เข้าใจธรรมแล้วไปนั่งสมาธิ
โดย Sea  22 พ.ย. 2564
หัวข้อหมายเลข 40767

มีคำถามค่ะ ประเด็นคือ ทุกอย่างเสมอกันด้วยธรรม

การอยากกินของอร่อย ก็เป็นปกติ งั้น…การอยากนั่งสมาธิ ก็เป็นปกติเช่นกันสิคะ

แต่เข้าใจว่า (ถูกไหมไม่ทราบนะคะ) ทาง มศพ. ไม่สนับสนุนให้นั่งสมาธิ

หากการเข้าใจธรรมแล้วไปนั่งสมาธิ (ทำให้เกิดสมถะ) มันจะเห็นการเกิดดับชัดขึ้นไหม

ไม่ได้หมายถึงไปนั่งให้เกิดแบบเจาะจงให้เกิด นั่งเพื่อสะสมอารมณ์สมถะ ซึ่งเป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้เห็นการเกิดดับชัดขึ้น สะสมเพื่อเห็นการเกิดดับในการใช้ชีวิตที่เป็นปกติ แบบนี้เกิดประโยชน์ไหม

ขอบพระคุณค่ะ



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 22 พ.ย. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ถ้าเข้าใจธรรมแล้ว จะเข้าใจถูกในหนทางดับกิเลส จะไม่ไปนั่งสมาธิด้วยความไม่รู้ครับ และการรู้การเกิดดับ เป็นวิปัสสนาญาณขั้นที่ 4 สูงมาก ไม่ใช่รู้ด้วยการนั่งสมาธิ แต่รู้ด้วยการเจริญวิปัสสนา ระลีกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ ครับ

ส่วนประเด็นเรื่องเจริญสมถะ ก่อน เข้าใจให้ถูกดังนี้ครับ

ธรรมเป็นเรื่องละเอียดลึกซึ้ง ผู้ที่ศึกษาพระธรรมโดยละเอียดรอบคอบ ย่อมได้สาระจากพระธรรมวินัย โดยมากจะเข้าใจกันว่า การเจริญสติปัฏฐาน จะต้องเจริญสมถภาวนาก่อน คือ อบรมให้ได้ฌานจึงจะเจริญสติปัฏฐานได้

ดังนั้น เรามาเข้าใจคำว่า สมถะที่ควบคู่กับการเจริญวิปัสสนา คือ อย่างไรครับ

- สมถะ กับสมถกรรมฐาน (สมถภาวนา) ไม่เหมือนกันนะครับ ต้องเข้าใจตรงนี้ก่อนสมถะ หมายถึงสภาพธรรมที่สงบ สงบจากกิเลส

ส่วน สมถภาวนา หมายถึงการอบรมเจริญความสงบจากกิเลส มีการเจริญพุทธานุสสติ เป็นต้น จะเห็นนะครับว่าต่างกัน

สมถะ คือ สภาพธรรมที่สงบจากกิเลสขณะนั้น คำถามจึงมีว่าจำเป็นไหมจะต้องเจริญสมถภาวนาก่อน ถึงจะเจริญวิปัสสนาได้ คำตอบคือไม่จำเป็น เพราะสมถภาวนาและวิปัสสนานั้น เป็นคนละส่วนแยกกันเลยครับ

ผู้ที่อบรมสมถภาวนา เช่น เจริญฌาน แต่ไม่มีความเข้าใจในเรื่องการเจริญวิปัสสนา หรือ หนทางการรู้ความจริงของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ แม้จะได้ฌาน แต่ก็ไม่สามารถที่จะรู้ความจริง และไม่มีทางบรรลุธรรมได้เลยครับ ดังเช่น พวกฤาษี ดาบส อาจารย์พระโพธิสัตว์ มี อาฬารดาบส อุททกดาบส ก็อบรมสมถภาวนา ได้ฌาน แต่ไม่รู้หนทางการดับกิเลส ไม่เข้าใจการเจริญวิปัสสนา ก็ไม่บรรลุอะไรเลยครับ แต่ผู้ที่อบรมเจริญวิปัสสนาอย่างเดียว แต่ไม่ได้อบรมสมถภาวนา ได้บรรลุธรรมมีไหมครับ คำตอบ คือ มี มีมากด้วยครับ ดังเช่น นางวิสาขา ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ท่านบรรลุธรรม โดยการเจริญสมถภาวนาก่อนไหมครับ คำตอบคือ ไม่ แต่ท่านฟังพระธรรม จากพระพุทธเจ้า ปัญญาที่เคยสะสม การเจริญวิปัสสนา หรือการรู้ความจริงในสภาพธรรมในอดีตชาติ ก็เกิดขึ้นรู้ความจริงของสภาพธรรมในขณะนี้ว่า เป็นธรรม ไม่ใช่เรา ทำให้เห็นถึงความไม่เที่ยงของสภาพธรรมและเป็นอนัตตาครับ ซึ่งการเจริญสมถภาวนาไม่สามารถรู้ความจริงเช่นนี้ได้เลยครับ

ดังนั้นประเด็นคือ ไม่จำเป็นจะต้องเจริญสมถภาวนาก่อน ถึงจะเจริญวิปัสสนาภาวนาได้ครับ หากมีคำแย้งว่า ต้องมีสมถะและวิปัสสนาควบคู่กันไปเป็นธรรมคู่กัน ตามที่ผมได้อธิบายแล้วว่า สมถะ กับ สมถภาวนา นั้นต่างกัน

สมถะ หมายถึง สภาพธรรมที่สงบจากกิเลส ซึ่งพระพุทธเจ้าได้แสดงองค์ของ สมถะ และวิปัสสนาว่าเป็นอย่างไรบ้างดังนี้

มรรค มี องค์ ๘ มี สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติและสัมมาสมาธิ นี่คือการเจริญมรรค อันเป็นหนทางดับกิเลส คือ วิปัสสนานั่นเองครับ

คำถามมีว่า มรรคมีองค์ ๘ มีสมถะหรือเปล่าครับ หรือ มีแต่วิปัสสนาอย่างเดียว คำตอบคือ มีทั้ง องค์ธรรมของสมถะ และมีวิปัสสนาด้วย พระพุทธเจ้าแสดงธรรมที่เป็นคู่กันในการอบรมปัญญา คือ สมถะและวิปัสสนา ดังนั้นในอริยมรรคมีองค์ ๘ ตามที่กล่าวมามีทั้งสมถะและวิปัสสนาด้วย มีอย่างไร

พระพุทธเจ้า แสดงว่า ฝ่ายของวิปัสสนา มี ๒ อย่างคือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ นี่คือฝ่ายวิปัสสนา ส่วน ๖ ประการหลังคือ สัมมาวาจา .. สัมมาสมาธิ เป็นฝักฝ่ายของสมถะนั่นเองครับ

แม้ขณะที่เจริญวิปัสสนา เจริญมรรค อย่างเดียว ไม่ได้เจริญสมถภาวนาก่อน หรือไม่ได้เจริญสมถภาวนาเลย ขณะที่เจริญวิปัสสนาอย่างเดียวก็มีทั้งสมถะและวิปัสสนาเกิดพร้อมกันอยู่แล้วครับ ยกตัวอย่างเช่น ขณะที่สติเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ว่า เป็นธรรม ไม่ใช่เรา ขณะนั้นมีสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวายามะ สัมมาสติและสัมมาสมาธิ เกิดพร้อมกัน ถามว่ามีสมถะไหมในขณะนั้น มีครับ คือ สัมมาวายามะ สัมมาสติและสัมมาสมาธิ เป็นฝักผ่ายของสมถะ คือ สภาพธรรมที่สงบจากกิเลส และมีฝักผ่ายวิปัสสนาในขณะนั้นด้วย คือ สัมมาทิฏฐิและสัมมาสังกัปปะครับ

เรื่อง มรรคหรือสติปัฏฐาน (วิปัสสนา)

เป็นทั้งสมถะและวิปัสสนา แม้ไม่ได้อบรมสมถภาวนา
พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ 373

อนึ่ง โลกุตรมรรคใด พร้อมทั้งโลกิยมรรค ถึงซึ่งการนับ ว่าเป็นทุกฺขนิโรธคามินีปฏิปทา (ปฏิปทาให้ถึงความดับทุกข์) มรรคนั้นแลเป็นทั้งวิชชาและจรณะ เพราะสัมมาทิฏฐิและสัมมาสังกัปปะทรงสงเคราะห์ไว้ด้วยวิชชา ธรรมที่เหลือสงเคราะห์ไว้ด้วยจรณะ

อนึ่ง มรรคนั้นเป็นทั้งสมถะและวิปัสสนา เพราะความที่สัมมาทิฏฐิและสัมมาสังกัปปะทั้ง ๒ เหล่านั้น ทรงสงเคราะห์ไว้ด้วยวิปัสสนาญาณ. ธรรมนอกจากนี้ สงเคราะห์ไว้ด้วยสมถญาณ.

จะเห็นนะครับว่า ขณะที่สติปัฏฐานเกิด ที่เป็นการเจริญวิปัสสนาอย่างเดียว มีทั้ง สมถะและวิปัสสนาเกิดพร้อมกันอยู่แล้ว ดังนั้นจะต้องเข้าใจใหม่ว่า จะต้องไปทำสมถภาวนาก่อนถึงจะเจริญวิปัสสนาภาวนาได้ อันนี้ไม่ใช่ครับ

เพราะเราจะต้องเข้าใจคำพูดที่ว่า ธรรมที่เป็นคู่กัน คือ สมถะและวิปัสสนา สมถะในที่นี้ไม่ได้มุ่งหมายถึงการเจริญฌานเท่านั้น สมถะในที่นี้ มุ่งหมายถึงสภาพธรรมที่สงบ เป็นฝักฝ่ายสมถะ ก็เกิดอยู่แล้วในขณะเจริญวิปัสสนา ฝักฝ่ายสมถะก็คือสัมมาวายามะ สัมมาสติและสัมมาสมาธิครับ

ตามที่กล่าวแล้ว สมถะ หมายถึง ความสงบจากกิเลสด้วย ดังนั้นขณะที่สติปัฏฐานเกิด เจริญวิปัสสนา ขณะนั้นจิตก็สงบจากกิเลสด้วยในขณะนั้น จึงเป็นทั้ง สมถะและวิปัสสนาในขณะที่สติปัฏฐานเกิดครับ

ธรรม จึงเป็นเรื่องละเอียด หากไม่เริ่มจากปัญญาความเข้าใจถูกก่อน ซึ่งพระพุทธองค์ก็ได้แสดงสัมมาทิฏฐิ (ความเห็นชอบ ปัญญา) ไว้เป็นประการแรก ดังนั้นการฟังพระธรรมให้เข้าใจก่อน เพื่อความเจริญขึ้นของปัญญา ย่อมจะทำให้สามารถเข้าใจหนทางดับกิเลสที่ถูกต้องว่า คือ การรู้ความจริงของสภาพธรรมที่มีในขณะนี้ โดยไม่จำเป็นจะต้องเริ่มจากอนุบาล คือ สมถภาวนาก่อน เพราะอนุบาลจริงๆ คือ เริ่มจากการฟังพระธรรมให้เข้าใจในเรื่องการเจริญวิปัสสนาก่อนครับ ถึงจะถึง ป. ๑ ป. ๒ คือการรู้ความจริงของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ได้ครับ

ดังนั้น เบื้องต้นของการอบรมปัญญา จึงไม่ใช่การเจริญสมถภาวนาก่อนครับ เพราะสมถและวิปัสสนาเกิดพร้อมกัน ในขณะที่เจริญวิปัสสนาอยู่แล้วตามที่กล่าวมาครับ

ต้องไม่ลืมและปรับความเข้าใจใหม่ว่า อนุบาล คือ การฟังพระธรรมให้เข้าใจในเรื่องของสภาพธรรม หรือ เรื่องการเจริญวิปัสสนาครับ เริ่มจากคำว่าธรรมคืออะไร ครับ

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 2    โดย chatchai.k  วันที่ 22 พ.ย. 2564

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 3    โดย Sea  วันที่ 22 พ.ย. 2564

กราบขอบพระคุณและขออนุโทนา อ.ผเดิม ที่เมตตาตอบคำถามค่ะ


ความคิดเห็น 4    โดย lokiya  วันที่ 22 พ.ย. 2564

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 5    โดย khampan.a  วันที่ 22 พ.ย. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

จุดประสงค์ของการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ก็เพื่อเข้าใจพระธรรมตามความเป็นจริง ดังนั้น เมื่อได้ยินได้ฟังคำอะไร ก็ควรที่จะได้พิจารณาว่า สิ่งนั้น คือ อะไร และประการที่สำคัญ พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ทุกคำ ทุกพยัญชนะ เพื่อให้เข้าใจความจริง แม้แต่ คำว่า สมาธิ ก็เช่นเดียวกัน เมื่อศึกษา มีความเข้าใจอย่างถูกต้องแล้ว ความเข้าใจที่ถูกต้อง จะไม่พาไปทำสิ่งที่ผิดอย่างแน่นอน

สมาธิ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ว่าโดยสภาพธรรมแล้ว เป็นเจตสิกประการหนึ่งที่ตั้งมั่นในอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด อารมณ์ คือ สิ่งที่จิตรู้ เมื่อจิตเกิดขึ้นต้องรู้อารมณ์ และ ก็จะต้องมีสมาธิซึ่งเป็นเอกัคคตาเจตสิกเกิดร่วมกับจิตทุกครั้งทุกขณะ ไม่เว้นเลย ตั้งมั่นในอารมณ์ที่จิตกำลังรู้ ดังนั้น ไม่ว่าจะนั่ง จะยืน จะนอน จะเดิน จึงไม่ปราศจากสมาธิเลย เพราะเกิดกับจิตทุกขณะ และที่ควรพิจารณาคือ สมาธิหรือเอกัคคตาเจตสิก เกิดกับอกุศล ก็เป็นอกุศลสมาธิ ไม่ควรเจริญ ไม่ควรประกอบ เพราะไม่เป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของกุศลธรรม มีปัญญาเป็นต้น มีแต่จะเพิ่มพูนความไม่รู้และอกุศลธรรมอื่นๆ ต่อไป

สมาธิที่ควรอบรม คือ สัมมาสมาธิ ซึ่งเป็นไปพร้อมกับการอบรมเจริญปัญญา ซึ่งจะต้องตั้งต้นที่การฟังพระธรรม ฟังในสิ่งที่มีจริงบ่อยๆ เนืองๆ

อีกคำหนึ่งที่ควรจะได้พิจารณา คือ ปฏิบัติธรรม ไม่ใช่การไปทำ เพราะเหตุว่า ปฏิบัติธรรม ไม่ใช่การไปทำอะไรที่ผิดปกติขึ้นมาด้วยความเป็นตัวตนหรือความติดข้องต้องการ แต่ธรรมเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ของธรรม นั่นก็คือ สติ และ สัมปชัญญะ (ปัญญา) เกิดขึ้นระลึกรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ในขณะนี้ ตามความเป็นจริง ซึ่งจะต้องอาศัยการฟัง การศึกษาพระธรรมสะสมความเข้าใจในเรื่องของสภาพธรรมไปตามลำดับ เพราะเหตุว่าถ้าไม่มีความเข้าใจที่ถูกต้องแล้ว การปฏิบัติถูกต้อง ย่อมมีไม่ได้อย่างแน่นอน เพราะฉะนั้นความเข้าใจถูก เห็นถูก จึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด

พระพุทธศาสนา เป็นคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องฟัง ต้องศึกษาด้วยความละเอียดรอบคอบ จึงจะเข้าใจ และที่สำคัญ พระธรรม ทั้งหมดเป็นไปเพื่อความเข้าใจถูก เห็นถูก ซึ่งจะต้องค่อยๆ สะสมความเข้าใจไปตามลำดับ ที่สำคัญ คือ จะขาดการฟังพระธรรม ไม่ได้เลยทีเดียว ครับ

...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 6    โดย Sea  วันที่ 22 พ.ย. 2564

กราบขอบพระคุณและขออนุโทนา อ.คำปั่น ที่เมตตาตอบคำถามค่ะ


ความคิดเห็น 7    โดย chatchai.k  วันที่ 22 พ.ย. 2564

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 8    โดย ทรงศักดิ์  วันที่ 4 ธ.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ