา บางพวกผ่าฟืน บางพวกล้างภาชนะ บางพวกตั้งหม้อน้ำ บางพวกปูลาดอาสนะ ส่วนเกณิยชฎิลกําลังจัดแจงโรงปะรําด้วยตนเอง ครั้นแล้วจึงได้ถามเกณิยชฎิลว่าท่านเกณิยะ จักมีอาวาหมงคลหรือวิวาหมงคล หรือจักบูชามหายัญ หรือท่านทูลอัญเชิญพระเจ้าพิมพิสารจอมทัพ พระเจ้าแผ่นดินมคธ พร้อมด้วยพลนิกาย มาเสวยพระกระยาหารในวันพรุ่งนี้ เกณิยชฎิลตอบว่า ข้าแต่ท่านเสละ ข้าพเจ้ามิได้มีอาวาหมงคลหรือวิวาหมงคล และมิได้ทูลอัญเชิญเสด็จพระเจ้าพิมพิสารจอมทัพ พระเจ้าแผ่นดินมคธ พร้อมด้วยพลนิกาย มาเสวยพระกระยาหารในวันพรุ่งนี้ แต่ข้าพเจ้าจักบูชามหายัญ คือ มีพระสมณโคดมศากยบุตรเสด็จออกทรงผนวชจากศากยสกุลเสด็จจาริกมาในอังคุตราปชนบท พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ มีภิกษุประมาณ ๑,๒๕๐ รูป เสด็จถึงอาปณนิคม ก็กิตติศัพท์อันงามของท่านพระโคดมพระองค์นั้น ขจรไปแล้วอย่างนี้ว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์... เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จําแนกธรรม ท่านพระโคดมพระองค์นั้น ข้าพเจ้าทูลนิมนต์แล้วเพื่อเสวยภัตตาหารในวันพรุ่งนี้ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์.
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 287
เส. ท่านเกณิยะ ท่านกล่าวว่า พุทโธ ดังนี้หรือ.
เก. ท่านเสละ ข้าพเจ้ากล่าวว่า พุทโธ.
เส. ท่านเกณิยะ ท่านกล่าวว่า พุทโธ ดังนี้หรือ.
เก. ท่านเสละ ข้าพเจ้ากล่าวว่า พุทโธ.
ครั้งนั้นแล เสลพราหมณ์ได้มีความคิดว่า แม้แต่เสียงว่า พุทโธนี้แล ก็ยากที่สัตว์จะพึงได้ในโลก ก็มหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ อันมาแล้วในมนต์ของเราทั้งหลาย ที่พระมหาบุรุษประกอบแล้ว ย่อมมีคติเป็น ๒ เท่านั้น ไม่เป็นอย่างอื่น คือ ถ้าอยู่ครองเรือน จะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงธรรม เป็นพระราชาโดยธรรม เป็นใหญ่ในแผ่นดินมีมหาสมุทร ๔ เป็นขอบเขต ทรงชนะวิเศษ มีพระราชอาณาจักรมั่นคง สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ คือ จักรแก้ว ๑ ช้างแก้ว ๑ ม้าแก้ว ๑ แก้วมณี ๑ นางแก้ว ๑ คฤหบดีแก้ว ๑ ปริณายกแก้ว ๑ พระองค์มีพระราชโอรสมากกว่าพัน ล้วนกล้าหาญ มีรูปทรงสมเป็นวีรกษัตริย์ สามารถย่ํายีเสนาของข้าศึกได้ พระองค์ทรงชนะโดยธรรม โดยไม่ต้องใช้อาชญา ไม่ต้องใช้ศาสตรา ทรงครอบครองแผ่นดินนี้มีสมุทรสาครเป็นขอบเขต ๑ ถ้าเสด็จออกผนวชเป็นบรรพชิต จะได้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มีหลังคาคือกิเลสอันเปิดแล้วในโลก ๑ ท่านเกณิยะ ก็ท่านพระโคดมอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น เดี๋ยวนี้ประทับอยู่ที่ไหน.
[๖๐๗] เมื่อเสลพราหมณ์กล่าวถามอย่างนี้แล้ว เกณิยชฎิลยกแขนขวาขึ้นชี้บอกเสลพราหมณ์ว่า ข้าแต่ท่านเสละ ท่านพระโคดมพระองค์นั้น เดี๋ยวนี้ประทับอยู่ทางราวป่าอันเขียวนั่น ลําดับนั้นแล เสลพราหมณ์พร้อมด้วยมาณพ ๓๐๐ คน ได้เดินเข้าไปทางที่พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ แล้วได้บอกมาณพเหล่านั้นว่า ท่านทั้งหลายจงเงียบเสียง จงเว้นระยะให้ไกลกัน ย่างเท้าหนึ่งเดินมา
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 288
ท่านทั้งหลายจงเป็นเหมือนราชสีห์ตัวเดียวเที่ยวไปทุกเมื่อ และเมื่อกําลังเจรจากับท่านพระสมณโคดม ท่านทั้งหลายจงอย่าพูดสอดขึ้นในระหว่างๆ ขอจงรอคอยให้จบถ้อยคําของเรา ลําดับนั้น เสลพราหมณ์ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ได้สนทนาปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นผ่านการสนทนาปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้พิจารณาดูมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการในพระกายของพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้เห็นมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการในพระกายของพระผู้มีพระภาคเจ้าโดยมาก เว้นอยู่ ๒ ประการ คือ พระคุยหฐานอันเร้นอยู่ในฝัก ๑ พระชิวหาใหญ่ ๑ จึงยังเคลือบแคลงสงสัย ไม่น้อมใจเชื่อ ไม่เลื่อมใสในเพราะมหาปุริสลักษณะ ๒ ประการ.
[๖๐๘] ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าได้มีพระดําริว่า เสลพราหมณ์นี้เห็นมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการของเราโดยมาก เว้นอยู่ ๒ ประการ คือ คุยหฐานอันเร้นอยู่ในฝัก ๑ ชิวหาใหญ่ ๑ จึงยังเคลือบแคลง สงสัย ไม่น้อมใจเชื่อ ไม่เลื่อมใสในเพราะมหาปุริสลักษณะ ๒ ประการ ลําดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงบันดาลอิทธาภิสังขาร ให้เสลพราหมณ์ได้เห็นพระคุยหฐานอันเร้นอยู่ในฝัก และทรงแลบพระชิวหาสอดเข้าช่องพระกรรณทั้งสองกลับไปมา สอดเข้าช่องพระนาสิกทั้งสองกลับไปมา ทรงแผ่เปิดทั่วมณฑลพระนลาฏ.
[๖๐๙] ครั้งนั้นแล เสลพราหมณ์ได้มีความดําริว่า พระสมณโคดมทรงประกอบด้วยมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ บริบูรณ์ไม่บกพร่อง แต่เรายังไม่ทราบชัดซึ่งพระองค์ว่าเป็นพระพุทธเจ้าหรือไม่ และเราได้สดับเรื่องนี้มาแต่สํานักพราหมณ์ทั้งหลายซึ่งเป็นผู้แก่เฒ่า เป็นผู้ใหญ่ เป็นอาจารย์และปาจารย์ กล่าวกันว่า ท่านที่เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมแสดงพระองค์ให้ปรากฏในเมื่อผู้ใดผู้หนึ่งกล่าวพระคุณของพระองค์ ผิฉะนั้น เราพึง
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 289
ชมเชยพระสมณโคดมเฉพาะพระพักตร์ด้วยคาถาอันสมควรเถิด ลําดับนั้นแล เสลพราหมณ์ได้ชมเชยพระผู้มีพระภาคเจ้าเฉพาะพระพักตร์ด้วยคาถาอันสมควรว่า
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมีพระกายบริบูรณ์ มีพระรัศมีรุ่งเรืองงาม มีพระชาติดี ผู้ได้เห็นแม้นานก็ไม่รู้อิ่ม มีพระฉวีวรรณดังทองคํา มีพระทาฐะขาวสะอาด มีพระวีริยภาพ มหาปุริสลักษณะอันเป็นเครื่องแตกต่างจากสามัญชน มีอยู่ในพระกายของพระองค์ผู้เป็นนรสุชาติครบถ้วน พระองค์มีพระเนตรผ่องใส มีพระพักตร์งาม มีพระกายตรงดังกายพรหม มีสง่าในท่ามกลางหมู่สมณะ เหมือนพระอาทิตย์ไพโรจน์ ฉะนั้น พระองค์เป็นภิกษุงามน่าชม มีพระตจะดังไล้ทาด้วยทองคํา พระองค์มีพระคุณสมบัติอันสูงสุดอย่างนี้ จะต้องการอะไรด้วยความเป็นสมณะ พระองค์ควรจะเป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้ประเสริฐ เป็นใหญ่ในแผ่นดินมีมหาสมุทร ๔ เป็นขอบเขต ทรงชนะวิเศษเป็นใหญ่ในชมพูทวีป กษัตริย์ทั้งหลายผู้เป็นพระราชามหาศาลจงเป็นผู้ติดตามพระองค์ ข้าแต่พระโคดม ขอเชิญพระองค์ทรง
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 290
ครองราชสมบัติเป็นราชาธิราชจอมมนุษย์เถิด.
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า
เสลพราหมณ์ เราเป็นพระราชา เป็นพระราชาโดยธรรม ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เราประกาศธรรมจักร อันเป็นจักรที่ใครๆ ประกาศไม่ได้
เส. ข้าแต่พระโคดม พระองค์ทรงปฏิญาณว่าเป็นสัมพุทธะ และตรัสว่าเป็นธรรมราชา ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า ทรงประกาศธรรมจักร ดังนี้ ใครหนอเป็นเสนาบดีของพระองค์ท่าน เป็นสาวกผู้อํานวยการของพระศาสดา ใครหนอประกาศธรรมจักรตามที่พระองค์ทรงประกาศแล้วนี้ได้.
พ. ธรรมจักรอันไม่มีจักรอันยิ่งกว่า เป็นจักรที่เราประกาศแล้ว สารีบุตรผู้เกิดตามตถาคต ย่อมประกาศตามได้ พราหมณ์ สิ่งที่ควรรู้ยิ่ง เรารู้ยิ่งแล้ว สิ่งที่ควรเจริญ เราเจริญแล้ว สิ่งที่ควรละ เราละได้แล้ว เพราะฉะนั้น เราจึงเป็นพระพุทธเจ้า พราหมณ์ ท่านจงกําจัดความสงสัยในเรา
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 291
จงน้อมใจเชื่อเถิด การได้เห็นพระสัมพุทธเจ้าทั้งหลายเนืองๆ เป็นการได้ยาก ความปรากฏแห่งพระสัมพุทธเจ้าทั้งหลายเนืองๆ เป็นการหาได้ยากในโลกแล พราหมณ์ เราเป็นพระสัมพุทธเจ้า เป็นผู้เชือดลูกศร ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นผู้ประเสริฐ ไม่มีใครเปรียบ ย่ํายีเสียซึ่งมารและเสนาแห่งมาร ทําข้าศึกทั้งปวงให้อยู่ในอํานาจ ไม่มีภัยแต่ที่ไหนๆ บันเทิงใจอยู่.
เส. ท่านผู่เจริญทั้งหลาย ขอท่านทั้งหลายจงใคร่ครวญธรรมนี้ ตามที่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้มีพระจักษุตรัสอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้เชือดลูกศร เป็นพระมหาวีระ ดังราชสีห์บันลืออยู่ในป่า ฉะนั้น ใครเล่าแม้เกิดในสกุลต่ำ ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ประเสริฐ ไม่มีใครเปรียบ ทรงย่ํายีเสียซึ่งมารและเสนามาร จะไม่พึงเลื่อมใส ผู้ใดปรารถนา เชิญผู้นั้นตามเรา ส่วนผู้ใดไม่ปรารถนา เชิญผู้นั้นอยู่เถิด เราจักบวชในสํานักพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้มีพระปัญญาอันประเสริฐนี้.
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 292
มาณพเหล่านั้นกล่าวว่า
ข้าแต่ท่านพราหมณ์ ถ้าท่านผู้เจริญชอบใจคําสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างนี้ แม้ข้าพเจ้าทั้งหลายก็จักบวชในสํานักของพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้มีพระปัญญาอันประเสริฐ ดังนี้แล้ว พราหมณ์ ๓๐๐ คนเหล่านั้น พากันประนมอัญชลี ทูลขอบรรพชาว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระองค์ทั้งหลายจักประพฤติพรหมจรรย์ในสํานักของพระองค์.
พ. พรหมจรรย์อันเรากล่าวดีแล้ว อันผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล เป็นเหตุทําให้บรรพชาของผู้ไม่ประมาทศึกษาอยู่ ไม่เป็นโมฆะ.
เสลพราหมณ์พร้อมทั้งบริษัท ได้บรรพชา ได้อุปสมบทในสํานักของพระผู้มีพระภาคเจ้า.
[๖๑๐] ครั้งนั้นแล เกณิยชฎิลสั่งให้จัดแจงขาทนียโภชนียาหารอย่างประณีตในอาศรมของตนตลอดราตรีนั้นแล้ว ใช้ให้คนไปกราบทูลภัตกาลแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ได้เวลาแล้ว ภัตตาหารสําเร็จแล้ว พระเจ้าข้า ครั้งนั้น เป็นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงนุ่งอันตรวาสกแล้ว ทรงถือบาตรและจีวร เสด็จเข้าไปยังอาศรมของเกณิยชฎิล แล้วประทับนั่งบนอาสนะที่เขาจัดไว้ถวาย พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ ลําดับนั้น เกณิยชฎิลได้อังคาสภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขให้อิ่มหนําเพียงพอ ด้วยขาทนียโภชนียาหาร
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 293
อันประณีต ด้วยมือของตน เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสวยเสร็จแล้ว ละพระหัตถ์จากบาตรแล้ว เกณิยชฎิลถือเอาอาสนะต่ําแห่งหนึ่ง แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.
[๖๑๑] ครั้นเกณิยชฎิลนั่งเรียบร้อยแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุโมทนาด้วยพระคาถาเหล่านี้ว่า
ยัญทั้งหลายมีการบูชาไฟเป็นประมุข คัมภีร์สาวิตติศาสตร์เป็นประมุขแห่งคัมภีร์ฉันท์ พระราชาเป็นประมุขของมนุษย์ทั้งหลาย สาครเป็นประมุขของแม่น้ำทั้งหลาย ดวงจันทร์เป็นประมุขของดวงดาวทั้งหลาย ดวงอาทิตย์เป็นประมุขของความร้อน พระสงฆ์เป็นประมุขของผู้หวังบุญบูชาอยู่.
ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุโมทนาด้วยพระคาถาเหล่านี้ แล้วเสด็จลุกจากอาสนะหลีกไป ครั้งนั้นแล ท่านพระเสละพร้อมด้วยบริษัท หลีกออกจากหมู่เป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจแน่วแน่ ไม่นานนัก ก็ได้กระทําที่สุดแห่งพรหมจรรย์อันยอดเยี่ยมที่กุลบุตรทั้งหลายออกบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการนั้น ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทํา ทําเสร็จแล้ว สิ่งอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ก็ท่านพระเสละพร้อมทั้งบริษัท ได้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งในจํานวนพระอรหันต์ทั้งหลาย.
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 294
[๖๑๒] ครั้งนั้นแล ท่านพระเสละพร้อมทั้งบริษัท ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ห่มผ้าเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ประนมอัญชลีไปทางพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วกราบทูลด้วยคาถาว่า
ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้มีพระจักษุ นับแต่วันที่ข้าพระองค์ทั้งหลายได้ถึงพระองค์เป็นสรณะเป็นวันที่ ๘ เข้านี่แล้ว ข้าพระองค์ทั้งหลายเป็นผู้อันพระองค์ทรงฝึกแล้ว ในคําสั่งสอนของพระองค์โดย ๗ ราตรี พระองค์เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระศาสดา เป็นมุนีผู้ครอบงํามาร ทรงเป็นผู้ฉลาดในอนุสัย ทรงข้ามได้เองแล้ว ทรงยังหมู่สัตว์นี้ให้ข้ามได้ด้วย พระองค์ทรงก้าวล่วงอุปธิทั้งหลายแล้ว ทรงทําลายอาสวะทั้งหลายแล้ว ไม่ทรงยึดมั่นเลย ทรงละภัยและความขลาดกลัวได้แล้ว ดุจดังราชสีห์ ภิกษุ ๓๐๐ รูปนี้ ยืนประนมอัญชลีอยู่ ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียร ขอได้ทรงโปรดเหยียดพระยุคลบาทออกเถิด ขอเชิญนาคทั้งหลายถวายบังคมพระศาสดาเถิด.
จบเสลสูตรที่ ๒
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 295
อรรถกถาเสลสูตร
เสลสูตรมีคําเริ่มต้นว่า ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-
ในเสลสูตรนั้น คําว่า ในอังคุตราปชนบท เป็นต้น ท่านกล่าวให้พิสดารแล้วในโปตลิยสูตรเทียว.
บทว่า อฑฺฒเตรเสหิ ได้แก่ ๑๓ ทั้งกึ่ง ท่านกล่าวอธิบายว่า กับด้วยภิกษุ ๑,๒๕๐ รูป. ก็ภิกษุทั้งหลายที่ประชุมกันในสาวกสันนิบาตเหล่านั้น ล้วนเป็นพระขีณาสพ บรรพชาด้วยเอหิภิกขุบรรพชาทั้งนั้น.
คําว่า เกณิโย เป็นชื่อของชฎิลนั้น.
คําว่า ชฏิโล ได้แก่ ดาบส.
ได้ยินมาว่า ดาบสนั้นเป็นพราหมณ์มหาศาล แต่ถือบวชเป็นดาบส เพื่อต้องการรักษาทรัพย์ ถวายบรรณาการแด่พระราชา ถือเอาภูมิภาคแห่งหนึ่ง สร้างอาศรมอยู่ในภูมิภาคนั้น ประกอบการค้าขายด้วยเกวียน ๕๐๐ เล่ม เป็นที่อาศัยของตระกูลถึง ๑,๐๐๐ ตระกูล. อนึ่ง พระโบราณจารย์กล่าวว่า ที่อาศรมของดาบสนั้น มีต้นตาลต้นหนึ่ง ผลตาลสําเร็จด้วยทองหล่นมาวันละผลหนึ่ง. ดาบสนั้น กลางวันทรงผ้ากาสายะและสวมชฎา กลางคืนเสวยกามสมบัติ.
คําว่า ธมฺมิยา กถาย ได้แก่ ด้วยธรรมีกถาที่ประกอบด้วยอานิสงส์แห่งน้ำปานะ.
ก็เกณิยะนี้ ละอายที่มีมือเปล่าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า คิดว่าน้ำสําหรับดื่ม ย่อมควรแม้แก่ผู้เว้นวิกาลโภชน์ จึงให้หาบน้ำปานะผลพุทราที่ปรุงเป็นอย่างดีมาถึง ๕๐๐ หาบ. ก็เรื่องที่ชฎิลนั้นไปแล้วอย่างนี้. พระสังคีติกาจารย์ยกขึ้นสู่พระบาลีในเภสัชชักขันธกะ (๑) ว่า ครั้งนั้นแล เกณิยชฎิลได้มีความคิดดังนี้ว่า เราควรนําไปเพื่อพระสมณโคดมหรือไม่หนอดังนี้.
คําว่า ทุติยํปิ โข ภควา ถามว่า ทรงปฏิเสธบ่อยๆ เพราะเหตุไร.
ตอบว่า เพราะพวกเดียรถีย์มีความเลื่อมใสในการปฏิเสธ. ข้อนั้นมิใช่เหตุ ความ
(๑) วิ. ๓/๓๔๓
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 296
โกหกเห็นปานนี้ย่อมไม่มีแก่พระพุทธเจ้าทั้งหลายเพราะปัจจัยเป็นเหตุ. แต่ดาบสนี้เห็นภิกษุ ๑,๒๕๐ รูป จัดแจงภิกษาเพื่อภิกษุมีประมาณเท่านี้ทีเดียว. วันรุ่งขึ้น เสลพราหมณ์จักออกบวชกับบุรุษ ๓๐๐. ก็เราจะส่งภิกษุนวกะไปทางอื่น แล้วไปกับภิกษุเหล่านี้เท่านั้น หรือว่าส่งภิกษุเหล่านี้ไปทางอื่น แล้วไปกับภิกษุนวกะทั้งหลายไม่ควร. แม้หากว่าเราจะพาภิกษุไปทั้งหมด ภิกษาหารก็จะไม่พอ. แต่นั้นเมื่อภิกษุทั้งหลาย เที่ยวไปเพื่อบิณฑบาต คนทั้งหลายจักติเตียนว่า นานนักเกณิยะนิมนต์พระสมณโคดม แต่ไม่อาจเพื่อจะถวายอาหารพอยังอัตตภาพให้เป็นไปได้. เกณิยะเองจักมีความเดือดร้อน. แต่เมื่อทรงกระทําการปฏิเสธเสียแล้ว เกณิยะก็จะคิดว่า พระสมณโคดมจะถือเอาชื่อของพราหมณ์ทั้งหลายบ่อยๆ ว่า ก็ตัวท่านเลื่อมใสยิ่งในพวกพราหมณ์แล้ว จักต้องการเชื้อเชิญแม้พวกพราหมณ์ด้วย แต่นั้นพราหมณ์ก็จักเชื้อเชิญต่างหาก. ภิกษุเหล่านั้น อันพราหมณ์นั้นนิมนต์แล้ว ก็จักฉัน ด้วยอาการอย่างนี้จักเป็นอันรักษาศรัทธาของพราหมณ์นั้นไว้ฉะนั้น จึงทรงปฏิเสธบ่อยๆ.
ด้วยคําว่า กิฺจาปิ โภ นี้ย่อมแสดงถึงข้อนี้ว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ อะไรเกิดขึ้น ถ้าหากว่า ข้าพระองค์เลื่อมใสยิ่งแล้วในพราหมณ์ทั้งหลาย พระโคดมผู้เจริญ ขอจงทรงรับนิมนต์ ข้าพระองค์อาจถวายทั้งแก่พราหมณ์ ทั้งแก่พระองค์.
บทว่า กายเวยฺยาวตฺติกํ ได้แก่ การขวนขวายด้วยกาย.
บทว่า โรงกลม ได้แก่ มณฑปที่ดาษด้วยผ้า. การรับหญิงสาวมา ชื่อว่าอาวาหะ. การส่งหญิงสาวไป ชื่อว่าวิวาหะ.
คําว่า โส เม นิมนฺติโต ความว่า พระสมณโคดมนั้นเรานิมนต์แล้ว. ครั้งนั้น พราหมณ์พอได้ฟังเสียงว่า พุทธะ เป็นผู้ดุจรดแล้วด้วยน้ำอมฤต เพราะเป็นผู้มีอุปนิสัยแก่กล้าแล้ว.
เมื่อจะกระทําให้แจ้งซึ่งความเลื่อมใส จึงกล่าวว่า ท่านเกณิยะ ท่านกล่าวว่า พุทโธ หรือ. เกณิยะ เมื่อจะบอกตามความจริง จึงกล่าวว่า ข้าแต่ท่านเสละ ข้าพเจ้ากล่าวว่า
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 297
พุทโธ. แต่นั้นเสลพราหมณ์ จึงถามเกณิยพราหมณ์นั้นอีก เพื่อให้แน่ใจ. แม้เกณิยะนี้ ก็กล่าวอย่างนั้นนั่นเทียว.
ครั้งนั้น เมื่อพราหมณ์เห็นว่า เสียงว่า พุทโธ อันบุคคลพึงได้โดยยาก แม้ด้วยพันแห่งกัปป จึงได้มีความคิดอย่างนั้น คือได้มีความคิดอย่างนี้ว่า แม้เสียงนั้นแลเป็นต้น.
บทว่า นีลวนราชี ได้แก่ แถวต้นไม้มีสีเขียว.
คําว่า ปเท ปทํ คือ เท้าที่ย่างไปตามธรรมดา ก็เมื่อย่างเท้าชิดเกินไปหรือห่างเกินไป เสียงจะดังขึ้น เมื่อจะห้ามมิให้มีเสียงดังนั้น จึงกล่าวอย่างนั้น.
คําว่า สีโหว เอกจโร ความว่า สีหะมีปกติอยู่เป็นหมู่ ย่อมถึงความประมาทด้วยลูกสีหะเล็กเป็นต้น. ผู้เดียวเที่ยวไป ก็เป็นผู่ไม่ประมาท. เมื่อจะแสดงการอยู่ด้วยความไม่ประมาท จึงทําการเปรียบเทียบด้วยสีหะที่เที่ยวไปแต่ตัวเดียวด้วยประการฉะนี้.
เมื่อจะให้ศึกษาอาจาระจึงกล่าวว่า มา เม โภนฺโต.
ในคํานี้มีอธิบายดังต่อไปนี้ ถ้าท่านไม่ได้วาระที่จะพูด สอดคําเข้าไปในระหว่างคําของเรา ความครหาก็จักเกิดขึ้นแก่เราว่า ไม่อาจให้อันเตวาสิกศึกษาได้ดังนี้ เพราะฉะนั้น เห็นโอกาสแล้วจึงค่อยพูดเถิด.
คําว่า โน จ โข นํ ชานามิ ความว่า แม้พระโพธิสัตว์พระนามว่า วิปัสสี มีบรรพชิตเถระถึง ๘๔,๐๐๐ เป็นบริวาร ทรงประพฤติตอนเป็นพระโพธิสัตว์ถึง ๗ เดือน ได้เป็นเหมือนพุทธุปบาทกาล. แม้พระโพธิสัตว์ของพวกเราทรงประพฤติตอนเป็นพระโพธิสัตว์อยู่ถึง ๖ ปี. แม้ผู้ที่ประกอบพร้อมแล้วด้วยลักษณะแห่งสรีระอันสมบูรณ์อย่างนี้ ก็ยังไม่เป็นพระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น พราหมณ์จึงกล่าวว่า เราไม่รู้พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น ดังนี้.
บทว่า ปริปุณฺณกาโย ความว่า เป็นผู้มีสรีระบริบูรณ์โดยความบริบูรณ์ด้วยลักษณะทั้งหลาย และโดยมีอวัยวะไม่ทราม.
บทว่า สุรุจิ ความว่า มีรัศมีแห่งสรีระอันงดงาม.
บทว่า สุชาโต ได้แก่ เกิดดีแล้ว ด้วยความถึง
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 298
พร้อมด้วยส่วนสูง ส่วนกว้าง และถึงพร้อมด้วยทรวดทรง.
บทว่า จารุทสฺสโน ได้แก่ ต่อให้ดูนานๆ ก็ยังชวนใจให้ดูไม่รู้จักอิ่ม.
บทว่า มีผิวดุจทอง คือ มีผิวคล้ายทอง.
บทว่า สุสุกฺกทาโ ได้แก่ มีพระเขี้ยวขาวสนิท.
บทว่า มหาปุริสลกฺขโณ ความว่า เมื่อจะกล่าวย้ำพยัญชนะที่รู้แล้วทีแรกด้วยคําอื่น จึงกล่าวอย่างนั้น.
บัดนี้ เสลพราหมณ์เมื่อถือเอาลักษณะที่ชอบใจของตนในบรรดาลักษณะเหล่านั้น แล้วชมเชย จึงกล่าวคํามีอาทิว่า มีพระเนตรผ่องใส เป็นต้น.
จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้า ชื่อว่า มีพระทัยผ่องใส เพราะทรงสมบูรณ์ด้วยประสาท ๕ อย่าง ชื่อว่า มีพระพักตร์งาม เพราะมีพระพักตร์คล้ายพระจันทร์เต็มดวง (จันทร์เพ็ญ). ชื่อว่า เป็นผู้สง่างาม เพราะสมบูรณ์ด้วยทรวดทรง ไม่สูงนัก ไม่ต่ํานัก ไม่ผอม ไม่อ้วน. ชื่อว่า มีพระกายตรง เพราะมีพระองค์ตรงเหมือนพรหม. ชื่อว่า เป็นผู้มีพระเดชยิ่ง เพราะทรงมีความรุ่งเรือง.
อนึ่ง พระลักษณะอันใดในที่นี้ที่ได้กล่าวไว้ก่อนแล้ว พระลักษณะอันนั้น อันเสลพราหมณ์กล่าวชมเชยไว้อีก โดยปริยายนี้ว่า ทรงสง่างามในท่ามกลางหมู่สมณะดังนี้. ก็ผู้เช่นนี้ ย่อมรุ่งเรืองด้วยประการดังกล่าวมานี้.
แม้ในคาถาหลังก็นัยนี้เหมือนกัน.
บทว่า อุตฺตมวณฺณิโน ได้แก่ ทรงสมบูรณ์ด้วยวรรณอันอุดม.
บทว่า รเถสโภ ได้แก่ ทรงเป็นสารถีผู้สูงสุด.
บทว่า ชมฺพูสณฺฑสฺส ได้แก่ แห่งชมพูทวีป. เมื่อจะชมเชยความเป็นอิสระ โดยอาการที่ปรากฏจึงกล่าวแล้ว. ก็พระเจ้าจักรพรรดิทรงเป็นอิสระแห่งทวีปทั้งสี่.
บทว่า ขตฺติยา คือ เป็นพระชาติกษัตริย์.
บทว่า โภคา คือ เป็นผู้มีโภคะ.
บทว่า ราชาโน ได้แก่ พระราชาพระองค์ใดพระองค์หนึ่งทรงครองราชย์.
บทว่า ราชาภิราชา ได้แก่ เป็นผู้อันพระราชาทั้งหลายทรงบูชา
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 299
อธิบายว่า เป็นพระราชาผู้ยิ่งใหญ่คือพระเจ้าจักรพรรดิ.
บทว่า มนุชินฺโท คือ เป็นผู้ใหญ่ยิ่งในหมู่มนุษย์ ผู้มีอิสระอย่างยิ่ง.
เมื่อเสลพราหมณ์กล่าวอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพระดําริว่า พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ย่อมกระทําพระองค์ให้ปรากฏกะผู้กล่าวคุณของตนอยู่ เมื่อจะยังมโนรถของเสลพราหมณ์นี้ให้เต็ม จึงตรัสคําเป็นต้นว่า เราเป็นราชา ดังนี้.
ในพระดํารัสนั้นมีคําอธิบายดังต่อไปนี้.
ดูก่อนเสละ ท่านอ้อนวอนกล่าวกะเราว่า พระองค์ควรจะเป็นพระราชาดังนี้. ขอท่านจงมีความขวนขวายน้อยในข้อนี้เถิด เราเป็นพระราชา แลเมื่อเป็นพระราชา อุปมาว่าพระราชาอื่นทรงปกครองร้อยโยชน์บ้าง พันโยชน์บ้าง. แม้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิก็ทรงปกครองเพียงแผ่นดินมีมหาสมุทร ๔ เป็นขอบเขต แต่เรามิได้มีขอบเขตจํากัดเลย.
คือเราเป็นพระราชาโดยธรรม ไม่มีพระราชาอื่นยิ่งกว่า ปกครองโลกธาตุอันหาประมาณมิได้ โดยส่วนขวางตั้งแต่ภวัคคพรหมลงมาถึงอเวจีเป็นที่สุด. ก็สัตว์ทั้งหลายต่างด้วยไม่มีเท้า มีเท้า ๒ เป็นต้น มีประมาณเพียงใด เราเป็นผู้เลิศกว่าสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น. ไม่มีใครๆ มีส่วนเปรียบด้วยศีล ฯลฯ หรือด้วยวิมุตติญาณทัสสนะของเรา. เรานั้นแหละเป็นพระราชาโดยธรรม ที่ยอดเยี่ยม หมุนล้อธรรมอันต่างด้วยสติปัฏฐานสี่เป็นต้น ที่ยอดเยี่ยมจริงๆ. เราได้หมุนล้ออํานาจว่า นี้ท่านจงละ นี้ท่านจงเข้าถึงอยู่ หรือหมุนล้อธรรมด้วยปริยัติธรรมเป็นต้นว่า ภิกษุทั้งหลาย ก็นี้แลคือทุกขอริยสัจจ์.
บทว่า จักรที่ปฏิวัติไม่ได้ ความว่า ล้อที่สมณะ ฯลฯ หรือใครๆ ในโลกหมุนกลับไม่ได้.
เสลพราหมณ์ เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเปิดเผยพระองค์ด้วยประการดังนี้ จึงเกิดความปีติโสมนัส เพื่อจะกระทําให้มั่นคงอีกจึงกล่าว ๒ คาถาว่า ท่านยืนยันว่า เป็นสัมพุทธะ ดังนี้เป็นต้น.
ในบทเหล่านั้น
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 300
ด้วยคําว่า ใครหนอเป็นเสนาบดี เสลพราหมณ์ทูลถามว่า เมื่อพระองค์เป็นพระธรรมราชาหมุนล้อธรรมแล้ว ใครเป็นเสนาบดีหมุนตามล้อ.
ก็โดยสมัยนั้น ท่านพระสารีบุตรนั่งอยู่ทางเบื้องขวาของพระผู้มีพระภาคเจ้า งามด้วยศิริดุจแท่งทอง. พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงชี้พระสารีบุตรนั้น จึงตรัสคาถาว่า มยา ปวตฺติตํ เป็นต้น.
ในคําเหล่านั้น คําว่า อนุชาโต ตถาคตํ ความว่า ผู้เกิดเพราะพระตถาคตเจ้าเป็นเหตุ หมายความว่า ผู้เกิดตามเพราะเหตุพระตถาคตเจ้า.
อีกอย่างหนึ่ง บุตร ๓ จําพวก คือ อนุชาตบุตร อวชาตบุตร อติชาตบุตร. ในบุตรเหล่านั้น อวชาตบุตร เป็นผู้ทุศีล เขาไม่ชื่อว่าเป็นบุตรของพระตถาคตเจ้า. ผู้ที่ยิ่งกว่าบิดาชื่อว่า อติชาตบุตร. บุตรแม้นั้นของพระตถาคตเจ้าไม่มี. แต่พระตถาคตเจ้ามีอนุชาตบุตรจําพวกเดียวเท่านั้น. เมื่อทรงชี้บุตรนั้น จึงตรัสอย่างนั้น.
ครั้นพยาการณ์ปัญหาว่า ใครหนอเป็นเสนาบดี อย่างนี้แล้ว ซึ่งเสลพราหมณ์กล่าวว่า พระองค์ทรงยืนยันว่าเป็นสัมพุทธะ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประสงค์จะกระทําพราหมณ์นั้นให้สิ้นสงสัย ในเพราะเหตุนั้น จึงตรัสคาถาว่า อภิฺเยฺยํ เป็นต้น เพื่อแสดงให้พราหมณ์ทราบว่า เรามิได้ปฏิญาณด้วยอาการเพียงรับรู้เท่านั้น แต่ว่าเราเป็นพระพุทธเจ้าเพราะเหตุนี้.
ในคาถานั้น คําว่า อภิฺเญยฺยํ เป็นต้น ได้แก่ วิชชา วิมุตติ มรรคสัจที่ควรเจริญ และสมุทัยสัจที่ควรละ.
อนึ่ง แม้นิโรธสัจจ์และทุกขสัจจ์ อันเป็นผลแห่งสัจจะเหล่านั้น ย่อมเป็นอันตรัสแล้วทีเดียว เพราะผลสําเร็จด้วยการกล่าวถึงเหตุ. คํานี้ว่า เราได้ทําให้แจ้งสิ่งที่พึงทําให้แจ้ง ได้กําหนดรู้สิ่งที่พึงกําหนดรู้แล้วอย่างนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรวมมาไว้ในที่นี้นั่นแหละ. เมื่อทรงแสดงจตุสัจจภาวนา สัจจภาวนา ผล และวิมุตติ ทรงยังพุทธภาวะให้สําเร็จ โดยเหตุอันสมควรว่า เราได้รู้ธรรมที่พึงรู้ เป็นพระพุทธเจ้าแล้วดังนี้.
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 301
พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นเปิดเผยพระองค์อย่างสิ้นเชิงอย่างนี้แล้ว เมื่อจะยังพราหมณ์ให้หยั่งลงยิ่ง เพื่อข้ามความสงสัยในพระองค์ จึงตรัสสองคาถาว่า วินยสฺสุ เป็นต้น.
ในบทเหล่านั้น บทว่า สลฺลกตฺโต ได้แก่ ผู้ถอนลูกศรคือราคะเป็นต้นได้แล้ว.
บทว่า อนุตฺตโร ความว่า โรคที่หมอภายนอกรักษาให้หายแล้ว ยังกําเริบได้ในอัตตภาพนี้ได้ฉันใด แต่โรคที่เรารักษาให้หายแล้วไม่ใช่ฉันนั้น ย่อมไม่เกิดขึ้นในภพอื่นอีก. เพราะฉะนั้น เราจึงเป็นผู้ไม่มีใครอื่นยิ่งกว่า.
บทว่า พฺรหฺมภูโต ได้แก่ เป็นผู้ประเสริฐที่สุด.
บทว่า เปรียบไม่ได้ คือ ล่วงการเปรียบเทียบ หมายความว่า เปรียบเทียบไม่ได้.
บทว่า มารเสนปฺปมทฺทโน ความว่า ทรงย่ํายีมารและเสนามาร ซึ่งมาแล้วอย่างนี้ว่า กามทั้งหลายเป็นเสนาที่ ๑ ของท่าน.
บทว่า สพฺพามิตฺเต ได้แก่ ข้าศึกทั้งปวงกล่าวคือขันธมาร กิเลสมาร อภิสังขารมาร มัจจุมารและเทวบุตตมาร.
คําว่า วสีกตฺวา ความว่า ให้เป็นไปในอํานาจของตนแล้ว.
บทว่า อกุโตภโย ความว่า ผู้ไม่มีภัยแต่ที่ไหนๆ.
เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสด้วยประการดังนี้แล้ว เสลพราหมณ์เกิดความเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคเจ้า ในทันทีนั้น เป็นผู้มุ่งต่อบรรพชา จึงกล่าวสองคาถาว่า อิมํ โภนฺโต ดังนี้เป็นต้น.
ในคาถานั้น คําว่า กณฺหาภิชาติโก ได้แก่ ผู้เกิดในตระกูลต่ํามีจัณฑาลเป็นต้น. แต่นั้นแม้มาณพเหล่านั้นก็เป็นผู้หวังบรรพชา จึงกล่าวคาถาว่า ถ้าชอบใจท่านผู้เจริญอย่างนี้ เป็นต้น.
ครั้งนั้น เสลพราหมณ์มีจิตยินดีในมาณพเหล่านั้น และขอให้มาณพเหล่านั้น ทูลขอบรรพชา จึงกล่าวคาถาว่า พฺราหฺมณา ดังนี้เป็นต้น.
ต่อแต่นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงยังมาณพเหล่านั้นทั้งหมดให้บรรพชาเป็นเอหิภิกขุบรรพชาจึงตรัสพระคาถาว่า สฺวากฺขาตํ ดังนี้เป็นต้น เพราะเสลพราหมณ์ เคยเป็นหัวหน้าของคณะบุรุษ ๓๐๐ คนเหล่านั้นทั้งหมด
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 302
ร่วมกันสร้างบริเวณกับคนเหล่านั้น กระทําบุญมีทานเป็นต้น ในศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้า พระนามว่า ปทุมุตตระ ในอดีตชาติ ได้เสวยเทวสมบัติและมนุษย์สมบัติตามลําดับอยู่ ครั้นภพสุดท้ายจึงมาบังเกิดเป็นอาจารย์ของมาณพเหล่านั้นอีก และกรรมของคนเหล่านั้น แก่รอบแล้ว เพื่อบ่มวิมุตติและเป็นอุปนิสสัยแห่งความเป็นเอหิภิกขุนั้น.
ในพระคาถานั้น บทว่า สนฺทิฏฐิกํ ได้แก่ อันบุคคลพึงเห็นโดยประจักษ์ด้วยตนเอง.
บทว่า อกาลิกํ ความว่า ได้แก่ ผลที่จะพึงบรรลุแห่งผลที่เกิดขึ้นในระหว่างแห่งมรรคไม่ใช่ในกาลถัดไป.
บทว่า ยตฺถ อโมฆา ความว่า เมื่อไม่ประมาทอยู่ในมรรคพรหมจรรย์ใด ศึกษาอยู่ด้วยการบําเพ็ญสิกขาสามให้บริบูรณ์ การบรรพชาก็ไม่เปล่าประโยชน์ หมายความว่า มีผลดังนี้.
ก็พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นตรัสอย่างนี้แล้ว จึงตรัสว่า ท่านทั้งหลายจงเป็นภิกษุมาเถิด ดังนี้. ภิกษุเหล่านั้นทั้งหมด เป็นผู้ทรงบาตรและจีวรเหาะมาทางอากาศ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว อันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแนะนําดีแล้ว ดุจพระเถระผู้มีพรรษา ๑๐๐.
ท่านกล่าวว่า อลตฺถ โข เสโล ดังนี้เป็นต้น หมายถึงความที่ภิกษุเหล่านั้น เอหิภิกขุนี้ ด้วยประการฉะนี้.
บทว่า อิมาหิ ได้แก่ ด้วยคาถาอันเหมาะแก่จิตของเกณิยปริพาชกเหล่านี้.
ท่านกล่าวคําว่า อคฺคิหุตฺตํมุขา ยฺา ในคาถานั้น เพราะพราหมณ์ทั้งหลายไม่มีการบูชายัญนอกจากการบําเรอไฟ. หมายความว่า มีการบูชาไฟเป็นสิ่งประเสริฐ มีการบูชาไฟเป็นประธาน.
ท่านกล่าว สาวิตรีฉันท์เป็นประมุขของฉันท์ เพราะเมื่อสาธยายพระเวท ก็ต้องร่ายบทนี้ก่อน. พระราชาท่านกล่าวว่า เป็นประธาน เพราะเป็นผู้ประเสริฐกว่ามนุษย์ทั้งหลาย. สาครท่านก็กล่าวว่าเป็นประธาน เพราะเป็นที่ทรงไว้ซึ่งแม่น้ำทั้งหลายและเป็นที่พึ่งอาศัยแห่งสัตว์. ท่านกล่าวว่า พระจันทร์เป็นประธานแห่งนักษัตร
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 303
ทั้งหลาย เพราะกระทําแสงสว่าง และมีความเยือกเย็น เพราะให้รู้ได้ว่า วันนี้เป็นกฤติกาฤกษ์ วันนี้เป็นโรหิณีนักษัตร เพราะประกอบด้วยพระจันท์. ท่านกล่าวพระอาทิตย์ว่า มีความร้อนเป็นประมุข เพราะเป็นเลิศของสิ่งที่ร้อนทั้งหลาย.
อนึ่ง ท่านกล่าวว่า พระสงฆ์แลเป็นประมุขของผู้หวังบุญบูชาอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหมายถึงพระสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขในสมัยนั้น เพราะเป็นผู้เลิศแห่งทักขิไณยบุคคลทั้งหลาย. เพราะเหตุนั้น ท่านแสดงว่า พระสงฆ์เป็นทางเจริญแห่งบุญ ดังนี้.
ท่านกล่าวคาถาพยากรณ์อื่นๆ ว่า ที่พึ่งนั้นใด. ความของคาถานั้นดังต่อไปนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้มีจักษุด้วยจักษุ ๕ เพราะเราทั้งหลายได้มาถึงสรณะนั้นๆ ในวันที่ ๘ แต่วันนี้ ฉะนั้น จึงฝึกตนแล้ว ด้วยการฝึกที่ไม่มีการฝึกอื่นยิ่งกว่า ในศาสนาของพระองค์ น่าอัศจรรย์นัก อานุภาพแห่งสรณะของพระองค์. ต่อแต่นั้น ได้ชมเชยพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยคาถาอีก ๒ คาถา เมื่อขอไหว้เป็นครั้งที่สามจึงกล่าวว่า ภิกษุ ๓๐๐ รูปเหล่านั้น เป็นต้นแล.
จบอรรถกถาเสลสูตรที่ ๒