ได้ยินท่าน อ. สุจินต์ แสดงอยู่บ่อยๆ " รูปธรรม นามธรรม " ได้ยินแล้วคิด อย่างไร...
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
ทุกสิ่งที่มีจริงในโลกเมื่อกล่าวโดยย่อแล้วคือ นามธรรมและรูปธรรม นามธรรมคือ สภาพรู้ อาการรู้ มีลักษณะรู้ ได้แก่ จิต เจตสิก สภาพรู้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ความคิดนึกต่างๆ ความรู้สึกสุขทุกข์ ความโลภความโกรธ ความหลง ความริษยา ความเมตตา สติ ปัญญา เป็นต้น เหล่านี้เป็นนามธรรม รูปธรรม คือสภาพไม่รู้อะไร ได้แก่สีต่างๆ เสียงต่างๆ กลิ่นต่างๆ ดิน น้ำ ไฟ ลมอากาศ เป็นต้น เหล่านี้ไม่รู้อะไรเป็นรูปธรรม ทั้งนามธรรมและรูปธรรมมีลักษณะเป็นของตน เมื่อสติเกิดขึ้นรู้ลักษณะของนามธรรมและลักษณะของรูปธรรมตามความเป็นจริงเรียกว่าสติปัฏฐาน
study
สิ่งที่ปรากฏทวารทั้ง ๖ เรียกว่า รูปธรรมและนามธรรม รูปธรรมเป็นสภาพไม่รู้อารมณ์ นามธรรมเป็นสภาพรู้อารมณ์ ทวารทั้ง ๕ เว้นทางใจมีเพียงรูปธรรมเป็นอารมณ์ส่วนทางใจมีทั้งรูปและนามเป็นอารมณ์
๑. ทางตา มีรูปสีต่างๆ เป็นเป็นอารมณ์
๒. ทางหู มีเสียง
๓. ทางจมูก มีกลิ่น
๔. ทางลิ้น มีรส
๕. ทางกาย มีรูปโผฏฐัพพารมณ์ ได้แก่ สภาพที่เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึง หรือไหว
๖. ทางใจ มี จิต เจตสิก ปสาทรูป ๕ สุขุมรูป ๑๖ นิพพาน เป็นอารมณ์
ธรรมทัศนะทุกสิ่งที่มีจริงในโลก คือ นามธรรมและรูปธรรม
ทุกสิ่งที่มีจริงในโลกเมื่อกล่าวโดยย่อแล้วคือ นามธรรมและรูปธรรม
นามธรรม คือสภาพรู้ อาการรู้ มีลักษณะรู้ ได้แก่ จิต เจตสิก สภาพรู้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ความคิดนึกต่างๆ ความรู้สึกสุขทุกข์ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ความริษยา ความเมตตา สติ ปัญญา เป็นต้น เหล่านี้เป็นนามธรรม
รูปธรรม คือสภาพไม่รู้อะไร ได้แก่สีต่างๆ เสียงต่างๆ กลิ่นต่างๆ ดิน น้ำ ไฟ ลม อากาศ เป็นต้น เหล่านี้ไม่รู้อะไร เป็นรูปธรรม
ธรรมทัศนะไม่มีอะไรเลยนอกจากนามธรรมกับรูปธรรม ธรรมทั้งหลายทั้งปวง เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร ชีวิตที่ดำเนินไปในแต่ละวัน (ในแต่ละภพในแต่ละชาติ) ตั้งแต่ตื่นนอนจนกระทั่งหลับไป ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งถึงขณะที่จุติเกิดขึ้นทำกิจเคลื่อนจากความเป็นบุคคลนี้ นั้น ไม่มีอะไรเลยนอกจากนามธรรมกับรูปธรรมเท่านั้น ถ้ายังไม่ได้ศึกษาก็ยังไม่รู้ไม่เข้าใจ แต่เมื่อได้ศึกษาแล้ว ก็จะมีความเข้าใจว่ามีธรรมอยู่ตลอดเวลา ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ไม่พ้นหกทางนี้เลย จึงต้องอดทนที่จะฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมต่อไปอย่างไม่ท้อถอย เพื่อความเข้าใจถูก เห็นถูกในลักษณะสภาพธรรมตามความเป็นจริง ว่าเป็นเพียงสิ่งหนึ่งที่มีจริงและกำลังปรากฏ
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ
pornchai.s
ปรมัตถธรรม ๔ คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน
รูปธรรม ได้แก่ รูป ไม่รู้อารมณ์และเกิดดับ
นามธรรม ได้แก่ จิต เจตสิกและนิพพาน จิต เจตสิก เป็นนามธรรมที่รู้อารมณ์และเกิดดับ แต่นิพพานเป็นนามธรรมที่ไม่รู้อารมณ์และไม่เกิดดับ
บ้านธัมมะ
นามธรรม
นาม (น้อมไป , สภาพรู้) + ธมฺม (ธรรม) ธรรมที่น้อมไปสู่อารมณ์ หมายถึงสภาพธรรมที่รู้อารมณ์ได้ คือจิตและเจตสิก ทั้งจิตและเจตสิกเป็นสภาพที่รู้อารมณ์ แต่จิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้ เจตสิกเป็นเพียงส่วนประกอบเป็นเครื่องช่วยปรุงแต่งให้เป็นประเภทต่างๆ ถ้าจิตไม่เกิดขึ้นเจตสิกจะเกิดไม่ได้เลย แต่เจตสิกบางดวงไม่เกิดร่วมกับจิต จิตก็สามารถเกิดขึ้นได้ เช่น ทวิปัญจวิญญาณเกิดขึ้นโดยไม่ต้องมีวิตกเจตสิก วิจารเจตสิก เกิดร่วมด้วย โสภณจิตที่เป็นญาณวิปยุตต์เกิดขึ้นโดยไม่ต้องมีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย โมหมูลจิตเกิดขึ้นโดยไม่ต้องมีโลภเจตสิก โทสเจตสิกเกิดร่วมด้วย เป็นต้น
นิพพานก็เป็นนามธรรม แต่เป็นสภาพที่ไม่รู้อารมณ์ ที่เป็นนามธรรม เพราะไม่ใช่รูปและเป็นสภาพธรรมที่ถูกน้อมไปเป็นอารมณ์ของจิตเจตสิกได้
บ้านธัมมะรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม
การเจริญสติรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏในชีวิตประจำวันนั้น มิใช่ว่าทุกคนมีฉันทะ พอใจจะปฏิบัติแต่ก็จะต้องพิจารณาให้รู้ว่า เราต้องการอะไรอย่างแท้จริงในชีวิต เราอยากจะหลงยึดถือร่างกายและจิตใจเป็นตัวตนต่อไปอีกกระนั้นหรือ? เราอยากจะมีชีวิตอยู่ในความมืดมน หรือว่าใคร่จะเจริญปัญญาให้ถึงความสิ้นทุกข์ ถ้าเราตัดสินใจว่า จะดำเนินทางที่นำไปสู่ความสิ้นทุกข์แล้ว เราก็จะต้องเจริญปัญญาในชีวิตประจำวันในขณะที่เห็น ได้ยิน คิดนึก เป็นทุกข์ เป็นสุข ทางนี้เป็นทางเดียวที่จะรู้แจ้งว่าอะไรเป็นทุกข์ อะไรเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ อะไรเป็นธรรมที่ดับทุกข์ และอะไรเป็นทางปฏิบัติให้ถึงธรรมที่ดับทุกข์ เมื่อรู้ว่า อวิชชา ความไม่รู้ของเรานั้นหนาแน่นเพียงใด และเราหลงยึดมั่นในตัวตนมากเพียงใดแล้ว เราก็จะปรารภความเพียรเจริญสติรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมต่อไปเรื่อยๆ
บ้านธัมมะขันธ์ ๕ คือ นามธรรมและรูปธรรม
ขันธ์ ๕ คือนามธรรมและรูปธรรม ทั้งภายในและภายนอกนั้นเป็นทุกข์ คงจะมีผู้สงสัยว่า ทำไมขันธ์ ๕ จึงเป็นทุกข์ เรายึดถือจิตใจว่าเป็นตัวตนแต่ที่เรายึดถือว่าเป็นจิตใจของเรานั้น ก็เป็นแต่เพียงนามธรรมที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปทันทีเท่านั้นเอง เรายึดถือร่างกายว่าเป็นตัวตน แต่ที่เรายึดถือว่าเป็นร่างกายของเรานั้น ก็เป็นแต่เพียงรูปธรรมที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เมื่อไม่รู้ความจริงก็คิดว่า สภาพธรรมเหล่านั้นยั่งยืนและยึดถือว่าเป็นตัวตน เช่น เราควรจะคิดว่า ความเศร้าโศกนั้นไม่หมดไป แต่ว่าในวันหนึ่งๆ นั้น ก็ไม่ได้มีแต่ความเศร้าโศก มีสภาพธรรมอื่นๆ อีกหลายอย่างด้วย เช่น มีการเห็นการได้ยิน การคิดนึก เป็นต้น ที่เราคิดว่าเศร้าโศกนานนั้น แท้จริงก็เป็นสภาพธรรมต่างๆ ชนิดที่เกิดดับสืบต่อกันอยู่เรื่อยๆ
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นพระพุทธเจ้าด้วยพระปัญญา เมื่อได้ตรัสรู้แล้ว พระองค์ทรงแสดงพระธรรม เพื่อให้พุทธบริษัทซึ่งเป็นผู้ฟัง ได้รู้แจ้งธรรมตามความเป็นจริง จุดประสงค์ ก็คือเพื่อให้เข้าใจจริงๆ ว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธรรม ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา เป็นแต่เพียงสภาพธรรมแต่ละอย่างๆ เท่านั้น ทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นธรรม นั้นไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมกับรูปธรรม เป็นสภาพธรรมที่มีจริง (และไม่ได้อยู่ในหนังสือ) เพราะเหตุว่า ขณะนี้ทางตาที่กำลังเห็นก็เป็นธรรม ทางหูที่กำลังได้ยิน ก็เป็นธรรม ความไม่พอใจ ความโกรธ ความหงุดหงิด ก็เป็นธรรมความติดข้องต้องการก็เป็นธรรม ดีใจ เสียใจ เศร้าใจ หดหู่ใจ กลัวก็เป็นธรรม ทุกอย่างเป็นธรรมทั้งหมด เพราะเป็นสิ่งที่มีจริงไม่เปลี่ยนแปลงลักษณะครับ
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ
เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ...
เมื่อเริ่มศึกษา ๔ ...รูปธรรมและนามธรรมDhPTV 1 ... รูปขันธ์ - นามขันธ์
สาธุ
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านค่ะ
เข้าใจว่า ได้ยิน....แล้วคิดถ้าคิด "เรื่อง" ของนามธรรม รูปธรรมก็ไม่ใช่ขณะที่ รู้ "ลักษณะ" ของนามธรรม รูปธรรม อนุโมทนาค่ะ.
ขอความสุขความเจริญมั่นคงในกุศลธรรมจงมีแด่ท่านผู้ร่วมกุศล
และท่านผู้อนุโมทนาทุกท่าน ครับ
รูปธรรม...นามธรรม ได้ยินแล้ว คิดเลยเถิด ต่อไปถึง... คำ จิต เจตสิก รูป นิพพาน ยากจริงๆ แล้วยัง คิดต่อไป อีกว่า...ก็...ยังไม่เข้าใจ ฟังธรรมต่อไปอีก เพราะไม่ว่าจะเห็นหรือได้ยิน ...แล้วมันก็ลงเอยด้วย คิด ทุกที
ขออนุโมทนาคุณแก้วตา
ขออนุโมทนาในกุศลจิตและกุศลวิริยะของทุกท่านค่ะ
เมื่อปัญญาไม่เกิด ก็ยึดถือ รูปธรรม นามธรรม ว่าเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน หรือสิ่งหนึ่ง สิ่งใด ด้วยตัณหา ทิฏฐิและมานะ จึงต้องอบรมเจริญปัญญาเพื่อมีความเห็นถูกเข้าใจว่ามีแต่รูปธรรม นามธรรม ที่เกิดดับตามเหตุปัจจัย ไม่เที่ยง เป็นทุกข์และเป็นอนัตตา
บรรดาธรรมเหล่านั้น
นามธรรม เป็นไฉน?
เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ และอสังขตธาตุ นี้เรียกว่านามธรรม.
รูปธรรม เป็นไฉน?
มหาภูตรูป ๔ และรูปที่อาศัยมหาภูตรูป ๔ นั้น นี้เรียกว่า รูปธรรม
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ