ฉันทะ ราคะ นันทิ ตัณหา .
โดย เธอคือโลก  24 ส.ค. 2555
หัวข้อหมายเลข 21610

ผมขอกล่าวถึงพระสูตรนะครับ

"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! คนกล่าวกันว่า 'สัตว์ สัตว์' ดังนี้, เขากล่าวกันว่า 'สัตว์' เช่นนี้ มีความหมายเพียงไร? พระเจ้าข้า !"

ราธะ ! ฉันทะ (ความพอใจ) ราคะ (ความกำหนัด) นันทิ (ความเพลิน) ตัณหา (ความทะยานอยาก) ใดๆ มีอยู่ในรูป, สัตว์ย่อมเกี่ยวข้อง ย่อมติด ในรูปนั้น ด้วยฉันทราคะ เป็นต้นนั้น เพราะฉะนั้น สัตว์นั้น จึงถูกเรียกว่า "สัตว์ (ผู้ข้องติด) " ดังนี้ ;

ราธะ ! ฉันทะ ราคะ นันทิ ตัณหา ใดๆ มีอยู่ในเวทนา, สัตว์ ย่อมเกี่ยวข้อง ย่อมติดในเวทนานั้น ด้วยฉันทราคะ เป็นต้นนั้น เพราะฉะนั้น สัตว์นั้น จึงถูกเรียกว่า "สัตว์" ดังนี้;

ราธะ ! ฉันทะ ราคะ นันทิ ตัณหา ใดๆ มีอยู่ในสัญญา, สัตว์ ย่อมเกี่ยวข้อง ย่อมติดในสัญญานั้น ด้วยฉันทราคะ เป็นต้นนั้น เพราะฉะนั้น สัตว์นั้น จึงถูกเรียกว่า "สัตว์" ดังนี้;

ราธะ ! ฉันทะ ราคะ นันทิ ตัณหา ใดๆ มีอยู่ในสังขารทั้งหลาย, สัตว์ ย่อมเกี่ยวข้อง ย่อมติดในสังขารทั้งหลายเหล่านั้น ด้วยฉันทราคะ เป็นต้นนั้น เพราะฉะนั้น สัตว์นั้น จึงถูกเรียกว่า"สัตว์" ดังนี้ แล.;

ราธะ ! ฉันทะ ราคะ นันทิ ตัณหา ใดๆ มีอยู่ในวิญญาณ, สัตว์ย่อมเกี่ยวข้อง ย่อมติดในวิญญาณนั้น ด้วยฉันทราคะเป็นต้นนั้น เพราะฉะนั้น สัตว์นั้น จึงถูกเรียกว่า "สัตว์" ดังนี้ แล. -

ขนฺธ. สํ. ๑๗/๒๓๒/๓๖๗.

ข้อความที่ว่า "ฉันทะ ราคะ นันทิ ตัณหา ใดๆ มีอยู่ในวิญญาณ, สัตว์ ย่อมเกี่ยวข้อง ย่อมติดในวิญญาณนั้น" ผมเข้าใจว่า คำว่า "วิญญาณ" หมายถึง ธรรมชาติที่รู้อารมณ์ แล้วการที่ไปติดข้องในธรรมชาติที่รู้อารมณ์ หมายถึงอย่างไรครับ ช่วยทำความเห็นของผมให้ถูกตรงด้วยครับ

ขอบคุณมากๆ ครับ



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 25 ส.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ฉันทะ ราคะ นันทิ ตัณหา เป็นชื่อของโลภะ ความติดข้อง ซึ่ง โลภะ สามารถติดข้องได้เกือบทุกอย่าง ยกเว้น โลกุตตรธรรม ๙ ที่เป็น มรรค ๔ ผล ๔ และ พระนิพพาน เพราะฉะนั้น โลภะ ตัณหา ติดข้องใน ขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณด้วย

ซึ่งคำว่า วิญญาณ หมายถึง สภาพ "รู้" ที่เป็นจิตประเภทต่างๆ ซึ่ง ตัณหา โลภะ ก็สามารถติดข้องในจิตได้ ยกตัวอย่างเช่น ขณะที่กุศลจิตเกิด ก็ยินดีพอใจในกุศลจิต ที่เกิด ขณะนั้นก็ติดข้องในวิญญาณ ยินดีที่จะเห็น คือ จิตเห็น ยินดีที่จะได้ยิน คือ ติดข้อง พอใจในจิตที่ได้ยิน เป็นต้น รวมความว่า โลภะ ติดข้องยินดีพอใจ ในวิญญาณ ที่เป็นจิตได้เกือบทุกประเภท ยกเว้น โลกุตตรจิตที่เป็น มรรคจิต ผลจิต เท่านั้น ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา


ความคิดเห็น 2    โดย khampan.a  วันที่ 25 ส.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ที่ตั้งของโลภะ ซึ่งเป็นความติดข้องยินดีพอใจ มีมากในชีวิตประจำวัน ซึ่งเมื่อประมวลแล้วก็ไม่พ้นไปจากสิ่งที่มีจริงในขณะนี้ รวมถึงวิญญาณหรือจิต ด้วย ก็เป็นที่ตั้งให้โลภะติดข้องได้ เมื่อ ได้เหตุ ได้ปัจจัย โลภะก็เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ ติดข้องไม่สละ ไม่ปล่อย ในขณะที่โลภะเกิดขึ้นนั้น เป็นอกุศลเท่านั้น จะเป็นกุศลไม่ได้ เพราะสะสมความติดข้องมานาน จึงติดข้องยินดีพอใจ ไม่พ้นไปจาก ความเป็นผู้ถูกกิเลสครอบงำ ซึ่งจะแตกต่างจาก ผู้ที่ดับกิเลสได้แล้วอย่างสิ้นเชิง ผู้ที่ดับกิเลสได้หมดแล้ว ย่อมไม่มีกิเลสใดๆ เกิดขึ้นเลย ไม่ว่าจะประสบกับอารมณ์ใดๆ ก็ตาม ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 3    โดย pat_jesty  วันที่ 27 ส.ค. 2555

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 4    โดย natre  วันที่ 30 ส.ค. 2555

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 5    โดย บุญท๊อป  วันที่ 7 พ.ค. 2559

ขออนุโมทนาบุญทั้งคนถามคนตอบเพราะคนอ่านจะได้ความรู้ไปด้วย

สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ


ความคิดเห็น 6    โดย chatchai.k  วันที่ 12 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 7    โดย Kalaya  วันที่ 20 ก.พ. 2565

กราบอนุโมทนาค่ะ