ผู้ที่จะรู้ชัดในกายได้ คือ ผู้ที่มีความเพียรที่จะระลึกรู้ลักษณะของกาย
โดย chatchai.k  17 ก.ย. 2565
หัวข้อหมายเลข 43997

ขอกล่าวถึง สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค ปริญญาสูตร ซึ่งมีข้อความว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สติปัฏฐาน ๔ เหล่านี้ สติปัฏฐาน ๔ เป็นไฉน

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย

เมื่อเธอพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ ย่อมกำหนดรู้กายได้ เพราะกำหนดรู้กายได้ จึงเป็นอันชื่อว่า กระทำให้แจ้งซึ่งอมตะ (คือ พระนิพพาน)

กายก็มีตลอดเวลา ผู้ที่จะรู้ชัดในกายได้ คือ ผู้ที่มีความเพียรที่จะระลึกรู้ลักษณะของกาย สำหรับข้อความต่อไปก็โดยนัยเดียวกัน คือ

ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ พิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย เมื่อเธอพิจารณาเห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม ย่อมกำหนดรู้ได้ จึงเป็นอันชื่อว่า กระทำให้แจ้งซึ่งอมตะ

ใครอยากจะรู้แจ้งนิพพานบ้าง เจริญสติกันทำไม ถ้าไม่พิจารณาให้ลึกซึ้งก็อาจจะไม่เข้าใจแม้แต่ตัวท่านเอง หรือคนอื่นก็อาจจะพลอยไม่เข้าใจท่านไปด้วย อย่างบางคนอาจจะคิดว่า ผู้ที่เจริญสติไม่ได้อยากไปนิพพาน แต่ขอให้คิดดูว่า ท่านที่ยังไม่ได้เจริญสติมาก่อน มีศรัทธา มีวิริยะ มีสติ มีสมาธิ มีปัญญาเริ่มรู้ลักษณะของนาม และรูปบ้างทีละเล็กทีละน้อย ในวันหนึ่งๆ ไม่ใช่ปล่อยให้เพลินไปด้วยความรู้สึกเป็นตัวตน เป็นไปกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะอย่างก่อนๆ ซึ่งความจริงในขณะนั้นท่านน้อมไปแล้วสู่นิพพานทีละเล็กทีละน้อย

พิจารณารู้กาย รู้เวทนา รู้จิต รู้ธรรมซึ่งมีปรากฏอยู่ตลอดเวลา แล้วสติเริ่มเกิดเริ่มระลึก เริ่มรู้ จึงเป็นอันชื่อว่า กระทำให้แจ้งซึ่งอมตะ


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 91