ลาภต่อลาภ
โดย papon  24 ต.ค. 2556
หัวข้อหมายเลข 23904

คำว่า ลาภต่อลาภ หมายความว่าอย่างไรครับ



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 24 ต.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ หน้าที่ ๕๐

บรรดากิริยาเหล่านั้น การหาลาภด้วยลาภเป็นไฉน ภิกษุเห็นแก่ลาภสักการะ และความสรรเสริญ มีความปรารถนาลามก อันความอยากครอบงำ ย่อมนำอามิสที่ตนได้แต่เรือนนี้ไปที่เรือนโน้นหรือนำอามิสที่ตนได้ในที่โน้นมาในที่นี้ การใฝ่หา เสาะหา แสวงหาอามิสด้วยอามิสเห็นปานนี้ นี้เรียกว่า "การหาลาภด้วยลาภ * " การใช้ลาภต่อลาภ หรือ การแสงหาลาภด้วยลาภ ก็เป็นอกุศลธรรม ที่เป็นโลภะ และเป็นความหลอกลวง

การแสวงหาลาภด้วยลาภ หรือที่เรียกว่า ลาภต่อลาภ เป็นการเลี้ยงชีพผิด (มิจฉาอาชีวะ) เพราะด้วยจิตที่ต้องการลาภ สักการะ สรรเสริญ ด้วยความไม่ตรง ด้วยการหลอกลวง เช่น การนำของที่ตนได้มาไปให้กับผู้อื่น ให้กับอุปฐาก ทำทีเหมือนเป็นการอนุเคราะห์ แต่ในความเป็นจริงต้องการให้ผู้อื่น ให้ลาภปัจจัยกับตนเพิ่มขึ้น เพราะตัวเองได้ของมาก็นำของเล็กน้อย เพื่อต่อลาภ คือเพื่อความที่จะได้ลาภปัจจัย ๔ มากขึ้น และเพื่อความต้องการให้ผู้อื่นยกย่อง เป็นต้น จากการให้ลาภนั้น ดังนั้น เริ่มจากจิตที่ผิด คือ ความต้องการลาภ สักการะ ชื่อเสียง ก็ย่อมนำของที่ตนได้มา หรือของในวัดไปให้กับคฤหัสถ์เพื่อเขาจะได้ให้เพิ่มนั่นเองครับ เป็นการให้ลาภต่อลาภ อันเป็นการเลี้ยงชีพที่ผิดเพราะได้ปัจจัยมาโดยไม่บริสุทธิ์ครับ เป็นการแสวงหาลาภด้วยการหลอกลวงนั่นเองครับ

ส่วนในเพศคฤหัสถ์ การเลี้ยงชีพผิดก็มีหลายระดับ ซึ่งการเลี้ยงชีพที่ผิด โดยการประกอบอาชีพที่เนื่องกับการทำอกุศลกรรม มีการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ เป็นต้น ก็เป็นมิจฉาอาชีวะ เป็นการเลี้ยงชีพที่ผิดเช่นกันครับ แต่โดยความละเอียดแม้การทำการหลอกลวง เช่น การพูดเยินยอ การพูดหลอกลวง พูดเลียบเคียง เพื่อให้ได้มาซึ่งลาภ สักการะสรรเสริญ จิตขณะนั้นไม่ตรงแล้ว ก็เป็นการได้มาซึ่งปัจจัย ลาภ สักการะที่ไม่บริสุทธิ์ ก็ย่อมเป็นโทษกับผู้กระทำเองครับ เพราะเริ่มจากความไม่ตรง และในเรื่องการแสวงหาลาภด้วยลาภ หรือลาภต่อลาภ ในชีวิตประจำวันก็เช่นกัน การที่ได้ทรัพย์จากผู้อื่นมา แล้วก็กล่าวด้วยวาจาว่าจะให้บุคคลนั้น จะเก็บไว้ให้บางส่วนเพื่อที่จะให้บุคคลนั้นภายหลัง หรือทำการให้ทรัพย์เล็กน้อยเพื่อที่จะได้ทรัพย์เพิ่มขึ้น ด้วยจิตที่ไม่ตรง ด้วยจิตที่ต้องการให้ได้ทรัพย์จากผู้นั้นไปตลอดหรือเพิ่มขึ้น ด้วยการแสวงหาลาภด้วยลาภ ลาภต่อลาภ อาศัยลาภที่ได้มาและให้หรือเก็บไว้ให้บางส่วน เพื่อจะได้ทรัพย์อีกก็เป็นการแสวงหาลาภที่ผิด เกิดจากจิตที่ไม่ตรงด้วยการได้ปัจจัยมาไม่บริสุทธิ์นั่นเอง นี่เป็นในชีวิตประจำวันครับ อันเป็นมิตรเทียมด้วยในขณะนั้น คือ เป็นมิตรปอกลอก คือเสียให้น้อยแต่เพื่อต้องการให้ได้มาก ให้ได้ลาภ เงินและทอง สักการะไปตลอดนั่นเองครับ และเป็นมิตรที่คบเพื่อประโยชน์ส่วนตัวเท่านั้น เป็นต้น และแม้การประกอบอาชีพให้ทรัพย์เล็กน้อยเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์มาก ด้วยจิตที่หลอกลวง ด้วยทำทีเหมือนเป็นผู้ให้ อนุเคราะห์จริงๆ แต่มีความต้องการลาภสักการะ สรรเสริญ เงินทองจากบุคคลนั้น

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้าที่ ๘๔

กถาว่าด้วยมิตรเทียม

[๑๘๗] ดูก่อนคฤหบดีบุตร คนปอกลอกท่านพึงทราบว่า ไม่ใช่มิตร เป็นแต่คนเทียมมิตรโดยสถาน ๔ คือ เป็นคนติดเอาแต่ได้ฝ่ายเดียว ๑ เสียให้น้อยคิดเอาให้ได้มาก ๑ ไม่รับทำกิจของเพื่อนในคราวมีภัย ๑ คบเพื่อนเพราะเห็นแก่ประโยชน์ของตัว ๑ คฤหบดีบุตร คนปอกลอก ท่านพึงทราบว่าไม่ใช่มิตร เป็นแต่คนเทียมมิตร โดยสถาน ๔ เหล่านี้แล

การแสวงหาลาภด้วยลาภ (เอาลาภต่อลาภ) เกิดขึ้นได้เพราะอะไร ถ้าไม่มีความติดข้องต้องการแล้ว ก็คงจะไม่กระทำอย่างนั้น แต่เพราะยังมีกิเลสอยู่ จึงมีความประพฤติเป็นไปเช่นนั้น การกระทำที่น่าเกลียด การกระทำร้ายๆ เกิดขึ้นได้ เพราะกิเลส มีโลภะ เป็นต้น ซึ่งจะประมาทกำลังของกิเลสไม่ได้เลยทีเดียว กิเลสทุกอย่างทุกประการ น่ากลัวทั้งหมด จะเห็นได้ว่าชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นกาย หรือวาจา หรือใจ ก็ย่อมประกอบไปด้วยกิเลสนานาประการมากมาย ถ้าไม่ได้ฟังไม่ได้ศึกษาพระธรรมก็อาจจะไม่รู้เลยว่ามากไปด้วยกิเลส ตามความเป็นจริงแล้ว กิเลสเป็นภัย นำมาซึ่งความทุกข์ความเดือดร้อน ไม่เคยนำประโยชน์อะไรมาให้เลย ควรอย่างยิ่งที่จะละเว้นให้ห่างไกล กิเลสเป็นสิ่งที่ควรละ ที่สำคัญใครๆ ก็ละให้ไม่ได้ ต้องเป็นตัวเองเท่านั้นที่จะเป็นผู้พิจารณาแก้ไข ละคลาย และใส่ใจอยู่เสมอว่าสิ่งใดก็ตามที่เป็นสิ่งไม่ดีนั้น ไม่ควรจะสะสมให้มีบ่อยๆ ดังนั้น การที่จะละคลาย หรือจะดับกิเลสได้นั้น ต้องอาศัยการฟังพระธรรม อบรมเจริญปัญญา ตรงต่อกุศลธรรม ตรงทั้งทางกาย ทางวาจา ซึ่งมาจากจิตใจที่ดีงาม นั่นเอง ครับ
ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 2    โดย khampan.a  วันที่ 24 ต.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง ไม่พ้นไปจากชีวิตประจำวัน ทรงแสดงสิ่งที่มีจริงทั้งหมด เพื่อให้ผู้ฟัง ผู้ศึกษาได้เข้าใจความจริง แม้แต่ในเรื่องของการประกอบอาชีพทุจริต (ความประพฤติเป็นไปทางกาย ทางวาจา ที่ทุจริต อันเนื่องด้วยอาชีพหรือการเลี้ยงชีพ ชื่อว่ามิจฉาอาชีวะ) พระองค์ก็ทรงแสดงไว้ ไม่ใช่เพื่อให้กระทำในสิ่งเหล่านี้ แต่เพื่อให้เห็นโทษของอกุศลธรรมตามความเป็นจริงแล้ว ละเว้นเพราะเหตุว่า ทุจริตประการต่างๆ ที่เกิดขึ้น รวมถึงการเอาลาภต่อลาภด้วย ก็เป็นการกระทำที่ผิด เพราะให้ แต่หวังผลอย่างอื่นตามมา ถ้าไม่มีกิเลสแล้ว ถ้าไม่มีความติดข้องต้องการแล้ว จะไม่กระทำอย่างนั้นเลย เพราะฉะนั้นแล้วที่จะมีความประพฤติที่ดีงาม ขัดเกลากิเลสของตนเองได้ ก็ต้องอาศัยพระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ที่จะเป็นไปเพื่อนำออกซึ่งอกุศลธรรมอันเป็นสภาพธรรมที่ไม่ดีไม่งาม พร้อมกับนำสิ่งที่ดีคือ คุณความดีประการต่างๆ เข้าไป จนกว่าจะสามารถดับได้ในที่สุด ครับ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ


ความคิดเห็น 3    โดย papon  วันที่ 24 ต.ค. 2556

เรียนอาจารย์ทั้งสองท่าน

กระผมพอเข้าใจบ้างและขอยกคำกล่าวของผู้ถือศีลสำนักหนึ่งบอกว่า การขายประกันและการเล่นหุ้น (กระผมคิดเอง) ก็เป็นมิจฉาอาชีวะ หรือครับ ขออาจารย์ชี้แนะด้วย

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 4    โดย paderm  วันที่ 24 ต.ค. 2556

เรียนความเห็นที่ 3 ครับ

มิจฉาอาชีวะ คือ การเลี้ยงชีพผิด หมายถึง อกุศลจิตที่เป็นปัจจัยให้เกิดการกระทำ และคำพูดทุจริตเกี่ยวกับการเลี้ยงชีพที่ผิด เช่น การเลี้ยงชีพด้วยการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ การพูดเท็จในขณะที่ค้าขาย เป็นต้น ซึ่งการขายประกัน เล่นหุ้น ก็ต้องพิจารณาครับว่า ขณะที่กระทำอาชีพนั้น มีการทำบาปต่างๆ เนื่องในอาชีพไหม เช่น มีการพูดหลอกลวง พูดเท็จ คดโกง เป็นต้น ถ้ามีการทำบาปในการประกบอาชีพนั้น ก็เป็นมิจฉาอาชีวะในขณะนั้น แต่ ถ้าประกอบอาชีพเล่นหุ้น และขายประกัน แต่ไม่มีการทำบาปทางกาย วาจา เนื่องด้วยอาชีพก็ไม่เป็นมิจฉาอาชีวะ ครับ


ความคิดเห็น 5    โดย ธนฤทธิ์  วันที่ 26 ต.ค. 2556

ขอบคุณและขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 6    โดย orawan.c  วันที่ 31 ต.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 7    โดย ใหญ่ราชบุรี  วันที่ 22 ก.ย. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ