การกระทบอ่อนแข็ง เป็นการเจริญสติปัฏฐานได้อย่างไร
โดย chatchai.k  6 พ.ย. 2566
หัวข้อหมายเลข 46923

การกระทบเย็นร้อน อ่อนแข็ง ก็เกิดเป็นเวทนาอย่างธรรมดา สุขบ้าง ทุกข์บ้าง อาจารย์เห็นเป็นการเจริญสติปัฏฐานได้อย่างไร ในเมื่อเวทนาไม่ตั้งอยู่แน่นอนเช่นนั้น แล้วจะมีอะไรที่ดีขึ้น อาจารย์กระทบถูกต้องมาตั้งแต่เกิด จนบัดนี้ กิเลสหมดแล้วหรือยัง เจริญสัญญาปัฏฐาน หรือสติปัฏฐาน คนมีสติสัมปชัญญะนั้น มีลักษณะอย่างไร



ความคิดเห็น 1    โดย chatchai.k  วันที่ 20 พ.ย. 2566

สำหรับลักษณะของสติสัมปชัญญะที่เป็นการเจริญสติปัฏฐาน ได้บรรยายตลอดมา เพราะฉะนั้น ขอกล่าวถึงข้อความในพระไตรปิฎก ที่จะแสดงให้เห็นว่า เมื่อบุคคลหนึ่งบุคคลใดเจริญธรรม และรู้แจ้งอริยสัจธรรมนั้น จะรู้อะไร

โผฏฐัพพะ คือ การกระทบเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ก็เป็นสิ่งที่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ชอบว่า เป็นสิ่งที่จะต้องรู้ ไม่ใช่ว่าไม่รู้ แล้วก็ข้ามไป

เพราะฉะนั้น การรู้แจ้งอริยสัจธรรมนั้น ไม่ใช่รู้อย่างอื่น นอกจากประจักษ์แจ้งแทงตลอดในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แทงตลอดถึงความเกิดดับที่กำลังเกิดดับอยู่ในขณะนี้

ขณะนี้ สภาพธรรมทางตาก็ดี ทางหูก็ดี ทางจมูกก็ดี ทางลิ้นก็ดี ทางกายก็ดีทางใจก็ดี เกิดดับสืบต่ออย่างรวดเร็วมาก เป็นเพราะความไม่รู้ เป็นเพราะการไม่อบรมปัญญาให้สมบูรณ์ จึงไม่สามารถประจักษ์ในความเกิดดับของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แต่เมื่อจะประจักษ์ ก็ไม่ใช่ประจักษ์ในขณะอื่น

เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญปัญญา ไม่ใช่ให้หลีกเลี่ยง หลบไปรู้สิ่งอื่นที่ไม่ปรากฏ แต่ขณะนี้ สภาพธรรมใดกำลังเป็นของจริง คือ กำลังปรากฏ จะต้องอบรมเจริญปัญญาจนรู้ชัด และสามารถแทงตลอดในความเกิดดับของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

ที่มา อ่าน และฟังเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 383


ความคิดเห็น 2    โดย chatchai.k  วันที่ 20 พ.ย. 2566

มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ อนุปทวรรค ฉวิโสธนสูตร มีข้อความว่า

ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย

ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสดังนี้ว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพยากรณ์อรหัตตผลว่า ข้าพเจ้ารู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พวกเธออย่าเพ่อยินดี อย่าเพ่อคัดค้านคำกล่าวของภิกษุรูปนั้น ครั้นไม่ยินดี ไม่คัดค้านแล้ว พึงถามปัญหาเธอว่า ดูกร ท่านผู้มีอายุ โวหารอันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธะ ตรัสไว้ชอบนี้มี ๔ ประการ ๔ ประการเป็นไฉน

ถ้าท่านผู้ฟังใคร่ที่จะทราบว่า ผู้ใดบรรลุมรรคผลหรือไม่ ไม่ใช่เป็นการถาม ตรงๆ หรือจะให้บุคคลนั้นตอบ และท่านจะเชื่อ ไม่ใช่อย่างนั้น แต่ไม่ว่าใครก็ตามที่กล่าวว่า เป็นผู้ที่ได้บรรลุมรรคผล หรือรู้แจ้งอริยสัจธรรม พระผู้มีพระภาคตรัสว่า อย่าเพ่อยินดี อย่าเพ่อคัดค้านคำกล่าวนั้น ครั้นไม่ยินดี ไม่คัดค้านแล้ว พึงถามปัญหาเธอว่า โวหารอันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธะตรัสไว้ชอบนี้ มี ๔ ประการ ๔ ประการเป็นไฉน

คำกล่าวว่า เห็นในอารมณ์ที่ตนเห็นแล้ว

คำกล่าวว่า ได้ยินในอารมณ์ที่ตนฟังแล้ว

คำกล่าวว่า ทราบในอารมณ์ที่ตนทราบแล้ว

คำกล่าวว่า รู้ชัดในอารมณ์ที่ตนรู้ชัดแล้ว


ซึ่งทุกท่านก็คงจะทราบแล้ว

คำกล่าวว่า เห็นในอารมณ์ที่ตนเห็นแล้วนั้น หมายความถึง สิ่งที่ปรากฏทางตาในขณะนี้

คำกล่าวว่า ได้ยินในอารมณ์ที่ตนฟังแล้ว คือ รู้ลักษณะของเสียง สภาพธรรมที่ปรากฏทางหู

คำกล่าวว่า ทราบในอารมณ์ที่ตนทราบแล้ว คือ การรู้ลักษณะของกลิ่น รสโผฏฐัพพะที่ปรากฏ

คำกล่าวว่า รู้ชัดในอารมณ์ที่ตนรู้ชัดแล้ว ได้แก่ การรู้ลักษณะของอารมณ์ที่ปรากฏทางใจ

อ่าน และฟังเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 384