บางคนมีปัญญาทางโลกมาก ฉลาดหลักแหลมในเรื่องทางโลกตามศาสตร์ต่างๆ ได้อย่างแม่นยำ แต่เมื่อฟังธรรมก็เป็นผู้เข้าใจธรรมได้ยาก
บางคนมีปัญญาทางโลกน้อย ไม่ได้เก่งเลอเลิศ
ไม่ได้ฉลาดปราชญ์เปรื่องอะไรมาก แต่เมื่อฟังธรรมก็เป็นผู้เข้าใจธรรมได้ง่าย เป็นผู้มีความสนใจในธรรม เป็นผู้ละเอียดในธรรม
ต่างกันเพราะปฏิสนธิจิตหรืออย่างไรกัน...?
อยากทราบความละเอียด
ขอบคุณครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ความแตกต่างกันของแต่ละสิ่ง แต่ละอย่าง แต่ละประเภท ทุกอย่างมีเหตุทั้งสิ้นครับซึ่งก่อนอื่นเมื่อพูดถึงเรื่องของ ความฉลาดที่เป็นปัญญา ก็ต้องแยกระหว่างปัญญาทางโลกและทางธรรมก่อนครับ ปัญญญาทางโลก ก็คือ ความฉลาดที่คิดเป็นเหตุเป็นผลความชำนาญในเรื่องราว วิชาการต่างๆ นั่นเป็น ความฉลาดทางโลก ที่ไม่ใช่ ปัญญาจริงๆ ที่เป็นปัญญาเจตสิก เพราะแม้คิดเป็นเหตุเป็นผลในทางโลกได้ แต่ขณะนั้นเป็นอกุศลจิต หรือ ขณะนั้นไม่ได้ตรงตามความเป็นจริงที่เป็นสัจจะ ดังนั้น ฉลาดด้วย วิตกมนสิการ ด้วย อกุศลจิต มีโลภะ เป็นต้นได้ครับ
แต่ความฉลาดที่เป็นปัญญาจริงๆ ที่เป็นปัญญาเจตสิกคือ ความเห็นถูกตามความเป็นจริง ตามสัจจะของธรรมชาติ เช่น ปัญญาที่เข้าใจในเรื่องกรรมและผลของกรรมปัญญาที่เป็นการอบรมปัญญา เพื่อความเจริญขึ้นของสิ่งที่ดีคือ กุศล อันเป็นปัญญาที่เป็นสมถภาวนา หรือปัญญา คือ ความเห็นถูกที่เข้าใจความจริงของสภาพธรรมที่มีในขณะนี้ตามความเป็นจริง ว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์และเป็นอนัตตา ดังนั้น ปัญญาความฉลาดที่ถูกต้อง ที่เป็นปัญญาเจตสิก จึงเป็นกุศลธรรม และเป็นการเห็นทุกสิ่งถูกต้องตามความเป็นจริงครับ
เมื่อเราแยก ความฉลาด ปัญญาทางโลก และทางธรรมออกตามความเป็นจริงแล้วก็มาพูดถึงประเด็น ความฉลาด ที่แตกต่างกัน ว่าเกิดจากอะไรครับ ซึ่งจะขอกล่าวถึงความฉลาดทางโลกที่เป็น ความคิดมีเหตุผล ในเรื่องราวของสมมติทางโลก ที่แต่ละคนมีความฉลาดแตกต่างกันเพราะเหตุใด ที่แตกต่างกัน เพราะแต่ละคนสะสมเรื่องราวเหตุผลในวิชา เรื่องนั้นมาแตกต่างกันครับ ผู้ที่สะสมเรื่องราว ความคิดเป็นเหตุ เป็นผลบ่อยๆ ในอดีต แม้ในอดีตชาติด้วย ก็ทำให้ เป็นผู้มีหลักคิด ฉลาดในเรื่องราวทางโลกได้ดีกว่า มากกว่าผู้ที่ไม่ได้สะสมเรื่องราว การคิดเป็นเหตุ เป็นผลในเรื่องนั้นบ่อยๆ ครับ ดังนั้น สำคัญที่สะสมมาไม่เท่ากัน คือ ผู้ที่สะสมสิ่งนั้น ในเรื่องนั้นมาบ่อยกว่า ย่อมจะชำนาญในเรื่องนั้นมากกว่า อาจจะมองว่า บางคนเพิ่งเข้ามา แต่เรียนรู้ได้เร็วกว่า คนที่ฝึกมาตั้งนาน แต่เรามองเพียงชาตินี้ ปัจจุบันนี้เท่านั้น ในความเป็นจริง สัตว์โลกมีการเกิด ตายนับไม่ถ้วน ดังนั้นชาติก่อนๆ คนที่เข้ามาเข้ารับงานใหม่ แต่เป็นผู้ฉลาด เรียนรู้ได้เร็ว กว่าคนที่เข้ามานาน ฝึกมานาน เพราะผู้ที่ฉลาด เรียนรู้ได้เร็วนั้น ในอดีตชาติมากมายนับไม่ถ้วน ได้มีการอบรมสะสม สิ่งนั้น เรื่องราวนั้น และการคิดด้วยเหตุผลมานับชาติไม่ถ้วน มากกว่า คนที่ไม่ฉลาด ที่เรียนรู้ได้ช้ากว่านั่นเองครับ ดังนั้น เหตุผลที่ทำให้มีความฉลาดทางโลกแตกต่างกัน เพราะสะสมเรื่องนั้น วิชาการนั้น ความคิดเป็นเหตุเป็นผลมามากกว่า จึงเป็นผู้ฉลาดในทางโลกมากกว่าผู้อื่นครับ ซึ่งไม่ใช่เพียงชาตินี้ ในอดีตชาตินับไม่ถ้วนครับ ทำให้แต่ละคนมีความถนัด แต่ละอย่างไม่เท่ากันครับ
คราวนี้พูดถึงประเด็น ความแตกต่างของ ปัญญาทางธรรมที่เป็นปัญญาจริงๆ ที่เป็นปัญญาเจตสิก คือ ความเห็นถูกตามความเป็นจริง ทำไมถึงแต่ละคนถึงแตกต่างกัน บางคนมีปัญญามาก มีปัญญาน้อย หรือ ไม่มีปัญญา
ทุกอย่างก็ต้องมีเหตุครับ โดยนัยเดียวกันครับ ก็เพราะมีการสะสมสิ่งนั้น คือ สะสมความเข้าใจพระธรรม สะสมความเห็นถูกมามากน้อยแตกต่างกันไปครับ
ซึ่งเราก็ต้องเข้าใจก่อนครับว่า เหตุปัจจัยให้เกิดปัญญา นั้น คืออะไร เหตุให้เกิดปัญญาแสดงหลายนัย ซึ่งพอจะสรุปได้ดังนี้คือ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม การสอบถาม และการสนทนา เป็นเหตุให้เกิดปัญญา ซึ่งก็ต้องการฟัง การศึกษาในสิ่งที่ถูกต้องคือ พระธรรมที่ถูกต้องด้วย ผู้ที่ในชาตินี้ ฟังพระธรรมเข้าใจได้เร็วหรือสามารถบรรลุธรรมได้ แสดงว่าเป็นผู้สะสมปัญญามามาก ก็เพราะในอดีตชาติ นับไม่ถ้วน มีการสะสม เหตุของปัญญา คือ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมและสอบถามสนทนา บ่อยๆ ในอดีตชาติมามากมาย นับไม่ถ้วน จึงทำให้ชาตินี้มีปัญญามากนั่นเอง ส่วนผู้มีปัญญา ความเข้าใจน้อย ก็เพราะในอดีตชาติ สะสมการฟัง สอบถาม สนทนาในพระธรรมที่ถูกต้อง ยังไม่มาก ก็เป็นเหตุให้ปัญญายังมีไม่มาก ส่วนผู้ที่ไม่ได้สะสมเหตุ คือ การฟังพระธรรมที่ถูกต้องเลย ก็ไม่มีปัญญาที่เป็น ความเห็นถูก แต่สะสมแต่ความเห็นผิดครับ ดังนั้น ปัญญาแตกต่างกันเพราะ สะสมเหตุให้เกิดปัญญา แตกต่างกัน คือ สะสมมามาก ก็มีปัญญามาก สะสมมาน้อยก็มีปัญญาน้อย ไม่ได้สะสมมา ก็ไม่มีปัญญา แต่มีความเห็นผิดอย่างเดียวครับ
ซึ่งในพระไตรปิฎกแสดงไว้ชัดเจน ในเรื่องนี้ครับ ว่า ทำไม สัตว์โลก ถึงมีความแตกต่างกันเพราอะไร และทำไมบางคนมีปัญญามาก ทำไมบางคนมีปัญญาน้อย แตกต่างกันเพราะอะไร ซึ่งในจูฬกัมมวิภังคสูตร แสดงความแตกต่างของสัตว์โลกคือ สุภมาณพ ทูลถามพระพุทธเจ้าว่า ทำไมมนุษย์ในโลกนี้ถึงปรากฏความแตกต่างกัน คือ มีอายุยืนอายุสั้น มีโรคมาก มีโรคน้อย รวยและจน มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม มีปัญญา และไม่มีปัญญา เป็นต้นพระพุทธเจ้าตรัสว่า ที่สัตว์แตกต่างกันเช่นนี้ เพราะเหตุ คือ กรรมที่แตกต่างกันครับ
เช่น คนที่อายุยืน เพราะทำกรรม คือ งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ ส่วนคนที่อายุสั้น ก็ทำกรรม คือเป็นผู้ฆ่าสัตว์ เมื่อกรรมให้ผล ก็ทำให้อายุสั้น ดังนั้น สัตว์แตกต่างกัน ก็เพราะกรรมจำแนก ให้สัตว์แตกต่างกันไป ตามกรรมที่ทำมาและก็มาถึงความแตกต่างของปัญญา พระพุทธเจ้าก็ได้แสดงครับว่า ที่มนุษย์บางคนมีปัญญามาก บางคนมีปัญญาน้อยเพราะ ความแตกต่างกัน คือ ทำเหตุมาต่างๆ กันคือ บุคคลบางคนในโลกนี้ไม่เข้าไปสอบถามผู้รู้ ผู้มีปัญญา ถึงความจริงเป็นเช่นไร เช่น อะไรเป็นกุศลอะไรเป็นอกุศล อะไรมีโทษ อะไรไม่มีโทษ เมื่อไม่สอบถาม ก็ไมได้สะสมปัญญา ความเข้าใจก็ทำให้เมื่อเกิดมาเป็นมนุษย์ในโลกนี้ ก็ไม่มีปัญญา หรือ มีปัญญาน้อย เพราะไม่ได้สะสมเหตุ ของปัญญา คือ การสอบถาม เพื่อที่จะได้ฟังพระธรรมอันเป็นสิ่งที่ทำให้ปัญญาเจริญครับ แต่บุคคลบางคนในโลกนี้ เข้าไปสอบถามสนทนา กับผู้รู้และได้ฟังพระธรรมที่ทำให้เกิดปัญญา ทำให้เมื่อมาเกิดเป็นมนุษย์ กรรมนั่น คือ การสอบถามสนทนาในสิ่งที่ทำให้เกิดปัญญา เพราะได้ฟังสิ่งที่ถูก ก็ทำให้คนนั้น มีปัญญา เข้าใจธรรมมากกว่า ผู้ที่ไม่สอบถาม สนทนาและได้ฟังพระธรรมครับ นี่คือเหตุที่แตกต่างกันทำให้มีปัญญาแตกต่างกันครับ ก็เป็นเรื่องของกรรม การกระทำคือ การทำเหตุให้เกิดปัญญา คือ สอบถาม สนทนาและฟังในสิ่งที่ถูกต้องจากผู้รู้นั่นเองครับ
เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ....ปัญญาแตกต่างกันเพราะอะไร [จูฬกัมมวิภังคสูตร] ส่วนคำกล่าวที่ว่า
บางคนที่รู้ตัวว่าตัวเองไม่ฉลาดก็ได้พยายามและมีความเพียรที่จะสะสมความฉลาดก็ยังฉลาดน้อยอยู๋ดี แต่คนที่ฉลาดหลักแหลมมากไม่ต้องทำอะไรเขาก็ฉลาดมากเหมือนเดิม ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น
ผู้ที่รู้ตัวว่าไม่ฉลาดมีปัญญาน้อย ก็สามารถเป็นบัณฑิต คือ มีปัญญาได้ เพราะรู้ว่าตนเองปัญญายังน้อย ก็อบรมปัญญา ศึกษาพระธรรม สอบถาม สนทนาในสิ่งที่ถูกต้องแต่ไม่ใช่ความรู้จะก้าวกระโดดทันที เพราะสะสมอวิชชา ความไม่รู้มามาก จึงต้องค่อยๆ สะสมไป และเมื่อสะสมไปเรื่อยๆ ก็สามารถทำให้เป็นผู้มีปัญญามากได้ แต่ต้องใช้เวลานับชาติไม่ถ้วนครับ แต่ผู้ที่ไม่ฉลาด สำคัญว่าฉลาดมีปัญญา ก็ยากที่จะมีปัญญาได้เพราะสำคัญผิด จึงไม่ศึกษาและสอบถาม สนทนา เพราะเข้าใจว่ารู้แล้ว ก็ทำให้เสื่อมจากปัญญาครับ
ดังนั้นทุกอย่างต้องมีเหตุ และเป็นเรื่องของการสะสมมา ทำให้แตกต่างกันไป เมื่อรู้ถึงเหตุที่ดี ที่ทำให้เกิดปัญญาแล้ว คือ การสอบถาม สนทนา ฟังพระธรรม ก็อบรมเหตุต่อไป พระอริยเจ้าทั้งหลาย ท่านก็ต้องมีปัญญาจากน้อยมาก่อน แล้วค่อยมากขึ้นเพราะใช้เวลายาวนานในการอบรมปัญญา ฉันใดผู้ที่ใฝ่ธรรมทั้งหลาย ก็สามารถอบรมปัญญาทีละน้อย แต่ด้วยหนทางที่ถูกต้องก็สามารถถึงความเป็นผู้มีปัญญามากได้ครับที่สำคัญไม่ต้องห่วงจะมากหรือจะน้อย หน้าที่คือ อบรมเหตุเท่านั้นครับ ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ยาก ละเอียด ลึกซึ้ง แต่ไม่เหลือวิสัยที่จะเข้าใจได้ เพราะบุคคลผู้ที่ได้รับประโยชน์จากพระธรรม มีมากมายนับไม่ถ้วน เหมือนอย่างพระอริยสงฆ์สาวกทั้งหลายในอดีต ล้วนแล้วแต่เป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์จากพระธรรม ซึ่งนั่นหมายความว่า สามารถที่จะเข้าใจได้, ถ้าเห็นประโยชน์ ประสงค์จะเข้าใจความจริง ค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ ศึกษา ไม่ขาดการฟังพระธรรมเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ความเข้าใจถูกเห็นถูก ก็จะค่อยๆ เจริญขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ หรือเพศใดก็ตาม ครับ
ขอเชิญคลิกศึกษาเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ
ปัญญาทางธรรมต่างกับปัญญาทางโลก
...อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
สาธุค่ะ
ขออนุโมทนาครับ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ