โส ภควา อิติปิ ปุริสทมฺมสารถิ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเป็นผู้ฝึกแก่บุรุษที่พึงฝึกได้
วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ หน้า ๒๔๖
ฉอนุสสตินิเทศ
...อนุสสติอันปรารภพระพุทธเจ้าเกิดขึ้น ชื่อพุทธานุสติ คำว่าพุทธานุสตินั่น เป็นคำเรียกสติอันมีพระพุทธคุณเป็นอารมณ์
...ในอนุสติ ๑๐ มีประการดังกล่าวมานี้ พระโยคาวจรผู้กอปรด้วยความเลื่อมใสมั่น ใคร่จะเจริญพุทธานุสสติ... พึงเป็นผู้ไปในที่ลับ เร้นอยู่ในเสนาสนะอันสมควรแล้ว ระลึกถึงพระคุณของพระผู้มีพระภาคเจ้าอย่างนี้ว่า อิติปิโส ภควา อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน สุคโต โลกวิทู อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ สตฺถา เทวมนุสฺสานํ พุทฺโธ ภควา นี้เป็นนัยในการระลึกในพระพุทธคุณเหล่านี้ คือ ระลึกโดยประกอบ อิติปิ ไว้ทุกบท ได้แก่ โส ภควา อิติปิ อรหํ (แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเป็นพระอรหันต์) ....โส ภควา อิติปิ ภควา (แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเป็นพระภควา) ....มีอธิบายว่า ...”เพราะเหตุนี้ๆ ”
วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ หน้า ๒๗๐
[แก้อรรถบท ปุริสทมฺมสารถิ]
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า ปุริสทมฺมสารถิ เพราะ ทรงขับ อธิบายว่า ทรงฝึก ทรงนำไป ซึ่งบุรุษที่พึงฝึกได้ทั้งหลาย บุรุษทั้งหลายที่ยังมิได้ฝึก (แต่ว่า) ควรจะฝึกได้ เป็นดิรัจฉานบุรุษก็ดี เป็นมนุษยบุรุษก็ดี ชื่อว่า ปุริสทมฺมา บุรุษที่พึงฝึกได้ทั้งหลาย ในบท ปุริสทมฺมสารถิ นั้น จริงอย่างนั้น แม้ดิรัจฉานบุรุษทั้งหลาย เช่นอย่าง อปลาลนาคราช จูโฬทรนาคราช มโหทรนาคราช อัคคิสิขนาคราช ธูมสิขนาคราช อาลวาฬนาคราช ช้างธนปาลกะ พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงฝึกได้ แม้มนุษยบุรุษทั้งหลาย เช่นสัจจกะนิครนถบุตร อัมพัฏฐมาณพ โปกขรสาติพราหมณ์ โสณทัณฑพราหมณ์ กูฏทันตพราหมณ์ แม้อมนุษยบุรุษทั้งหลาย เช่น อาฬวกยักษ์ สูจิโลมยักษ์ ขรโลกยักษ์ และสักกเทวราช พระองค์ก็ทรงฝึกได้ คือทรงนำไปด้วยวินยุบาย (วิธีนำ) หลากๆ อนึ่งในความข้อนี้ พระสูตรนี้ (ที่ตรัส) ว่า “ดูกรเกสี เราก็นำบุรุษที่พึงฝึกได้ทั้งหลายไปด้วยวิธีละม่อมบ้าง… ด้วยวิธีหยาบบ้าง… ด้วยวิธีทั้งละม่อมทั้งหยาบ (ระคนกัน) บ้าง” ดังนี้เป็นต้น บัณฑิตพึง (นำมากล่าว) ให้พิสดาร อีกประการหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อตรัสบอกคุณวิเสส (ที่ยิ่งขึ้นไป) มีปฐมฌาน เป็นต้น แก่การกบุคคลทั้งหลายมีบุคคลผู้มีศีลหมดจดแล้ว เป็นอาทิ และตรัสบอกมรรคปฏิปทาอันยิ่งขึ้นไปแก่อริยบุคคลทั้งหลาย มีพระโสดาบัน เป็นต้น ก็ชื่อว่าทรงฝึกผู้ที่ได้ฝึกแล้วด้วยแท้
[แก้อรรถบท อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ]
อีกนัยหนึ่ง สองบทว่า อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ นี้ เป็นอรรถบท (บทแสดงความ) อันเดียวกัน เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงขับบุรุษที่พึงฝึกทั้งหลายได้ อย่างที่เขาทั้งหลายนั่งขัดสมาธิอยู่แห่งเดียวนั่นแหละ (แต่) แล่นไปได้ทั้ง ๘ ทิศ ไม่ติดขัด เพราะเหตุนั้น บัณฑิต จึงถวายพระนามว่า อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ ผู้ขับบุรุษที่พึงฝึกได้ ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า อนึ่ง ในข้อความนี้ พระสูตรนี้ (ที่ตรัส) ว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ช้างที่พึงฝึก อันผู้ฝึกช้างขับแล้ว ย่อมแล่นไปได้แต่ทิศเดียว” ดังนี้เป็นต้น บัณฑิตพึง (นำมากล่าว) ให้พิสดาร เทอญ
[สรุปความ]
ในคัมภีร์ได้แสดงการอบรมเจริญความสงบ โดยมีการระลึกถึงคุณของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นอารมณ์ ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ การระลึกว่า “แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเป็นผู้ฝึกแก่บุรุษที่พึงฝึกได้” ซึ่งได้แสดงเหตุของความเป็นผู้ฝึกแก่บุรุษที่พึงฝึกได้ ตามนัย ดังนี้
บุรุษที่พึงฝึกได้ (ปุริสทมฺม) นั้น ได้แก่
- ผู้ที่ยังไม่ได้ฝึกแต่ควรจะฝึกได้ ได้แก่ สัตว์ดิรัจฉาน มนุษย์ อมนุษย์ เป็นต้น ทรงฝึกให้ตั้งอยู่ในสรณะ และศีลได้
- ผู้ที่ได้ฝึกแล้ว ได้แก่ ทรงแสดงสมถกัมมัฏฐานต่างๆ แก่ผู้ที่อบรมศีลแล้ว ทรงแสดงมรรคปฏิปทายิ่งขึ้นแก่ผู้ที่เป็นพระโสดาบันแล้ว เป็นต้น
อุบายการฝึก (เกสีสูตร อํ. จ. เล่ม ๒ หน้าที่ 298) แสดงว่า ได้แก่
- การฝึกด้วยวิธีละม่อม คือ การแสดงสุจริตกรรมทั้งทางกาย วาจา ใจ, วิบาก (ผลของกรรม) ที่เกิดจากสุจริตกรรม, กำเนิดของสัตว์ที่เป็นผลจากสุจริตกรรม มีมนุษย์ เทวดา เป็นต้น
- การฝึกด้วยวิธีรุนแรง คือ การแสดงทุจริตกรรมทั้งทางกาย วาจา ใจ, วิบากที่เกิดจากทุจริตกรรม, กำเนิดของสัตว์ที่เป็นผลจากทุจริตกรรม มีสัตว์นรก สัตว์ดิรัจฉาน ปิติวิสัย เป็นต้น
- การฝึกด้วยวิธีทั้งละม่อมทั้งรุนแรง คือ การแสดงทั้งสุจริตกรรมทั้งทุจริตกรรมทั้งทางกาย วาจา ใจ, วิบากที่เกิดจากทั้งสุจริตกรรมทั้งทุจริตกรรม, กำเนิดของสัตว์ทั้งที่เป็นผลจากทั้งสุจริตกรรมทั้งทุจริตกรรม มีเทวดา มนุษย์ สัตว์นรก สัตว์ดิรัจฉาน ปิติวิสัย เป็นต้น
- ส่วนผู้ที่ไม่สามารถจะฝึกได้นั้น พระองค์ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญ ว่าควรที่จะสั่งสอน ใดๆ
ส่วนการระลึกว่า “แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเป็นผู้ฝึกแก่บุรุษที่พึงฝึกได้ ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า” ซึ่งได้แสดงเหตุของความเป็นผู้ฝึกแก่บุรุษที่พึงฝึกได้ ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า มีแสดงไว้ดังนี้
ท่านแสดงว่าช้างที่ฝึกแล้ว หรือม้าที่ฝึกแล้ว เมื่อครูฝึกขับให้วิ่ง ย่อมแล่นไปในทิศเดียว เช่น ทิศตะวันออก ทิศตะวันตก ทิศเหนือ ทิศใต้ เป็นต้น แต่บุรุษที่ควรฝึก อันพระผู้มีพระภาคเจ้าสอนให้วิ่ง ย่อมวิ่งไปได้ในทิศทั้ง ๘ (ม. อุ. เล่ม ๓ ภาค ๒ หน้า 297) ซึ่งได้แก่ วิโมกข์ ๘ (อ. ส. เล่ม ๔ หน้า 607) หมายถึงความหลุดพ้นยิ่ง หรือสภาพธรรมที่พ้นยิ่ง คือ พ้นจากความยินดียิ่งในอารมณ์ พ้นจากธรรมที่เป็นข้าศึกคือกิเลสทั้งหลาย ได้แก่
1. ผู้ที่มีรูปย่อมเห็นรูปทั้งหลายได้ (หมายถึง ผู้ที่มีรูปฌานย่อมเห็นรูป เช่น นิลกสิณ เป็นต้น จากรูปภายในกาย มีผม เป็นต้น ซึ่งหมายถึง ผู้ที่บริกรรมกสิณจากรูปภายในกายมีผม เป็นต้น)
2. ผู้ที่มีสัญญาในอรูปภายใน ย่อมเห็นรูปทั้งหลายภายนอกได้ (หมายถึง ผู้ได้รูปฌานย่อมเห็นรูป เช่น นิลกสิณ เป็นต้น แม้ในภายนอกด้วยฌาณจักษุ ซึ่งหมายถึง ผู้บริกรรมกสิณจากรูปภายนอกกาย)
ข้อ 1-2 นี้แสดงถึง ผู้ที่ถึงรูปาวจรฌานทั้ง ๔ ที่เกิดขึ้นจากกสิณทั้งหลาย อันมีที่ตั้งทั้งภายในและภายนอก
3. ผู้น้อมใจว่า งาม ทั้งนั้น (ในปฏิสัมภทามรรค แสดงไว้ว่า หมายถึงผู้ที่ได้อบรมเจริญฌาน อันเกิดจากพรหมวิหาร ๔ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ในสัตว์ทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายจึงเป็นผู้ไม่น่าเกลียด ผู้นั้นน้อมใจไปว่างามด้วยอาการนี้ อีกประการกล่าวว่า งาม หมายถึง สีอันบริสุทธิ์ดีของกสิณ ของผู้ที่เจริญกสิณสมาธิ)
4. ผู้ที่ล่วงรูปสัญญาโดยประการทั้งปวง เพราะดับปฏิฆสัญญา เพราะไม่ใส่ใจนานัตตสัญญา ย่อมเข้าอากาสานัญจายตนะอยู่ด้วยใส่ใจว่า อากาศไม่มีที่สุด
5. ผู้ที่ก้าวล่วงอากาสานัญจายตนะโดยประการทั้งปวง บรรลุวิญญาณัญจายตนะ ด้วยใส่ใจว่า วิญญาณไม่มีที่สุด
6. ผู้ที่ล่วงวิญญาณัญจายตนะโดยประการทั้งปวง บรรลุอากิญจัญญายตนะ โดยใส่ใจว่า ไม่มีอะไรสักหน่อยหนึ่ง
7. ผู้ที่ล่วงอากิญจัญญายตนะโดยประการทั้งปวง บรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนะ
ข้อ 4-7 นี้แสดงถึง ผู้ที่เข้าอรูปาวจรฌานทั้ง ๔
8. ผู้ที่ล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนะโดยประการทั้งปวง บรรลุสัญญาเวทยิตนิโรธ (หมายถึง ผู้ที่เข้านิโรธสมาบัตินั่นเอง)