ทุกเทศกาลสำคัญทางพระพุทธศาสนา ต้องทำหน้าที่ลูกกตัญญูพาคุณแม่ที่มีอายุ ๘๔
ปีแล้วไปทำบุญที่วัดขุนพรหม ที่อยู่คนละฝั่งแม่น้ำ ตรงข้ามบ้าน เมื่อตอนเป็นเด็กมี
หน้าที่พายเรือพาคุณแม่และคุณยายทั้งสองท่านไปทำบุญ แต่ตอนนี้เรือลำนั้นไม่ได้ถูก
ใช้งานมานาน ก็ผุพังไปตามกาลเวลา รวมทั้งคนพายที่เคยเป็นเด็ก ก็กลายเป็นผู้สูงวัย
ที่ไม่มีกำลังจะพายเรือข้ามแม่น้ำอีกต่อไป เมื่อไปถึงวัด คุณแม่ก็จะพบกับคนเก่าๆ ที่คุ้น
เคยมาสนทนาปราศรัยกัน เมื่อใส่บาตรแล้ว ก็นำอาหารที่เหลือมาแบ่งปันกัน บรรยากาศ
ของความเอื้อเฟื้อเหมือนสมัยก่อนยังมีอยู่ในวัดนี้ เดิมเคยคิดว่า การทำบุญใส่บาตรใน
เทศกาลนั้นไม่น่าจะเกิดกุศลมากนัก เพราะเห็นข้าวปลาอาหารเหลือเฟือ ทุกคนก็พากัน
มาใส่จนล้นบาตรหลายครั้ง น่าจะเฉลี่ยไปทำบุญกันในวันอื่นบ้าง จะเป็นประโยชน์
มากกว่า แต่เมื่อคิดดูแล้วว่า ของที่เห็นมากมายนั้น ก็ไม่ได้ถูกทิ้งไปเปล่าๆ เพราะหลัง
จากพิธีทำบุญนั้นจบแล้ว ชาวบ้านที่ยากไร้ก็มาแบ่งกันไปจนหมดเหมือนกัน วันเข้า
พรรษาปีนี้ (๑๗ ก.ค. ๕๔) เกิดความคิดขึ้นมาหลังจากศึกษาพระธรรมเข้าใจพอสมควร
ว่า จะเป็นกุศลหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับจิต สำหรับตัวเองนั้น เมื่อเห็นผู้คนมาทำบุญตักบาตร
กันมากมาย แทนที่จะเกิดอนุโมทนาในกุศลจิตของท่านเหล่านั้น กลับเกิดโทสะว่า แทน
ที่จะทำบุญวันอื่นบ้าง ก็แห่มาทำวันเดียวกัน (ลืมดูตัวเอง) ที่คิดอย่างนี้เพราะตัวเองไม่
อยากไป แต่จำใจต้องไปเพราะต้องพาคุณแม่ไป เนื่องจากเป็นลูกคนโตที่แม่เห็นว่า
เป็นคนวัดคนวา คงจะยินดีพาแม่ไปมากกว่าลูกคนอื่นที่ไม่สนใจ ซึ่งแต่เดิมก็เป็นเช่น
นั้นจริงๆ แต่เมื่อได้ฟังธรรม ก็คิดว่า ควรเจริญกุศลที่เกิดจากการฟังธรรมมากกว่า ไม่
ต้องไปทำบุญที่วัดหรอก เสียเวลา อยู่ที่ไหนก็ฟังธรรมให้เกิดปัญญาซึ่งเป็นกุศลที่ควร
เจริญที่สุด ทั้งๆ ที่ความจริงก็ไม่ได้ฟังธรรมตลอดเวลา ต้องทำอย่างอื่นด้วย และทำ
อย่างอื่นที่ไม่เป็นกุศลมากกว่าการฟังธรรมหลายเท่า เพิ่งมารู้ในวันนี้เองว่า ที่คิดอย่าง
นั้นก็เป็นความเห็นผิดอีกเหมือนกัน เพราะไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็เพราะเหตุปัจจัย ไม่
สามารถเลือกได้ แต่สามารถเจริญกุศลได้ตลอดเวลา ถ้ามีความเข้าใจธรรมจริงๆ ก็จะไม่
ดูหมิ่นคนอื่นว่า ทำบุญไม่ประกอบด้วยปัญญา (เหมือนอย่างเรา) ที่พากันบริจาคเงิน
ช่วยกันสร้างวัตถุมากมาย แทนที่จะสร้างคนให้เกิดปัญญา เพราะเขามีปัญญาเท่านั้น ก็
ทำกุศลด้วยปัญญาเท่าที่มี (รวมทั้งเราด้วย) ทำในสิ่งที่คิดว่าเป็นประโยชน์ เป็นศาสนา
วัตถุ เป็นสมบัติของพระพุทธศาสนา ถวายเป็นพุทธบูชา เป็นทาน การให้วัตถุ และถ้ามี
ปัญญามากขึ้น การให้นั้นก็จะเป็นจาคะ คือ สละความตระหนี่ ละคลายความติดข้องใน
วัตถุเงินทองที่เคยหวงแหน แล้วจะไม่ดีกว่าหรือ ที่จะสละทั้งวัตถุและกิเลส เมื่อถึงเวลา
ฟังพระเทศน์ ก็ตั้งใจฟังด้วยดี พระท่านนำพระพุทธพจน์จากพระไตรปิฎกมาอ่านให้ฟัง
ประกอบด้วยหัวข้อธรรมต่างๆ ถ้าได้พิจารณาตามจากการได้ฟังธรรมเข้าใจบ้างก็เกิด
ปัญญาได้เหมือนกัน ความจริงผู้แสดงธรรมตามพระไตรปิฎก ก็เหมือนผู้อ่านสารของ
พระราชา ไม่ได้พูดจากความคิดของท่านเอง ก็เป็นสิ่งที่อนุโมทนาเช่นกัน และยิ่งกว่า
นั้น เมื่อเข้าใจธรรมมากขึ้น ก็สามารถเจริญกุศลที่ประกอบด้วยปัญญายิ่งขึ้น เพราะมีจิต
เห็น มีจิตได้ยิน มีจิตคิดนึก เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ของตนๆ ให้ระลึกศึกษาได้ตลอดเวลา
พาแม่ไปทำบุญครั้งต่อไป หวังว่าคงจะมีกุศลที่ประกอบด้วยความเห็นถูกมากขึ้น (แม้แต่
ความหวังก็เป็นอกุศล)
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ
และยิ่งกว่านั้น เมื่อเข้าใจธรรมมากขึ้น ก็สามารถเจริญกุศลที่ประกอบด้วย
ปัญญายิ่งขึ้น เพราะมีจิตเห็น มีจิตได้ยิน มีจิตคิดนึก เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ของตนๆ
ให้ระลึกศึกษาได้ตลอดเวลา
...กราบอนุโมทนาในกุศลจิตของพี่แดง ด้วยค่ะ...
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลจิตของอาจารย์กาญจนาฯ และทุกๆ ท่านค่ะ (ขอเรียน
ว่าบางครั้งดิฉันก็มีความคิดคล้ายๆ อจ.ค่ะในวันสำคัญๆ ทางพระพุทธศาสนา เห็นข้าวของ
ทำบุญมากมายเหลือเฟือ..แทนที่จะอนุโมทนากลับเกิดอกุศลค่ะ)