[เล่มที่ 35] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 376
จตุตถปัณณาสก์
อินทริยวรรคที่ ๑
๙. ภิกขุนีสูตร
ว่าด้วยภิกษุณีส่งบุรุษไปหาพระอานนท์
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 35]
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 376
๙. ภิกขุนีสูตร
ว่าด้วยภิกษุณีส่งบุรุษไปหาพระอานนท์
[๑๕๙] สมัยหนึ่ง พระอานนท์อยู่ ณ โฆสิตาราม กรุงโกสัมพี ครั้งนั้น ภิกษุณีรูปหนึ่งเรียกบุรุษผู้หนึ่งมาสั่งว่า มานี่แน่ะท่าน ขอท่านจงไปหาพระผู้เป็นเจ้าอานนท์ ไปถึงแล้วจงกราบเท้าพระผู้เป็นเจ้าอานนท์ตามคำของข้าพเจ้าว่า ภิกษุณีชื่อนี้อาพาธเสวยทุกขเวทนาเป็นไข้หนัก เธอกราบเท้าพระผู้เป็นเจ้าอานนท์ ดังนี้แล้วจงกราบเรียนว่า สาธุ ขอพระผู้เป็นเจ้าอานนท์ จงได้กรุณาไปเยี่ยมภิกษุณีนั้น ณ สำนักภิกษุณีด้วยเถิด
บุรุษนั้นรับคำแล้ว ไปหาพระอานนท์ ไปถึง อภิวาทแล้วนั่งลงข้างหนึ่ง จึงกราบเรียนตามที่ภิกษุณีนั้นสั่งมา พระอานนท์รับโดยดุษณีภาพ
ครั้งนั้น เวลาเช้า พระอานนท์ครองสบงแล้วถือบาตรและจีวรไปสำนักภิกษุณี ภิกษุณีรูปนั้นเห็นท่านแต่ไกล (แสร้ง) นอนคลุมโปงอยู่บนเตียง
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 377
ท่านเข้าไปถึงที่ภิกษุณีนั้นแล้ว นั่ง ณ อาสนะที่เขาจัดไว้ ครั้นนั่งแล้วจึงกล่าวกะภิกษุณีนั้นว่า
ดูก่อนน้องหญิง ร่างกายนี้เกิดเป็นมาด้วยอาหาร เธอพึงอาศัยอาหาร ละอาหารเสีย
ร่างกายนี้เกิดเป็นมาด้วยตัณหา เธอพึงอาศัยตัณหาละตัณหาเสีย
ร่างกายนี้เกิดเป็นมาด้วยมานะ เธอพึงอาศัยมานะละมานะเสีย
ร่างกายนี้เกิดเป็นมาด้วยเมถุน ควรละเมถุนนั้นเสีย เมถุนนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสอนให้ชักสะพานเสีย
ดูก่อนน้องหญิง ก็ข้อที่เรากล่าวว่า ร่างกายนี้เกิดเป็นมาด้วยอาหาร เธอพึงอาศัยอาหารละอาหารเสีย ดังนี้ เราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว น้องหญิง ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้พิจารณาโดยแยบคายแล้วจึงกลืนกินอาหาร มิใช่บริโภคเพื่อเล่น มิใช่เพื่อเมา มิใช่เพื่อประดับ มิใช่เพื่อประเทืองผิว เพียงเพื่อความตั้งอยู่ได้แห่งกายนี้ เพื่อยังชีวิตให้เป็นไป เพื่อระงับความกระหายหิว เพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์ ด้วยคิดว่า ด้วยการกินอาหารนี้ เราจักระงับเวทนาเก่าด้วย จักไม่ยังเวทนาใหม่ให้เกิดขึ้นด้วย ความเป็นไปได้ ความไม่มีโทษ และความอยู่ผาสุกจักมีแก่เรา ต่อมา ภิกษุนั้นก็อาศัยอาหารละอาหารเสีย ดูก่อนน้องหญิง ข้อที่เรากล่าวว่า ร่างกายนี้เกิดเป็นมาด้วยอาหาร เธอพึงอาศัยอาหารละอาหารเสีย ดังนี้ เราอาศัยข้อนี้แลกล่าวแล้ว
ก็ข้อที่ว่า ร่างกายนี้เกิดเป็นมาด้วยตัณหา เธอพึงอาศัยตัณหาละตัณหาเสีย นี้ เราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว? ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ได้ยินข่าวว่า ภิกษุชื่อนั้น เพราะสิ้นอาสวะทั้งหลาย ทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองสำเร็จอยู่ในปัจจุบันนี่ เธอมีความปรารถนาว่า เมื่อไรนะ เราจักทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติปัญญาวิมุตติ ฯลฯ
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 378
สำเร็จอยู่ในปัจจุบันบ้าง ต่อมาเธอก็อาศัยตัณหาละตัณหาเสีย น้องหญิง ข้อที่ว่า ร่างกายนี้เกิดเป็นมาด้วยตัณหา เธอพึงอาศัยตัณหาละตัณหาเสีย นี้ เราอาศัยข้อนี้แลกล่าวแล้ว
ข้อที่ว่า ร่างกายนี้เกิดเป็นมาด้วยมานะ บุคคลพึงอาศัยมานะละมานะเสีย นั้น เราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว? ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ได้ยินข่าวว่า ภิกษุชื่อนั้น เพราะสิ้นอาสวะทั้งหลาย ทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ ฯลฯ สำเร็จอยู่ในปัจจุบันนี่ เธอคิด (เปรียบเทียบ) ว่า ที่ท่านผู้นั้นยังทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ ฯลฯ สำเร็จอยู่ในปัจจุบันนี้ได้ ก็เราเป็นไรเล่า ต่อมา เธอก็อาศัยมานะละมานะได้ น้องหญิง ข้อที่ว่า ร่างกายนี้เกิดเป็นมาด้วยมานะ บุคคลพึงอาศัยมานะละมานะเสีย นั้น เราอาศัยข้อนี้แล กล่าวแล้ว
ดูก่อนน้องหญิง ร่างกายนี้เกิดเป็นมาด้วยเมถุน ต้องละเมถุนนั้น เมถุนนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสอนให้ชักสะพานเสีย
พอพระอานนท์กล่าวจบความนี้ลง ภิกษุณีรูปนั้นลุกขึ้นลงจากเตียง ห่มผ้าเฉวียงบ่า หมอบลงแทบเท้าพระอานนท์ กล่าวคำขอขมาว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าผู้เจริญ ความผิด (ฐานอคารวะ) ได้เกิดแก่ข้าพเจ้าแล้ว โดยที่เขลา โดยที่หลง โดยที่ไม่ฉลาด ซึ่งข้าพเจ้าได้การทำอย่างนี้ ขอพระผู้เป็นเจ้าอานนท์จงยกโทษ เพื่อข้าพเจ้าจะสังวรต่อไป
พระอานนท์กล่าวว่า เอาเถอะ น้องหญิง ความผิดเกิดแก่เธอแล้ว โดยที่เขลา โดยที่หลง โดยที่ไม่ฉลาด ซึ่งเธอได้กระทำอย่างนี้ เมื่อเธอเห็น ความผิดแล้วทำคืนตามวิธีที่ชอบ เราย่อมยกโทษให้ อันการที่เห็นความผิดแล้วทำคืนตามวิธีที่ชอบ ถึงความสังวรต่อไป นั่นเป็นความเจริญในวินัยของพระอริยะ.
จบภิกขุนีสูตรที่ ๙
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 379
อรรถกถาภิกขุนีสูตร
พึงทราบวินิจฉัยในภิกขุนีสูตรที่ ๙ ดังต่อไปนี้ :-
บทว่า เอหิ ตฺวํ ได้แก่ ภิกษุณีมีจิตปฏิพัทธ์ในพระเถระ จึงกล่าวอย่างนี้ เพื่อส่งบุรุษนั้นไป. บทว่า สสีสํ ปารุปิตฺวา ได้แก่ คลุมกายตลอดศีรษะ. บทว่า มญฺจเก นิปชฺชิ ได้แก่ ภิกษุณีรีบลาดเตียงแล้วนอนบนเตียงนั้น. บทว่า เอตทโวจ ความว่า พระอานนท์สังเกตอาการของภิกษุณีนั้น. จึงได้กล่าวกะภิกษุณีนั้น เพื่อแสดงอสุภกถาโดยนิ่มนวล เพื่อให้ภิกษุณีละความโลภ.
บทว่า อาหารสมฺภูโต ได้แก่ ร่างกายนี้เกิดเป็นมาเพราะอาหาร คือเจริญขึ้นเพราะอาศัยอาหาร. บทว่า อาหารํ นิสฺสาย อาหารํ ปชหติ ความว่า บุคคลอาศัยกวฬีการาหารอันเป็นปัจจุบัน เสพอาหารนั้นโดยแยบคายอย่างนี้ ย่อมละอาหารกล่าวคือกรรมเก่า พึงละตัณหา อันเป็นความใคร่ในกวฬีการาหารแม้อันเป็นปัจจุบัน. บทว่า ตณฺหํ ปชหติ ความว่า บุคคลอาศัยตัณหาอันเป็นปัจจุบันที่เป็นไปแล้วอย่างนี้ ในบัดนี้ ย่อมละบุพตัณหา อันมีวัฏฏะเป็นมูล. ถามว่า ก็ตัณหาอันเป็นปัจจุบันนี้เป็นกุศลหรืออกุศล. ตอบว่า เป็นอกุศล. ถามว่า ควรเสพหรือไม่ควรเสพ. ตอบว่า ควรเสพ. ถามว่า จะชักปฏิสนธิมาหรือไม่ชักมา. ตอบว่า ไม่ชักมา. แต่ควรละความใคร่ ในตัณหาที่ควรเสพ อันเป็นปัจจุบันแม้นี้เสียทีเดียว. บทว่า กิมงฺคํ ปน ในบทว่า โส หิ นาม อายสฺมา อาสวานํ ขยา ฯเปฯ อุปสมฺปชฺช วิหริสฺสติ กิมงฺคํ ปนาหํ นี้ นั่นเป็นความปริวิตกถึงเหตุ. ท่านอธิบายข้อนี้ไว้ว่า ภิกษุนั้นจักทำอรหัตตผลให้แจ้งอยู่ ด้วยเหตุไรเราจึงจักไม่
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 380
ทำให้แจ้งอยู่เล่า แม้ภิกษุนั้น ก็เป็นบุตรของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้เราก็เป็นบุตรของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเหมือนกัน อรหัตตผลนั้น จักเกิดแก่เราบ้าง.
บทว่า มานํ นิสฺสาย ได้แก่ อาศัยมานะที่ควรเสพอันเกิดขึ้นแล้วอย่างนี้. บทว่า มานํ ปชหติ ได้แก่บุคคลละบุพมานะอันมีวัฏฏะเป็นมูล. อธิบายว่า ก็บุคคลนั้น อาศัยมานะใดละมานะนั้นได้ แม้มานะนั้นก็เป็น อกุศล ควรเสพ และไม่ชักปฏิสนธิมาดุจตัณหา แต่ควรละความใคร่แม้ในมานะนั้นเสีย. บทว่า เสตุฆาโต วุตฺโต ภควตา ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นพุทธะ ตรัสสอนให้ทำลายทาง คือ ทำลายปัจจัยเสีย. เมื่อพระเถระยักเยื้องเทศนาด้วยองค์ ๔ เหล่านี้แล้ว ฉันทราคะ อันปรารภพระเถระเกิดขึ้นแก่ภิกษุณีนั้นได้หมดไปแล้ว. แม้ภิกษุณีนั้นก็ขอโทษที่ล่วงเกิน เพื่อให้พระเถระยกโทษให้. แม้พระเถระก็รับโทษที่ล่วงเกินของภิกษุณีนั้น. เพื่อแสดงถึงข้อนั้นท่านจึงกล่าวคำเป็นอาทิว่า อถโข สา ภิกฺขุนี ดังนี้.
จบอรรถกถาภิกขุนีสูตรที่ ๙