เรียน อาจารย์ทั้งสองท่าน
"ธรรม" ขอความอนุเคราะห์อาจารย์ช่วยกรุณาให้อรรถาธิบายเกี่ยวกับคำนี้ด้วยครับ
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
คำว่า ธรรม หรือ ธัมมะ มีหลายหลายนัยและหลายความหมาย ซึ่งพออธิบายได้ดังนี้ครับ ในคำว่า ธมฺม นี้ ธัมม ศัพท์นี้ ใช้กันในอรรถทั้งหลายมี ปริยัตติ สมาธิ ปัญญา ปกติ สภาวะ สุญญตา บุญ อาบัติ เญยยะ และจตุสัจจธรรม เป็นต้น
ดังนั้น ธรรมจึงมีหลายความหมาย
1. ธรรม หมายถึง ปริยัติ เช่น พระไตรปิฎก มี วินัยปิฎก สุตตันตปิฎก อภิธรรมปิฎก ก็ชื่อว่า ธรรม
2. ธรรม หมายถึง ปัญญา
3. ธรรม หมายถึง ปกติ เช่น มีความแก่เป็นปกติ เกิดเป็นปกติ ตายเป็นปกติ
4. ธรรม หมายถึง สภาวะ คือ ลักษณะของสภาพธัมมะของสภววะธรรมต่างๆ เช่น สภาวธรรมของกุศล อกุศล กิริยา
5. ธรรม หมายถึง จตุสัจจธรรม คือ อริยสัจ ๔
6. ธรรม หมายถึง บุญ หรือ กุศล
7. ธรรม หมายถึง บัญญัติ เรื่องราว ก็ชื่อว่า ธรรม
8. ธรรม หมายถึง อาบัติ ของพระ
9. ธรรม หมายถึง ปัจจัย ของสภาพธรรมต่างๆ ก็ชื่อว่า ธรรม
10. ธรรม หมายถึง ความไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน ชื่อว่า ธรรมเช่นกัน
เชิญคลิกอ่าน ความหมายของ ธรรม ในพระไตรปิฎก ครับ
อรรถกถาอธิบายธัมมะศัพท์
ศัพท์ว่า ธัมมะ
ตามที่เราได้ศึกษาเข้าใจกัน เข้าใจคำว่า ธรรม หมายถึง ลักษณะของสภาวธรรม ที่มีจริง คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน จึงอยู่ในหมวดที่อธิบาย คำว่าธรรมในพระไตรปิฎก ในข้อที่ ๔ ที่อธิบาย คำว่า ธรรม คือ สภาวะ ลักษณะที่มีอยู่จริง จะเห็นนะครับว่า ธรรม มีหลากหลายความหมายในพระไตรปิฎก ตามที่กระผมได้กล่าวมา
ดังนั้น จึงไม่ใช่ไปปฏิเสธความหมายของธรรม ในความหมายนั้น ความหมายนี้ แต่จะต้องศึกษาและอ่านข้อความในพระไตรปิฎก หรือ เรื่องราวที่อ้างนั้นว่า ท่านมุ่งหมายให้เข้าใจ ในเรื่องนั้นว่าอย่างไร
คำว่า ธรรม ก็เป็นไปตามความมุ่งหมายของพระพุทธเจ้าทรงแสดงหลากหลายนัยด้วยครับ แต่ที่สำคัญ หากเรามีพื้นฐานที่ถูกต้องเป็นเบื้องต้น เราก็จะไม่เข้าใจความหมายของคำว่า ธรรม ผิด เพราะเข้าใจถูกก่อนครับว่า ธรรมในความหมายต่างๆ เช่น บุญ ปัญญา ปริยัติ คำสอน บัญญัติเรื่องราว เป็นต้น ล้วนแล้วแต่จะต้องอาศัย
ธรรม คือ สิ่งที่มีจริง ที่มีความหมายถึง สภาวะ ลักษณะ ที่เป็นจิต เจตสิก รูป นิพพาน หากไม่มีสภาพธรรมที่มีจริงที่มี สภาวะลักษณะ ก็จะไม่มีบัญญัติเรื่องราว ไม่มีบุญ ไม่มีปัญญา ที่เป็นความหมายใน คำว่า ธรรมโดยนัยอื่นๆ เลยครับ
เพราะฉะนั้น หากไม่ได้ศึกษาธรรมโดยละเอียดรอบคอบ ย่อมเข้าใจคำว่า ธรรมที่เป็นสัจจะ ความจริงผิดไปจากธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง และย่อมเข้าใจคำว่าธรรมเพียงแคบๆ ตามความคิดของตนเอง เช่น ธรรม คือ ธรรมชาติทุกๆ สิ่ง แต่ไม่ได้เข้าใจความเป็นจริงที่เป็นสัจจะ ของคำว่า ธรรม ที่เป็นสัจจะความจริง คือ มีสภาวะลักษณะให้รู้ คือ จิต เจตสิก รูปและนิพพาน
ดังนั้น ถ้าเราเข้าใจความหมายที่ถูกต้องที่เป็นเบื้องต้นว่า ธรรม คือ สิ่งที่มีอยู่จริงที่มีสภาวะ ลักษณะ เมื่อได้ยินความหมาย คำว่าธรรมในพระไตรปิฎกในความหมายอื่นๆ ก็เข้าใจถูก และไม่ขัดกัน เพราะมุ่งแสดง คำว่าธรรมโดยนัยอื่น แต่ถ้าไม่เข้าใจถูกในเบื้องต้นในคำว่า ธรรม ก็จะทำให้เข้าใจผิดในคำว่า ธรรม ตามที่พระพุทธเจ้างทรงแสดง และย่อมไม่เข้าถึงตัวธรรม คือ ไม่รู้ตัวจริงของสภาพธรรมในขณะนี้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา เพราะไม่เข้าใจเบื้องต้นจริงๆ ที่เป็นสัจจะว่าธรรม คือ อะไร การศึกษาพระธรรม ด้วยความละเอียดรอบคอบย่อมเกื้อกูลต่อความเห็นถูก และ ความเจริญขึ้นของปัญญา ครับ
ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
สิ่งที่มีจริงๆ เป็นธรรมทั้งหมด ธมฺม (ธรรม) เป็นคำภาษาบาลี แต่ภาษาไทย ก็คือ สิ่งที่มีจริง ก็ต้องมีจริงๆ เห็นมีจริงๆ ได้ยินมีจริงๆ คิดมีจริงๆ ชอบมีจริงๆ หวานมีจริง เสียงมีจริงๆ ทุกอย่างที่มีจริง เป็นจริง เปลี่ยนเป็นภาษาบาลีก็คือ เป็นธรรม สิ่งที่มีจริง ใครสามารถเปลี่ยนลักษณะของสิ่งที่มีจริงๆ ให้เป็นอย่างอื่นได้ไหม ไม่ได้เลย
อ้างอิงจาก ปันธรรม-ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๑๒๗
ความเป็นจริงของธรรม เป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น ไม่มีใครไปเปลี่ยนแปลงได้ มีธรรมเกิดขึ้นเป็นไปอยู่ตลอด ถ้าไม่มีการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมแล้ว ไม่มีทางที่จะเข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริงได้เลย ก็ต้องตั้งต้นตั้งแต่คำแรกที่จะต้องศึกษาให้เข้าใจโดยตลอด นั่นก็คือ คำว่าธรรม
คำว่า ธรรม เป็นคำมาจากภาษาบาลี แต่ถ้าเป็นคำไทยแล้วก็คือ สิ่งที่มีจริง แล้วสิ่งที่มีจริง นั้น คือ อะไร? คือ ขณะนี้หรือไม่ ที่กำลังเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย คิดนึก ขณะที่เป็นกุศล ความดีงามเกิดขึ้นเป็นไป มีเมตตา ให้ทานรักษาศีล ฟังพระธรรม ช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น เป็นต้น หรือ ในทางตรงกันข้าม ขณะที่อกุศลเกิด ไม่ว่าจะเป็นความติดข้องยินดีพอใจ หรือความโกรธ ความขุ่นเคืองใจไม่พอใจ ตลอดจนถึงสภาพธรรมที่ไม่ดีประการอื่นๆ ล้วนเป็นสิ่งที่มีจริง ซึ่งใครๆ ก็ปฏิเสธไม่ได้
นอกจากนั้นแล้วสิ่งที่มีจริง ที่ไม่ใช่สภาพรู้ คือ รูปธรรมก็มีจริงๆ เช่น สี มีจริงเสียงมีจริง กลิ่นมีจริง เป็นต้น เหล่านี้ทั้งหมดเป็นสิ่งที่มีจริง เป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป ไม่เที่ยงไม่ยั่งยืนเลย ยิ่งถ้าได้สะสมความเข้าใจไปเรื่อยๆ ก็ยิ่งจะมั่นคงว่า สิ่งที่มีจริงๆ นั้น คือ ขณะนี้ที่เป็นนามธรรมกับรูปธรรมนั่นเอง ครับ
ขอเชิญคลิกฟังและอ่านคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ได้ที่นี่ครับ
อย่าฟังเผิน
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขออนุโมทนา
ขอบคุณคะและอนุโมทนาคะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ธรรมะเป็นสิ่งที่มีจริงๆ เห็นเป็นธรรมะ ได้ยินเป็นธรรมะ การที่ปัญญาจะถึงสภาพธรรมะเดี๋ยวนี้ ต้องอาศัยกาลเวลา ถ้าฟังแล้วเข้าใจจะเห็นความเป็นอนัตตา ธรรมะไม่ใช่เรา ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใด เช่น แข็ง เป็น แข็ง ไม่มีรูปร่างสัณฐาน ค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ