ปรารภสิ่งที่ได้ยินได้ฟังให้เข้าใจขึ้น
โดย เมตตา  1 ธ.ค. 2567
หัวข้อหมายเลข 49020

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ 47

ข้อความบางตอนจากอปัณณกสูตร

ก็ภิกษุเป็นผู้หมั่นประกอบความเป็นผู้ไม่เห็นแก่นอนอย่างไร ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้เวลากลางวัน ชำระจิตจากอาวรณิยธรรม ๔ ด้วยการจงกรม ๕ ด้วยการนั่ง เวลากลางคืน ตอนยามต้น ก็ชำระจิตจากอาวรณิยธรรม ด้วยการจงกรม ด้วยการนั่ง ตอนยามกลาง สำเร็จสีหไสยา โดยข้างเบื้องขวาซ้อนเท้าให้เหลื่อมกัน มีสติสัมปชัญญะ ทำอุฏฐานสัญญา ไว้ในใจ ตอนยามปลาย กลับลุกขึ้นชำระจิตจากอาวรณิยธรรม ด้วยการจงกรม ด้วยการนั่งอย่างนี้แล ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้หมั่นประกอบความเป็นผู้ไม่เห็นแก่นอน


พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 358

[๒๘] วิริยินทรีย์ มีในสมัยนั้น เป็นไฉน? การปรารภความเพียรทางใจ ความขะมักเขม้น ความบากบั่น ความตั้งหน้า ความพยายาม ความอุตสาหะ ความทนทาน ความเข้มแข็ง ความหมั่น ความก้าวไปอย่างไม่ท้อถอย ความไม่ทอดทิ้งฉันทะ ความไม่ทอดทิ้งธุระ ความประคับประคองธุระ วิริยะอินทรีย์คือ วิริยะ วิริยพละ สัมมา.วายามะ ในสมัยนั้น อันใด นี้ชื่อว่า วิริยินทรีย์ในสมัยนั้น.


จาก [เล่มที่ 75] พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 393

ภาวะแห่งความซื่อตรง ชื่อว่า อุชุตา คือ ความเป็นไปโดยอาการอันตรง. ภาวะแห่งขันธ์ ๓ อันตรงและวิญญาณขันธ์อันตรง เรียกว่า อุชุกตา. ความปฏิเสธแห่งความคดเหมือนมูตรโค ชื่อว่า อชิมหตา (ความคล่องแคล่ว) .บทว่า อวงฺกตา ได้แก่ ปฏิเสธความโค้งเหมือนวงจันทร์. บทว่า อกุฏิลตาได้แก่ปฏิเสธความคดเหมือนปลายงอนไถ. จริงอยู่ บุคคลใดทําบาปแล้วกล่าวว่า เราไม่ได้กระทํา บุคคลนั้น ชื่อว่า เป็นผู้คดเหมือนมูตรโค (เยี่ยวโค)

เพราะความไปวกวน ผู้ใดกําลังทําบาปแล้วพูดว่า เราไม่กลัวบาปผู้นั้น ชื่อว่าคด เหมือนวงจันทร์ เพราะความคดมาก ผู้ใดกําลังทําบาป แต่กล่าวว่าใครไม่กลัวบาปเล่า ผู้นั้นชื่อว่า คด เหมือนงอนไถ เพราะไม่คดมาก.

อีกอย่างหนึ่ง กรรมทวาร ๓ ของบุคคลใดไม่บริสุทธิ์ บุคคลนั้นชื่อเป็นผู้คดเหมือนน้ำมูตรโค. กรรมทวาร ๒ แม้อย่างใดอย่างหนึ่งมีอยู่แก่บุคคลใดไม่บริสุทธิ์บุคคลนั้น ชื่อว่า เป็นผู้คดเหมือนวงจันทร์. กรรมทวารหนึ่งอย่างใดอย่างหนึ่งของบุคคลใดไม่บริสุทธิ์ บุคคลนั้น ชื่อว่า เป็นผู้คดเหมือนปลายงอนไถ.


อ.อรรณพ: ล่าสุดมีโอกาสได้ฟัง ไทย - ฮินดี ท่านอาขารย์ก็เตือนอยู่เรื่อยหลายๆ คำ หลายๆ ข้อความ มีข้อความหนึ่งว่า ตั้งต้นแล้วตั้งต้นอีก ความละเอียดของคำนี้คืออย่างไรครับ

ท่านอาจารย์: มีใครเคยได้ยินบ้างไหม?

อ.อรรณพ: ในพระไตรปิฎกก็มี ปรารภแล้วปรารภอีก

ท่านอาจารย์: ถูกต้อง เพราะฉะนั้น ไม่ใช่คำที่เราคิดเอง แต่ความลึกซึ้งของพระธรรม พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ตรัสหรือเปล่า? และเพราะเหตุใดพระองค์จึงตรัส ๔๕ พรรษาละเอียดอย่างยิ่ง ซึ่งเป็นชีวิตจริงทั้งหมด ยิ่งนานก็ยิ่งยากที่จะรู้ ถ้าไม่เริ่มเห็นความละเอียดตั้งแต่เดี๋ยวนี้

เพราะฉะนั้น ประมามไม่ได้เลย นับถือพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องตรงไหม? ตรงคืออย่างไร? เห็นไหม แค่นี้ต้องไตร่ตรองไหม หรือว่าปล่อยไปผ่านไป แค่ไหนก็แค่นั้น ตรงก็ตรง

เพราะฉะนั้น ตรงคืออย่างไร นับถือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า?

[เล่มที่ 39] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 340
ข้อความบางตอนจาก เมตตสูตร

ชื่อว่า ตรง (อุชุ) เพราะทำด้วยความไม่อวดดี ชื่อว่า ตรงดี (สุหุชู) เพราะ ไม่มีมายา หรือว่า ชื่อว่า ตรง เพราะละความคดทางกายและวาจา ชื่อว่า ตรงดี เพราะละความคดทางใจ หรือชื่อว่า ตรง เพราะไม่อวดคุณที่ไม่มี จริง ชื่อว่า ตรงดี เพราะไม่อดกลั้นต่อลาภที่เกิดเพราะคุณที่ไม่มีจริง พึง ชื่อว่าเป็นผู้ตรงและตรงดี ด้วยอารัมมณูปนิชฌาน (สมถภาวนา) และลักขณูปนิชฌาน (วิปัสสนาภาวนา)


อ.ธนากร: ตรงต่อความเป็นจริงครับ

ท่านอาจารย์: เป็นจริงอะไร ไม่จบง่ายๆ?

อ.ธนากร: ต้องเป็นความจริงของสิ่งที่มีจริงๆ ครับ

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น ปรารภแล้วปรารภอีก หมายความว่าอะไร?

อ.ธนากร: ก็คือ จากที่ไม่ตรงก็ต้องเข้าใจให้ตรงแล้วตรงอีก ลืมใหม่ก็ต้องเข้าใจใหม่ ตรงแล้วตรงอีกครับ

ท่านอาจารย์: คนอื่นคิดอย่างไร เหมือนกันไหม?

อ.อรรณพ: ปรารภแล้วปรารภอีก เข้าใจว่าอย่างไรครับ หรือจะพูดภาษาไทย ก็คือ ตั้งต้นแล้วตั้งต้นอีก ก็เหมือนกันครับ แต่ว่าในความหมายคืออย่างไร ขอเชิญร่วมสนทนาตอบท่านอาจารย์ครับ

ท่านอาจารย์: นี่ค่ะ การเคารพในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทุกคำ ผ่านไปได้ไหม? ตราบใดที่ยังไม่เห็นความลึกซึ้ง จะไม่รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แค่นี้คิดว่า รู้จักแล้วหรือยัง? จึงต้อง ตั้งต้นอีกๆ ๆ ไม่ได้พูดเรื่องอื่นเลย

พูดเพื่อเห็นความลึกซึ้งของธรรม แค่นี้ เบื้องต้นที่จะเข้าใจความหมายของ ตั้งต้นอีกๆ

อ.วิชัย: ในเรื่องของการปรารภ ก็เข้าใจถึงการเริ่มต้นใหม่ทุกครั้งในการฟัง เพราะว่า ความเข้าใจที่จะมั่นคงในความเป็นธรรมจริงๆ ก็ยากมากครับ อย่างข้อความที่ทรงแสดงก็จะแสดงถึงการปรารภความเพียร ซึ่งท่านอาจารย์ก็จะให้ความเข้าใจว่า รู้จักเพียรหรือยัง ที่จะปรารภ คือการเริ่มต้นครับ

อย่างเรากล่าวถึงได้ในการเริ่มแล้ว แต่ว่า ธรรมอะไรที่จะเป็นการเริ่มต้นครับ อย่างพูดถึงการที่ไม่ท้อถอย หรือความเพียร ก็ดูเหมือนกับเราเข้าใจแล้วว่า วิริยะเป็นอย่างไร อะไรอย่างนี้ครับ แต่ก็ไม่ได้เข้าใจการที่จะเริ่มต้นใหม่ทุกครั้งครับ

ท่านอาจารย์: แม้แต่คำเดียว ปรารภแล้วปรารภอีก เราก็มานั่งตรงนี้ เพื่อที่จะปรารภแล้วปรารภอีก ต้องตรงทุกคำ ตรงต่อความเพียร เพียรอะไร พอไหม จึงต้อง ปรารภแล้วปรารภอีกๆ ๆ จนกว่าจะเข้าใจความละเอียดยิ่งขึ้น

แม้แต่เดี๋ยวนี้ เราก็กำลังปรารภแล้วปรารภอีก จริงไหม? นี่แหละ ความลึกซึ้งของพระธรรม ไม่ใช่พ้นไปจาก ขณะนี้ ตามความเป็นจริง แต่ฟังแล้วไม่เข้าใจไม่ไตร่ตรอง จะปรารภอะไร? ก็ปรารภสิ่งที่เราได้ยินได้ฟังให้เข้าใจขึ้น

อย่าง วิริยะ ตรงต่อความเพียร เพียรอะไร แล้วเพียรทำอะไร จึงต้องปรารภแล้วปรารภอีกให้รู้ว่า เพียรอะไร ทุกคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัส จะไม่พ้นจากปรารภแล้วปรารภอีก เพราะแค่นี้หรือเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แค่นี้หรือเคารพ แค่นี้หรือประพฤติตามธรรม เห็นไหม? แล้วจะไม่ปรารภแล้วปรารภอีกได้ไหม?

ขอเชิญอ่านได้ที่..

ปรารภความเพียรมีทั้งอกุศลและกุศล [วัชชิยสูตร]

ที่ตั้งแห่งการปรารภความเพียร : อารัพภวัตถุ ๘ [อารัพภวัตถุสูตร]

ความเป็นผู้ซื่อตรง และ อ่อนโยน

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่งค่ะ

กราบยินดีในกุศลจิตของ อ.อรรณพ อ.วิชัย อ.ธนากร ด้วยความเคารพค่ะ



ความคิดเห็น 1    โดย chatchai.k  วันที่ 2 ธ.ค. 2567

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์ ด้วยความเคารพยิ่ง

ยินดีในกุศลจิตครับ